ปูตินเสนอกฎหมายห้ามเทียบกองทัพโซเวียต-สตาลิน กับนาซี-ฮิตเลอร์

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิดีรัสเซียเสนอกฎหมายห้ามเปรียบเทียบกองทัพโซเวียตและผู้นำเผด็จการโจเซฟ สตาลิน กับกองทัพนาซีและผู้นำเผด็จการ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทั้งที่โซเวียตเคยให้ความช่วยเหลือนาซีก่อนที่จะย้ายข้างภายหลัง

7 พ.ค. 2564 ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เสนอร่างกฎหมายห้ามไม่ให้เปรียบเทียบกองทัพโซเวียตและโจเซฟ สตาลิน กับกองทัพนาซีและอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หลังเข้าพบปะกับสภาประธานาธิบดีเพื่อศิลปะและวัฒนธรรมในเดือน ต.ค. 2563 ทำให้มีผู้วิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่ละเมิดหลักการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนกฎหมายดังกล่าวอ้างว่า ควรจะมีกฎหมายนี้เพื่อทำให้ผู้คนเล็งเห็นการที่สหภาพโซเวียตมีส่วนในการทำให้ฮิตเลอร์ล่มสลายในสงรามโลกครั้งที่ 2 ทว่าตามประวัติศาสตร์แล้ว กองทัพโซเวียตภายใต้เผด็จการสตาลินก็เคยเอื้อประโยชน์ ให้ความร่วมมือกับฮิตเลอร์และนาซีมาก่อน จนทำให้นาซีสามารถสร้างความเสียหายกับยุโรปตะวันออกได้

เอเลนา ยัมโปลสกายา ประธานคณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมของรัสเซียแถลงว่า "กองทัพสหภาพโซเวียตเป็นผู้ปลดปล่อย ดังนั้น จึงเป็นกลุ่มที่สร้างประโยชนให้กับยุโรป" นอกจากนี้ ยังกล่าวอ้างว่า ถึงแม้จะมีการสรรหาสถานการณ์เฉพาะ ข้อเท็จจริง หรือเอกสารใดๆ มาพูดถึง "แต่ก็ขออย่าให้ลืมว่าสหภาพโซเวียต ประชาชนรัสเซียเป็นผู้ต่อสู้โดยหลักๆ ต่อความชั่วร้ายสากลที่เรียกว่าลัทธินาซี"

อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของรัสเซียซึ่งขณะนั้นคือสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความซับซ้อนกว่านั้น เพราะโซเวียตเคยอยู่กับทั้งฝ่ายสัมพันธ์มิตรและฝ่ายอักษะ โซเวียตเคยให้ความร่วมมือกับนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี ทำให้กองทัพของทั้งสองประเทศเคลื่อนพลผ่านยุโรปตะวันออก จนก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิต การทำลายล้าง และการยึดครองด้วยการกดขี่อย่างโหดเหี้ยมในพื้นที่เหล่านั้น รวมถึงจับผู้คนส่งไปบังคับใช้แรงงานในค่ายกักกัน

อย่างไรก็ตาม หลังเยอรมนีบุกโซเวียตในปี 2484 โซเวียตถึงค่อยย้ายข้างมาอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร และการที่โซเวียตสามารถเอาชนะโดยการป้องกันตนเองจากนาซีได้นั้น เป็นเพราะข้อได้เปรียบทางพื้นที่ เพราะกองทัพโซเวียตคุ้นเคยกับสภาพอากาศหนาวจัดในฤดูหนาวของรัสเซียเป็นอย่างดี

ถึงแม้ว่ากองทัพโซเวียตจะมีส่วนในการช่วยปลดปล่อยพื้นที่หลายแห่งจากนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต้องไม่ลืมว่า เป็นโซเวียตภายใต้การนำของสตาลินเองที่เริ่มให้ความร่วมมือกับนาซีมาตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ ตัวสตาลินเองก็เป็นเผด็จการที่โหดเหี้ยมที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก เขาสั่งจับกุมผู้คนเข้าค่ายกักกันบังคับใช้แรงงานหนัก 18 ล้านคน ทำให้ผู้คนเหล่านี้อยู่ในสภาพชีวิตที่เลวร้าย หลังสงครามสตาลินก็อ้างสิทธิเหนือดินแดนบางส่วนของยุโรป ปิด "ม่านเหล็ก" กั้นดินแดนเหล่านั้นจากโลกภายนอก เช่น เยอรมนีตะวันออก หลังจากนั้นก็กลายเป็นช่วงสงครามเย็น

มีการตั้งข้อสังเกตว่าปูตินพยายามปิดกั้นปราบปรามคำวิจารณ์การกระทำของรัสเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ในปี 2557 เขาเคยออกกฎหมายห้าม "บิดเบือน" บทบาทของสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้ฝ่าฝืนมีโอกาสถูกลงโทษจำคุก 5 ปี ปูตินยังเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2563 โดยพยายามขายเรื่อง "ชัยชนะ" ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อ้างว่าเกียรติยศในสงครามของพวกเขาควรจะเป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน

อย่างไรก็ตาม มาร์ค คราเมอร์ ประธานโครงการศึกษาด้านสงครามเย็น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า ทหารชั้นล่างของโซเวียตมีความเป็นวีรบุรุษในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ก็มี "ด้านมืดดำลึกกว่านั้นในการทำสงครามของโซเวียต" แต่รัสเซียในปัจจุบันกลับพยายามปิดกั้นการพูดถึงในมุมมองอื่น โดยให้เสนอแต่ภาพแห่งความเกรียงไกรเท่านั้น ทั้งที่การเปิดให้พูดคุยในเรื่องนี้อย่างทัดเทียมกันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า

ร่างกฎหมายนี้ถูกเสนอเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 กล่าวหาว่าสื่อต่างๆ นำเสนอบทบาทของโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้มีภาพลักษณ์เสียๆ หายๆ โดยจะบัญญัติห้ามมิให้ประชาชนเปรียบเทียบการกระทำของกองทัพและผู้นำของสหภาพโซเวียตกับผู้นำของนาซีอย่างเปิดเผย ทั้งในสื่อและบนอินเทอร์เน็ต

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังมีปรากฏการณ์กลุ่ม "ผู้แก้ต่างให้สตาลิน" (Stalon Apologists) ปรากฏตัวในอินเทอร์เน็ต ทั้งจากโลกตะวันตกและจากรัสเซียเอง คนกลุ่มนี้พยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อให้ความชอบธรรมต่อความรุนแรงของเผด็จการสตาลิน หรือบางครั้งก็ถึงขั้นปฏิเสธความโหดร้ายหลายกรณีว่าไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่อ้างว่าเป็น "โฆษณาชวนเชื่อจากชาติตะวันตก"

คนกลุ่มดังกล่าวคาบเกี่ยวกับกลุ่มที่เรียกว่า "แทงค์กีส์" (Tankies) ซึ่งมักจะแก้ต่างให้กับประเทศเผด็จการอื่นๆ อย่างจีนและเกาหลีเหนือ ปฏิเสธเรื่องราวความโหดร้ายในประวัติศาสตร์ เช่น การสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ว่าไม่เคยเกิดขึ้นจริงหรือลดทอนความรุนแรงของเหตุการณ์ลง

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท