Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หนังสือที่ขายดิบขายดีมาแต่ปีที่แล้วเล่มหนึ่งคือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง เมื่อกระแสเริ่มซาลงในปีนี้ กลับปรากฏว่าหนังสือเล่มนี้ถูกทายาทของราชสกุลรังสิตฟ้องร้อง ว่ามีข้อความเป็นเท็จอันจะทำให้บรรพบุรุษของสกุลเสียชื่อเสียง และย่อมเป็นผลร้ายต่อผู้ถือสกุลในปัจจุบัน จึงขอให้ศาลใช้อำนาจระงับการจำหน่ายจ่ายแจกหนังสือเล่มนี้

หนังสือจึงกลับมาขายดิบขายดีใหม่ ใครที่ยังไม่ได้อ่านก็ต้องรีบหาอ่าน ใครที่ยังไม่มีไว้ในครอบครอง ก็ต้องรีบหาซื้อมาครอบครอง เพราะเกรงจะพลาด “วัตถุ” สำคัญทางประวัติศาสตร์ไป

ถ้าถือว่า ขุนศึกฯ เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ก็ต้องถือเป็นงานประวัติศาสตร์ที่ดีเยี่ยมชิ้นหนึ่งในภาษาไทย อันที่จริงเนื้อหาหลักที่เกี่ยวกับการเมืองไทยซึ่งหนังสือเล่มนี้บรรยายไว้อยู่ในช่วงเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น คือจากรัฐประหาร 2490 ถึงรัฐประหาร 2500 แต่เป็น 10 ปีที่ความสัมพันธ์ทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ สลับซับซ้อนมาก และเป็นผลสืบเนื่องในการเมืองไทยมาอีกนาน

ความสลับซับซ้อนเพิ่มพูนขึ้นไปอีก เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็น เพราะพญาอินทรีอาศัยแสนยานุภาพทางการเมือง, การทหาร และเศรษฐกิจของตนเข้ามาเป็นอีกส่วนหนึ่งของการเมืองภายใน ดูเผินๆ เหมือนกับว่า “ปัจจัยอเมริกัน” เป็นเงื่อนไขเด็ดขาดที่ตัดสินการเมืองไทย

แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ กลุ่มการเมืองต่างๆ ในเมืองไทยใช้ “ปัจจัยอเมริกัน” ให้เป็นประโยชน์ในการต่อรองอำนาจของตนเองเท่านั้น ไม่มีสักฝ่ายเดียวที่คิดว่า “การปิดล้อม” คอมมิวนิสต์เอเชียไว้ ไม่ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นภารกิจหลักทางการเมืองของตน นอกจากเพื่อแย่งชิงการสนับสนุนจากสหรัฐเท่านั้น

โดยอาศัยเอกสารที่เพิ่งเปิดเผยในระยะหลังของสหรัฐ, อังกฤษ และไทย อาจารย์ณัฐพลทำให้ผู้อ่านเข้าไปนั่งอยู่กลางวงของความขัดแย้งและแข่งดีกันระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ม่านแห่งความเหมาะความควรที่ปิดบังความสัมพันธ์อันแท้จริงระหว่างกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งปรากฏในข่าว “ที่เป็นทางการ” ถูกกระชากลงมากองกับพื้น เผยให้เห็นการแยกเขี้ยวยิงฟันและการทรยศหักหลัง ความคดในข้องอในกระดูกของทุกฝ่ายได้อย่างกระจ่างตา

จนยากจะรักษา “ความนับถือ” ใดๆ ในหมู่สาธารณชนได้อีกต่อไป แต่ “ความนับถือ” เช่นนั้นไร้ความหมายไปเสียแล้วในกลุ่มต่างๆ (ซึ่งตัวแกนนำในฐานะบุคคลก็ล้วนสิ้นชีวิตไปหมดแล้ว) ยกเว้นแต่กลุ่มที่ยังจำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์วีรบุรุษแห่งชาติไว้สืบไปให้ได้เท่านั้น

ในทางประวัติศาสตร์ หลักฐานเหล่านี้ย่อมน่าเชื่อถือกว่าความจำของบุคคลอย่างแน่นอน อย่างน้อยข้อมูลว่าอะไรเกิดขึ้นเมื่อไรและอย่างไร ก็น่าจะใกล้ความเป็นจริงมากกว่าหรือตรวจสอบกันเองได้ง่ายกว่า แต่ส่วนที่เป็นทัศนคติและความมุ่งหมายในคำกล่าวหรือการกระทำของบุคคล ย่อมมีอคติและความลำเอียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับความจำของบุคคล ถ้าจะถือว่าดีกว่า ก็ตรงที่อคติเหล่านั้นเป็นอคติแห่งยุคสมัย ไม่ใช่อคติที่เกิดขึ้นในภายหลังและกลายเป็นส่วนหนึ่งของความจำของบุคคลโดยไปไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุดังนั้น แม้แต่งานประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วย “หลักฐานชั้นต้น” อย่างหนังสือเล่มนี้ ก็ยังต้องอาศัยการตีความของผู้ศึกษาว่า ในกองข้อมูลมหึมาที่รวบรวมมาได้นั้น มันบ่งชี้อะไร หรือมันมีความหมายอย่างไรกันแน่ ความหมายที่นักประวัติศาสตร์สร้างขึ้นหรือ “ประพันธ์” ขึ้น จะ “ถูก” หรือ “ผิด” อยู่ตรงที่ว่า หลักฐานจำนวนมหึมานั้นสอดคล้องลงรอยกันหรือเกื้อหนุนกันและกันหรือไม่เพียงไร หากสอดคล้องกลมกลืนกันได้อย่างดี บทที่ “ประพันธ์” ขึ้นนั้นยังทนทานต่อหลักฐานใหม่ๆ จากแหล่งอื่นที่ยังไม่ได้ใช้ในการศึกษาอีกหรือไม่ คือยังกลมกลืนและเกื้อหนุนให้คำอธิบายแต่เดิมยังใช้ได้ต่อไปหรือไม่

ถึงอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ประวัติศาสตร์” ไม่ได้มีในตัวหลักฐาน ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ให้ความหมายอย่างเป็นระบบแก่หลักฐานจำนวนมาก ซึ่งอาจขัดแย้งกันเองหรือไม่ได้สอดคล้องกันอย่างเห็นได้ชัดในทันที

เสียดายที่หนังสือสำคัญเล่มนี้ ไม่เคยถูกท้าทายให้ตรงจุด คือส่วนที่เป็นแก่นของเรื่องราวที่ผู้เขียนตีความหลักฐานเพื่อสร้างขึ้น เช่น การเมืองภายในมีส่วนอย่างมากในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองของไทย คือการกำหนดกติกาให้เอื้อต่อฝ่ายตนเองมากที่สุด ดังนั้น กติกาจึงไม่เคยเป็นกรอบที่ขยับไม่ได้ของการต่อสู้ทางการเมือง เมื่อไม่มีกติกา ก็ไม่มีฝ่ายใด แม้แต่ฝ่ายศักดินา เลือกเป็นผู้คุม decency หรือความชอบธรรมทางการเมืองสักฝ่ายเดียว เพราะเอาเข้าจริง มันไม่มี decency ทางการเมืองให้ใครคุมด้วยซ้ำ ฯลฯ

นี่คือจุดกำเนิดของการเมืองไร้กติกาในสังคมไทย ซึ่งยังดำเนินสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ในแง่นี้ ขุนศึกฯ วางรากฐานความเข้าใจการเมืองไทยปัจจุบันไว้อย่างกระจ่างแจ้ง นอกจากเป็นเหตุให้หนังสือเล่มนี้ขายดิบขายดีแล้ว ยังเป็นเหตุให้หนังสือเล่มนี้ติด “คดี” ต่างๆ มาตั้งแต่ยังอยู่ในรูปวิทยานิพนธ์จนเมื่อตีพิมพ์เผยแพร่ด้วย เพราะฝ่ายอนุรักษ์ย่อมมองเห็นได้ไม่ยากว่า ความเข้าใจต่อการเมืองไทยดังที่ขุนศึกฯ เสนอ ย่อมเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ตนเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของหลักฐานที่อาจารย์ณัฐพลใช้ในการศึกษา ก็มีส่วนในการกำหนดคำถามการวิจัยอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ที่ผมมองเห็นมีอยู่สองด้าน แต่ก็ต้องย้ำไว้ด้วยว่า แม้จะขยายคำถามไปยังสองด้านนี้ ก็ไม่ทำให้คำตอบของอาจารย์ณัฐพลเปลี่ยนไป เพียงแต่อาจทำให้มองเห็นนัยะที่ลุ่มลึกขึ้นเท่านั้น

ด้านแรกคือ ด้าน “กระเป๋าสตางค์” พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มิติทางด้านเศรษฐกิจดูไม่ชัดเจนนักว่ามีส่วนในความสัมพันธ์เชิงอำนาจของกลุ่มต่างๆ อย่างไร นอกจากงบประมาณแผ่นดินแล้ว รายได้ของกลุ่มการเมืองทั้งหลายมาจากไหนบ้าง ตำรวจและทหาร ค้าฝิ่น, ส่งออกและนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย, ขายบริการให้ความคุ้มครอง, รับความช่วยเหลืออเมริกัน (โดยเฉพาะด้านที่ไม่เป็นวัตถุ เช่น จัดฝึกอบรม), คุมรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมักผูกขาดแต่ไม่ทำกำไร ฯลฯ

ในสองกลุ่มคือ ทหารและตำรวจ ใครได้อะไร กระจายอย่างไร และเอาไปใช้อย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เห็นว่า แม้นโยบายและความช่วยเหลือของอเมริกันจะมีความสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ตัวของมันเองอาจเป็นปัจจัยตัดสิน (decisive factor) ที่ไม่เด็ดขาดทีเดียวนัก

กระเป๋าตังค์ของฝ่ายศักดินาเล่า รายได้มาจากไหนบ้าง แม้ได้แก้กฎหมายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แล้วหลังรัฐประหาร แต่ในช่วงนั้นสำนักงานทรัพย์สินยังทำเงินได้ไม่มาก ส่วนใหญ่ของผู้เช่าที่ดินคือสามัญชนที่จ่ายค่าเช่าราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ

อีกด้านหนึ่งคือ “ประชาชน” แม้ว่าประชาชนไม่ใช่ “ผู้เล่น” ที่สำคัญในการเมืองไทยดังที่เกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา แต่ประชาชนเป็นปัจจัยทางการเมืองที่สำคัญในสำนึกของนักการเมืองทุกฝ่ายนับตั้งแต่ 2475 มาแล้วเป็นอย่างน้อย แท้จริงแล้ว ตัวละครในขุนศึกฯ ต่างก็แสวงหาการยอมรับจากประชาชนทั้งนั้น สฤษดิ์และเผ่าต่อสู้กันด้วยสื่อสิ่งพิมพ์และนักไฮด์ปาร์กในสังกัด ว่าที่จริงสฤษดิ์ชนะใจประชาชนมาตั้งแต่ก่อนยึดอำนาจแล้ว อเมริกันรู้ดีว่า การต่อต้านคอมมิวนิสต์จะเป็นผลสำเร็จได้ก็เพราะประชาชนเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นภาระของยูซิสในการสร้างความหวาดกลัวนี้ ฝ่ายศักดินาใช้การเสด็จเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด เป็นเครื่องมือช่วงชิงความนิยมจากประชาชน (ซึ่งพวกเขาเชื่อหรือพยายามทำให้เชื่อว่าถูกทอดทิ้งจากฝ่ายอื่น)

ข้อมูลจากหลักฐานที่อาจารย์ณัฐพลใช้ ชี้ให้เห็นว่าจำนวนประชาชนที่เข้าร่วมฟังการไฮด์ปาร์กที่สนามหลวงมีเป็นหลายพัน ไปถึงหมื่นและแสน ส่วนหนึ่งคงเป็น “หน้าม้า” ของฝ่ายทหารและตำรวจ ซึ่งไม่น่าเกิน 10% ดังนั้น จึงมีคนที่สมัครใจเข้าฟังการปราศรัยถึง 90,000 คน ใครอ่านถึงตรงนี้แล้วคงอดถามตัวเองไม่ได้ว่า พวกเขาเป็นใคร นับตั้งแต่ลูกเต้าเหล่าใคร ทำอาชีพอะไร เรียนหนังสือแค่ไหน คิดอะไรอยู่ ฯลฯ หลักฐานอเมริกัน, อังกฤษ, ไทย คงตอบไม่ได้ แต่ทำให้เห็นว่าประชาชนนั้นมีอยู่ และเป็นปัจจัยสำคัญทางการเมืองด้วย แม้เป็นประชาชนที่ขาดการจัดองค์กรเป็นอิสระของตนเองก็ตาม

อันที่จริงเราอธิบาย “การเมือง” ของทุกสังคมจากพฤติกรรมของ elite หรือชนชั้นนำได้ตลอด แต่ปราศจากการพิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ (เช่น เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม) ทำให้การตัดสินใจของเขาเป็นการตัดสินใจเชิงบุคคลเสมอ เช่น ประยุทธ์ก็คือประยุทธ์ ซึ่งเลือกจะตัดสินใจอย่างไม่ฉลาด แต่ถ้าเรามองสภาวะแวดล้อมให้ทั่ว เราอาจพบว่าประยุทธ์มีทางเลือกในการตัดสินใจน้อยมาก จนการตัดสินใจที่เขาได้ทำไปแล้ว เป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่ก็ได้

เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ขุนศึกฯ ไม่ได้ละทิ้งปัจจัยแวดล้อมเรื่องเศรษฐกิจและสังคมไปเสียทีเดียว ได้กล่าวถึงเท่าที่หลักฐานที่ใช้อนุญาตให้กล่าวถึง แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ใช้ในการวิเคราะห์การเมือง

ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี เป็นหนังสือที่ผู้สนใจการเมืองไทยขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายหลัก (แต่นับจากเมื่อเป็นวิทยานิพนธ์จนถึงวันนี้ ผมยังไม่เห็นใครคัดค้านคำอธิบายหลักอย่างเป็นเหตุเป็นผลเลยสักคน) แม้ว่าคำอธิบายนี้ไม่ถึงกับ “ใหม่” อย่างถอดด้าม เพราะตรงกับความเข้าใจทั่วๆ ไปของผู้คนจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว เพียงแต่ในความเข้าใจทั่วไป มักมีแต่เรื่องความขัดแย้งแก่งแย่งกันระหว่างขุนศึก โดยมีพญาอินทรีเลือกจะยืนอยู่เบื้องหลังฝ่ายใด อาจารย์ณัฐพลได้นำเอาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งเข้ามาในการวิเคราะห์ด้วย คือฝ่ายศักดินา ซึ่งมักถูกยกเว้นไว้ให้อยู่นอกเหนือการวิเคราะห์การเมืองเสมอ

ทั้งนี้ ได้กระทำด้วยหลักฐานอ้างอิงที่ยากจะปฏิเสธได้ ฝ่ายศักดินามีส่วนอย่างมากร่วมกับฝ่ายอื่นในการสร้างการเมืองที่ไร้กติกาขึ้น ดังนั้น อาจจะโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจารย์ณัฐพลได้ทำลายทฤษฎีซึ่งยกให้ฝ่ายศักดินาอยู่พ้นการเมือง และด้วยเหตุดังนั้นจึงมีความชอบธรรมสูงสุดในการกำกับการเมืองลง

ตรงนี้แหละครับที่หนังสือของอาจารย์ณัฐพลเป็นที่ระคายเคืองแก่ฝ่ายศักดินา

แต่ขอโทษทีเถิดครับ แม้ไม่มีหนังสือของอาจารย์ณัฐพล ทฤษฎีศักดินาอยู่พ้นการเมืองยังเป็นที่เชื่อถืออยู่มากน้อยเพียงไรในปัจจุบัน อีกทั้งฝ่ายศักดินาเองก็อาจเลิกใช้ทฤษฎีนี้ไปแล้ว แต่พยายามสร้างความชอบธรรมใหม่จากทฤษฎีสมมุติเทวราชเพื่อกำกับการเมืองอย่างเปิดเผยไปเลย

 

ที่มา: https://www.matichonweekly.com/column/article_411495

ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค ฟ้าเดียวกัน 
https://www.facebook.com/sameskybook/posts/3543194755729558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net