Skip to main content
sharethis

ภาคีประชาสังคมด้านความหลากหลายทางเพศ ออกแถลงการณ์ต่อท่าทีของรัฐบาลในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาภาคประชาสังคม พ.ศ. ...... ขอให้รัฐบาลหยุดความพยายามที่จะสร้างมายาคติ "เอ็นจีโอรับเงินต่างชาติมาล้มล้างรัฐบาล ขัดขวางการพัฒนาประเทศ" คาดหวังมีกฎหมายเกี่ยวกับภาคประชาสังคมที่ส่งเสริมความเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพองค์กรเหล่านี้ให้เป็นหนทางในการช่วยเหลือประชาชนชายขอบ

27 ก.พ. 2564 ภาคีประชาสังคมด้านความหลากหลายทางเพศ ออกแถลงการณ์ต่อท่าทีของรัฐบาลในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาภาคประชาสังคม พ.ศ. ...... ระบุว่าโดยที่ทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม จนเกิดการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาภาคประชาสังคม พ.ศ. ...... เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมกับการที่ภาคประชาชนอีก 11,799 รายชื่อ ที่นำโดยคุณสุนี ไชยรส และคณะ ก็ได้ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาภาคประชาสังคม พ.ศ. ...... ฉบับประชาชน เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเช่นกันนั้น 

กระทั่งวันที่ 23 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม) ได้มีมติเห็นชอบหลักการของ ร่างกฎหมายว่าด้วยดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และได้มีมติรับ ร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาภาคประชาสังคม พ.ศ. ...... ของกระทรวง พม. ไปประกอบการยกร่างร่างกฎหมายว่าด้วยดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยสาระสำคัญคือ 

1) กำหนดให้องค์กรภาคประชาสังคม (หรืออาจเป็น “องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน” หากใช้ร่างกฎหมายฉบับคณะกรรมการกฤษฎีกา) ต้องจดแจ้งการจัดตั้งองค์กรต่ออธิบดีกรมการปกครอง หากไม่จดแจ้งจะมีความผิดทางอาญา 

2) กำหนดให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะกำหนดออกมา 

3) มีการกำหนดว่าการรับเงินสนับสนุนจากต่างชาติมาดำเนินกิจกรรมในประเทศไทย ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ทางภาครัฐกำหนดไว้เท่านั้น

ภาคีประชาสังคมด้านความหลากหลายทางเพศ ดังรายนามข้างท้าย มีข้อคิดเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้  

1) รัฐบาลควรดำเนินการนำร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาภาคประชาสังคม พ.ศ. ...... ฉบับกระทรวง พ.ม. กับฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการรับรองของนายกรัฐมนตรี ด้วยเป็นร่างกฎหมายการเงิน) มาพิจารณาประกอบกันในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับถัดไป ก็เพียงพอแล้ว ไม่ควรมีร่างกฎหมายอีกฉบับที่ไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้ามาประกบ แล้วลดทอนความสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาภาคประชาสังคม พ.ศ. ...... ทั้ง 2 ฉบับที่ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วม 

2) การพยายามจะบังคับให้องค์กรภาคประชาสังคมต้องไปอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ส่อเจตนาว่ารัฐบาลต้องการควบคุม ครอบงำการทำงาน รวมไปถึงพยายามลิดรอนเสรีภาพขององค์กรประชาสังคมที่จะแสดงท่าที จุดยืน การวิพากษ์วิจารณ์ การตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ถือเป็นการทำให้ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยถดถอย ซึ่งในอารยะประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง การเติบโตและความเข้มแข็งของขบวนการภาคประชาสังคมนั้นถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดระดับความเป็นประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ พวกเราภาคีประชาสังคมด้านความหลากหลายทางเพศจึงต้องแสดงจุดยืนคัดค้านในประเด็นนี้อย่างถึงที่สุด 

3) รัฐบาลควรแสวงหาแนวทางให้องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทเป็น “หุ้นส่วนการพัฒนา” (Partnership) ดังที่ปรากฏในเป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) เป้าหมายที่ 17 ซึ่งถือได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญในการที่จะพาประเทศไทยบรรลุเป้าหมายSDGsอีก 16 ข้อ (ซึ่งประเด็นความเสมอภาคทางเพศเป็นหนึ่งในเป้าหมายของ SDGs ด้วย) และขอให้รัฐบาลหยุดความพยายามที่จะสร้างมายาคติ “เอ็นจีโอรับเงินต่างชาติมาล้มล้างรัฐบาล ขัดขวางการพัฒนาประเทศ” ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดเลย โดยเฉพาะต่อภาคส่วน คนชายขอบที่องค์กรภาคประชาสังคมไทยได้มีบทบาทในการช่วยเหลือดูแลในหลาย ๆ เรื่องแทนภาครัฐเสียด้วยซ้ำ 

ภาคีประชาสังคมด้านความหลากหลายทางเพศมีความคาดหวังที่จะได้เห็นการมีกฎหมายเกี่ยวกับภาคประชาสังคมออกมาในลักษณะของการส่งเสริมความเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพองค์กรเหล่านี้ให้เป็นหนทางในการช่วยเหลือประชาชนชายขอบ และทำงานแทนภาครัฐในส่วนที่ภาครัฐติดข้อจำกัด เพื่อสร้างความมั่นคง ผาสุข เสมอภาคแก่ประชาชนชาวไทยโดยถ้วนหน้า 

อนึ่งภาคีประชาสังคมด้านความหลากหลายทางเพศ ประกอบไปด้วย Non-Binary Thailand /กลุ่มนอนไบนารี่แห่งประเทศไทย SAGA Thailand AroAce-clusionist: Aromantic & Asexual Exist FreeEnbyTH / คณะนอนไบนารี่เพื่อการรับรองสำนึกทางเพศ 4Queens
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net