Skip to main content
sharethis

ประมงพื้นบ้าน-กลุ่มชาติพันธุ์ โวยต้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน อัดวิธีคิดล้าหลัง มุ่งควบคุม จำกัดสิทธิ มากกว่าส่งเสริมให้ประชาชนเข้มแข็ง จี้รัฐทบทวนก่อนที่จะไม่มีใครอยากเอาตัวเองมาเสี่ยง ช่วยทำงานพัฒนาที่รัฐเอื้อมมือไปไม่ถึง ยันไม่มีใครยอมแน่  

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า หลังคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 อนุมัติหลักการของ ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ..... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ  ทำให้มีข้อห่วงใยจากหลายภาคส่วนถึงเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ ที่มีสาระสำคัญส่วนใหญ่เป็นการควบคุมและจำกัดการรวมกลุ่มของประชาชน มากกว่าการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง มีความเห็นจากประชาชนหลายกลุ่มต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านเวทีการรับฟังความคิดเห็นของขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) ทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 24-27 พ.ค.ผ่านมา

ศรเดช คำแก้ว กลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.นครศรีธรรมราช  กล่าวว่า เจตตนารมณ์ของการร่วมกลุ่ม รวมตัวกันของชาวประมงพื้นที่บ้านทั้ง 22 จังหวัด ซึ่งครอบคลุมทั้งบริเวณอ่าวไทยและอันดามัน คือการปกป้องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การผลักดันให้เกิดการใช้เครื่องมือที่ถูกกฎหมาย ไม่ทำลายธรรมชาติ เพื่อให้ชาวประมงสามารถทำมาหากินได้อย่างยั่งยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้ประชาชนได้มีอาหารทะเลที่ดีกิน โดยการรวมกลุ่มนั้นบางกลุ่มก็รวมตัวกันเป็นในรูปแบบสมาพันธ์ สมาคม กลุ่มหรือชมรม แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่รวมกลุ่มกันแบบไม่เป็นทางการ แต่ทุกกลุ่มล้วนเป็นกลุ่มที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ได้หวังรายได้หรือผลกำไรมาแบ่งปันกัน

“เมื่อรัฐบาลมีแนวคิดที่จะควบคุมการดำเนินกิจกรรมของทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน กลุ่มชาวประมงทุกกลุ่มก็คงหนีไม่พ้นจากการบังคับของกฎหมายฉบับนี้ ยิ่งพอมาศึกษาในรายละเอียดทำให้เห็นถึงความยากลำบากของการรวมกลุ่มกันเพื่อทำประโยชน์ให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชาวประมง ถ้าต้องบังคับใช้ทุกลุ่มต้องจดแจ้งต่อหน่วยงานราชการ ทำรายงาน ทำระบบบัญชี ทั้งหมดมันเป็นความยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับชาวประมงที่ต้นทุนทางความรู้ไม่ได้สูงมากอย่างพวกเรา หากรัฐไม่คิดจะส่งเสริมสนับสนุนก็ไม่น่าจะมาควบคุม จำกัดการทำประโยชน์ต่อทรัพยากรทางทะเลของพวกเรา ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของคนในประเทศที่บริโภคอาหารทะเลด้วย” ศรเดช กล่าว

เกรียงไกร ชีช่วง กลุ่มเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรีกล่าวถึงการทำงานกับประชากรกลุ่มเฉพาะ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มกะเหรี่ยง ชาวเขา รวมถึงการทำงานร่วมกับสภาชนเผ่าที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ว่าการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้มีความสลับซับซ้อน ใช้เวลา และที่สำคัญต้องใช้ความเข้าใจ การมีคนทำงานที่เข้าใจประวัติศาสตร์ สภาพแวดล้อม และสภาพปัญหาที่แท้จริงของกลุ่มชาติพันธุ์ น่าจะช่วยทำให้ภาครัฐทำงานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้เท่าที่เราศึกษาและทำความเข้าใจสาระสำคัญ ผมคิดว่าปัญหาหลักคือเรื่องหลักการและแนวคิดของรัฐ ที่พยายามจะเข้ามาจัดการหรือควบคุมกลุ่มคนทำงานที่รัฐอาจจะมองว่าเป็นปัญหาต่อรัฐ เพราะต้องยอมรับการทำงานกับกลุ่มเปราะบางกลุ่มนี้อาจมีบางประเด็นที่ต้องพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจจะกระทบต่อรัฐ อาทิเช่นเรื่องสัญชาติ สิทธิในที่อยู่อาศัย ปัญหาที่ทำกิน ปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งอาจมีบางองค์กรที่รับทุนจากต่างประเทศมาทำงานแต่นั่นไม่ใช่การรับทุนต่างชาติมาทำลายประเทศไทย ไม่ควรถูกเหมารวมตีตราแบบนั้น  แต่คือการรับทุนมาทำงานในส่วนที่รัฐเอื้อมไม่ถึงเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้สะท้อนวิธีคิดที่ล้าหลังและไม่มีใครยอมแน่นอน ตอนนี้ได้หลายๆองค์กรได้หารือกันไปมากแล้วในเรื่องนี้" เกรียงไกร กล่าว   

ประยูร จงไกรจักร เครือข่ายอาสาสมัครภัยพิบัติชุมชน6 จังหวัดอันดามันกล่าวว่าภัยพิบัติคือปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยจะต้องรับมืออย่างต่อเนื่อง การสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน ให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่ม องค์กร ให้เขาสามารถจัดการตนเองได้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที ภาครัฐควรส่งเสริม สนับสนุน ให้ประชาชนได้เกิดการร่วมกลุ่ม ให้ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงควรสนับสนุนด้านงบประมาณให้ประชาชนได้มีส่วนช่วยภาครัฐรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติ

"เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ถ้าประชาชน ชุมชน มีความเข้มแข็งสามารถจัดการแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ จะช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐได้เป็นอย่างมาก การที่รัฐพยายามออกกฎหมายแบบนี้มาจะสร้างความยุ่งยากต่อประชาชนที่จะรวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหา โดยเฉพาะปัญหาภัยพิบัติที่ไม่สามารถระบุวันเวลาแน่นอนว่าปัญหาจะเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไหร่ หากประชาชนจะรวมกลุ่มแล้วช่วยกันแก้ปัญหา แต่ต้องมากังวลเรื่องการจดทะเบียนองค์กร การจัดทำรายงานบัญชี ฯลฯ ตนคิดว่าอนาคตจะไม่มีใครอยากเอาตัวเองมาเสี่ยงกับโทษทางกฎหมายที่จะต้องได้รับ อาสาสมัครต่างๆรวมถึงอาสาสมัครภัยพิบัติอาจสูญพันธุ์" ประยูรกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net