คนทำงานขับรถบรรทุกในจีน เผชิญปัญหาจากความผิดพลาดของระบบ GPS ที่รัฐใช้ควบคุม

แม้จะเป็นกระดูกสันหลังของการขนส่งสินค้าในจีน แต่คนขับรถบรรทุกก็ต้องเผชิญปัญหามากมาย ล่าสุดคนขับรายหนึ่งฆ่าตัวตายประท้วงความผิดพลาดระบบ GPS ที่รัฐใช้ควบคุม ทำให้เขาต้องเสียค่าปรับอย่างไม่เป็นธรรม แม้สหภาพแรงงานจะช่วยเรียกร้องให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมดีขึ้น แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

คนทำงานขับรถบรรทุกในจีน เผชิญปัญหาจากความผิดพลาดของระบบ GPS ที่รัฐใช้ควบคุม
ที่มาภาพประกอบ: Caixin reports

ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ทางการจีนได้นำระบบ GPS มาใช้กับรถบรรทุก ตั้งเป้าหมายที่จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยผู้ขับขี่รถบรรทุกจะต้องซื้อชุดอุปกรณ์ GPS และซอฟต์แวร์ของ Beidou (ใช้ชื่อร่วมกับระบบดาวเทียมนำทางที่พัฒนาโดยรัฐบาลจีน) มาติดตั้งในรถบรรทุกของตน 

แต่จากรายงานของ China Labour Bulletin ซึ่งเป็นสื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีนอย่างใกล้ชิด ระบุว่าอุปกรณ์เหล่านี้ของ Beidou จำนวนมากมีคุณภาพไม่ดีและจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่หลังใช้งานไปเพียง 1 ปี นอกเหนือจากการจ่ายค่าติดตั้งแล้วคนขับรถยังต้องจ่ายค่าบริการระบบอีก 600-1,200 หยวน (ประมาณ 2,922-5,844 บาท) และบางส่วนยังต้องจ่ายค่าฝึกอบรมอีกด้วย นอกจากนี้ทางการจีนยังได้กำหนดโทษสำหรับผู้ปลอมแปลงอุปกรณ์ ปิดอุปกรณ์ ตั้งใจลบหรือปกปิดข้อมูล เป็นค่าปรับปรับ 2,000-5,000 หยวน (ประมาณ 9,734-24,335 บาท)

เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2564 'จิน เต้อเฉียง' คนขับรถบรรทุกวัย 51 ปี ในมณฑลเหอเป่ย ทำการฆ่าตัวตายด้วยการดื่มยาฆ่าแมลง เพื่อเป็นการประท้วง หลังถูกตำรวจส่งข้อความระบุว่าเขาจะถูกปรับ 2,000 หยวน (ประมาณ 9,734 บาท) เพราะตำแหน่ง GPS ของเขาออฟไลน์ขณะขับรถ แต่เขายืนยันว่าได้แจ้งไปยังระบบแล้วว่า GPS บนรถบรรทุกของเขาไม่ทำงาน 

"ไม่ใช่ว่าชีวิตของผมมีค่าน้อยกว่าเงิน 2,000 หยวน แต่ผมอยากจะเป็นปากเสียงแทนคนขับรถบรรทุก" เขาพิมพ์ข้อความลงในกลุ่ม WeChat คนขับรถบรรทุก ก่อนที่จะฆ่าตัวตาย และในคำสั่งเสียก่อนตายเขาหวังว่าผู้นำจีนจะเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหานี้ 

"(การขับรถบรรทุกมาสิบกว่าปี)ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก มีแต่ความเจ็บป่วยมากมาย" จิน เต้อเฉียง ระบุไว้ในคำสั่งเสียลาตาย ในวันที่เขาเสียชีวิตเขามีเงินเก็บเพียง 6,000 หยวน (ประมาณ 29,203 บาท) ทิ้งไว้ให้ลูก 3 คนและแม่อายุ 70 ​​ปี ที่เขาต้องดูแลขณะมีชีวิต

'เมืองอัจฉริยะ' ที่ผู้ให้ข้อมูลมีแต่ต้องจ่ายเพิ่ม


ฐานข้อมูลของผู้ขับขี่รถบรรทุกแต่ละคนจะถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยสร้างฐานข้อมูลเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในจีน | ที่มาภาพประกอบ: Memoori

จนถึงช่วงปลายปี 2563 จีนมีโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อยู่ประมาณ 800 โครงการ ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโครงการเมืองอัจฉริยะทั้งหมดของโลก แต่ละเมืองได้ลงทุนเงินจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเซ็นเซอร์ที่จะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้ควบคุมและอำนวยความสะดวกแก่พลเมืองของตน ตัวอย่างเช่นในหางโจว 'City Brain' มีการใช้ AI ประมวลผลตรวจสอบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจร โปรแกรมนี้ช่วยลดความแออัดของการจราจรได้ถึงร้อยละ 15 โครงการนี้ออกแบบและดำเนินการโดย Alibaba ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนและรัฐบาลท้องถิ่นหางโจวตั้งแต่ปี 2559 

