Skip to main content
sharethis

ประชาไทจับเข่าคุยกับ ‘ฮิวโก้’ จิรฐิตา ธรรมรักษ์ นักกิจกรรมคณะราษฎรรุ่นใหม่ วัย 23 ปี ผู้ถูกกล่าวหา ม.112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากกรณีร่วมปราศรัย ม็อบ 2 ธันวา (พ.ศ. 2563) ไปห้าแยกลาดพร้าว

ปัจจุบัน เธอเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ที่ดูแลประเด็นปัญหาที่ดินของชาวบ้านในอีสาน ทั้งเรื่องที่ดินทับซ้อนระหว่างรัฐ และชาวบ้าน จนนำมาสู่การไล่ที่ชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม การเวนคืนที่ดินชาวบ้านเพื่อก่อสร้างโครงการรัฐโดยไม่มีการเยียวยาอย่างเหมาะสม และอื่น ๆ 

ครั้งนี้ เธอจะเปิดเผยให้ฟังตั้งแต่ จุดเริ่มต้นเส้นทางนักกิจกรรมการเมือง-ปัญหาสิทธิที่ดินพื้นที่อีสาน-ความฝัน 

จิรฐิตา ธรรมรักษ์ หรือฮิวโก้ (คนซ้าย) นักกิจกรรมคณะราษฎรรุ่นใหม่ และสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
 

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ฮิวโก้ เริ่มทำกิจกรรมการเมืองตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ภาคีศึกสิทธิมวล.เพื่อประชาธิปไตย - ภศป.’ รณรงค์ล่ารายชื่อถอดถอน กกต. และเป็นหนึ่งในสมาชิก ‘สหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ศูนย์ประจำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์’ ซึ่งเป็นกลุ่มทำกิจกรรมการเมืองเพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตย 

กิจกรรมที่เธอขยับต่อคือการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวคณะราษฎรยุคใหม่ ขับไล่รัฐบาลด้วย 3 ข้อเรียกร้อง ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัติย์ 

การเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องแลกมาด้วยการถูกฟ้องข้อหา มาตรา 112 จากกรณีร่วมปราศรัย ม็อบ 2 ธันวา ห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งตอนนี้คดียังอยู่ในชั้นของตำรวจ 

หลังเรียนจบในวัย 23 ปี เธอเป็นอาสาสมัครในโครงการนักสิทธิมนุยชน หรือ มอส. และผันตัวมาเรียนรู้ประเด็นสิทธิที่ดินเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ซึ่งเปลี่ยนมุมมองของเธอกับประเด็นที่ดินของชาวบ้านภาคอีสาน และการเมืองภาพใหญ่ เป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ 

แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ฮิวโก ซึ่งเป็นคนเพชรบุรี และเรียนมหาวิทยาลัยในภาคใต้ เริ่มขยับมาทำประเด็นเรื่องสิทธิที่ดินในภาคอีสาน 

“จริง ๆ ความรู้เรื่องที่ดิน คือ ศูนย์ ด้วยความที่เราเป็นนักกิจกรรมและเราอยู่ในเครือของสหภาพ สนท. มันทำให้เราได้รู้จักนักกิจกรรมเยอะ และเราเห็นภาคอีสานมันเคลื่อนไหว มันสนุก มันมีเพื่อน และเรารู้สึกว่าคนภาคอีสานเป็นนักสู้ เราเลยมาเรียนรู้ในภาคอีสาน” ฮิวโก้ กล่าว

จุดเริ่มต้นความคิดทางการเมืองมาตอนไหนไม่รู้

“เอาจริง ๆ แล้ว หนูไม่รู้ว่าหนูสนใจเมื่อไร แต่หนูรู้สึกว่าสังคมที่เราอยู่มันไม่มีความเท่าเทียม” 

“เราเห็นความเหลื่อมล้ำชัดมากตั้งแต่เล็กจนโตในชีวิตประจำวัน แค่เปรียบเทียบเรากับข้างบ้าน ทำไมเรามีกิน แต่เขาดูอดอยากจัง ทำไมดูลำบากในขณะที่เราสบาย เรารู้สึกว่าแล้วความเป็นธรรมมันอยู่ตรงไหน ทำไมเป็นคนเหมือนกัน แต่ทำไมเราได้รับอะไรที่ต่างกันขนาดนี้” ฮิวโก้ เล่าถึงเหตุผลที่เธอลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง  

ความเหลื่อมล้ำทำให้เธอตั้งคำถามมากขึ้น ไต่ระดับตั้งแต่ครอบครัว หมู่บ้าน ท้องถิ่น  สังคม และการเมืองระดับประเทศ เธอพบว่าแต่ละหน่วยละชั้นมีปัจจัยที่สร้างความเหลื่อมล้ำที่แตกต่างกัน แต่ว่ามันก็ไปทิศทางเดียวกัน คนที่มีทุนมากกว่า มักกอบโกยผลประโยชน์ได้มากกว่าคนที่มีทุนน้อยกว่า

ปัญหาที่ดินบนภูมิภาคอีสานและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถแยกจากกันได้

เมื่อแรกเริ่มเข้ามาทำงานใน คปอ. ฮิวโก้ ต้องลองจับและเรียนรู้งานหลากหลายฝ่าย เพื่อให้เข้าใจประเด็นปัญหา และตัวงานมากขึ้น

นักกิจกรรมจาก คปอ. อธิบายว่า เวลาพูดถึงปัญหาที่ดิน หลายคนมักมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว และเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หรือกรณี "เด่น คำแหล่" แกนนำชาวบ้านด้านสิทธิที่ดินบริเวณป่าโคกยาว จ.ชัยภูมิ ที่ภายหลังถูกบังคับสูญหาย แต่แท้จริงนั้น นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ไกลจากตัวเราเลย

ฮิวโก้ หรือ จิรฐิตา ธรรมรักษ์ (คนซ้าย) ขณะลงพื้นที่
 

การสนทนาพาทีกับจิรฐิตา เปิดเผยให้เห็นร่องรอยปัญหาที่ดินบนถิ่นอีสานซ้อนทับกับปัญหาเชิงโครงสร้าง แนบชิดเป็นเรื่องเดียวกันอย่างไรบ้าง 

ด้วยเหตุผลที่รัฐ กลุ่มทุน และสถาบัน มักมีอำนาจผ่านการกลไกกฎหมาย ที่จะยึดและถือครองสิทธิที่ดินของชาวบ้านได้ ซึ่งสะท้อนผ่านนโยบาย และ พ.ร.บ.หลายฉบับที่ออกมา เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ นโยบายทวงคืนผืนป่า และอื่น ๆ การใช้อำนาจเหล่านี้ส่งผลเป็นความเหลื่อมล้ำบนภูมิภาคอีสานตามมา 

ยกตัวอย่าง กรณีวันเสาร์ ภุงาม ชาวบ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง ใกล้กับอุทยานแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี แต่เดิมที่ดินชาวบ้านไม่ได้มีการรุกล้ำเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่พอมีการตีเส้นเขตอุทยานใหม่โดยใช้เทคโนโลยีจากภาพถ่ายดาวเทียมในปี พ.ศ. 2558 กลายเป็นว่าเส้นอุทยานใหม่ทำให้ที่ดินของวันเสาร์ ถูกรวมเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2561 เธอถูกดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่เขตอุทยาน มีโทษจำคุก 3 ปี 8 เดือน ถูกปรับเงิน 2 ล้านบาท ทั้งที่วันเสาร์ไม่ได้บุกรุกอะไร 

“การออกกฎหมายที่มันแต่เอื้อกับนายทุน เอื้อกับรัฐบาล มันทำให้ชุมชนได้รับความเดือดร้อนมากๆ การที่คุณไปทวงคืนผืนป่า โดยที่คุณไม่ได้ดูเลยว่าเขาอยู่มาก่อน หรือคุณไม่ได้มีนโยบายอะไรรองรับ หรือการเยียวยาที่มันจะบรรเทาความเดือดร้อนของคนที่ถูกยึดที่ได้เลย”

“เขาอยู่ตรงนั้นเขาทำมาหากินตั้งหลักแหล่งมาตั้งนานแล้ว อยู่วันดีคืนดี คุณออกกฎหมายทีหลังโดยที่คุณไม่ได้ไปสำรวจพื้นที่ความเป็นจริงเลยว่าตรงนี้มันมีคนอยู่ไหม เขาอยู่มานานเท่าไรแล้ว นึกอยากจะประกาศว่าเขตตรงนี้เป็นเขตอุทยานก็ประกาศ คุณแก้ปัญหาโดยการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แล้วชาวบ้านที่เดือดร้อนจะไปอยู่ไหน คนที่ไร้ที่อยู่ เขาทำเกษตรกรรม เขาหากินในป่า เขาอยู่ในป่าอยู่แบบวิถีไทบ้านเขาจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อที่ใหม่ในการสร้างที่อยู่ แล้วการที่เขาไม่ได้มีเงิน ไม่ได้มีที่อยู่ มันไม่ได้กระทบแค่เขาคนเดียว ครอบครัวเขา หลานเขา เงิน กลายเป็นว่ามันเป็นผลกระทบเป็นวงจร มันไม่ได้แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันผสมกันจนแยกไม่ออก”

นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวทำให้ชาวบ้านผู้เสียสิทธิ์ที่ดินทำกินอย่างไม่ชอบธรรม ไม่สามารถต่อสู้กับอำนาจรัฐ หรือโครงสร้างส่วนบนได้ เนื่องจากชาวบ้านที่ไม่ได้มีต้นทุนอะไรมากมาย การเรียกร้องเรื่องสิทธิที่ดินทำกินเป็นไปโดยลำบาก บางคนสู้คดีไม่ไหว กรณีร้ายแรงที่สุดนำมาสู่การบังคับสูญหาย ซึ่งประเด็นนี้เกี่ยวโยงกับกระบวนการยุติธรรมของไทย กลายเป็นการละเมิดซ้ำซาก ทั้งจากรัฐ และกระบวนการยุติธรรม

มุมมองของฮิวโก้ ‘สถาบัน’ มีส่วนในเรื่องปัญหาสิทธิที่ดินอย่างไร

“ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา สถาบันมีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอนค่ะ” ฮิวโก้ ตอบ 

สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่ถือครองที่ดินจำนวนมากในประเทศ อาจไม่ทั่วทุกพื้นที่ แต่มักถูกนำไปต่อยอดทั้งในเรื่องการสะสมทุน อำนาจ และเป็นปัจจัยการผลิต จนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างสังคม สถาบันยังสามารถใช้อำนาจทางการเมืองผ่านกลไกรัฐ เข้าไปถือครองที่ดิน หรือเวนคืนที่ดินจากชาวบ้านได้ โดยที่ประชาชนไม่เคยได้รับการเยียวยาที่ได้สัดส่วน

“สถาบันที่พยายามจะเอาพื้นที่ที่เป็นของประชาชน กลับเข้าไปเป็นของตัวเอง ในเรื่องของการประกาศพื้นที่โครงการ พระราชดำริ ไอ้ตัวโครงการอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในหลายพื้นที่ หลายหมู่บ้านถูกเวนคืนไปทำเขื่อน มันไม่มีการเยียวยาชาวบ้านอย่างจริงจัง” 

“ไม่ใช่แค่โครงการพระราชดำริ โครงการในหลวงเท่านั้น หมายถึงพื้นที่สาธารณะอย่างที่สนามหลวง จ.กรุงเทพฯ ที่เขาประกาศเป็นเขตพระราชฐาน คือเรารู้สึกว่า สถาบันถ้าต้องการที่จะดำรงอยู่ มันไม่ควรที่จะมีอำนาจในการปกครอง หรือการบริหารจัดการเรื่องพวกนี้ เขาเรียกว่าทรงเป็นประมุข แต่ไม่มีอำนาจในการปกครอง ที่เขาทำอยู่ในทุกวันนี้มันสวนทาง กลายเป็นว่าสถาบันเองก็ใช้อำนาจอย่างเต็มที่ ในการใช้อำนาจทางการเมือง และการจัดสรรที่ดิน หรือแม้กระทั่งการเป็นทุนใหญ่ในการผูกขาดทางโครงสร้างแล้ว”

เรื่องใดที่ทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจมากที่สุด หลังจากเริ่มลงพื้นที่และศึกษาประเด็นปัญหาที่ดินในภาคอีสานมากขึ้นเรื่อย ๆ

บัณฑิต ม.วลัยลักษณ์ เล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกแย่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิที่ดินมากที่สุด คือ การที่รัฐออกกฎหมาย โดยที่ไม่เข้าใจว่าชาวบ้านอยู่กันมายังไง คิดแต่เพียงว่าจะเอาที่ดินกลับคืนมา โดยไม่สนใจผลกระทบต่อประชาชน

“คือการออกกฎหมาย (ผู้สื่อข่าว - โดยรัฐ) ที่ไม่ได้ไปแหกตาดู ชุมชนเขาอยู่กันมายังไง นึกจะประกาศก็ประกาศ มันไม่ได้มีนโยบายมารองรับเลย นึกอยากจะทำอะไรก็ทำชาวบ้านเดือดร้อน แต่ตัวเองได้ผลประโยชน์ แล้วก็มาเคลมว่า รัฐบาลได้เอาที่คืนมาแล้ว” 

คนที่อยู่ในเมืองไม่มีวันเข้าใจคนที่อยู่กับป่ามาก่อน คนที่ไม่ได้อยู่กับสิ่งแวดล้อม คุณอยู่ในกรุงเทพฯ รัฐบาลบอกว่า เขาได้ทวงคืนผืนป่า ได้กลับมาเท่านี้ กี่แสนไร่ ล้านไร่ คนในเมืองโอ้ยดีนะเราจะได้มีป่าเพิ่มขึ้น มีป่าฟอกออกซิเจน ได้รักษาสัตว์ป่า อนุรักษ์สัตว์ป่า แต่ความจริงแล้วคนเมืองไม่ได้ไปดูเลยว่า คนชนบทที่เขาอยู่กับสิ่งแวดล้อมเขาสูญเสียอะไรไปบ้าง มันไม่ได้สูญเสียแค่ที่ทำมาหากิน เขาสูญเสียโอกาสอีกมากมายจากการเสียที่ดิน สุดท้ายพวกเขาก็จะถูกทำให้กลายเป็น “marginal people” (คนชายขอบ) ในสังคมไป

“เราไม่ได้ต่อว่าคนในเมือง เราแค่รู้สึกว่าเขาอาจจะยังศึกษาไม่มากพอหรือเปล่า การรับข่าวสารข้อมูลรัฐอาจจะให้ข้อมูลไม่เพียงพอหรือเปล่า บางคนบางกลุ่มไม่ได้หมายถึงทุกคน ก็เลยไม่เข้าใจว่าพี่น้องที่อยู่กับป่าอยู่กับชุมชน เขาโดนไล่ที่โดนทวงคืนผืนป่าโดนประกาศทับที่ ทับทางของเขาได้รับความเดือดร้อนขนาดไหน 

อย่างไรก็ตาม ฮิวโก้ รู้สึกว่า กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกจุดติดเมื่อปีที่แล้ว ทำให้คนเมืองกรุงเริ่มหันมาสนใจและศึกษาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกันมากขึ้น 

“ด้วยกระแสประชาธิปไตยมาแรงทำให้คนเปิดใจรับมากขึ้นนะ ทางภูมิภาคไม่ว่าจะไลฟ์ถ่ายทอดสดประเด็นเรื่องของการทวงคืนผืนป่าซึ่งไม่ยุติธรรม หรือว่าการที่รัฐออกนโยบายทับที่ ไล่ที่คน มันเริ่มทำให้คนในเมืองที่ไม่ได้รับความเดือดร้อน เขาเปิดมากขึ้น เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่รัฐทำว่ามันโอเคจริงๆ ไหม มันทำตามกระบวนการหรือเปล่า ได้ไปสำรวจไหม ไปพูดคุยสร้างกระบวนการที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจหรือเปล่า คุณมีอะไรรองรับเขาหรือเปล่า กระแสประชาธิปไตยที่มันเริ่มเกิดขึ้นในไทยมันทำให้คนที่ไม่ค่อยได้เข้าใจ เริ่มทำให้เขาเปิดใจรับปัญหาของคนอื่น” ฮิวโก้ ทิ้งท้าย

มายาคติคนกับป่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ที่สร้างโดยรัฐ?

ฮิวโก้ ระบุว่า มายาคติ ‘คนอยู่กับป่าไม่ได้’ เดิมทีเป็นภาพที่รัฐไทยสร้างขึ้นมา สร้างภาพว่าคนที่อยู่ในป่าจะชอบทำลายผืนป่าและธรรมชาติ เพื่อทำไร่เลื่อนลอย และเก็บของป่า-ล่าสัตว์ เป็นต้นเหตุแห่งมลพิษทางอากาศ รัฐใช้มายาคตินี้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้าไปทวงผืนป่า อ้างเพื่อแก้ปัญหา 

แต่เมื่อฮิวโก้มาสัมผัสถึงปัญหา และลงพื้นที่กับชาวบ้านภาคอีสาน กลับไม่เป็นอย่างที่รัฐโฆษณา แต่ ชาวบ้านที่อยู่กับป่านี่แหละ คือคนที่ปกป้องป่า-ธรรมชาติ

“เราเคยมีโอกาสได้ไปลงพื้นที่ แม่สุภาพ เมีย ‘เด่น คำแหล่’ พวกเขาเป็นไทบ้านอยู่กับป่า แต่คือโดนประกาศเขตอุทยานทับพื้นที่ ...เขาอยู่โดยการหาของป่าไปขาย บางทีอาจจะเป็นหน่อไม้ในป่า เลยเรียกว่าของป่า ไปหาสัตว์หาอะไรบางอย่าง มันเป็นวิถีชีวิตที่เขาดำรงอยู่ คือเขาก็ไม่ได้เป็นแบบภาพจำมายาคติ ภาพจำที่ว่าพวกที่อยู่ในป่าต้องไปตัดไม้ทำลายป่า มันไม่ใช่แบบนั้น

“...คนที่อยู่ในป่าก็คือคนที่ปกป้องป่า ดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มันอยู่กับเขา ขนาดทางเข้าหมู่บ้านมันมีเห็ด แม่สุภาพ บอกว่า มันมีเห็ดเยอะมากชาวบ้านอยู่ในระแวกนั้นนำไปทำกินเป็นอาหาร นำไปขายบ้าง เราไม่รู้ว่าเป็นเห็ดอะไร มันมีจำนวนเยอะ พอมันมีเยอะมากๆ จนคน (ผู้สื่อข่าว - ภายนอกพื้นที่) รู้เยอะก็ขับรถยนต์เข้าไปเอาเห็ด บางทีก็เอาขยะไปทิ้ง สร้างความสกปรกบ้าง ชาวบ้านก็ออกมาปกป้องแม้กระทั่งแค่เห็ดเฉยๆ อ่ะ เขาไม่ต้องการให้ใครเข้าไปทำลายสิ่งแวดล้อมตรงนั้น ชาวบ้านก็มีการรวมตัวต่อต้านไม่ให้เอารถยนต์เข้ามา จอดรถยนต์ข้างนอกแล้วไม่ให้รถยนต์เข้าไป คือจะไปเก็บเห็ด ไปได้ แต่อย่าเอารถยนต์เข้าไป เขาก็ช่วยเป็นหูเป็นตา”

ในมุมมองของฮิวโก้ รัฐควรแก้ปัญหานี้อย่างไร

“คือก่อนที่รัฐจะประกาศเขตป่า เขตอุทยาน นโยบายทวงคืนผืนป่า รัฐต้องเข้าไปดูก่อน อย่างเช่น กรณีบางกลอย มันชัดมากว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อนนานมาก ๆ แล้ว มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชุมชนของเขา และการที่รัฐมาประกาศที่หลัง โดยที่รัฐไม่ได้เข้าไปสำรวจเลยว่าพื้นที่จริง ๆ มันมีคนอาศัย หรือว่ารัฐอาจไม่ได้สนใจคนเหล่านั้นที่มันเป็นคนส่วนน้อย (minority) ของสังคมอะไรอย่างนี้ค่ะ มันเลยกระทบไปหมด ยิ่งในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ยิ่งกระทบมาก ในกรณีบางกลอยจะเห็นชัดเรื่องปัญหาที่ดิน” 

“อีกส่วน ที่อยากจะพูดคือ รัฐควรต้องขึ้นตรงกับประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชน หรือแม้กระทั่งตัวกฎหมาย คือหนูคิดว่ามันมีปัญหามากๆ และมีมาตั้งนานแล้ว เรื่องพวกนี้มันต้องถูกแก้ไข ยิ่งในตัวบทกฎหมายในการประกาศเขตป่า หรือว่าไล่คนออกจากป่า กำหนดเขตนู้นนี้เป็นเขตป่า แต่ว่ากฎหมายเรื่องพวกนี้มันควรต้องถูกนำมาพิจารณาอีกครั้ง แล้วก็เอามานั่งคิดไตร่ตรองกันจริงๆ ว่า คนกับป่ามันอยู่ด้วยกันได้ไหม จริงๆ มันอยู่ด้วยกันได้ เพราะอยู่ด้วยกันมาตั้งนานแล้ว แต่กฎหมายมีสิทธิ์อะไรไปไล่คนออกจากพื้นที่ ไปบังคับใช้ความรุนแรงกับพวกเขา ไปละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา” 

“อันนี้ก็อีกส่วนที่เราอยากจะพูด และก็ตัวรัฐบาลไม่ว่าจะชุดไหน เราก็ยังมองว่าในเรื่องฐานคิด เรื่องเกี่ยวกับที่ดิน เขายังไม่ให้ความสำคัญกับมันมากพอ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วที่ดินมันเป็นใจความสำคัญ มันเป็นปัจจัยสี่ในการอยู่อาศัย ถ้าคุณไม่มีที่ดิน คุณไม่มีที่อยู่อาศัย คุณไม่มีบ้าน แล้วมันก็จะกระทบไปเรื่องปัจจัยการใช้ชีวิตอื่นๆ มันกลายเป็นจุดกำเนิดของปัญหาหลายๆ อย่าง คุณไม่มีที่ดิน คุณไม่สามารถผลิต หรือปลูกอะไรได้ ต้องไปเช่า คุณไม่มีเงิน พอไม่มีเงิน แล้วจะไปเรียนที่ดีๆ ได้อย่างไร กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ” บัณฑิตจาก ม.วลัยลักษณ์ กล่าว

ประชาธิปไตยที่ดี เราจะสามารถมีสิ่งแวดล้อมที่ดีได้หรือไม่ 

ในฐานะที่ฮิวโก้ เคยขับเคลื่อนร่วมกับคณะราษฎร (รุ่นใหม่) เรียกร้องประชาธิปไตย ก่อนกระโดดมาทำงานที่ดิน และสิ่งแวดล้อม อดไม่ได้ที่ต้องถามเธอว่า แท้จริงนั้น ‘ประชาธิปไตย’ และประเด็น ‘สิ่งแวดล้อม’ สามารถเกี่ยวโยงกันได้ไหม 

ฮิวโก้ อธิบายประเด็นนี้ว่า “ถ้าคุณมีประชาธิปไตยที่ดี คุณจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ถ้าประเทศไม่มีประชาธิปไตยเลย ปกครองแบบเผด็จการ การที่เขา (ผู้สื่อข่าว - รัฐบาล) จะนำสัปทานของชาติที่ดินเหมืองให้กับนายทุน เขาไม่ได้มาสนใจระบบอุตสาหกรรมจะผลิตน้ำเสียลงสู่ทะเลเท่าไร หรือว่าขยะจะถูกเอาไปทิ้งที่ไหน ถ้าคุณมีรัฐบาลไม่ดี นำไปสู่คนทั้งประเทศสูญเสียทรัพยากรของชาติให้กับผลประโยชน์นายทุน เจ้าขุนมูลนาย รัฐเองแสวงหาผลประโยชน์ 

“กลับกันถ้าเรามีรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน มีประชาธิปไตย เวลาที่ให้สัมปทานเหมือง ขนขยะจากต่างประเทศทำลายประเทศเรา ประชาชนด่าวิจารณ์ รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เขาจะคำนึงว่าอะไรที่เขาทำได้ ทำได้แค่ไหน มากกว่าการที่เขาจะทำอำเภอใจ”

ทั้ง 'ดีใจ-เสียใจ' ความรู้สึกที่ได้ลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านภาคอีสาน

“จริง ๆ มีหลายความรู้สึก มีเราก็รู้สึกดี ดีใจที่ได้มาอยู่อีสาน เพราะว่าคนที่นี่สู้มาก เขาสู้กันมากจริง ๆ แม้กระทั่งชาวบ้านที่บอกว่าเขาไม่มีความรู้อะไรเลย ถ้า NGO เข้าไปแล้ว ช่วยเขาอะไรอย่างนี้ คือเขาก็สู้ในแนวทางของเขาเพื่อสิทธิ์ของตัวเอง เป็นความดีใจ

แต่ว่าอีกในแง่หนึ่ง เราก็รู้สึกเจ็บปวดที่สังคมเรามันเป็นแบบนี้ มันทิ้งใครหลายคนไว้ข้างหลังเยอะมากๆ มันทำให้ใครหลายคนกลายเป็นคนชายขอบของสังคม และก็ขูดรีดกดขี่คนเหล่านี้ เต็มไปหมด หลายๆ ครั้งมันสร้างความเจ็บปวด และความรุนแรง มันสร้างประวัติศาสตร์ความรุนแรงกับพวกเขาไว้เยอะมากๆ อย่างเช่น ในกรณีของอีสาน การที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาทวงคืนผืนป่า ขับไล่ชาวบ้าน บางคนถูกฆาตกรรม การที่คนๆ หนึ่งเสียไป มันมีบาดแผลทื่คนอยู่ข้างหลังยังต้องเผชิญอยู่แล้ว ความยุติธรรมในสังคมไม่เคยเดินทางมาถึงคนเหล่านี้เลย ทำให้เราเห็นว่าสังคมมันบิดเบี้ยวมากๆ แค่ความยุติธรรมพื้นฐาน ไม่ใช่เรื่องแค่พิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกินอย่างเดียว อย่างเช่น เรื่องของการที่คนถูกฆาตกรรม และต้องการหาผู้กระทำผิด กลายเป็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับรองคนเหล่านี้ ไม่ได้โอบอุ้มคนเหล่านี้ไว้เลย สุดท้าย คนที่ฆ่าก็ลอยนวล คนที่ถูกฆ่า ก็ตายได้ตายเอา” นักกิจกรรม คปอ. กล่าว 

คุยนอกวงกิจกรรมการเมือง-ความฝันศัลยแพทย์

จิรฐิตา พูดถึงตนเองให้ฟังว่า เธอเป็นวัยรุ่นคนธรรมดาที่ไร้สาระที่สุดในจักรวาล ชอบนอน และทานชาบู ชอบดูซีรีส์เกาหลีแดนกิมจิ 

เธอมีฝันอยากเป็นศัลยแพทย์ แม้เช เกวารา นักปฏิวัติชาวอาร์เจนตินา ไม่ใช่ไอดอลของเธอ แต่เธอก็มองว่า “เช เป็นหมอที่เท่ที่สุดในจักรวาล เพราะว่าเช เป็นหมอ แล้วก็กลายมาเป็นนักปฎิวัติ” 

“เราไม่รู้ว่าเราโดน ม. 112 แล้วจะเป็นหมอได้หรือเปล่า เราวางแผนนะ แอบหวังในใจลึกๆ ว่ากระบวนการยุติธรรมจะเกิดขึ้นจริงๆ สักวันหนึ่ง แล้วการต่อสู้ของพวกเราสุดท้ายแล้วมันไม่ใช่การต่อสู้เรียกร้องที่ผิด เราไม่ได้ก่อกบฎ เราไม่ได้ชังชาติ เราไม่ได้ทำลายชาติ 

“เราเรียกร้องความเป็นพื้นฐานสากล สิทธิพื้นฐานมากๆ แค่เรียกร้องให้สามารถพูดถึงกษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมาได้บนพื้นฐานเหตุและผล บนหลักฐาน สามารถออกมารวมกลุ่มเรียกร้อง ต่อรัฐบาล เราคิดว่าไม่ใช่เป็นแนวทางที่ผิด ไม่ได้เป็นการที่เราละเมิดอำนาจสิทธิบุคคลของใครเลย เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เป็นพื้นฐานมากๆ” 

“ดังนั้น มันไม่ใช่ความผิด กฎหมายก็ไม่ควรจะบิดเบี้ยวตามโครงสร้างทางสังคม ก็หวังแหละว่าเราอาจจะไม่ได้รับกับการตัดสินที่ไม่ยุติธรรม แอบหวังว่าสักวันหนึ่งมันจะมีความยุติธรรมหลงเหลือบ้างสักเล็กน้อยอย่างเป็นธรรม ในเมื่อสิ่งที่เราทำไม่ได้มีเจตนาที่ผิด การที่คนหนึ่งๆ สูญเสียความฝันของตนเองในการอยากเป็นหมอเป็นแพทย์ศัลยกรรมในห้องฉุกเฉิน แต่ว่าเขาสูญเสียความฝัน เพราะว่าเขาเรียกร้องประชาธิปไตยเราว่ามันโครตจะไม่เมกเซนส์มากๆ แล้วมันค่อนข้างจะน่าเศร้าพอสมควร” 

“แต่เราก็ยังดันทุลังอ่านหนังสือสอบอยู่” นักกิจกรรมจาก คปอ. เล่าเรื่องความฝันให้ฟัง

การเมืองในฝัน-ที่กฎหมายถูกใช้อย่างเท่าเทียม

“รูปธรรมที่เราอยากเห็น กฎหมายมันต้องบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคุณจะเป็นคนจน คนรวย คุณจะเป็นเจ้าขุนมูลนาย ศักดินา หรือคุณจะเป็นคนไร้บ้าน กฎหมายต้องบังคับใช้กับทุกคน กฎหมายมันต้องโอบอุ้มปกป้องทุกคน ไม่ใช่กฎหมายที่สร้างเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เรารู้สึกว่าประเทศมันไม่มีทางสงบได้ ถ้าคนที่ถูกกระทำยังต้องต่อสู้เพื่อความยุติธรรมตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่เราต่อสู้คือการปลดแอกในเรื่องความไม่ยุติธรรมทางกฎหมายด้วยเหมือนกัน นี่เป็นเรื่องที่หนูอยากเห็น ถ้าเราเท่าเทียมกันทางกฎหมาย มันไม่ต้องพูดถึงเลยในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ที่คนมันจะต้องเท่ากันอยู่แล้ว ถ้าคุณเท่ากันในทางกฎหมาย ในทางอื่นๆ คุณก็เท่ากันเหมือนกัน กฎหมายที่อยู่บนพื้นฐานที่คนมันเท่ากัน หลักคิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะในเรื่องของรัฐสวัสดิการมันก็จะเท่ากัน” 

ข้อความถึงผู้อ่าน

“ก็อยากจะบอกว่า เหมือนว่าตอนนี้สิ่งที่เรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่ ที่เจอกันอยู่ มันเหมือนวันที่อยู่ท่ามกลางวันแห่งพายุมากๆ เลยเราไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง สูญเสียใครไปบ้างระหว่างทาง บางคนอาจจะเป็นเพื่อนเรา พี่เรา เป็นไอดอลที่เรารู้จัก เป็นพี่ที่เรานับถือ เป็นคนดังที่เราตามเขา เราไม่รู้เลยว่าในวันที่พายุมันโหมกระหน่ำใส่ประชาชนขนาดนี้ ซึ่งดูแล้วมันไม่จบลงง่ายๆ มันอาจจะมีพายุที่หนักกว่านี้อีก แต่สุดท้ายแล้ว เรายังเชื่อและยังศรัทธาในพลังประชาชน สุดท้ายแล้วประชาชนจะชนะ สุดท้ายแล้วชัยชนะจะเป็นของเรา มันต้องมีวันที่เป็นของเรา ฟ้าหลังฝนมันมีสายรุ้งที่เรารอ มันอาจจะนาน 10 ปี 20 ปี หรือ 100 ปี มันเป็นการต่อสู้ระยะยาว แต่มันต้องมีสักวันที่เป็นของประชาชน มันต้องมีวันที่เป็นของเรา” จิรฐิตา ทิ้งท้าย 

พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย นักปกป้องสิทธิชุมชนของชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ภายหลังถูกบังคับสูญหาย 

เด่น คำแหล่ - นักต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ดิน บนพื้นที่ป่าโคกยาว ภายหลังถูกบังคับสูญหาย

เช เกวารา (พ.ศ. 2471-2510) - แพทย์ นักเขียน และนักปฏิวัติชาวอาร์เจนตินา ผู้เข้าร่วมต่อสู้เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดี ฟูลเกนซิโอ บาติสตา ผู้นำเผด็จการคิวบา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net