นักปรัชญาชายขอบ: ตำรวจทางความคิดกับ ‘เสรีภาพทางวิชาการ’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในมุมมองของธงชัย วินิจจะกูล บทบาทของไชยันต์ ไชยพรเป็นทั้ง “ตำรวจทางความคิด” และเป็น “กระบอกเสียงของฝ่ายขวายุคใหม่” (ดู https://prachatai.com/journal/2020/12/90821)

เมื่อนักวิชาการ 279 คน ออกจดหมายเปิดผนึกถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความห่วงใยต่อการดำเนินการกรณีวิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตของณัฐพล ใจจริง (ดู https://www.matichon.co.th/politics/news_2642654) ไชยันต์ได้โพสต์เฟสบุ๊คตนเองที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะโต้แย้งว่า

ภายใต้ “เสรีภาพทางวิชาการ” ผู้ใช้เสรีภาพนั้น ได้รับเกียรติและได้รับการคุ้มครองอยู่มาก จึงย่อมต้องมีความรับผิดชอบมากตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้ เมื่อใช้เสรีภาพฯ นั้นแล้ว เกิดผิดพลาด เมื่อทราบและยอมรับข้อผิดพลาด ก็ควรรับผิดชอบ รีบแก้ไขเสีย เพื่อปกป้องรักษา “เสรีภาพทางวิชาการ” ให้เป็นที่เคารพและยอมรับของวงการวิชาการและสาธารณะต่อไป มิฉะนั้นแล้ว เสรีภาพทางวิชาการจะไม่เป็นที่เคารพและเป็นประโยชน์สำหรับนักวิชาการต่อๆ ไป “แค่ 1 คนแก้ไขให้ถูกต้อง..ก็จบไฉนจึงต้องใช้ตั้ง 279 คน” จาก มิตรสหายอีกท่านหนึ่ง

ต่อมาธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตอบว่า

หนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ พิมพ์มาในปี 2556 สำหรับข้อทักท้วงของไชยันต์ ไชยพรมาในปี 2561 ซึ่งเราก็รับทราบและได้แก้ไขในหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ตีพิมพ์ในปี 2563 แล้ว และเมื่อมีการตีพิมพ์ครั้งใหม่ของหนังสือขอฝันใฝ่ฯ ก็จะแก้ไขไปตามที่ทักท้วง แต่ทั้งหมดไม่ได้กระทบกับข้อเสนอหลักของหนังสือทั้งสองเล่ม (ดู https://www.matichon.co.th/politics/news_2643432)

ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับงานของณัฐพล สื่อต่างๆ ได้นำเสนอความเห็นของทั้งสองฝ่ายไปแล้ว ในที่นี้ผมสนใจประเด็น “เสรีภาพทางวิชาการ” ที่ไชยันต์อ้างถึง จำได้ว่าเมื่อราว 8-9 ปีที่แล้วมีการถกเถียงกันว่าบ้านเรามีเสรีภาพทางวิชาการจริงหรือไม่

ในตอนนั้น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โต้แย้งว่าบ้านเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพทางวิชาการ” (academic freedom) แบบที่ใช้กันในสังคมสมัยใหม่หรือสังคมเสรีประชาธิปไตย เพราะถ้ามีเสรีภาพทางวิชาการจริง เราต้องสามารถศึกษา ตั้งคำถาม อภิปราย ถกเถียง โต้แย้งได้ทุกเรื่อง เช่น ถ้ามีเรื่องทั้งหมดตั้งแต่เรื่อง A – Z ต้องศึกษา ตั้งคำถาม อภิปราย ถกเถียง โต้แย้งได้ทั้งหมด การมี “ข้อยกเว้น” หรือมี “ข้อห้ามเฉพาะ” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ย่อมเท่ากับไม่มีเสรีภาพทางวิชาการในความหมายที่ใช้กันในสังคมสมัยใหม่อยู่จริง ดังนั้น เมื่อเราไม่สามารถทำการศึกษา ตั้งคำถาม อภิปราย ถกเถียง โต้แย้งเกี่ยวกับปัญหาของสถาบันกษัตริย์ได้ใน “มาตรฐานเดียว” กับที่ทำในเรื่องอื่นๆ ได้จริง เพราะยังมีกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษสูงเกินเหตุและสามารถตีความเอาผิดได้อย่างไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนและแน่นอน เราจึงไม่มีเสรีภาพทางวิชาการได้จริง

ถ้าไม่พยายามโกหกตัวเองหรือลวงโลก เราก็ย่อมเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของสมศักดิ์ ตัวอย่างเช่น มีงานวิชาการของฝ่ายกษัตริย์นิยม (royalist) ที่เสนอว่า รัชกาลที่ 9 ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย” คนที่เขียนสรรเสริญเช่นนี้ย่อมอ้างข้อเท็จจริง หลักฐาน แนวคิดทฤษฎีมาวิเคราะห์ตีความเพื่อสนับสนุนข้อเสนอหลักของตนเองได้เต็มที่ แต่ถามว่าถ้ามีใครโต้แย้งข้อเสนอดังกล่าว เขาสามารถอ้างข้อเท็จจริง หลักฐาน แนวคิดทฤษฎีมาโต้แย้งได้เต็มที่ภายใต้การมี “เสรีภาพที่เท่าเทียม” (equal liberty) กับฝ่ายกษัตริย์นิยมหรือไม่?

คำตอบรูปธรรมก็ชัดเจนอยู่แล้ว นั่นคือ การที่นักวิชาการอย่างสมศักดิ์, ปวิณ และอีกหลายคนต้องลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ เพียงเพราะพูด “ความจริง” ของปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ หรือแม้แต่การอภิปรายเกี่ยวกับ “สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย” ของ “อานนท์ นำภา” ซึ่งโดยนัยสำคัญก็เป็นเรื่อง “ทางวิชาการ” อย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่อ้างข้อเท็จจริง หลักฐาน และใช้เหตุผลวิเคราะห์วิจารณ์ที่สามารถอ้างอิงแนวคิดทฤษฎีมารองรับได้อย่างสมเหตุสมผล แต่อานนท์ (และแกนนำราษฎรคนอื่นๆ) ต่างก็โดน 112 และไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัวอย่างที่เห็น

ไชยันต์พยายามอธิบายให้สาธารณะคล้อยตามว่า งานของณัฐพลอ้างอิงผิด ตีความ ขยายความหลักฐานเกินจริง และไม่รับผิดชอบต่อการใช้เสรีภาพทางวิชาการ แต่งานของไชยันต์เอง เช่นหนังสือ “ตาสว่างกับรัชกาลที่ 4” หน้า 5 เขียนว่า

"สะท้อนให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีระเบียบวิธีคิดและโลกทัศน์สมัยใหม่ (modern) ที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์ตามแนวคิดตามกระแสของยุคสมัยที่เรียกว่า 'ยุคเรืองปัญญา' (The Age of Enlightenment) ของตะวันตก..."

นี่เป็นการตีความที่เกินเลยจากความเป็นจริงเกินไปหรือไม่ เพราะ "กระแสหลักของยุคเรืองปัญญา" มันคือกระแสของการยืนยันความเป็นเหตุเป็นผลและความเป็นวิทยาศาสตร์ควบคู่กับการยืนยัน “เสรีภาพ" ด้วยอย่างมีนัยสำคัญ

เช่น อิมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ยืนยันชัดเจนว่า แสงว่างทางปัญญาเกิดจากความกล้าหาญที่จะใช้ความคิด ความเข้าใจของตนเองเอง หรือ “ความกล้าหาญที่จะใช้เสรีภาพ” ในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์อำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ ไม่ว่าอำนาจระบบกษัตริย์ ศาสนจักร อิทธิพลครอบงำของความเชื่อทางศาสนา ศีลธรรม ประเพณี พูดอย่างถึงที่สุดคือ ปัจเจกบุคคลต้องมีอิสรภาพในการกำหนดตัวเอง (autonomy) ในทางศีลธรรมและทางการเมืองบนความคิดพื้นฐานว่า เราทุกคนคือปัจเจกบุคคลผู้มีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเอง (ผู้สนใจประเด็นนี้ โปรดดูโดยละเอียดในหนังสือ “มนุษย์กับเสรีภาพ: มุมมองทางปรัชญาคานท์, มิลล์, รอลส์” โดยสุรพศ ทวีศักดิ์)

แต่รัชกาลที่ 4 ไม่มีไอเดียเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือไม่มีแนวคิดสอดคล้องกับปรัชญามนุษยนิยม (Humanism), เสรีนิยม (Liberalism) อันเป็นแนวคิดกระแสหลักของยุคเรืองปัญญาเลย เมื่อแอนนา เลียวโนเวนส์เสนอให้เลิกทาสเพราะ ทาสจะเป็นมลทินที่ยิ่งใหญ่ของชาติสยาม” (“that slavery shall be a great blot on the Siamese nation”) ทว่า รัชกาลที่ 4 กลับปฏิเสธด้วยการใช้เหตุผลที่สวนทางกับ “กระแสความคิดหลัก” ของยุคเรืองปัญญาว่า

 ...เพราะทาสเป็นเรื่องของกฎหมายและขนบธรรมเนียมแต่ดั้งเดิมของสยาม ที่คนทั้งพระราชอาณาจักร ไม่ว่าเจ้านาย ขุนนาง ผู้มีทรัพย์และราษฎรทั่วไปต่างต้องการและใช้สอยประโยชน์จากมันต่างๆ กัน การใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์ในการยกเลิกทาส จะ “เป็นการละเมิดกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีของสยามอย่างรุนแรง” แม้การใช้อภิสิทธิ์ในการช่วยเหลือทำให้ทาสเป็นอิสระจากนาย โดยไม่ได้รับคำยินยอมจากนาย ก็ “เป็นการละเมิดอย่างสูงสุดเช่นกัน”  (ดู https://www.silpa-mag.com/history/article_7024)

แน่นอนว่า ในทางปฏิบัติในยุคเรืองปัญญา การเลิกระบบทาสยังไม่ได้เกิดขึ้นโดยทั่วไป แต่ต่อมาการเลิกระบบทาสในอเมริกาก็เกิดขึ้นได้จริงเพราะอิทธิพลของกระแสแนวคิดที่เน้นความเป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์ควบคู่กับการยืนยัน “เสรีภาพ” ที่พัฒนามาจากยุคเรืองปัญญานั่นเอง ดังประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นก็อ้างแนวคิดเสรีนิยมว่า “ระบบทาสผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง” ซึ่งเป็นตรรกะที่สืบย้อนไปถึงการยืนยัน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ในฐานะที่มนุษย์ทุกคนเป็นผู้มีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาคตามไอเดียแบบคานท์ เพื่อปฏิเสธการใช้ความเป็นมนุษย์เป็นเครื่องมือเพื่อเป้าหมายใดๆ เพราะเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม และไอเดียแบบมิลล์ (John Stuart Mill) ที่ยืนยันว่า “ปัจเจกบุคคลย่อมไม่มีเสรีภาพเพื่อที่จะไม่มีเสรีภาพ” เช่น เราไม่อาจใช้เสรีภาพที่จะเลือกขายตัวเองเป็นทาส เพราะผลที่ตามมาคือการสิ้นสุดเสรีภาพ

ดังนั้น หลักการใช้เสรีภาพ (โดยเฉพาะเสรีภาพทางการเมือง) จึงต้องสอดคล้องกับการคงไว้ซึ่งเสรีภาพด้วย ทว่าการใช้เสรีภาพ “ฉีกบัตรเลือกตั้ง” ของไชยันต์ดังที่ทราบกันนั้น ชวนให้ตั้งคำถามว่าเป็นการใช้เสรีภาพเพื่อคงไว้ซึ่งเสรีภาพอย่างไร เพราะการกระทำของเขาสอดรับกับแนวทางการต่อสู้ของม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่อ้างสถาบันกษัตริย์ที่มีอำนาจขัดกับเสรีภาพทางการเมืองอยู่แล้วมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร 2549 และส่งผลสำคัญให้ประชาชนไม่สามารถจะมีเสรีภาพทางการเมืองมากยิ่งขึ้นมาจนทุกวันนี้

ในหนังสือ “ตาสว่างกับรัชกาลที่ 4” ไชยันต์อ้างว่ารัชกาลที่ 4 ใช้เหตุผลโต้แย้งเรื่องนั้นเรื่องนี้ จึงสรุปว่ารัชกาลที่ 4 มีระเบียบวิธีคิดเป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสต์แบบยุคเรืองปัญญาของตะวันตก แต่ข้อเท็จจริงคือ มนุษย์เราใช้เหตุผลโต้แย้งเรื่องโน่นนั่นนี่มาแต่ยุคโบราณแล้ว แม้แต่ในคัมภีร์ศาสนา เช่นธรรมศาสตร์, อรรถศาสตร์, ไตรปิฎก, ไบเบิล, อัลกุรอาน ก็มีเนื้อหาส่วนที่ใช้เหตุผลโต้แย้งมากมาย แต่ไม่เกี่ยวใดๆ กับ “กระแสความคิดหลัก” ของยุคเรืองปัญญาที่เน้นความกล้าหาญในการใช้เหตุผลและเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์อำนาจเผด็จการมิติต่างๆ

ยิ่งกว่านั้น เหตุผลของรัชกาลที่ 4 ที่ใช้ในการปฏิเสธข้อเสนอให้เลิกระบบทาสในสยามดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ชัดเจนว่าเป็นเหตุผลที่สวนทางกับการยืนยันเสรีภาพ

สุดท้ายไชยันต์ก็อ้างทำนองว่า หนังสือ “ตาสว่างกับรัชกาลที่ 4” ไม่ใช่ “งานวิชาการ” ที่เทียบได้กับงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก หรือหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” เพราะไม่ได้เน้นรูปแบบทางวิชาการในระดับเดียวกัน ทว่าข้อเท็จจริงคือ แม้งานของไชยันต์จะเป็นงานรวมบทความในมติชนสุดสัปดาห์ แต่ก็เป็นงานที่อ้างข้อเท็จจริง หลักฐานต่างๆ และใช้แนวคิดทฤษฎีในการวิเคราะห์ ตีความ และวิพากษ์วิจารณ์ จึงย่อมมีความเป็นวิชาการอยู่ด้วย และผู้เขียนก็ต้องมีความรับผิดชอบในความถูกต้องทางวิชาการ อย่างที่ตนเองเรียกร้องกับคนอื่นด้วยเช่นกัน

ยิ่งกว่านั้น งานของณัฐพลไม่ได้ผิดพลาดใน “ข้อเสนอหลัก” แต่งานของไชยันต์ต่างหากที่ผิดพลาดในข้อเสนอหลัก เพราะเป็นงานตีความอวยรัชกาลที่ 4 อย่างเกินจริง เพื่อสนับสนุนข้อเสนอหลักของตนเองว่า รัชกาลที่ 4 มีระเบียบวิธีคิดเป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์ตามกระแสยุคเรืองปัญญาของตะวันตกให้สอดคล้องกับชื่อหนังสือที่ว่า “ตาสว่างกับรัชกาลที่ 4” นั่นเอง

โดยสรุปคือ “บทบาท” ของไชยันต์ในฐานะ “ตำรวจทางความคิด” และ “กระบอกเสียงของฝ่ายขวายุคใหม่” มีทั้งอวยเจ้าเกินจริง และจ้องจับผิดงานวิชาการที่วิจารณ์เจ้า มีทั้งการวิพากษ์นักการเมืองและเผด็จการทหารในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน มีทั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านการเมืองในระบบเลือกตั้ง แต่ไม่เคยต่อต้านการเมืองแบบรัฐประหารและ “ผู้สมคบคิด” คนสำคัญในระดับเดียวกัน

ยิ่งกว่านั้น ท่ามกลางการไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ และไม่มีเสรีภาพทางการเมืองในความหมายแบบสังคมสมัยใหม่หรือสังคมเสรีประชาธิปไตยอยู่จริง ไชยันต์อ้างว่าตนเป็นอาจารย์สอนปรัชญาการเมือง จึงต้องตั้งคำถามกับการปกครอง “ทุกระบอบ” แต่ไชยันต์ก็ไม่ตั้งตั้งคำถามกับ “ระบอบกษัตริย์” เท่ากับหรือในระดับเดียวกันกับตั้งคำถามต่อสิ่งที่เขาเรียกว่า “ระบอบทักษิณ” เลย และถึงแม้จะแสดงออกว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิก 112 แต่เขากลับไม่เคยแสดงออกชัดเจนในจุดยืนปกป้องสิทธิ์ประกันตัวของแกนนำราษฎรและประชาชนที่โดนดำเนินคดี 112 อย่างอยุติธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า (อย่างน้อยเมื่อเทียบกับฝ่ายรอยัลลิสต์ด้วยกันอย่าง “ส. ศิวรักษ์”)

ความคิดและบทบาทของไชยันต์จึงเต็มไปด้วย “ความย้อนแย้ง” การที่สื่อยกย่องให้เขาเป็น “โสเครตีสคนสุดท้าย” จึงเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะเราไม่เคยเห็นเขาแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการยืนยันหลักการอย่างโดดเด่นแบบโสเครตีสเลย

แม้แต่เสรีภาพทางวิชาการที่เขาอ้าง ก็อ้างเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบต่อ “ความจริง” ของงานวิชาการที่วิจารณ์ฝ่ายกษัตริย์นิยม ขณะที่เพิกเฉยไม่ตรวจสอบงานที่สรรเสริญเจ้า “เกินจริง” ที่มีอยู่ดาษดื่น แม้แต่งานของตัวเองก็ยกย่องเจ้าเกินจริงด้วยเช่นกัน

 

ที่มาภาพ: https://www.matichon.co.th/politics/news_2492416

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท