ทหารมีไว้ทำไม-สำคัญอย่างไรในโลกที่ไร้สงคราม?

10 ก.พ. 2564 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดการบรรยายออนไลน์ในหัวข้อ “บทบาททหารในการเมืองโลก” โดยมี ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ จากสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักศึกษาปริญญาเอก สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นผู้บรรยายให้ความรู้

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

บทบาทของทหารหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สังคมโลกจะผ่านพ้นช่วงเวลาการทำสงครามเพื่อขยายอำนาจและเขตแดนด้วยการใช้กำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์บุกยึดพื้นที่ไปแล้ว และมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติหรือเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อหาทางออกในวิกฤติการณ์ต่างๆ ด้วยการเจรจาพูดคุย แทนการสู้รบ ทำให้ความสำคัญของกำลังทหารดูเหมือนเป็นสิ่งไม่จำเป็นในโลกยุคใหม่ แต่ฟูอาดี้มองว่า จริงๆ แล้วกำลังทหารยังถือว่าจำเป็นสำหรับปกป้องความมั่นคงของชาติ รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดสงครามระหว่างรัฐ

“การที่เราไม่มีสงครามร้อน (Hot war) ต้องมองว่าเพราะแต่ละประเทศมีกำลังทหารที่แข็งแกร่งจนอีกฝั่งไม่กล้าจะบุกรุกหรือคุกคามหรือเปล่า เช่น ช่วงสงครามเย็น (Cold war) สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตประชันหน้ากันแต่ไม่เกิดเป็นสงครามร้อน เพราะการมีอาวุธที่แข็งแกร่งพออย่างอาวุธนิวเคลียร์ เป็นการสร้าง Deterrent หรือการต้านไม่ให้อีกฝ่ายบุกรุกเราก่อน และถ้ามองในแง่ยุทธวิธีการรบ อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ คือ Second strike capability หรือความสามารถในการโต้กลับ สมมติว่าไทยมีอาวุธนิวเคลียร์ แล้วฝั่งสหรัฐฯ จะยิงเรา แต่ยิงมาแล้วเราไม่ตาย เราโต้กลับได้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แบบนี้จะทำให้สหรัฐฯ ต้องคิดหลายตลบขึ้นว่าจะยิงเราดีหรือเปล่า การมีกองกำลังที่แข็งแรงมากพอจนเกิดเป็น 2 ข้อนี้ น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สงครามเย็นไม่กลายเป็นสงครามร้อน ทำให้การบุกยึดพื้นที่ลดน้อยลง จนเราคิดว่าทหารไม่จำเป็นหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วทหารยังจำเป็น” ฟูอาดี้กล่าว

ฟูอาดี้บอกว่า อยากให้มองว่าทหารหรือกองกำลังด้านความมั่นคงเป็นเหมือนอากาศ เพราะเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าขาดไปแล้วอาจเกิดผลเสียที่ร้ายแรงตามมา

“ความสำคัญของกองทัพยังคงมีอยู่ การที่ไต้หวันยังไม่โดนจีนบุก เพราะไต้หวันได้รับความคุ้มครองด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ ถ้าจีนบุกเมื่อไร สหรัฐฯ พร้อมจะสวนกลับให้ทันที และจะกลายเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่แน่นอน หรือการที่ญี่ปุ่นบอกว่าตัวเองไม่มีนิวเคลียร์ แต่พร้อมที่จะสร้างนิวเคลียร์ภายใน 1 เดือน ซึ่งเรียกว่า Latent nuclear capability คือ มีความสามารถ มีเทคโนโลยีที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ การที่ญี่ปุ่นมีข้อนี้และมีสหรัฐฯ ช่วยหนุนหลัง ทำให้จีนไม่กล้ามีปัญหากับญี่ปุ่นมาก เกาหลีใต้ก็เป็นเพื่อนรักเพื่อนแค้นกับญี่ปุ่น แต่ที่ไม่เกิดสงครามก็เพราะว่ามันมีประสิทธิภาพทางทหารซ่อนอยู่ ซึ่งสำคัญมาก ไม่อยากให้มองว่าการไม่มีสงครามแล้ว ทหารก็ไม่จำเป็น แต่อยากให้มองว่าการมีกำลังทหารในระดับที่สร้างภูมิกันให้ประเทศได้ คือสิ่งที่ทำให้ไม่เกิดสงคราม ขนาดและประสิทธิภาพของกองทัพรวมถึงยุทโธปกรณ์ต้องแข็งแกร่งมากพอที่จะทำให้คนอื่นกลัวได้ แต่ต้องอยู่ในระดับที่พอดี” ฟูอาดี้กล่าว

ฟูอาดี้ บอกว่า การมีทหารก็เพื่อป้องกันการบุกรุกไม่ให้เกิดสงคราม ไม่ใช่ว่ามีเพื่อไปก่อสงคราม โดยยกตัวอย่างนโยบายทางการทูตในสมัยของธีโอดอร์ โรสเวลต์ ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐฯ ที่ว่า ‘speak softly and carry a big stick.’ หรือพูดให้เบาและถือไม้ใหญ่ๆ เอาไว้ หมายความว่ากระทรวงการต่างประเทศจะมีประสิทธิภาพได้ต้องมีกองทัพคอยสนับสนุน ถือเป็นนโยบายต่างประเทศที่แข็งแกร่งโดยให้กองทัพเป็นผู้ตาม ไม่ใช่ผู้นำ

แนวคิดด้านการทหารในยุคดิจิทัล

ภาพลักษณ์ของทหารไทยในสายตาคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หรือนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย มักเป็นไปในทิศทางลบ ซึ่งเป็นผลจากประวัติศาสตร์ทางการทหารที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจำเป็นยกเลิกกองทัพ เพียงแค่ทหารในภาพจำของประชาชน ไม่ใช่ทหารในแบบที่ประชาชนต้องการ

“เราต้องการทหารที่เป็นมืออาชีพ สามารถออกไปรบหรือป้องกันอาณาเขตให้เราได้ เราต้องการทหารอีกรูปแบบหนึ่ง ทหารที่เข้าใจบริบทของโลก พร้อมจะปกป้องเรา ไม่ใช่ทหารที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราถูกริดรอนสิทธิ ทำให้เรารู้สึกว่ามีไว้ทำไม ในเมื่อเราจ่ายภาษีให้เขา แต่เขากลับมายึดอำนาจผู้นำที่เราเลือก”

ฟูอาดี้ เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างทหารและประชาชนชาวอเมริกันว่าดีกว่าของไทย เพราะทหารอเมริกันยึดหลักเดินตามพลเรือน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าทหารอเมริกันจะไม่ลงมือกระทำการใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน หากไม่ได้รับคำสั่งจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม หรือประธานาธิบดี ซึ่งเป็นฝ่ายพลเรือน

ฟูอาดี้ บอกว่า ภัยคุกคามในโลกยุคปัจจุบันแตกต่างกับภัยคุกคามในยุคสงครามโลกหรือสงครามเย็น ซึ่งที่เห็นได้ชัดในตอนนี้ คือ ภัยคุกคามจากโรคระบาด ภัยจากสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง รวมถึงภัยจากผู้อพยพ ซึ่งต้องตั้งคำถามต่อไปว่า บทบาทของทหารจำเป็นแค่ไหนกับภัยคุกคามในยุคดิจิทัล

“ภัยที่หนักที่สุดตอนนี้ คือ โรคระบาด ทหารควรจะรับหน้าที่ดูแลตรงนี้ด้วยไหม ซึ่งจริงๆ ก็คงไม่ใช่ โดยเฉพาะในประเทศไทย การจะเพิ่มงบให้ทหารเพื่อปฏิบัติหน้าที่เพิ่ม สื่งแรกที่สำคัญที่สุด คือ ชื่อเสียงที่ดีของทหารต้องมีมากพอจริงๆ”

ฟูอาดี้ กล่าวอีกว่า ภัยคุกคามระหว่างรัฐแบบเดิมในสมัยสงครามโลกก็ยังมีอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปกลายเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ส่วนการโจมตีภาคพื้นดิน มหาสมุทร หรืออากาศลดน้อยลงมาจนแทบไม่มีเมื่อเทียบกับสมัยสงครามโลก นอกจากนี้ การทหารในบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ มองภัยคุกคามเดิมในมุมมองที่ไกลขึ้น โดยเริ่มให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านทางอวกาศ ซึ่งถือว่าล้ำหน้าไปมาก ในขณะที่สังคมไทยยังถกเถียงกันอยู่ว่าทหารควรให้ความสำคัญกับภัยคุกคามแบบเก่าหรือแบบใหม่มากกว่ากัน ควรเพิ่มหรือลดงบประมาณทหารเพื่อนำไปใช้ในภารกิจอื่นๆ หรือไม่ เช่น ช่วยเหลือบุคลกรทางการแพทย์ หรือช่วยเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ซึ่งเวทีกลางสำหรับการหาทางออกให้ข้อถกเถียงเหล่านี้ คือ รัฐสภา

“ปัญหาคือรัฐสภาเอียงไปด้านหนึ่งแล้ว ไม่ใช่ที่ที่มาถกเถียงแล้วจะทำให้ทหารปฏิรูปได้ เพราะโดนเช็กไปแล้วว่าห้ามทำอะไรบ้าง ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งยากมากที่จะถกกันในรัฐสภาอย่างเปิดเผย และเป็นกลาง” ฟูอาดี้กล่าว

ทหารเป็นของใคร

ฟูอาดี้ บอกว่า ในสหรัฐฯ แต่ละมลรัฐมีกองกำลังเป็นของตัวเอง เรียกว่า กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) ซึ่งขึ้นตรงต่อผู้ว่าการรัฐ ไม่ใช่รัฐบาลกลางซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นการคานอำนาจไม่ให้รัฐบาลกลางหรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีอำนาจเต็มในการควบคุมกองทัพ ส่วนที่สหราชอาณาจักร เมื่อพิจารณาตามหลักกฎหมาย กองทัพถือว่าอยู่ภายใต้การกำกับของกษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่ในทางปฏิบัติ กษัตริย์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง เพราะถือว่าได้มอบอำนาจนั้นให้แก่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนไปแล้ว

ส่วนในสังคมไทยตอนนี้ มีแนวคิดเกี่ยวกับทหารอยู่ 3 ข้อหลักๆ คือ ทหารเป็นของประชาชน ทหารของพระราชา และทหารของทหาร ซึ่งข้อสุดท้ายอันตรายที่สุดเพราะจะไม่มีใครควบคุมทหารได้ แต่ในมุมมองส่วนตัว ฟูอาดี้ มองว่า ทหารเป็นของคนที่มีความชอบธรรมทางการเมืองที่มาจากฉันทามติของประชาชน

“เมื่อก่อนปัญหามันน้อยกว่านี้ เพราะประชาชนกับพระราชามีความใกล้ชิดกันจึงไม่เคยเกิดคำถามแบบนี้มาก่อน แต่ตอนนี้ ผมต้องขอพูดในเชิงวิชาการ เราต้องยอมรับว่ามันมีการแตกร้าวระหว่างประชาชนบางกลุ่มกับสถาบันสูงสุดซึ่งเขาเรียกร้องให้ปฏิรูป พอมันมีช่องว่างตรงนี้เลยเกิดคำถามนี้ สรุปว่าทหารจะไปทางไหน คนคุมทหารคือใคร และถ้าสุดท้ายแล้ว ทหารคิดว่าทหารเป็นตัวของตัวเอง แล้วยังใช้สถาบันมาเป็นข้ออ้าง แบบนี้จะอันตรายมาก ถ้าทหารต้องการการเคารพ ต้องการความน่าเชื่อถือมากขึ้น ทหารต้องอยู่ภายใต้การเมืองของพลเรือน ซึ่งการเมืองของพลเรือนอยู่ในสภา แต่สภาตอนนี้เลือกไปแล้ว มันเลยแก้อะไรไม่ได้”

ทหารยุคใหม่ ภัยคุกคามแบบใหม่ จึงต้องใช้คนที่มีทักษะขั้นสูง

ฟูอาดี้มองว่า ภัยคุกคามในโลกยุคใหม่จะส่งผลต่อความมั่นคงในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นกองทัพควรคิดนโยบายว่าทำอย่างไรจึงจะดึงแรงงานฝีมือหรือคนที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้เข้ามาร่วมงานกับกองทัพได้ แต่กองทัพไทยยังติดเรื่องชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนไม่อยากให้ความร่วมมือกับกองทัพ เพราะมองว่าการทำงานร่วมกับทหารไม่ใช่เรื่องที่มีเกียรติหรือน่าภาคภูมิใจอีกต่อไป ซึ่งมุมมองนี้ต่างจากพลเมืองอเมริกันที่มองว่าการเข้าร่วมกองทัพไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะกองทัพสหรัฐฯ ยังมีชื่อเสียงที่ค่อนข้างดี หรือแม้แต่กองทัพของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่สร้างภาพลักษณ์และเกียรติภูมิจนประชาชนมองว่าการเป็นทหารคือเรื่องน่าภาคภูมิใจ

“เมื่อก่อนเทคโนโลยีล้ำๆ มาจากทหารหมดเลยนะ เช่น ในสหรัฐฯ มีหน่วยงานที่ชื่อว่า ดาร์ปา (Defense Advanced Research Projects Agency) ซึ่งทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เชิงลึก แล้วเทคโนโลยีพวกนี้ก็ถูกถ่ายทอดต่อให้ภาคเอกชนเยอะมาก แต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอยู่ในภาคเอกชนหมดเลย ไม่ใช่แค่ในมหาวิทยาลัย เราจะดึงบุคลากรตรงนี้มาช่วยทหารอย่างไร ซึ่งก็ย้อนไปกลับที่เรื่องชื่อเสียงที่ดีของทหาร ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้อยากมาช่วยกองทัพ” ฟูอาดี้กล่าว

“การจะรับใช้ชาติ จำเป็นต้องเป็นทหารหรือไม่ ถ้าผมบอกว่าผมรักชาติมาก แล้วภัยคุกคามปัจจุบันคือโรคระบาด ผมขอไปสมัครเป็นพยาบาลแทนได้ไหม แทนที่ผมจะไปเป็นทหาร 2 ปี หรืออีกกรณี คือ ผมอยู่เชียงใหม่ ผมอยากสมัครเป็นเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ทำหน้าที่ดับไฟป่า เพื่อช่วยพี่น้องในภาคเหนือ มีโควตาให้ผมทำงานตรงนี้ 2 ปีแทนการเป็นทหารไหม และขอให้หน้าที่ตรงนี้เทียบเท่ากับการเป็นทหารได้ไหม ซึ่งจริงๆ มันควรจะได้ เพราะผมก็รักชาติไม่แพ้กับคนที่เป็นทหารแน่นอน ที่เราเถียงกันอยู่ตอนนี้ คือการยกเลิกเกณฑ์ทหาร แล้วถ้าสมมติว่ายกเลิกไม่ได้ ขอเกณฑ์ไปเป็นอย่างอื่นได้ไหม เรื่องนี้ควรถกเถียงในสังคมและในรัฐสภามากกว่านี้”

ฟูอาดี้ บอกว่า การเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กองทัพไทย คือ การถอยออกจากการเมือง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในประเทศอินโดนีเซีย สมัยประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ซึ่งเป็นอดีตทหาร แต่เป็นประธานาธิบดี 2 สมัยที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน หลังจากที่อินโดนีเซียปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญจนพ้นยุคเผด็จการ สอดคล้องกับผลสำรวจด้านรัฐศาสตร์ในหลายประเทศที่พบว่าชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของกองทัพจะกลับคืนมาก็ต่อเมื่อทหารเลิกแทรกแซงการเมือง ส่งผลให้การของบประมาณด้านความมั่นคงไม่ถูกต่อต้านจากประชาชน และในมุมมองส่วนตัว ตนคิดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องมาจากฝ่ายพลเรือน ไม่ใช่ทหาร เพราะประชาชนที่หมุนเวียนมาดำรงตำแหน่งนี้ ถือเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดหลากหลาย และมีมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากทหาร ซึ่งจะส่งผลดีต่อนโยบายปฏิรูปกองทัพ

งบทหารต้องสอดคล้องกับสถานการณ์โลก

เมื่อศึกษาข้อมูลงบประมาณด้านการทหารของกองทัพสหรัฐฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2554-2563 พบว่า งบกองทัพบกลดลงจาก 32% เหลือ 26% ในขณะที่กองทัพอากาศได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 29% จากเดิมที่เคยได้รับเพียง 22% แสดงให้เห็นว่ากองทัพสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามยุคใหม่ที่จำเป็นต้องอาศัยกำลังของกองทัพอากาศมากขึ้น เช่น การขนส่งวัคซีนหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือการอพยพประชาชน เป็นต้น

ส่วนกองทัพบกไทย ในปี 2554 ได้รับงบประมาณสูงสุดในทุกเหล่าทัพ คือ 49% และเพิ่มเติมเป็น 50% ในปี 2563 ซึ่งสัดส่วนโดยรวมของงบประมาณทั้ง 3 เหล่าทัพถือว่าไม่แตกต่างจากยุคสงครามเย็น แสดงให้เห็นว่ากองทัพไทยไม่มีการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้เท่าทันสถานการณ์โลก

บทบาททหารในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กับทหารในปัจจุบัน

ฟูอาดี้ บอกว่า ทหารมีความสำคัญมากในการพัฒนาประชาธิปไตย ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด เช่น การประกาศเอกราชของอินโดนีเซียก็เกิดจากทหาร ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าทหารมีความจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม แต่สำหรับสถานการณ์ของไทยในตอนนี้ยังขาดองค์ประกอบของทหารที่กล้าลุกฮือเพื่อปฏิรูปกองทัพ แต่โดยส่วนตัว ฟูอาดี้คิดว่ายังพอมีหวัง

ประชาธิปไตยต้องพัฒนาไปอย่างไม่สิ้นสุด

ฟูอาดี้ บอกว่า แม้ทหารในประเทศฝั่งตะวันตกจะไม่ทำรัฐประหาร แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าวิถีประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้นจะสมบูรณ์แบบ เพราะทุกประเทศล้วนมีปัญหา แต่ฟูอาดี้ มองว่า การพัฒนาประชาธิปไตยไม่มีที่สิ้นสุด ต้องปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

“นักวิชาการในต่างประเทศพยายามคิดหาวิธีว่าทำอย่างไร ประชาธิปไตยในบ้านเขาจะดีขึ้น ตอบโจทย์ทุกคน แต่นักวิชาการในบ้านเรายังต้องภาวนาอยู่ว่าขออย่าให้ทหารมายุ่งการเมืองอยู่เลย ขอแค่มีประชาธิปไตยที่จับต้องได้ก็พอแล้ว ขอให้ทหารถอยออกไปก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่จริงๆ เราควรจะคิดให้ไกลได้กว่านี้”

ฟูอาดี้ กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการบรรยายว่า ตนอยากเห็นกองทัพที่มีความเป็นมืออาชีพ และต้องเชื่อในการปกครองของพลเรือน ถ้ากองทัพฟังพลเรือนมากขึ้น ยอมคลายอำนาจบางอย่างมากขึ้น และตอบคำถามของประชาชนได้ จะช่วยให้กองทัพสามารถพัฒนาร่วมกับประชาชนได้มากกว่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท