นโยบายการยอมรับวัคซีนที่ต่างกันของแต่ละประเทศอาจส่งผลเรื่องความไม่เท่าเทียมในการเดินทาง

ช่วงที่โลกกำลังมีความหวังว่าจะกลับมาเปิดการท่องเที่ยวและการเดินทางระหว่างประเทศได้อีกครั้งหลังจากที่มีการให้วัคซีนกับประชากรโลกในบางส่วนแล้ว แต่ทว่าสำหรับผู้ที่ใช้วัคซีนแตกต่างกันที่ผลิตจากจีนและรัสเซียอาจจะต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมในเรื่องการเดินทางได้

สื่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ตั้งข้อสังเกตในเรื่องการที่ผู้คนรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ต่างชนิดต่างที่มาอาจจะส่งผลต่อการที่พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปในบางที่ได้แต่จะถูกกีดกันไม่ให้เดินทางไปในอีกบางที่ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในเรื่องสิทธิในการเดินทางได้

มีการยกตัวอย่างในเรื่องนี้คือกรณีของ มารี เฉิง ที่ต้องเดินทางไปที่จีนเป็นประจำเพื่อทำงานในบริษัทยานยนต์อิเล็กโทรนิค แต่ก็ถูกขัดจังหวะจากการบังคับให้ต้องกักตัวเพื่อป้องกันโรคนับตั้งแต่มีเหตุระบาดของ COVID-19 เกิดขึ้น

ในกรณีของเฉิงนั้น เธอสามารถเลือกรับวัคซีนในฮ่องกงได้ 2 ชนิด ชนิดแรกคือซีโนแวคไบโอเทคที่พัฒนาจากบริษัทในจีน และอีกชนิดหนึ่งที่พัฒนาโดยตะวันตกคือไฟเซอร์กับไบโอเอ็นเทค ซึ่งเฉิงตัดสินใจว่าเธอจะเลือกซีโนแวคของจีนเพราะมันทำให้เธอเดินทางเข้าออกจีนแผ่นดินใหญ่ได้สะดวกกว่า ขณะที่สามีของเธอซึ่งเป็นชาวอังกฤษจะรับวัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคเพื่อทำให้เขามีโอกาสเข้าไปเยี่ยมครอบครัวที่สหราชอาณาจักรได้มากกว่า

ช่วงที่มีการพยายามเพิ่มการให้วัคซีนกับผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น แต่ละประเทศก็เริ่มมีการออกข้อกำหนดในเรื่องที่ว่าการใช้วัคซีนไหนจะทำให้คุณเช้าประเทศใดได้บ้าง

กรณีที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้คือคำประกาศของสหภาพยุโรปที่ระบุว่าพวกเขาอาจจะอนุญาตให้ชาวสหรัฐฯ ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วให้เดินทางเข้าประเทศได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่ แต่ต้องเป็นวัคซีนแบบที่ได้รับการรับรอง 3 ชนิดเท่านั้น คือ ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค โมเดิร์นนา และ ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

แต่สำหรับจีนมีการกำหนดยอมรับว่าพวกเขาจะยอมให้ผู้คนเดินทางเข้าประเทศได้ถ้าหากได้รับวัคซีนที่ผลิตในจีนเท่านั้น ไม่นับวัคซีนที่ผลิตในสหรัฐฯ หรือยุโรป

มาตรการเช่นนี้ก่อให้เกิดความยากลำบากต่อชาวจีนที่ต้องเดินทางไปเยือนประเทศอื่นๆ อยู่บ่อยๆ รวมถึงชาวตะวันตกที่ต้องการเข้าไปแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในจีน เพราะพวกเขาเลือกไม่ถูกว่าควรจะใช้วัคซีนของชาติใดดี

นอกจากนี้ยังมีประชาชนอีกหลายล้านคนในโลกที่ไม่สามารถเลือกวัคซีนเองได้ทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะถูกเลือกปฏิบัติในการเดินทาง นอกเหนือจากเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกันแล้ว พวกเขาก็เสี่ยงที่จะเดินทางไปในที่ต่างๆ ได้จำกัดด้วย เรื่องนี้ยังส่งผลกระทบถึงกิจกรรมทางธุรกิจในระดับนานาชาติและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย

นิโคลัส โธมัส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงทางสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกงกล่าวว่า "การแบ่งแยกผู้คนในที่ต่างๆ ของโลกผ่านทางการรับวัคซีนจะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ และจะทำให้วิกฤตโรคระบาดนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกับการเมืองต่อไป"

โธมัสกล่าวอีกว่าเรื่องการแบ่งแยกที่โลกเสี่ยงจะต้องเผชิญนี้จะเกิดจากการแบ่งแยกบนฐานของ "ชาตินิยมวัคซีน" มากกว่าในแง่ของความจำเป็นทางการแพทย์ จากที่ในตอนนี้มีชนิดหรือยี่ห้อของวัคซีนต่างๆ ในโลกอย่างน้อย 11 ยี่ห้อ

ในขณะที่จีนและยุโรปกำลังหารือกันว่าจะดำเนินการในสิ่งที่เรียกว่า "หนังสือเดินทางวัคซีน" เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงและตรวจสอบสำหรับสถานะวัคซีนของคนเข้าประเทศดีหรือไม่ แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าแต่ละประเทศจะมีการเปิดยอมรับวัคซีนหมดทุกยี่ห้อหรือไม่ หรือจะมีการเลือกที่จะยอมรับแค่บางชนิดหรือบางยี่ห้อส่วนหนึ่งเพราะมีไวรัสที่ผ่าเหล่าเกิดขึ้น

ถึงแม้ประเทศจีนจะมีการผ่อนปรนเรื่องวีซ่ากับชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนที่ผลิตในจีนเมื่อเดือน มี.ค. ถึงระดับที่สามารถไม่ต้องรับการตรวจ COVID-19 หรือเขียนแบบฟอร์มระบุไทม์ไลน์การเดินทางก็ได้ แต่ก็มีปัญหาคือวัคซีนของจีนนั้นมีใช้อยู่แค่ในบางประเทศเท่านั้น เช่น บราซิล, ปากีสถาน และเซอร์เบีย ขณะที่ในประเทศอย่างสหรัฐฯ จะไม่มีการให้วัคซีนตัวนี้

อย่างไรก็ตามทางการจีนเล็งเห็นว่าการปิดกั้นพรมแดนต่อคนบางประเทศเพราะเรื่องวัคซีนที่ใช้ต่างกันนั้นจะส่งผลต่อการทำธุรกิจของพวกเขา ทำให้จีนประกาศผ่อนผันให้คนเดินทางที่ได้รับวัคซีนตะวันตกบางยี่ห้อและได้เดินทางมาจากดักลาสในเท็กซัสสามารถเข้าประเทศได้ และอาจจะมีการผ่อนปรนมากขึ้นโดยรับรองวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคภายในกลางปีนี้

นอกจากจีนและอียูแล้ว บางประเทศก็มีนโยบายการยังไม่เปิดรับคนที่ได้รับวัคซีนบางยี่ห้อแบบของตัวเอง เช่น ไอซ์แลนด์ที่เปิดให้คนรับวัคซีนแล้วเข้าประเทศได้เว้นแต่ถ้าเป็นวัคซีนของจีนกับรัสเซีย

คำถามเกี่ยวกับเรื่องการยอมรับวัคซีนจากหลายแหล่งยังกลายเป็นกุญแจสำคัญสำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว จากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีมูลค่า 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 282 ล้านล้านบาท) ต้องหยุดชะงักไปหลังจากที่มีโรคระบาดหนักเกิดขึ้น

นั่นหมายความว่าการตัดสินใจจากจีนต่อประชาชนจีนเองก็อาจจะส่งผลต่อทั่วโลกด้วยเพราะนักท่องเที่ยวจีนเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดของโลกซึ่งมักจะเดินทางไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ หรือกระทั่งกรุงปารีสของฝรั่งเศส องค์กรด้านการท่องเที่ยวของจีนเปิดเผยสถิติระบุว่านักท่องเที่ยวจีน 155 ล้านรายที่เดินทางไปท่องเที่ยวนอกประเทศใช้จ่ายโดยรวมแล้วมากกว่า 133,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4 ล้านล้านบาท)

ในขณะที่ประเทศไทยและอินโดนีเซียยอมรับให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนของจีนเดินทางเข้าประเทศได้ แต่นิวซีแลนด์และออสเตรเลียยังไม่อนุญาตในเรื่องนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่านิวซีแลนด์กับออสเตรเลียมีความสัมพันธ์กับจีนแย่ลงในช่วงปีที่ผ่านมาทั้งในเรื่องไวรัสและในเรื่องการค้า

เรียบเรียงจาก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท