สหภาพแรงงานญี่ปุ่นเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมสื่อ

สหภาพแรงงานสื่อมวลชน 4 แห่งในญี่ปุ่น ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมสื่อของญี่ปุ่นที่มีอคติทางเพศต่อผู้หญิงอย่างมาก โดยสหพันธ์นักข่าวนานาชาติ (IFJ) ได้ร่วมแสดงพลังสนับสนุนการเรียกร้องนี้ด้วย

สหภาพแรงงานญี่ปุ่นเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมสื่อ
ที่มาภาพ: สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในญี่ปุ่น (อ้างใน IFJ)

เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 2564 สหภาพแรงงานสื่อมวลชน 4 แห่ง ได้แก่ สหพันธ์แรงงานวิทยุและโทรทัศน์ภาคเอกชน (Minpo Roren) สหพันธ์แรงงานนักหนังสือพิมพ์แห่งญี่ปุ่น (Shinbun Roren) สหพันธ์แรงงานสิ่งพิมพ์แห่งญี่ปุ่น (Shuppan Roren) และเครือข่ายสื่อญี่ปุ่น (WiMN) ได้จัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีการเหยียดเพศของนายโยชิโระ โมริ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกโตเกียว 2021 

โดยนายโมริ ระบุว่าผู้หญิงพูดมากเกินไปในที่ประชุม และผู้หญิงในบอร์ดบริหารใช้เวลาพูดนานเกินไป ซึ่งคำพูดนี้ได้ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนัก ทำให้โมริลาต้องออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกโตเกียว 2021 เมื่อวันที่ 12 ก.พ.

ทั้งนี้สหภาพแรงงานสื่อมวลชน 4 แห่ง ยังได้เรียกร้องให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งบริหารในสมาคมสื่อเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 ด้วยการกำหนดเป้าหมายเชิงตัวเลขหรือการนำระบบโควต้ามาใช้ สหภาพแรงงานยังเรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมการประจำภายในสมาคมสื่อเพื่อจัดลำดับความสำคัญของการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในสื่อเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและอคติทางเพศ

จากข้อมูลของสหภาพแรงงาน ระบุว่าในจำนวนคณะกรรมการ 45 คน ของสมาคมวิทยุและโทรทัศน์ภาคเอกชน  และคณะกรรมการ 53 คน ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แห่งญี่ปุ่น ไม่มีผู้หญิงสักคนเดียว ส่วนกรรมการของสมาคมผู้จัดพิมพ์หนังสือญี่ปุ่น 40 คน นั้นมีผู้หญิงเพียง 2 คน และในคณะกรรมการทั้ง 21 คน ของสมาคมผู้จัดพิมพ์นิตยสารญี่ปุ่นนั้น มีผู้หญิงเพียงคนเดียวเท่านั้น

ฮานาโกะ คิชีดะ รองประธานกรรมการ Minpo Roren ระบุว่าเป็นปัญหาร้ายแรงที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจเป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนเท่านั้นในองค์กรสื่อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื้อหาของสื่อที่นำเสนอต่อสาธารณชน ที่อาจถูกบิดเบือนได้โดยอคติทางเพศ

ด้าน IFJ ระบุว่าความหลากหลายและความเท่าเทียมกันทางเพศมีความสำคัญ หากสื่อต้องใช้บทบาทพื้นฐานทั้งในการให้ข้อมูลและเป็นตัวแทนของสังคมในวงกว้าง สื่อควรเป็นภาพสะท้อนของสังคม โดยต้องให้ผู้หญิงมีอำนาจและมีบทบาทในการตัดสินใจเพื่อให้สื่อปฏิบัติตามภาระหน้าที่เหล่านั้น และ IFJ ขอสนับสนุนสหภาพแรงงานสื่อของญี่ปุ่นในการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมสื่อ

ที่มาเรียบเรียงจาก
Japan: Unions demand gender equality in media (IFJ, 16 February 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท