Skip to main content
sharethis

เช้าวันนี้ สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกและข้อเรียกร้องต่อนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน และชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ด้วยการออกมาตรการผ่อนปรนเยียวยาแก่ผู้ประกอบการ

17 มิ.ย. 2564 วันนี้ (17 มิ.ย. 2564) เวลา 9.30 น. สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ​ประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน กลุ่มธุรกิจบันเทิง นักดนตรีกลางคืน กลุ่มผู้จัดงานอีเวนต์ศิลปินอิสระ สมาคมคราฟท์เบียร์ และพนักงานผู้ประกอบอาชีพกลางคืน เดินทางเข้ายื่นหนังสือและข้อเรียกร้องแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง แก่สมาชิกรัฐสภา โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับมอบหนังสือ

ภาพจากสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง
 

สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกที่ 3 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 19) ณ วันที่  9 เม.ย. 2564 โดยระบุหัวข้อหลัก 3 ข้อ ว่าด้วยการกำหนดให้มีการปิดสถานบริการ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค, การพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการและการตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ จากคำสั่งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีแต่เจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบการแต่รวมไปถึงลูกจ้างทุกประเภททั้งที่เข้าระบบประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวัน เช่น นักดนตรี, พนักงานเสิร์ฟ, บาร์เทนเดอร์, พนักงานเชียร์สินค้า, พนักงานโบกรถ, พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดกลางคืน ร้านอาหารข้างทางต่างๆ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมายังมีผู้ได้รับผลกระทบและไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐได้อย่างครบถ้วน

ทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง จึงมีข้อสรุปร่วมกันที่จะขอเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้อง “แนวทางการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง” โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 8 ข้อ ได้แก่ ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม, ขอให้มีคำสั่งปลดล็อคเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค, ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้, ผ่อนปรนให้มีการจัดงานมหรสพโดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค, พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และ/หรือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังเรียกร้องให้พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ หรือการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมรับฟัง เสนอแนะ พูดคุยในกระบวนการการออกมาตราการและนโยบายต่างๆ พร้อมเปิดช่องทางสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน

จดหมายเปิดผนึก จาก สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง

สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกที่ 3 ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 19) ณ วันที่ 9 เม.ย. 2564 โดยระบุหัวข้อหลัก 3 ข้อ ว่าด้วยการกำหนดให้มีการปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค, การพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการและการตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ จากคำสั่งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีแต่เจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบการ แต่รวมไปถึงลูกจ้างทุกประเภท ทั้งที่เข้าระบบประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวัน เช่น นักดนตรี, พนักงานเสิร์ฟ, บาร์เทนเดอร์, พนักงานเชียร์สินค้า, พนักงานโบกรถ, พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดกลางคืนร้านอาหารข้างทางต่างๆ เป็นต้น

ตลอดระยะเวลามากกว่า 200 วันที่ผ่านมาที่ทาง ศบค. เริ่มมีประกาศคำสั่งปิดสถานบันเทิงและให้ยกเลิกการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัว รวม จำนวน 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 : วันที่ 18 มี.ค. 2563 - 30 มิ.ย. 2563 (รวมระยะเวลา 105 วัน)
ครั้งที่ 2 : วันที่ 29 ธ.ค. 2563 - 24 ก.พ. 2564 (รวมระยะเวลา 58 วัน)
ครั้งที่ 3 : วันที่ 9 เม.ย. 2564 - ปัจจุบัน ณ วันที่ 16 มิ.ย 2564 (รวมระยะเวลา 55 วันและยังไม่มีกำหนดวันที่จะได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดทำการ)

ซึ่งทุกครั้งที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พวกเรากลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงจะเป็นกลุ่มอาชีพในลำดับแรกที่ถูกสั่งปิดและเป็นกลุ่มอาชีพสุดท้ายที่ได้กลับมาดำเนินกิจการเสมอ โดยทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา พวกเราพร้อมให้ความร่วมมือและเข้าใจถึงสถานการณ์ และยินดีทำตามคำสั่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 ภายใต้ความเข้าใจถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น และทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา เมื่อมีคำสั่งปลดล็อกให้กลับมาดำเนินกิจการได้ พวกเรากลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดภายใต้ร่างมาตรการ 22 ข้อ ที่ทาง ศบค. ได้มีการออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามมาโดยตลอด โดยหวังว่า จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องเพื่อรอการจัดสรรวัคซีนตามแผนที่ทางภาครัฐกำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม จากคำสั่งล่าสุดที่ออกมาเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ทำให้ผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่กำลังจะฟื้นตัวได้จำนวนมากต้องตกอยู่ในภาวะตกงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกครั้ง ซึ่งสาเหตุมาจากความหละหลวมของผู้ประกอบการสถานบันเทิงเพียงไม่กี่ราย ที่ไม่ปฏิบัติตามกฏข้อบังคับทั้ง 22 ข้อที่ทาง ศบค. กำหนด โดยบกพร่องในคำสั่งว่าด้วย “การงดให้พนักงานบริการหรือตัวแทนประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มนั่งรวมกับผู้ใช้บริการ”

จากความบกพร่องของผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นไม่กี่รายดังกล่าว ส่งผลต่อผู้ประกอบการทั้งภาคธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ยังคงปฏิบัติตามคำสั่ง ศบค. อย่างเคร่งครัด โดยผลกระทบจากคำสั่งปิดแบบเหมารวมทั้งภาคธุรกิจเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมานี้ สร้างความเสียหายต่อมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจกว่า 130,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดปัญหาธุรกิจปิดกิจการ ปัญหาการว่างงาน และปัญหาการเปลี่ยนลักษณะการประกอบอาชีพซึ่งมีข้อจำกัดทั้งทางด้านต้นทุนในการเริ่มทำงานและข้อจำกัดทางทักษะความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพใหม่

หากพิจารณาเพิ่มเติมในแง่ตัวเลขสถิติ ตลอดระยะเวลากว่า 50 วันตั้งแต่ ศบค. มีคำสั่งปิดภาคธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแบบเหมารวม ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับไม่ได้มีจำนวนลดลง จึงสามารถสรุปได้ว่าภาคธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงไม่ใช่สาเหตุหลักของการระบาดของโรคโควิด-19

จากสาเหตุดังกล่าวพวกเรากลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน และภาคธุรกิจบันเทิง จึงรวมตัวกันจัดตั้งสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง เพื่อเสนอแนวทางไม่ให้เกิดคำสั่งการปิดธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแบบเหมารวมซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่มีมาตรการเยียวยาออกมาซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงทั้งหมด โดยขอส่งจดหมายเปิดผนึก และ
คำร้องนี้เพื่อให้ผู้มีอำนาจและผู้รับผิดชอบได้ใคร่ครวญพิจารณาถึงมาตรการเยียวยาต่างๆ ตามข้อเสนอ ดังต่อไปนี้

1. ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม โดยให้ปิดเฉพาะสถานประกอบการที่พบผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยสถานประกอบการที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อต้องทำความสะอาดร้านตามมาตรฐานที่กรมอนามัยและกรมควบคุมโรควางไว้ เพื่อกักตัวพนักงาน และทำความสะอาดให้เป็นที่เรียบร้อย และยินยอมให้เจ้าหน้าที่ของทางกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาตรวจเช็กก่อนจะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ การจัดการดังกล่าวจะเป็นไปในลักษณะเดียวกับธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารที่เคยเกิดกรณีพบผู้ติดเชื้อ

2. ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค ดังต่อไปนี้:

  • ควบคุมจำนวนผู้เข้าใช้บริการให้เหมาะสมต่อพื้นที่มิให้แออัดและมีการเว้นระยะห่าง
  • ต้องมีการตรวจคัดกรองอุณหภูมิพนักงานและผู้ใช้บริการทุกคน
  • จัดให้มีบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือบริเวณทางเข้าและตามจุดต่างๆ ที่เหมาะสม
  • งดการเข้าใช้บริการร่วมโต๊ะเป็นกลุ่ม ไม่ให้เกิน 5 คนขึ้นไป
  • จัดระบบเข้าคิวบริเวณทางเข้าให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลโดยมีผู้ควบคุม
  • จัดให้มีระยะห่างระหว่างโต๊ะ แต่ละโต๊ะไม่น้อยกว่า 2 เมตร หรือทำฉากกั้นระหว่างโต๊ะ
  • จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี
  • อนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยเฉพาะเวลารับประทานอาหาร/เครื่องดื่มเท่านั้น
  • การสั่งเครื่องดื่มให้สั่งเป็นรายแก้วโดยให้พนักงานเป็นผู้เสิร์ฟแทนการสั่งเป็นเหยือกหรือเป็นขวด เพื่อเลี่ยงการสัมผัสขวด ถังน้ำแข็ง และแก้วของผู้อื่น
  • พนักงานและนักดนตรี/ผู้แสดง/นักแสดงที่ไม่จำเป็นต้องมีการร้องเพลงหรือส่งเสียง ต้องใส่หน้ากากอนามัยขณะให้บริการตลอดเวลา
  • จัดให้มีฉากกั้นระหว่างเวทีหรือพื้นที่การแสดง กับพื้นที่ในส่วนของผู้ใช้บริการหรือจัดระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์บนเวที/พื้นที่อย่างละเอียดการแสดงทุกครั้งหลังจากที่ทำการแสดงเสร็จ
  • จัดให้มีผู้ควบคุมไม่ให้เกิดการชุมนุม รวมกลุ่ม ตะโกน หรือใช้เสียงดัง และไม่ให้มีการเดินไปเดินมา โดยขอความร่วมมือให้รักษาระยะห่างอยู่ตลอดการใช้บริการ
  • จัดให้มีอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มสำหรับแต่ละบุคคลโดยมีช้อนกลางและที่วางช้อนกลางส่วนตัวสำหรับผู้ใช้บริการแบบหมู่คณะ
  • ต้องทำความสะอาดห้องสุขาทุก 30-60 นาที
  • ทำความสะอาดพื้นที่บริการ โต๊ะ เก้าอี้ ราวจับ ลูกบิดประตู เคาน์เตอร์ จุดสัมผัสและอุปกรณ์อื่นๆ ด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ พร้อมกับจัดให้มีการระบายอากาศในพื้นที่ให้มีความเหมาะสม อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเล่น การแข่งขัน หรือทำให้เกิดการรวมกลุ่มการเชียร์กัน
  • งดการใช้เครื่องเล่นหรืออุปกรณ์การเล่นเกมต่างๆ เช่น โต๊ะพูล เป้าลูกดอก ตู้เกม เป็นต้น
  • จัดพื้นที่สำหรับการสูบบุหรี่โดยเฉพาะและให้มีการเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม
  • งดให้พนักงานบริการหรือตัวแทนประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มนั่งรวมกับผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ทางสมาพันธ์ยินดีหารือ และร่วมหาแนวทางอื่นๆ เพิ่มเติม ร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ภาคธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดให้บริการและดำเนินธุรกิจภายใต้มาตราการเฝ้าระวังโดยเร็วที่สุด เช่น ผู้ให้บริการทุกคนในสถานบันเทิงต้องได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม, มีการทำความสะอาดร้านตามหลักการของกรมควบคุมโรค, มีจุดสแกนไทยชนะ จุดบริการเจลแอลกอฮอล์ และจุดคัดกรองตรวจเช็คผู้ใช้บริการ รวมถึงการอนุญาตให้บริการเฉพาะผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกอย่างน้อย 7 วัน โดยนำหลักฐานการฉีดวัคซีนในแอปหมอพร้อม ยื่นพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน ที่จุดคัดกรองก่อนเข้าใช้บริการ เป็นต้น

3. ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้ เนื่องจากไม่พบว่ามีข้อมูลใด บ่งชี้ยืนยันได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยในการก่อให้เกิดโรคระบาด และการแพร่เชื้อ

4. ผ่อนปรนให้มีการจัดงานมหรสพได้ทุกประเภท ภายใต้เงื่อนไขการควบคุมจัดการโรคขั้นสูงสุดดังต่อไปนี้:

  • สถานที่จัดงานต้องได้รับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อตามมาตรการของกรมอนามัยและกรมควบคุมโรคไม่เกิน 3 วันก่อนจัดงานแสดง
  • พิจารณาให้มีการจัดวางเก้าอี้แบบ 2 เว้น 1 และรักษาระยะห่างตามความเหมาะสมของพื้นที่ให้บริการ
  • ให้ผู้เข้าร่วมชม ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 อย่างน้อย 7 วันแล้วเท่านั้น โดยใช้หลักฐานการยืนยันโดยการแสดงหน้าประวัติการฉีดวัคซันในแอปพลิเคชัน หมอพร้อม รวมถึงสแกนไทยชนะก่อนเข้ารับชมการแสดงทุกคน
  • จำกัดจำนวนผู้เข้าชมโดยการจัดงานแสดงทั้ง 2 ประเภทผู้ชมต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาการแสดง
  • มีการคัดกรองทีมงาน ศิลปิน และพนักงานผู้เกี่ยวข้องในการจัดงาน เหมือนข้อ 2 ทุกประการ
  • อนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในพื้นที่จัดงาน ตามกรอบเวลาที่กฎหมายระบุ
  • ในกรณีงานมหรสพกลางแจ้ง ให้มีแบ่งโซนพื้นที่การแสดง และการจำหน่ายอาหาร, เครื่องดื่มที่ชัดเจน
  • ทุกงานแสดงให้มีการจำกัดจำนวนคนตามความเหมาะสม ไม่ให้แออัดมากจนเกินไป และสามารถควบคุมดูแลได้ทั่วถึง
  • แยกสถานที่จุดสูบบุหรี่ ในพื้นที่ที่ชัดเจน และมีอากาศถ่ายเทได้ดี
  • ในกรณีพบผู้ติดเชื้อที่เกิดจากการมาร่วมงาน ให้ผู้จัดงานทำการส่งรายชื่อผู้ป่วยให้ทาง ศบค. ทันทีที่ทราบผล เพื่อให้ ศบค. ทราบถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผู้ได้รับการฉีดเข็มแรกในการประเมินประสิทธิวัคซีนครั้งถัดไป

5. พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด ให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และ/หรือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิง ให้ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงพร้อมกับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โดยการลงทะเบียนรับวัคซีนภายใต้กลุ่มธุรกิจกลางคืนจะถือเป็นโอกาสอันดีที่ภาครัฐจะได้มีข้อมูลของผู้ทำอาชีพเกี่ยวข้องกับธุรกิจกลางคืน อันส่งผลต่อการติดตามและสื่อสารข้อมูลต่างๆ จากภาครัฐได้โดยง่ายต่อไปในอนาคต

6. พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และ/หรือ การกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจและรักษาการจ้างงานพนักงานจากการปิดธุรกิจชั่วคราว รวมถึงกลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่ได้รับโอกาสให้เข้าถึงแหล่งการเงินเหล่านี้ได้ และพิจารณางดเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิต, ภาษีใบอนุญาตจำหน่ายสุรา, ภาษีป้าย, ภาษีโรงเรือน และ/หรือ ลดหย่อนภาษีรายได้ส่วนบุคคลของผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงและสถานประกอบการภาคกลางคืน

7. เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และ/หรือ ประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟัง, เสนอแนะ, พูดคุย ในกระบวนการการออกมาตราการและนโยบายต่างๆ เพื่อร่วมหาทางออกและแก้ปัญหาของให้กับแต่ละกลุ่มธุรกิจได้อย่างแท้จริง

8. เปิดช่องทางสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อให้ทราบถึงมุมมอง ผลกระทบ ความยากลำบากของผู้มีอาชีพในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ก่อนที่ทางรัฐจะออกคำสั่งต่างๆ ที่ส่งผลกระทบโดยภาพรวมแก่ภาคธุรกิจนั้นๆ และปรับปรุงการสื่อสารของภาครัฐให้มีความชัดเจน รวมถึงการกำหนดเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนปรับตัวเพื่อรับมือการการกลับมาประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้ล่วงหน้า เช่น การออกคำสั่งเปิดหรือปิดธุรกิจหรือควรแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ หรือการชี้แจงเรื่องข้อกำหนดของระยะเวลาที่ออกคำสั่งปิดธุรกิจ

ทั้งนี้ทางกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะและยินดีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอ เพื่อให้ทุกคนในภาคธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบ สามารถกลับมาประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตได้อีกครั่ง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการให้เหมาะสมกับการรักษาสมดุลธุรกิจและการอยู่รอดของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว

นนทเดช บูรณะสิทธิพร
ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน
ธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ
ตัวแทนกลุ่มธุรกิจบันเทิง
มงคล สมอบ้าน
กู้เกียรติ งามแต่โชค
ตัวแทนนักดนตรีกลางคืน
เอกเพชร คงคาสุริยฉาย
พงษ์สรวง ตาชุบ
ตัวแทนกลุ่มผู้จัดงานอีเวนต์
ฐิติภัทร อรรถจินดา (วง SAFEPLANET)
ชยปัญญ์ จันทรานุสนธิ์ (วง SAFEPLANET)
อภิวิชญ์ คำฟู (วง SAFEPLANET)
กฤษนะ รัตนพัฒน์ (วง SILLY MACHINE)
ตัวแทนศิลปินอิสระ
ประภาวี เหมทัศน์
ตัวแทนสมาคมคราฟท์เบียร์
นิรามัย บุญเลิศ
ตัวแทนพนักงานผู้ประกอบอาชีพกลางคืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net