'ยืนหยุดขัง' เชียงใหม่วันที่ 6 'อรรถจักร์' ย้ำสิทธิประกันตัวคือการประกันสิทธิเสรีภาพของพลเมือง

'ยืนหยุดขัง' เรียกร้องสิทธิการประกันตัวนักโทษการเมือง ที่เชียงใหม่จัดต่อเนื่องวันที่ 6 แล้ว 'อรรถจักร์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์' ย้ำสิทธิประกันตัวคือการประกันสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ระบุ 'ไม่มีระบบอะไรที่มั่นคง 100% และไม่มีระบบอะไรที่ควบคุมได้ 100%'

20 เม.ย. 2564 วันนี้ เวลา 17.00 น. ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ มีการจัดกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” เรียกร้องสิทธิการประกันตัวของนักโทษทางการเมืองต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 โดยมีประชาชนทั่วไปและนักวิชาการเข้าร่วมกว่า 60 คน หนึ่งในนั้นคือ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่ง อรรถจักร์ ยืนยันว่า สิทธิในการประกันตัวคือการประกันสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไทยภายใต้รัฐรัฐหนึ่ง รัฐประชาธิปไตยทั้งหมดจำเป็นที่จะต้องมีสิทธินี้เป็นพื้นฐานสำหรับการดำรงอยู่กับรัฐ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วการที่ถูกข้อหาและถูกจับโดยไม่มีสิทธิออกมาต่อสู้คดี นี่คือการลิดรอนสิทธิพื้นฐานของพลเมืองแห่งรัฐ

ต่อคำถามถึงอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทยจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ หากผู้มีอำนาจยังคงดึงดันไม่คืนสิทธิในการประกันตัวให้แก่แกนนำราษฎรและผู้ต้องขังในคดี ม.112 คนอื่นๆ นั้น อรรถจักร์ กล่าวว่า ตนประเมินไม่ถูกเท่าไหร่ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ตนคิดว่าสังคมไทยควรจะมีเสียงที่สนับสนุนสิทธิในการประกันตัวให้แก่คนกลุ่มนี้มากกว่านี้ ดังนั้นตนคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยคือ เรากำลังถูกทำให้ละเลยหรือข้ามการคิดถึงเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ นี้ไป ปัญหาที่น่ากลัวที่สุดคือการที่ถูกทำให้ละเลยตรงนี้

"สังคมไทยกำลังกลายเป็นสังคมที่ยอมรับว่าอำนาจเป็นธรรม ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากๆ สำหรับอนาคตของสังคมไทย ผมหวังว่าการยืนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจะกระตุกเตือนให้พี่น้องในสังคมไทยจำนวนมากคิดว่า นี่เป็นสิ่งที่เราควรจะออกกันมาให้มากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นแล้วชนชั้นปกครองเขามองไม่เห็น" อรรถจักร์ กล่าว

 

ต่อคำถามถึงสาเหตุที่ชนชั้นนำไทยไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง หากเทียบกับตอน 2475 หรือ 14 ตุลา 16 นั้น ชนชั้นนำมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มชนชั้นนำไทยตอนนี้นั้น 

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ตน คิดว่าสิ่งที่มันเกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือ นับตั้งแต่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมาการเชื่อมต่อกันของชนชั้นนำสามารถทำได้ดีมากขึ้น จึงทำให้เนื้อของการรวมกลุ่มกันของคนชุดหนึ่งเป็นไปได้อย่างแน่นเหนียวมากกว่า 14 ตุลา หรือตอน 2475

"อย่าลืมนะครับ 14 ตุลา ในด้านหนึ่งตัวชี้ความสำเร็จของการต่อสู้ปัจจัยหนึ่งก็คือความขัดแย้งภายในของรัฐ วันนี้เองผมคิดว่าการเชื่อมต่อกันแน่นมันทำให้เขาสามารถควบคุมระบบราชการในระดับหัวได้มาก แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีระบบอะไรที่มั่นคงร้อยเปอร์เซ็นต์และไม่มีระบบอะไรที่ควบคุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์)เคยพูดถึงเรื่องกบฏภายในระบบ ซึ่งผมก็คิดว่าในระยะยาวคงจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น  เพราะฉะนั้นอยากจะเตือนขอชนชั้นนำว่า คุณจะต้องคิดแล้ว คุณไม่ใช่แค่ต่อสู้เพื่อยังอำนาจของคุณวันนี้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ แต่การที่คุณทำแบบนี้ทั้งหมด รวมทั้งไม่ให้ประกันตัวด้วย มันกำลังจะทำลายสังคมที่บรรพบุรุษเราร่วมสร้างกันมา อันนี้คือสิ่งที่น่าตกใจ แน่นอนนะครับพวกคุณอาจจะมีเงินมีทองเกิดเหตุการณ์คุณอาจจะบินหนีไปอยู่เมืองนอกได้ แต่อย่าลืมผืนแผ่นดินไทยคือสมบัติของบรรพบุรุษคุณ บรรพบุรุษผม บรรพบุรุษพวกเราที่ร่วมสร้างกันมา คุณจะทำลายไปในช่วงชีวิตนี้หรือ" อรรถจักร์ กล่าว

ทั้งนี้จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังการกลับมาบังคับใช้ม.112 อีกครั้งในช่วงปลาย พ.ย. 63 จนถึงวันที่ 1 เม.ย.64 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีม.112 ไปแล้วอย่างน้อย 82 คน ใน 74 คดี และ พรพิมล (สงวนนามสกุล) แม่ค้าขายของออนไลน์ อายุ 22 ปี ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดี หมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ ม.112 รายล่าสุดของจังหวัดเชียงใหม่เมื่อต้นเดือนเม.ย.นี้ นับเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีการเมืองช่วงเวลานี้เป็น รายที่ 20 โดยเป็นคดีตาม ม. 112 รายที่ 13

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท