Skip to main content
sharethis

สมาคมคราฟท์เบียร์ ยื่นหนังสือ 3 หน่วยงานรัฐ จี้ยกเลิกคำสั่ง ‘ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้าน’ ชี้เป็นการแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ตรงจุด จำนวนผู้ป่วยไม่ลดลง อีกทั้ง ไร้การเยียวยา ทำรายย่อยทรุดหนัก 

ตัวแทนสมาคมคราฟท์เบียร์ ขณะยื่นหนังสือที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 64 (ที่มา ประชาชนเบียร์)
 

31 พ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับแจ้งจากประชาชนเบียร์ ตัวแทนจากสมาคมคราฟท์เบียร์ ยื่นหนังสือร้องเรียนแก่ 3 หน่วยงานภาครัฐวันนี้ (31 พ.ค. 64) ได้แก่ 1.คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงมหาดไทย ถนนอัษฏางค์ 2. ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ถนนดินสอ และ 3. ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถนนพิษณุโลก

พร้อมชี้แจง ผู้ประกอบการรายย่อยมากมายทั้งร้านอาหาร ผับ บาร์ กำลังได้รับผลกระทบจากคำสั่งห้ามบริโภคแอลกอฮอล์ภายในร้านอย่างหนัก อีกทั้ง ยังไม่มีการเยียวยาใด ๆ จากภาครัฐแม้จะมีการดำเนินมาตรการมาครบ 45 วันแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้มีทีท่าจะลดลงแต่อย่างใด ทั้งยังมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ จากาาเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง 

ดังนั้น การสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน รวมไปถึงการสั่งให้ร้านอาหารปิดร้านตั้งแต่ 23.00 น. นั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และรังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ  

ในจดหมายได้กล่าวถึงผลกระทบจากคำสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านที่ผู้ประกอบการรายย่อยกำลังเผชิญอยู่ และเสนอแนวทางผ่อนปรน ได้แก่ ให้กลับมาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้โดยมีมาตรการรักษาระยะห่างอย่างเข้มงวด ผ่อนปรนการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในมาตรา 30  เรื่องการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ และมาตรา 32 ขอผ่อนปรนเรื่องการชำระภาษีต่างๆ และการระดมตรวจหาเชื้อและฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยง 

ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อกำหนด-มาตรการฉบับล่าสุด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 22) กำหนดพื้นที่ควบคุมโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 64 และจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค. 64 หรือวันนี้ ทางสมาคมหวังว่า ทางภาครัฐจะศึกษาข้อมูลการแพร่ระบาดและผลกระทบรอบด้านอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อกำหนดมาตรการใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาด โดยไม่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างไม่จำเป็นเหมือนที่ผ่านมา    

รายละเอียดหนังสือจากสมาคมคราฟท์เบียร์

เรื่อง  ขอให้ยกเลิกคำสั่งห้ามซื้อขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคภายในร้าน

เรียน  คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

เนื่องด้วยคำสั่งของคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคภายในร้านอาหารและบาร์ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารและบาร์อย่างรุนแรง โดยทางสมาคมคราฟท์เบียร์ มีความเข้าใจถึงความปรารถนาดีของหน่วยงานสาธารณสุขและความกังวลในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส

อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ มีความกังวลเป็นอย่างมากต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร ได้ใช้มาตรการตาม ศบค. ในการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้นั่งดื่มในร้านมานานกว่า 45 วันแล้ว และใช้มาตรการดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ปรากฏว่า รายงานผู้ติดเชื้อ Covid-19 ไม่ได้ลดลง มีการพบคลัสเตอร์ใหม่ๆ จากตลาด แคมป์ก่อสร้าง โรงงาน และสถานที่อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยที่คลัสเตอร์หลักในการระบาดเมื่อต้นปี 2020 และต้นปี 2021 ก็ไม่ได้เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่คลัสเตอร์ทองหล่อ ก็มีการสืบสวนพบแล้วว่าต้นกำเนิดของการแพร่ระบาดเกิดจากธุรกิจกลางคืนที่เปิดดำเนินการอย่างผิดกฏหมาย

ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคราฟท์เบียร์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวนไม่น้อยกว่า 300 ร้าน และมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย ประมาณการมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นมูลค่าอย่างน้อย 150 ล้านบาทต่อเดือน ปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั้งระบบธุรกิจ ตั้งแต่ผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย บริษัทขนส่ง บริษัทที่ให้เช่าคลังสินค้า ร้านค้า พนักงานประจำและพนักงานจ้างรายวัน ยังไม่รวมผู้ประกอบการร้านอาหารและผับบาร์ที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกกฎหมายหลายแสนราย ต่างได้รับความเสียหายรวมมูลค่ามหาศาล 

โดยปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญ มีดังต่อไปนี้ 

1.) ร้านที่มีรายได้หลักจากการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้บริโภคในร้าน ไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากผิดกฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ และไม่สามารถแนะนำสินค้าให้ซื้อกลับได้ เนื่องจากอาจถูกตีความว่ากระทำผิดมาตรา 32 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

2.) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายชนิด อย่างเช่น คราฟท์เบียร์ เบียร์สด สุราแช่ต่างๆ เป็นสินค้าที่มีอายุสั้น การถูกคำสั่งห้ามขาย ส่งผลให้สินค้าเสื่อมสภาพลงทุกวัน และกลายเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก

3.) บริษัทนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างประเทศ ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง เนื่องจากไม่สามารถเก็บเงินจากร้านค้าได้ และยังต้องแบกรับภาระในการเสียภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิตตามปกติเป็นจำนวนมาก ส่งผลไปถึงการติดต่อทำธุรกิจระหว่างประเทศ ที่อาจทำให้สูญเสียเครดิตและความน่าเชื่อถือ ในการที่ไม่สามารถชำระค่าสินค้าได้ตามกำหนด

4.) ธุรกิจหลายประเภทประสบปัญหาอย่างรุนแรงจากมาตรการนี้ เนื่องจากสินค้าหลักต้องจำหน่ายในร้านเท่านั้น เช่น บริวผับ ค๊อกเทลบาร์ และยังส่งผลถึงสินค้าที่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิตไปแล้วหรือสั่งมาแล้วในช่วงก่อนหน้าประกาศห้ามขาย ทำให้มีสินค้าจำนวนมากเสื่อมสภาพและต้องถูกทำลายทิ้งในที่สุด

5.) ในสภาพวิกฤตดังกล่าวที่ไม่มีรายได้เข้ามา ร้านคราฟท์เบียร์ ผับ บาร์ ยังต้องรับผิดชอบค่าเช่าที่ ค่าจ้างพนักงาน และรายจ่ายประจำเดือนต่างๆ โดยไม่มีการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทำให้ธุรกิจรายย่อยหลายแห่งได้ปิดตัวลงไปแล้ว และอีกไม่น้อยที่กำลังจะต้องหยุดดำเนินการเพราะแบกภาระไม่ไหว

 จากปัญหาข้างต้น จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการไม่สามารถทำธุรกิจได้ตามปกติ และประสบปัญหาอย่างหนัก ทางสมาคมฯ จึงขอเสนอแนวทางบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ดังต่อไปนี้ 

1. ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้ โดยมีมาตรการคัดกรองอย่างเข้มข้นตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

2. ชะลอการบังคับใช้กฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์และผ่อนปรนการบังคับใช้มาตรา 32 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ร้านค้าสามารถแนะนำและจำหน่ายสินค้าทางช่องทางออนไลน์ โดยยังบังคับให้ผู้ขายต้องตรวจสอบอายุของผู้ซื้อสินค้าให้เป็นไปตามกฎหมาย 

3. อนุญาตให้ผู้ประกอบรายย่อยการชะลอการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งประกันสังคม และอนุญาตให้ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบ่งชำระภาษีสรรพสามิตและภาษีนำเข้าเป็นงวดๆ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน 

4. พิจารณาให้มีการระดมตรวจหาเชื้อ Covid-19 และฉีดวัคซีนในกลุ่มวิชาชีพผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ เนื่องจากการออกมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปิดสถานบันเทิง จึงถือว่าผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเป็นกลุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลต้องกำจัดความเสี่ยงโดยเร่งด่วนเพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างสมควร

ท้ายที่สุดแล้ว ทางสมาคมคราฟท์เบียร์ รวมถึงประชาชนทุกคนที่ประกอบอาชีพสุจริตในธุรกิจที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แต่หวังว่าทางภาครัฐจะมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจปัญหาอย่างจริงใจถึงสถานการณ์ที่พวกเราได้รับผลกระทบอยู่ และขอให้ท่านได้พิจารณาข้อเยียวยาตามที่ได้เสนอไป

สมาคมคราฟท์เบียร์
31 พ.ค. 2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net