Skip to main content
sharethis

วงเสวนาชี้กองทัพพม่ากลัวเสียอำนาจ จึงยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน แต่การพาประเทศถอยหลังไปสู่ยุคทหารครองเมืองไม่ง่ายอย่างที่คิดเมื่อประชาชนในพม่าต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่ออนาคต จับตาโซเชียลมีเดียเสริมพลังขบวนต้านรัฐประหาร

เสวนา “ผ่าเมียนมา 7 วันหลังรัฐประหาร” เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 จัดโดย กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ (MIO) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา (กรพ.)
 

ประชาไทชวนอ่านสรุปความจากเสวนา “ผ่าเมียนมา 7 วันหลังรัฐประหาร” เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 จัดโดย กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ (MIO) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา (กรพ.) เพื่อเป็นข้อมูลสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาแก่สื่อมวลชนไทย 

เสวนานี้จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจเหตุการณ์ก่อนทำรัฐประหารโดยกองทัพ สาเหตุการทำรัฐประหาร และเหตุผลที่ผลักดันคนรุ่นใหม่ออกมาประท้วงเต็มท้องถนน 

ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย 

  1. ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า
  2. อรรวี แตงมีแสง แอดมินเพจ “Natty in Myanmar” และอดีตผู้สื่อข่าวสายอาเซียน 
  3. อรรคณัฐ วรรธนะสมบัติ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญพม่า สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  4. สุภัตรา ภูมิประภาส กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์
  5. เหมย นาง คำ เสาร์ (Nang Kham Saung) นศ.ปริญญาโท มหิดล  

สมฤทธิ์ ลือชัย ดำเนินรายการ

  • สรุปเหตุการณ์ก่อนเกิดรัฐประหารโดยกองทัพพม่า
  • เครือข่ายกองทัพพม่า-กับความหวาดกลัวการสูญเสียอำนาจ
  • NLD เล่นเกมการเมือง การะจายอำนาจ-เปลี่ยนกฎหมายลูก ดึงผลประโยชน์ออกจากกองทัพ
  • ความไม่มั่นคงในอนาคต-โซเชียลมีเดีย ส่งให้คนรุ่นใหม่ออกต้านรัฐประหาร
  • “ต้องให้เครดิตโซเชียลมีเดีย” ที่ทำให้ขบวนการประท้วงในพม่ามันมีพลัง-อรรวี ชี้เป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายสื่อมวลชน โดยเฉพาะเรื่องข่าวลวง ข่าวปลอม

สรุปเหตุการณ์ก่อนเกิดรัฐประหารโดยกองทัพพม่า

ข่าวลือเรื่องการทำรัฐประหารมีมาตั้งแต่ช่วงลงชิงชัยเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมา เมื่อ 8 พ.ย. 2564 ซึ่งครานั้น พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD มีผู้นำพรรคคืออองซาน ซูจี สามารถคว้าชัยชนะแบบถล่มทลายถึง 86 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในสภาแห่งสหภาพทั้งหมด โดยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง 235 ที่นั่งจาก 330 ที่นั่ง และได้ที่นั่งสภาชนเผ่า หรือสภาสูง 135 ที่นั่งจากทั้งหมด 168 ที่นั่ง ส่งให้พรรค NLD มีเสียงเลือกประธานาธิบดีมากกว่า 2 ใน 3 

ชาวเมียนมารวมตัวหน้าสถานทูตพม่าในไทย เพื่อประท้วงต้านรัฐประหารโดยกองทัพพม่า จากแฟ้มภาพประชาไท เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564
ชาวเมียนมารวมตัวหน้าสถานทูตพม่าในไทย เพื่อประท้วงต้านรัฐประหารโดยกองทัพพม่า จากแฟ้มภาพประชาไท เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564
 

อย่างไรก็ตาม ช่วงระหว่างการเลือกตั้ง กองทัพพม่า และพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือพรรคทหารพม่า ออกมากล่าวหาพรรค NLD ว่ามีการโกงการเลือกตั้ง และมีข่าวลือว่ากองทัพจะทำรัฐประหาร แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่ากองทัพจะกล้าทำรัฐประหารจริง ๆ 

จนกระทั่งผ่านไป 2 เดือน เหตุการณ์ดูเหมือนจะกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ใกล้กับช่วงวันเปิดสภา 1 ก.พ. 2564 เมื่อ มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า กล่าวกับนักเรียนเตรียมทหารแห่งวิทยาลัยความมั่นคงแห่งชาติและพลทหารในกองทัพ ในการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ใจความว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายแม่ของกฎหมายทั้งปวง แต่หากต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ เพราะมีคนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็คงต้องทำ

ข้อความนี้ทำให้ชาวพม่าและนานาชาติเกิดความวิตกกังวลว่า กองทัพพม่าอาจมีแผนทำรัฐประหาร แต่สองวันถัดมา กองทัพก็ออกแถลงการณ์ย้ำจุดยืน “ปกป้องและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 รวมถึงปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนดเท่านั้น” พร้อมติงสื่อบางสำนักที่นำข้อความของ ผบ.ทบ.พม่า ไปตีความอย่างผิด ๆ อีกทั้ง นำไปขยายความจนเลยเถิดว่า กองทัพพม่าตั้งใจจะทำลายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2008   

แถลงการณ์นี้ทำให้หลายฝ่ายคลายความกังวลว่า กองทัพพม่าอาจไม่ทำรัฐประหาร (อย่างน้อยในช่วงเวลานี้) แต่หายกังวลได้ไม่นาน เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กองทัพพม่าก็ทำให้ทั่วโลกตกตะลึงอีกครั้ง โดยทำรัฐประหารในเช้าวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งเรียกว่าหักปากกาเซียนที่ก่อนหน้านี้ต่างฟันธงว่า กองทัพพม่าจะยังไม่ทำรัฐประหารเร็ว ๆ นี้ รวมถึงคุณอรรวี แตงมีแสง อดีตผู้สื่อข่าวสายอาเซียน ก็รู้สึกว่ากองทัพพม่าจะไม่ทำรัฐประหาร 

“ใจคิดว่าไม่น่าจะเกิด (ผู้สื่อข่าว-รัฐประหาร) เขาคงไม่อยากจะกลับไปจุดเดิมแล้ว แต่สิ่งที่จะย้ำเตือนตัวเองไว้เสมอ ๆ คือ อะไรก็เกิดขึ้นได้ที่เมียนมา”

“ช็อก โกรธ และเสียใจ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘traumatize’ ไม่ใช่แค่คนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ด้วย คนรุ่นใหม่คือ traumatize มากก็คือ รู้สึกสิ้นหวัง เขารู้สึกว่า ชีวิตเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป รู้สึกโกรธแค้นมาก ๆ และไม่รีรอที่จะแสดงความรู้สึกอย่างนั้นผ่านโซเชียลมีเดีย” อรรวี กล่าวถึงความรู้สึกของคนรุ่นใหม่หลังเกิดรัฐประหาร  

เครือข่ายกองทัพพม่า-กับความหวาดกลัวการสูญเสียอำนาจ

นฤมล ทับจุมพล ระบุว่ากองทัพพม่าจงใจใช้ข้ออ้างเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งทั่วไปของพรรค NLD เพื่อทำการยึดอำนาจ แต่ยังไม่ใช่ความตั้งใจจริงของเขา  

อรรคณัฐ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่า มีความเห็นสอดคล้องกับนฤมล และมองว่าการรัฐประหารสะท้อนการสูญเสียอำนาจของโครงข่ายกองทัพพม่า 

อรรคณัฐ วรรธนะสมบัติ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญพม่า สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ผมเชื่อว่าในการเมือง มันมีการแข่งขันเรื่องอำนาจตลอดเวลา และอำนาจของกองทัพพม่ากำลังสูญเสียไปเรื่อย ๆ เมื่อหลายปีก่อน ก็มีคนเชิญ โรเบิร์ต เทย์เลอร์ (Robert Taylor) มาเปิดตัวหนังสือ ก็มีคนตั้งคำถามเรื่องทหารพม่า เขาก็บอกว่า ทหารไทยกับทหารพม่ามีความคล้ายคลึงกัน แต่ทหารไทยเล่นการเมือง แต่ทหารพม่าคุมการเมือง

ทีนี้เราก็จะเห็นว่า ตั้งแต่อดีตทหารพม่าคุมการเมืองมาอย่างยาวนาน จนถึงการใช้รัฐธรรมนูญ 2008 แต่การที่พรรค NLD เข้ามาเป็นรัฐบาลในปี 2015 มันทำให้เกิดการต่อสู้กันในเชิงการเมือง มันมีการแย่งชิงอำนาจ มันมีหลายกรณีมาก”

อรรคณัฐ กล่าวต่อว่า มีสองกรณีที่เห็นได้ชัดว่า กองทัพกำลังเสียการคุมอำนาจการเมือง คือ เรื่อง General administrative department หรือ GAD เดิมขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญพม่า คนที่ตั้งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยคือผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดังนั้น ข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ระดับรัฐไปจนถึงระดับเทศบาล มันจึงเป็นโครงข่ายของกองทัพทั้งหมด แต่ในสมัยรัฐบาล NLD มีการย้าย GAD ออกจากกระทรวงมหาดไทยไปสังกัดกระทรวงสำนักงานบริหารรัฐบาลสหภาพแทน  

“อันนี้ ผมคิดว่ากระเทือนมาก USDP หรือกองทัพ ไม่เคยมีประเด็นที่มีข้อขัดแย้งกับ GAD แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง พรรค USDP ออกมาประณามเจ้าหน้าที่ GAD เรื่องการทำงานสาธารณภัย หรือโควิด-19 ก็ดี ช่วยไปในทางของ NLD อันนี้เป็นกรณีหนึ่งเลยที่ทำให้เห็นว่ากองทัพเสียการควบคุม”  

General administrative department หรือ GAD แต่เดิมสังกัดกับกระทรวงมหาดไทย แต่ในปี 2018 ภายใต้รัฐบาล NLD มีการโยกหน่วยงานนี้ไปสังกัดกระทรวงสำนักงานบริหารรัฐบาลสหภาพ หรือ Ministry of Office of the Union Government ซึ่งเป็นกระทรวงใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นมาในปี 2017 เพื่อดึงกลไกแขนขาของกระทรวงมหาดไทยออกไป ให้มาอยู่กับ NLD 

แต่หลังจากรัฐประหารยึดอำนาจ โซ ทุต (Soe Htut) รมว.กระทรวงมหาดไทย ที่มาจากการแต่งตั้งโดยกองทัพ ขึ้นเป็น รมว.กระทรวงสำนักงานบริหารรัฐบาลสหภาพ ควบ 2 กระทรวง รวบอำนาจกลับมาเหมือนสมัยก่อนปี 2015

อีกกรณีคือกระบวนเจรจาสันติภาพในพม่า ซึ่งกองทัพพม่าจะเป็นเจ้าภาพผ่านกลไก Nationwide Ceasefire Agreement (NCA) และมีการพยายามจัดการประชุมสันติภาพในระดับสหภาพ (Union Peace Conference) ที่เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดี เต็ง เส่ง เมื่อปี 2015 แต่ในสมัยอองซาน ซูจี ก็มีการเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยขึ้นมาใหม่ในชื่อ การจัดประชุมสันติภาพระดับสหภาพ-ปางโหลงศตวรรษที่ 21 (The Union Peace Conference-21st Century Panglong) ขึ้นมาแข่งกับของกองทัพ 

การจัดประชุมสันติภาพระดับสหภาพ-ปางโหลงศตวรรษที่ 21 นัดแรก ถูกจัดขึ้นที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อ 31 สิงหาคมถึง 4 กันยายน 2016 

ตัวแทนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม และตัวแทนรัฐบาลพม่านำโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก หลังพิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ที่เนปิดอว์ เมื่อ 15 ตุลาคม 2015 และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 มีอีก 2 กลุ่มเข้าร่วม รวมเป็น 10 กลุ่ม (ที่มา: แฟ้มภาพ/The Global New Light of Myanmar, 16 October 2015)

ตัวแทนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม และตัวแทนรัฐบาลพม่านำโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก หลังพิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ที่เนปิดอว์ เมื่อ 15 ตุลาคม 2015 และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 มีอีก 2 กลุ่มเข้าร่วม รวมเป็น 10 กลุ่ม (ที่มา: แฟ้มภาพ/The Global New Light of Myanmar, 16 October 2015)

ซึ่งทำให้อรรคณัฐมองว่า เงื่อนไขหลักที่ทำให้กองทัพต้องยึดอำนาจ และต้องทำตอนนี้ คือ ‘การสูญเสียอำนาจในการคุมการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้’ 

ขณะที่สุภัตรา ภูมิประภาส มีมุมมองเพิ่มเติมว่า กองทัพพม่าเองอาจประเมินสถานการณ์การเลือกตั้ง และความนิยมของพรรค NLD ต่ำไป 

“อย่างกรณีโรฮิงญา หรือกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐบาลก็รับไปเต็ม ๆ โดยเฉพาะจากภายนอก เลยคิดว่าคะแนนเสียงจะน้อยลง แต่พอออกมา NLD ชนะถล่มทลาย และถ้าต้องให้ NLD บริหารประเทศอีก 5 ปี กองทัพคงประเมินแล้วว่า มันต้องทำตอนนี้จริง ๆ”

ขณะที่เหตุที่ต้องทำรัฐประหารตอนนี้ ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าอาจเป็นเพราะช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่รัฐบาลใหม่พอดี และไม่สามารถรอให้ ส.ส. ที่ชนะการเลือกตั้งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งได้ เพราะจะไม่มีข้ออ้างทำรัฐประหาร 

หลังจากนั้น ผู้ดำเนินรายการ จึงถามต่อถึงประเด็นต่อมา คือ ทหารอาจจะกำลังกลัวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ เพราะตอนนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 มีการประกันที่นั่งในสภาให้กองทัพ 25% ของ 440 ที่นั่ง ซึ่งทำให้พรรค NLD ที่ผ่านมา แก้รัฐธรรมนูญลำบาก เนื่องจากต้องการเสียงโหวตในสภาจำนวนมากกว่า 75%

ขณะที่นฤมล เห็นด้วยว่า เป็นไปได้ เพราะตอนนี้ที่นั่งในสภาของพรรค NLD ได้มาแล้ว 86% ในความเป็นจริง อาจจะได้คะแนนเสียงจากกองทัพเพียง 1-3 คน อาจจะเพียงพอให้แก้รัฐธรรมนูญได้แล้ว 

NLD เล่นเกมการเมือง การะจายอำนาจ-เปลี่ยนกฎหมายลูก ดึงผลประโยชน์ออกจากกองทัพ 

การเข้ามาของพรรค NLD เมื่อปี 2015 แม้ว่าซูจี จะไม่ได้คุมกระทรวงกลาโหม แต่ได้คุมเรื่องเศรษฐกิจ และสาธารณสุข นอกจากนี้ ซูจียังอนุญาตให้ผู้ว่าการรัฐสามารถตัดสินใจด้านนโยบายได้ด้วยตนเอง ในความเห็นของนฤมล นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้กองทัพพม่ารู้สึกปั่นป่วน ไม่มั่นคง 

“แม้ว่าทหารจะคุมความมั่นคง แต่เศรษฐกิจที่อยู่ในพื้นที่ความมั่นคง NLD ก็เอาไป ยังไม่นับล่าสุด คือช่วงโควิด-19 เธอไม่ได้คุมความมั่นคง ไม่ได้มีอำนาจในการช่วยเหลือเรื่องภัยพิบัติ แต่เธอก็มีอำนาจ มีอาสาสมัครสาธารณสุข เหมือน อสม.บ้านเรา มีอาสาสมัครครูเข้าไปช่วยเรื่องโควิด-19 จากเดิมที่กองกำลังพม่า เป็นพระเอก ช่วยเรื่องภัยพิบัติต่าง ๆ ตอนนี้ก็ไม่ต้อง มีอาสาสมัครไปทำแทน ใช้กลไกข้าราชการในต่อสู้กับอำนาจกองทัพ”  

อรรคณัฐ เสริมว่า แม้ว่าตัวรัฐธรรมนูญจะแก้ไม่ได้ แต่กฎหมายต่าง ๆ รัฐบาลแก้ได้ และ NLD ก็ต่อสู้กับทหารพม่าเรื่องนี้ เช่น กฎหมายการลงทุนที่เขียนไว้ในสมัยเต็ง เส่ง พรรค NLD เข้าไปแก้ไข ซึ่งทำให้กองทัพพม่าไม่ได้รู้สึกแค่ไม่มั่นคงด้านอำนาจทางการเมือง แต่รวมถึงผลประโยชน์ด้วยสำหรับกลุ่มก้อนหรือเครือข่ายของกองทัพ 

ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า

ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า

ความไม่มั่นคงในอนาคต-โซเชียลมีเดีย ส่งให้คนรุ่นใหม่ออกต้านรัฐประหาร

กลุ่มผู้ประท้วงรัฐประหาร แน่นอนว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งเจ้าของเพจ “Natty in Myanmar” แชร์ความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ว่า การยึดอำนาจของทหารทำให้อนาคตของพวกเขาไม่มั่นคง ซึ่งในสมัยของซูจี และประเทศเป็นประชาธิปไตย บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในพม่ามากขึ้น มีการจ้างงาน คนรุ่นใหม่มีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การรัฐประหารทำให้พวกเขาไม่มั่นใจว่าเขาจะสามารถมีอนาคตที่ดีได้   

นฤมล กล่าวเสริมว่า กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาร่วมประท้วงในครั้งนี้ เพราะในสมัยของซูจี พรรครัฐบาลของ NLD มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจด้านเศรษฐกิจไปสู่ส่วนท้องถิ่น หรือผู้ว่าการรัฐ โดยส่วนท้องถิ่นสามารถตัดสินใจเรื่องโครงการทางเศรษฐกิจได้ตัวเอง เช่น อนุญาตให้ตั้งโรงงาน ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ที่จะเปิดบริษัทจดทะเบียน ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งกองทัพ มันเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนหลายคน 

“ผู้ประกอบการที่เขาเห็นโอกาสใหม่ อนาคตใหม่ เขาไม่จำเป็นต้องมีเงินเป็นหลายพันล้าน เพื่อที่จะไปตกลงเป็น nominee กับกองทัพ แต่เขาสามารถตั้งโรงงานได้ และนี่คือยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของซูจี หรือของ NLD คือการอนุญาตให้ผู้ว่าการรัฐมีสิทธิ์จัดการโครงการทางเศรษฐกิจ อนุญาตให้ตั้งโรงงาน แน่นอนอาจจะมีการคอรัปชัน แต่มันเอื้อความหวังทางเศรษฐกิจ ให้กับคนกลุ่มต่าง ๆ ดังนั้น เขามีสิทธิ์ที่เขาจะเปิดบริษัทจดทะเบียน อันนี้ตะหากคือคนที่ไม่แฮปปี้ ไม่พอใจกับที่สิ่งที่กองทัพกลับมา และก็ไม่ชัดเจนว่ากองทัพจะกลับไปอยู่ แค่สอง-สามตระกูลรึเปล่า และอันนี้คือโจทย์ ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่เขาไม่พอใจ แต่เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการขนาดกลาง หรือขนาดที่จะขึ้นไปยังเจ้าของห้างอะไรอย่างนี้ มันคือพวกที่ไม่พอใจด้วย”

“ต้องให้เครดิตโซเชียลมีเดีย” ที่ทำให้ขบวนการประท้วงในพม่ามันมีพลัง-อรรวีฝากสื่อช่วยกรองข่าวแกง

ขณะที่อรรคณัฐ กล่าวว่า โซเชียลมีเดียตอนนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนออกมาต้านรัฐประหาร พอเราเห็นรูป คลิป วิดีโอคนอื่น ๆ ไปเดินขบวนต้านรัฐประหาร มันก็เป็นแรงผลักดันให้คนอื่น ๆ กล้าออกไปร่วมด้วย  

“ผมก็คิดว่าอันนี้เป็นพลัง และมันก็เป็นพื้นที่ทางการเมืองแบบใหม่ ซึ่งตอนแรก หลายคนก็คิดว่า ถ้าคนมีพื้นที่ทางการเมืองแบบใหม่ มีโซเชียลมีเดียแล้วเราจะเอาแต่บ่น ๆ ระบายความเครียด แล้วเราก็พอแล้วรึเปล่า แต่ก็ไม่นะครับ มันมีพื้นที่แบบใหม่ พื้นที่ไฮบริดระหว่างพื้นที่โซเชียลมีเดีย พื้นที่ทางกายภาพแบบเดิม สองพื้นที่ผสมผสานกันไป ผมคิดว่าเรื่องการตระหนักรู้ในเรื่องการมีส่วนร่วมเพื่อประชาธิปไตยที่มันไปเร็ว และกว้างขวาง และมันสามารถที่จะออแกไนซ์ที่คนออกมารวมตัวกันได้ เราก็ต้องให้เครดิตกับตัวโซเชียลมีเดีย ให้เครดิตเทคโนโลยี”

แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียมีส่วนผลักดันขบวนการต้านรัฐประหาร แต่ข่าวลวงเองที่กระจัดกระจายบนโซเชียลมีเดียก็เยอะขึ้นเช่นกัน ด้านอรรวี แตงมีแสง เองก็อยากจะฝากถึงสื่อไทยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่อ่อนไหว และท้าทายสื่อมวลชนอีกครั้ง เพราะข่าวสาร ข่าวลือ ข่าวลวงมันไปเร็ว และสื่อเองบางครั้งก็ลงข่าวโดยไม่มีการกรองข่าวแกง 

“รบกวนเช็กข่าวเกี่ยวกับพม่าก่อนลง คืออย่าเอาข่าวลือไปลง และเช็กกับผู้เชี่ยวชาญได้ ทุกคนยินดีช่วย เช็กกับพี่น้องชาวเมียนมา หรือแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ก่อนที่จะนำไปลง เพราะว่าในช่วงที่ผ่านมา ต้องแก้ข่าวลือเยอะมาก เช่น ข่าวแฮชแท็ก ข่าวจดหมายซูจี คลิปมินอ่องหล่าย ซูจีได้รับการปล่อยตัวไหม เกือบสิบข่าวในช่วง 7 วันที่ผ่านมา … นอกจากนี้ ก็เช็กแหล่งข่าวระหว่างประเทศที่แหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ ฝากรบกวนตรงนี้ ว่าช่วยเช็กข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับพม่า” อรรวี ทิ้งท้าย

 อรรวี แตงมีแสง แอดมินเพจ “Natty in Myanmar” และอดีตผู้สื่อข่าวสายอาเซียน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net