จากรายงานของ China Labour Bulletin ระบุว่าประวัติการเดินทางของคนขับรถบรรทุกแต่ละคนจะถูกบันทึกไว้เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยข้อมูลจะถูกอัปโหลดไปยังระบบของ Qianfang Technology ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่จีนอนุญาตให้ประมวลผลข้อมูลดังกล่าว ฐานข้อมูลของผู้ขับขี่รถบรรทุกแต่ละคนจะถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในฐานข้อมูลเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แต่กระนั้นคนขับรถบรรทุกไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการมีส่วนร่วมนี้ พวกเขามีแต่จะเสียภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็เท่านั้น

โซเชียลมีเดีย เหมือนจะเป็นทางออกสุดท้าย

คนขับรถบรรทุกพากันใช้โซเชียลมีเดียแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีของจิน เต้อเฉียง มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบติดตามของ Beidou ในวิดีโอที่มีการดูมากกว่า 800,000 ครั้งบน Weibo คนขับรถบรรทุกคนหนึ่งกล่าวถึงระบบติดตามนี้ว่าเป็น "เครื่องมือลงโทษ" ซึ่งหากคนขับรถบรรทุกไม่ยอมจ่ายค่าปรับรถของพวกเขาก็จะถูกยึด

ส่วนอีกคลิปวิดีโอหนึ่งซึ่งถูกลบไปแล้ว ได้เปรียบเทียบระบบติดตามของ Beidou นี้เหมือนกับการซื้อโทรศัพท์ที่ต้องจ่ายเงินเมื่อโทรออกไม่ได้ จากนั้นแฮชแท็ก #คนขับรถบรรทุกมีอะไรจะพูด (货车司机有话要说) ก็ถูกบล็อกบน Weibo

กระดูกสันหลังของการขนส่งสินค้าในจีน

ในจีน คนขับรถบรรทุกถือเป็นกระดูกสันหลังหลักของการขนส่งสินค้าในประเทศถึงร้อยละ 75 และส่วนใหญ่พวกเขาเป็นผู้ประกอบการอิสระที่กู้ยืมเงินจำนวนมากมาเพื่อซื้อหรือเช่ารถ รวมทั้งค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่น ๆ อีกมากมาย

ในปี 2561 คนขับรถบรรทุกได้ออกมาประท้วงหลายครั้งทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลและผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการขอเพิ่มค่าจ้างขนส่ง เพิ่มค่าบำรุงรักษารถ ขอลดค่าผ่านทางทางหลวงที่มากเกินไป ขอให้มีมาตรฐานในการปรับที่ไม่ให้เป็นไปตามอำเภอใจโดยตำรวจจราจร แต่ข้อเรียกร้องของพวกเขาก็ได้รับการตอบสนองเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ต้นทุนต่าง ๆ กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

China Labour Bulletin ระบุว่าแม้สหพันธ์สหภาพแรงงานจีน (ACFTU) ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาแก่คนขับรถบรรทุก แต่จนถึงขณะนี้ ACFTU มีการกดดันเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการขนส่งสินค้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อให้ข้อตกลงร่วมที่ดีขึ้นแก่คนขับรถบรรทุก เช่น การให้สิทธิคนขับรถบรรทุกยื่นข้อโต้แย้งในการจ่ายค่าปรับและบทลงโทษที่คนขับรถบรรทุกเห็นว่าไม่เป็นธรรม ACFTU ยังเสนอให้รัฐบาลจัดหาสินเชื่อให้คนขับรถซื้ออุปกรณ์ Beidou และกำหนดมาตรฐานควบคุมคุณภาพกับผู้ผลิตอุปกรณ์นี้ให้เข้มงวดขึ้น

ปัจจุบันตลาดขนส่งสินค้าทางไกลในจีนเกือบที่จะถูกผูกขาดโดย Manbang ที่คนจีนเรียกว่าเป็น Uber สำหรับรถบรรทุก Manbang ซึ่งมีมูลค่า 30 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9.4 แสนล้านบาท) ถือเป็นผู้กำหนดอัตราค่าขนส่งสำหรับคนขับรถบรรทุกในตลาด ซึ่งในความเห็นของ China Labour Bulletin ระบุว่า ACFTU ควรกดดัน Manbang ให้สัญญาจ้างแก่คนขับรถบรรทุก รวมทั้งสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์และการประกันภัยต่าง ๆ เป็นต้น 

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Truck driver suicide sparks anger over poor-quality vehicle tracking system (China Labour Bulletin, 13 April 2021)
Truck driver takes own life after BeiDou, the Chinese version of GPS, failed and resulted in a hefty police fine (South China Morning Post, 8 April 2021)
Progress Vs Privacy – A Tale of Smart City Development in China (Meemoori Research AB, 8 December 2020)

*อัตราแลกเปลี่ยน ณ 14 พ.ค. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท