Skip to main content
sharethis

สมาชิกรัฐสภาไทยร่วมสัมมนาสถานการณ์ปัจจุบันและมุมมองเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศในสหภาพยุโรปและอาเซียน ชี้ไทยมีอัตราค่าจ้างแรงงานเสมอภาค ขณะภาคธุรกิจเปิดโอกาสให้สตรีมีบทบาทนำในตำแหน่งผู้บริหารเป็นลำดับต้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแต่ยังประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

สมาชิกรัฐสภาร่วมสัมมนาสถานการณ์และมุมมองเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศในสหภาพยุโรปและอาเซียน

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ส.ว. และ น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ ส.ส.รวมพลังประชาชาติไทยเป็นผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการสัมมนาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ถึงสถานการณ์ปัจจุบันและมุมมองเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศในสหภาพยุโรปและอาเซียน (EU and ASEAN Gender Parity: State of Play and Perspectives) ซึ่งสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) และคณะสมาชิกสภายุโรปกลุ่มความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน ร่วมจัดขึ้น เพื่ออภิปรายถึงพัฒนาการเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศโดยประเมินในมิติด้านการเมืองภาคธุรกิจ และเยาวชน ของประเทศในสองภูมิภาค 

นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สหภาพรัฐสภาสตรี (Bureau ofWomen Parliamentarians) เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ผ่านระบบ Interprefy หัวข้อรัฐสภาและการปฏิรูปกฎหมายที่คำนึงถึงมิติทางเพศ (Gender-sensitive parliaments and gender-responsive legal reforms) ซึ่งสหภาพรัฐสภา (IPU) และองค์กรเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมกันจัดขึ้น เมื่อค่ำวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา (ตามเวลาในประเทศไทย) ด้วยวัตถุประสงค์ที่สององค์กรเห็นร่วมกันถึงผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นกับสตรีและกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นางสุวรรณี กล่าวอภิปรายต่อผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 60 คน ว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโรคโควิด-19 สองครั้งที่ผ่านมา จากความจำเป็นที่ต้องมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ทำให้พนักงานและคนงานจำนวนมากต้องตกงาน ก่อนที่ช่วงปลายปี 2563 เศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาได้ในระดับหนึ่ง  รัฐบาลได้จำกัดการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิผล รวมถึงได้ออกมาตรการจำนวนมากช่วยเหลือประชาชน ซึ่งสามารถบรรเทาภาระด้านการเงินให้กับครัวเรือนและประชาชนได้อย่างเสมอภาค ทั้งหญิงและชายต่างได้รับประโยชน์จากโครงการของรัฐบาล แต่ขณะนี้ ประเทศไทยต้องประสบกับการระบาดระลอกใหม่ในเดือน เม.ย. ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย ผู้ทำหน้าที่แนวหน้าต่อสู้กับการระบาดของโรค ได้แก่ พยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ส่วนใหญ่เป็นสตรี ซึ่งหากการระบาดระลอกใหม่นี้ไม่สามารถจบได้เร็ว คนไทยหลายคนจะมีรายได้ลดลงหรืออาจเสี่ยงตกงาน กระทบไปถึงครอบครัว ผู้ที่เป็นแม่อาจหารายได้ไม่พอต่อการเลี้ยงดูบุตรและสนับสนุนทางการศึกษา ดังนั้น ตนในฐานะสมาชิกรัฐสภาจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปสู่การเสนอรัฐบาลหาทางช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ผู้ที่ตกงานสามารถกลับภูมิลำเนาเพื่อเริ่มอาชีพเกษตรกรเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

การปฏิรูปกฎหมายฉบับล่าสุดของไทยที่เป็นการแก้ไขกฎหมายยุติการตั้งครรภ์หรือกฎหมายทำแท้ง ว่าเป็นกฎหมายที่ให้ผู้หญิงมีสิทธิตัดสินใจมีสิทธิในร่างกายของตนเอง หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด หรือหากเกิน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า หากตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจ หรือหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง หรือหญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ แต่ทั้งหมดนี้จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์เท่านั้น ซึ่งต่างจากกฎหมายเดิมที่ให้หญิงต้องได้รับโทษหากทำแท้งหรือปล่อยให้ผู้อื่นทำแท้งไม่ว่าอายุครรภ์เท่าใดก็ตาม

นอกจากนี้ผู้แทนรัฐสภาไทย ยังได้กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยที่พบว่า ขณะนี้ในภาคธุรกิจทั่วโลก สตรีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและมีโอกาสเข้าถึงการทำงานมากขึ้นอย่างเป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งพบว่าสตรีสามารถก้าวเข้าสู่ตำแหน่งบริหารได้ด้วยความสามารถเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ขณะเดียวกันในประเทศไทยมีผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า สตรีมีบทบาทในภาคธุรกิจมากถึงร้อยละ31 และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไทยนับเป็นหนึ่งในสามประเทศอันดับต้นที่เปิดโอกาสให้สตรีมีบทบาทนำในตำแหน่งผู้บริหารมากที่สุดแต่ทั้งนี้ประเทศไทยยังประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสตรีในการประกอบธุรกิจแม้ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งในส่วนดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความเสมอภาคในเรื่องของอัตราค่าจ้างแรงงานชายและหญิง ในกรณีที่ปฏิบัติงานประเภทเดียวกันต้องได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกัน

ที่มาเรียบเรียงจากสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net