ตำรวจแถลงกรณีสลายชุมนุม #ม็อบ20มีนา คุมตัว 20 รายดำเนินคดี ระบุมีคนผิด ม.112

ตำรวจแถลงยันสลายชุมนุม #ม็อบ20มีนา คุมตัว 20 รายดำเนินคดี ระบุมีคนผิด ม.112 หลายฝ่ายชี้ตำรวจไม่ควรสลายการชุมนุมรุนแรงเกินเหตุ ส่งเรื่อง กมธ.ต่างประเทศ - กมธ.เด็กฯ สอบผู้เกี่ยวข้อง

ศูนย์ทนายฯ เผย ถูกจับ 32 คน เป็นเยาวชน 7 คน หลังสลายชุมนุม REDEM
#ม็อบ20มีนา REDEM ชุมนุมสนามราษฎร ส่งสาสน์ร้องจำกัดอำนาจกษัตริย์และลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

21 มี.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความวุ่นวายในการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารีเด็ม (REDEM) ว่าการชุมนุมในขณะนี้ยังอยู่ในการประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉิน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในที่สาธารณะ พร้อมย้ำความจำเป็นในการใช้เครื่องกีดขวาง เนื่องจากกังวลว่าการชุมนุมจะกระทบต่อสถานที่สำคัญ อีกทั้งไม่ต้องการให้การชุมนุมนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงจำเป็นต้องระงับยับยั้งไว้ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้ชุมนุมและสถานที่สำคัญ การใช้ยุทธวิธีเป็นไปตามหลักสากลและทุกขั้นตอนมีการประกาศแจ้งเตือนทุกระยะ ตำรวจจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า การชุมนุมโดยเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. เริ่มมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาชุมนุมที่บริเวณท้องสนามหลวง และบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ต่อมาเวลา 17.22 น. กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเดินทางเข้าพื้นที่ท้องสนามหลวง, เวลา 17.35 น. ตำรวจประกาศแจ้งเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมว่าการชุมนุมเข้าข่ายความผิดกฎหมาย แต่กลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่ตำรวจออกนอกพื้นที่

เวลา 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มรื้อถอนแนวกีดขวาง และต่อมาได้ร่วมกันเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์อีกฝั่งของตำรวจ โดยมีการใช้ก้อนหิน ลูกแก้วและลูกเหล็ก รวมทั้งประทัดยักษ์โยนเข้าใส่กลุ่มตำรวจ จากการสังเกตการณ์มีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจเข้าไปในพื้นที่หวงห้าม พยายามทำลายทรัพย์สินราชการ เช่น กล้องวงจรปิด

จากนั้นตำรวจได้ประกาศแจ้งเตือนอีกครั้งให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยตำรวจเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมยังมีความพยายามในการบุกเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ในสถานที่สำคัญ ตำรวจจึงจำเป็นต้องใช้ยุทธวิธีฉีดน้ำแรงดันสูง และผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้พ้นจากสนามหลวง

เวลา 20.50 น. ตำรวจสามารถรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวงไว้ได้ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมกระจายตัวออกไปในบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และบริเวณแยกคอกวัว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นพบมีกลุ่มผู้ชุมนุมจุดไฟขึ้นหลายแห่งบริเวณถนนราชดำเนิน หน้ากองสลาก และท้องสนามหลวง รถยนต์ทรัพย์สินของตำรวจได้รับความเสียหายหลายคัน

หลังจากที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ตำรวจจับผู้กระทำผิดได้ 20 คน ส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันชุมนุมโดยผิดกฎหมาย ความผิดตามพระราชกำหนดฉุกเฉินฯ และความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมโรค รวมทั้งข้อหาสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความไม่สงบให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองโดยใช้อาวุธและกำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรค 1 และ วรรค 2 และความผิดฐานต่อสู้ ขัดขวางและทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และมาตรา 140

นอกจากนี้ ตำรวจยังจับผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และยังอยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลผู้ที่เข้าข่ายกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติมอีกหลายคน ส่วนผู้ชุมนุมที่กระทำความผิดเล็กน้อยตำรวจได้เปรียบเทียบปรับและปล่อยตัวไปตั้งแต่เมื่อคืนนี้ ส่วนที่เหลือถูกควบคุมตัวไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ปทุมธานี เพื่อนำตัวส่งฟ้องศาลตามกฎหมายต่อไป

และจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีตำรวจได้รับบาดเจ็บจำนวนกว่า 50 นาย ในจำนวนนี้มี 11 นายที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยได้รับอันตรายจากการโดนก้อนหิน และสะเก็ดประทัดยักษ์ตามร่างกาย โดยอยู่ระหว่างการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยแบ่งเป็น 9 รายรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ อีก 2 ราย ที่โรงพยาบาลวชิระ ในจำนวนนี้มีตำรวจได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย มีอาการกะโหลกศีรษะร้าว

รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยังขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่พบเห็นบุคคลต้องสงสัยที่ตำรวจมีหลักฐานเป็นภาพขณะที่เขาพยายามขว้างวัตถุคล้ายระเบิด หรือประทัดยักษ์ เข้าใส่ในพื้นที่ชุมนุมเมื่อวานนี้หลายครั้ง โดยผู้ที่พบเห็นสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ และสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม สำหรับประเด็นการชุมนุมไม่มีแกนนำ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยืนยันว่า จากการสืบสวนพบข้อมูลแกนนำขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและยืนยันตัวบุคคล

ส่วนภาพชายชุดดำแต่งกายด้วยอุปกรณ์และอาวุธปืนคล้ายเจ้าหน้าที่ ขณะนี้ตำรวจมีข้อมูลของชายดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้ แต่ยืนยันว่าชายคนดังกล่าวไม่ใช่เจ้าหน้าที่ แต่เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เคลื่อนไหวก่อเหตุในการชุมนุมซึ่งจนถึงขณะนี้ตำรวจมีข้อมูลว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุจะเป็นคนเดิมๆ โดยต่อจากนี้จะขยายผลไล่ตรวจสอบหาหลักฐานเพิ่มเติมต่อไป

'เพื่อไทย' ประณามเหตุสลายม็อบ ลุแก่อำนาจ เจตนาทำร้ายประชาชน ส่งเรื่อง กมธ.ต่างประเทศ - กมธ.เด็กฯ สอบผู้เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานว่า ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมช่วงค่ำของวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา พฤติการณ์ที่ปรากฏจากคลิปที่หลายฝ่ายได้นำมาแสดง นอกจากการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง การฉีดน้ำ ยังเห็นได้ชัดเจนว่ามีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เกินกว่าเหตุ มีการวิ่งไล่กลุ้มรุมทำร้ายประชาชน รุมตีด้วยไม้กระบอง เตะถีบสารพัด ทำนองเหิมเกริมบ้าคลั่งลุแก่อำนาจ และมีเจตนาทำร้ายประชาชนชัดเจน

การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจึงมิใช่การปฏิบัติหน้าที่ตามสมควรของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่เป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุและผิดกฎหมาย

พรรคเพื่อไทยขอประณามการกระทำดังกล่าว นายกรัฐมนตรีและในฐานะประธาน ก.ตร. ผู้กำกับสั่งการที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนจำนวน 7 คนนั้น ซึ่งบางคนมีอายุเพียง 14 ปี อยากให้รัฐตระหนักและขอเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิในการแสดงออกของเด็กและเยาวชน ใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ว่าไว้ 4 เรื่องคือ

1.การห้ามเลือกปฏิบัติต่อเด็กและการให้ความสำคัญแก่เด็กทุกคนเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ชาติพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิด หรือสถานะอื่นๆ ของเด็ก หรือบิดามารดา หรือผู้ปกครองทางกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน

2.การกระทำหรือการดำเนินการทั้งหลายต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก (best interest of the child)

3.สิทธิในการมีชีวิต การอยู่รอด และการพัฒนาทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม

4.สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็ก และการให้ความสำคัญกับความคิดเหล่านั้น

นอกจากนี้ยังมีภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Optional Protocol to the CRC) ที่มี 3 ฉบับ หนึ่งในนั้นว่าด้วย กระบวนการติดต่อร้องเรียน

ผศ.ดร.อรุณี กล่าวต่ออีกว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว พรรคเพื่อไทยได้หารือกับประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยเร็วที่สุด

'ไอติม' ชี้รัฐสลายม็อบขัดหลักสากล อ้าง รธน.2560 เป็นเกราะกำบัง

 

 

เว็บไซต์เดลีนิวส์ รายงานว่านายพริษฐ์ วัชรสิทธุ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว @paritw92 โดยโพสต์เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย พร้อมแคปชั่นว่า "รัฐสลายการชุมนุมแบบขัดหลักสากล+ขาดความสำนึกรับผิดชอบ อาจเพราะคิดว่า รธน. เป็นเกราะกำบังพฤติกรรมเขา"  รธน. ควรคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ปชช แต่ รธน.60 ไปเขียนเพิ่มว่า รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพได้หากอันตรายต่อ “ค.มั่นคงของรัฐ / ค.สงบเรียบร้อย” ซึ่งเป็นข้ออ้างที่รัฐใช้ประจำอย่างผิด ๆ 

'สุดารัตน์' ห่วงใช้ความรุนแรงสลายม็อบ รับคิดไม่ออกแนวทางนับ 1 แก้ รธน.

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกลุ่มสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจปฏิบัติการสลายการชุมนุมกลุ่มรีเด็มเมื่อคืนนี้ ว่าการใช้ความรุนแรงไม่ควรจะเกิดขึ้น และทราบว่า เกิดขึ้นหลังจากยุติการชุมนุมแล้ว ซึ่งควรดูแลให้กลับบ้านด้วยความปลอดภัย ไม่มีใครต้องมาถูกทำร้าย ส่วนหากมีการกระทำผิดตามกฎหมาย ก็ยึดหลักสากลดำเนินคดีไป ซึ่งส่วนตัวไม่ปรารถนาที่จะเห็นภาพความรุนแรงใดๆ ที่จะเกิดขึ้น หรือความสูญเสียแม้แต่ชีวิตเดียว

ทั้งนี้เห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้ ควรจะมีเวทีพูดคุยกันอย่างปลอดภัย เพื่อร่วมแก้ไขปัญหานี้ โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ อาจจะมีอาจารย์มหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยเป็นคนกลาง เพื่อหาทางออก อย่าเติมไฟลงให้มากขึ้น อย่างเหตุการณ์ความวุ่นวายเมื่อวานนี้ หรือล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ดังนั้นถ้าพูดคุยกันเพื่อหาทางออกได้อย่างสันติดีกว่า

เมื่อถามว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ ที่สภาตั้งขึ้นจะเป็นความหวังแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า เมื่อสัดส่วนคณะกรรมการไม่ตอบโจทย์ เพราะขาดส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะตัวของผู้ชุมนุม จึงไม่เป็นที่หวังจะหาทางออกของประเทศได้ พร้อมย้ำหากนายกรัฐมนตรีจริงใจจะเปิดใจรับฟังความเห็นต่างจริง และแก้ไขอย่างสันติวิธี เชื่อว่ามีวิธีที่จะสามารถดำเนินการได้

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ เดินหน้าแก้ไขรายมาตราจะเป็นความหวังแก้วิกฤติการเมืองได้หรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์ ยอมรับว่า เสียดาย ที่มีการล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชนแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ยาก ไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร ดังนั้นเรื่องของแนวทางนั้น ส่วนตัวยังคิดไม่ออกว่าจะเดินหน้าอย่างไร เพราะกระบวนการต่างๆ ที่เดินกันมาจนถึงวาระ 3 จะต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่ต้องคิดกัน คือ การยอมรับของประชาชน

คุณหญิงสุดารัตน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุ เตรียมพูดคุยกับพรรคเพื่อไทย และ ส.ว.เพื่อเดินหน้ายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุ ว่า “อย่าไปหวังกับคนชื่อไพบูลย์ เพราะเขาทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจให้กับผู้สืบทอดอำนาจ”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ

 

จากกรณีที่มีการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี แก๊สน้ำตาและยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม #ม็อบ20มีนา . แอมเนสตี้...

โพสต์โดย Amnesty International Thailand เมื่อ วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2021

 

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โพสต์เฟสบุ๊ค ระบุว่าจากกรณีที่มีการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี แก๊สน้ำตาและยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม #ม็อบ20มีนา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ โดยเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ความอดทนอดกลั้นให้มากที่สุด

การใช้กำลังเกินกว่าเหตุเพื่อสลายการชุมนุมโดยสงบเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องตามหลักการกฎหมายที่ได้รับการยอมรับตามหลักการความจำเป็นและได้สัดส่วน

ในการควบคุมการชุมนุม ทางการไทยควรเคารพ คุ้มครองและประกันการใช้สิทธิมนุษยชนของผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วม รวมทั้งยังต้องประกันความมั่นคงปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม และประชาชนทั่วไปที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย

ในกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงในระหว่างการชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องแยกผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงออกจากผู้ชุมนุมปกติ ส่วนการชุมนุมโดยสงบและสันติต้องสามารถดำเนินการต่อไปได้ 

เราขอเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่จะมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ทั้งยังต้องอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมโดยสงบสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล และปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยจะต้องไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มไปมากกว่านี้

*อัพเดทข้อมูล ณ 19.05 น. 21 มี.ค. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท