Skip to main content
sharethis

จากกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมพูดคุยผ่านแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ (Clubhouse) โดยใช้ชื่อบัญชีว่า Tony Woodsome ในห้องสนทนาชื่อ "ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้" วันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านา ถือเป็นปรากฏการณ์เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก คาดกันว่าราว 5 หมื่นคนเนื่องจากมีการเปิดห้องต่ออีกหลายห้อง

ประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงหลังจากนั้นคือสถานการณ์คือกรณีตากใบ ที่มีผู้ถามสดในห้องและทักษิณตอบประมาณว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในความควบคุมของทหาร ตนเองจำเหตุการณ์ไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ในโอกาสนี้จึงขอย้อนทวนไปเมื่อ 16 ปีกว่าที่แล้ว เพื่อทำความเข้าใจสั้นๆ ว่า เหตุการณ์ 'ตากใบ' ที่ว่านั้นคืออะไร

จับมัดมือเรียงคว่ำซ้อนทับกันตายเกือบ 100 ราย

เมื่อวันที่ วันที่ 25 ต.ค. 2547 เป็นวันที่ 10 ของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ประชาชนในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ต่างดำเนินชีวิตไปตามปกติ แต่เช้าวันนั้นไม่เหมือนเดิม เพราะมีการชุมนุมที่หน้า สภอ.ตากใบ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ที่ถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีโดยตั้งข้อหาแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์

ขณะที่การชุมนุมของประชาชนจำนวนมากที่อยู่ใกล้ก็เริ่มจากไปมุงดู ส่วนที่อยู่ไกลออกไปหลังทราบว่า มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นหลายคนต่างขึ้นรถไปกับเพื่อนบ้านเพื่อไปมุงดูเหตุการณ์เช่นกัน โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

ต่อมา แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นได้อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกมีคำสั่งสลายการชุมนุม พร้อมกับควบคุมตัวผู้เข้าร่วมชุมนุมนำขึ้นรถยนต์บรรทุกทหารไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในการขนย้ายผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการจับมัดมือเรียงคว่ำซ้อนทับกัน จนเป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิตรวม 78 ศพ (ไม่รวมผู้เสียชีวิตอีก 7 รายจากการสลายการชุมนุมก่อนการขนย้ายผู้ที่ถูกจับกุม) และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ไม่มีผู้ใดเลยแม้แต่คนเดียวถูกลงโทษ

กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลของเหตุการณ์นี้จบลงตรงที่ศาลจังหวัดสงขลาได้ทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 และคดีหมายเลขแดงที่ ช.8/2552 ว่าผู้ตายทั้ง 78 รายขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวย และคำสั่งนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้

คำสั่งของศาลนำมาสู่การตั้งคำถามอย่างหนักจากสังคมว่า ได้มีการพิจารณาถึงการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาและการปฏิบัติที่ประมาทจนทำให้ประชาชนเสียชีวิตหรือไม่ อีกทั้งคำสั่งของศาลนี้หมายความว่าไม่มีผู้ใดเลยแม้แต่คนเดียวถูกลงโทษทางอาญาจากการตายของประชาชน 78 ราย

พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาเดียวกัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จนถึงในวันที่  16 พ.ย.2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถให้คณะบุคคลต่างๆ กว่า 1,000 คน เข้าเฝ้า ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ได้มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า 

"ไม่ว่าข้าพเจ้าไปที่ไหน ไปที่ อ.สุคิริน เป็นนิคมซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสนับสนุนตั้งขึ้น ก็มีชาวอีสาน มีชาวไทยที่นราธิวาสเอง อยู่ที่นั่น พอข้าพเจ้าไปเยี่ยมก็บอกว่า ดีใจที่ราชินีมา ที่ได้เห็นหน้า แต่ก็ไม่อยากให้มา ใจหนึ่งก็ไม่อยากให้มาเพราะมันอันตราย น่ากลัวเหลือเกิน ไม่อยากให้ท่านมา ข้าพเจ้าก็บอกว่าไม่มีอันตรายหรอกข้าพเจ้านี่ ทางรัฐบาล ทหาร ตำรวจ เขาดูแลใกล้ชิด เขาก็เล่าให้ฟังว่า เขาไม่ทราบจะว่าอย่างไรแล้ว ราวๆ ทุ่ม พวกเรากินข้าวเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็นั่งคุยกัน ช่วยกันสร้างศาลานานแล้ว ก็นั่งคุยกันที่นั่น ประเดี๋ยวก็เห็นคนขับมอเตอร์ไซค์มา เป็นผู้ชายหนุ่มซ้อนท้ายมา แล้วก็พอมาถึงที่ศาลานั้น ก็ไม่พูดพร่ำทำเพลง ไม่ต่อว่า ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น กระชากเอาปืนอาก้าออกมา ปืนกลที่ทำในรัสเซีย ที่เคยทำในรัสเซีย ออกมายิง ที่นั่งคุยกันนั่นก็ตายหมด และจนป่านนี้ก็ไม่มีใครทราบว่า ผู้ที่ตายทั้งหลายแหล่นี้ ถูกยิงด้วยอาก้านี้ เป็นใครยิง ก็เงียบหายไป คนก็อยู่ด้วยความหวาดกลัวเต็มที่

และตอนหลังเขาก็ทิ้งใบปลิว ที่ตลาดนราธิวาส ใบปลิวบอกว่า ไอ้พวกไทย-พุทธออกไปเดี๋ยวนี้จากแผ่นดินของกู ไม่งั้นจะให้กินลูกปืน ข้าพเจ้าก็ได้แต่ปลอบใจ ชวนไปหัดยิงปืนลูกซอง เพื่อป้องกันตัว อาสาเขาก็อยากป้องกันตัวเองได้ ตกลงเขาก็ไปกันทั้งผู้หญิงผู้ชายไปหัดยิงปืนที่ค่ายของนาวิกโยธินที่ อ.เมืองนราธิวาส ผู้หญิงยิงแม่นมาก ซึ่งไม่นึกว่าผู้หญิงที่ดูมีอายุ ยิงได้พั่วๆ ซึ่งเขาก็ภูมิใจว่าสามารถป้องกันตัวเองได้"

อ่านพระราชดำรัสเต็มที่ https://prachatai.com/journal/2004/11/1246

'ผสานวัฒนธรรม' เสนอยกเลิกใช้ กม.พิเศษในพื้นที่

เมื่อวันที่ 26 ต.ค.63 ในวาระครบรอบ 16 ปีของเหตุการณ์ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า แม้เวลาจะผ่านมานานถึง 16 ปี แต่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ แม้ว่าฝ่ายรัฐจะระบุว่ามีการลงโทษไปแล้ว คือ การย้ายผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานในวันนั้น ซึ่งก็คือแม่ทัพภาคที่ 4 ส่วนการเยียวยาก็มีการจ่ายเงินให้ผู้เสียชีวิตทั้งหมด(รายละ) 7.5 ล้านบาท ตามมติ ครม. และมีการเยียวยาทางด้านจิตใจที่สำคัญ คือ หลังรัฐประหารปี 2549 นายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มาขอโทษชาว จ.ปัตตานีในวาระหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม

"คดีที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในที่เกิดเหตุ ซึ่งต้องเป็นคดีไต่สวนการตาย ซึ่งมีทั้งหมด 6 คน แต่กระบวนการยุติธรรมส่วนนี้ไม่ได้ถูกดำเนินการ ส่วนที่สองก็คือ กรณีไต่สวนการตายผู้ที่เสียชีวิต 78 คน จากการขนย้ายจากหน้า สภ.ตากใบ ไปที่ค่ายอิงคยุทธ จ.ปัตตานี มีการไต่สวนการตายที่ศาลจังหวัดสงขลา ผลของการไต่สวนการตายที่เขียนไว้ในคำพิพากษาว่าเป็นการขาดอากาศหายใจ ส่งผลให้ไม่มีการดำเนินคดีนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ หลายส่วนก็มองว่าคำพิพากษานี้มีปัญหา และเป็นการตอกย้ำถึงความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมต่อกรณีการสูญเสียของผู้ชุมนุม และเกิดจากการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในปี 47" พรเพ็ญ กล่าว

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กล่าวว่า อีกคดีที่เกี่ยวข้องก็คือ คดีของผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาเรื่องการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ มีทั้งหมด 58 ราย ต่อมาหลังรัฐประหาร ได้มีความเห็นของอัยการถอนฟ้องไป เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงของเหตุการณ์ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่หลายฝ่ายก็มองว่าไม่เป็นธรรม เพราะการกระทำที่เกินกว่าเหตุเกิดจากรัฐมากกว่าผู้ชุมนุม โดยทั้งภาพและบันทึกต่างๆ ที่เผยแพร่ออกไป มีการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างไร้มนุษยธรรม เช่น ให้ถอดเสื้อ ให้เอามือไขว้หลัง ให้นอนราบ ให้คลาน มีการใช้ความรุนแรงที่หลายฝ่ายคิดว่าเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และเป็นการทรมานด้วย แต่กระบวนการยุติธรรมเหล่านั้นก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งปัจจุบัน

"การกระทำที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ตากใบ อาจเทียบเคียงได้กับเหตุการณ์ 6 ตุลา ถ้าจะพูดถึงในบริบทของประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่เกิดจากรัฐ การเยียวยาผู้สูญเสีย แม้ว่าจะเกิดการชดเชยด้านตัวเงินและคำขอโทษ แต่โดยภาพรวมแล้ว โครงสร้างหลักของกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่รัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการกับการชุมนุมและการปฏิบัติต่อชาวมลายู มุสลิมใน 3 จังหวัดดีขึ้นเป็นลำดับ แต่กลับเกิดความรุนแรงในรูปแบบหนึ่งคือการใช้กฎหมายพิเศษอย่างไร้หลักการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและหลักนิติธรรม เป็นความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งยังทำให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ หรือผู้ที่ต้องการเรียกร้องสิทธิ หรือบางส่วนอาจเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างไม่เป็นธรรม มีการจับกุมควบคุมตัว ใช้กฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการดำเนินคดีที่อาจทำให้มีผู้บริสุทธิ์ติดหลงเข้าไปในกระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนมาก" พรเพ็ญ กล่าว

พรเพ็ญ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ตากใบและสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งยังต้องการสิ่งที่เรียกว่า "เสรีภาพในการแสดงออก" โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน และบทบาทของภาคประชาสังคมในการสื่อสารความทุกข์โศก และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น การจัดการความขัดแย้งต้องดำเนินด้วยวิธีสันติวิธีอย่างเคร่งครัด การยกเลิกประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็น่าจะเป็นจุดที่ทางราชการต้องพิจารณาเป็นลำดับแรก เพราะกฎอัยการศึกใช้มา 16 ปี พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงใช้มา 15 ปีเต็มแล้ว ทั้งที่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ลดลงเป็นลำดับด้วยปัจจัยต่างๆ

"สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ 7 วัน ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นเวลา 15 ปี ก็อยากให้หน่วยงานความมั่นคงพิจารณาเรื่องการลดหรือยกเลิกกฎหมายพิเศษ และนำกฎหมายปกติมาใช้ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ ถ่วงดุลที่เป็นธรรมมากกว่า แล้วก็เรื่องเสรีภาพของสื่อเป็นสิ่งสำคัญในสถานการณ์ความขัดแย้งในทุกพื้นที่" ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว

หมายเหตุ : 4.00 น. วันที่ 24 ก.พ.64 ประชาไทมีการเพิ่มเนื้อหาบางส่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net