Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อรำลึกวาระครบรอบ 200 ปีของเฟรดริช แองเกิลส์ ผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยยอร์ค (York University) แคนาดา Musto เป็นหนึ่งในบรรดานักวิชาการที่ศึกษาความคิดของมาร์กซ์จากมุมมองใหม่ที่ได้จากการอ่านต้นฉบับและสมุดบันทึกของมาร์กซ์ที่ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน ผลงานที่สำคัญของเขาได้แก่ Karl Marx’s Grundrisse: Foundations of the Critique of Political Economy 150 Years Later (2008), Marx for Today (2012), Another Marx: Early Manuscripts to the International (2018), Marx’s Capital after 150 Years: Critique and Alternative to Capitalism (2019), The Last Years of Karl Marx: An Intellectual Biography (2020), Karl Marx’s Writings on Alienation (2021)

I ก่อนมาร์กซ์

เฟรดริช แองเกิลส์ เข้าใจถึงความสำคัญของการวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมือง (critique of political economy) ก่อนคาร์ล มาร์กซ์. เมื่อทั้งสองรู้จักกันเป็นครั้งแรกเขามีผลงานตีพิมพ์มากกว่ามาร์กซ์ ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมามาร์กซ์จะได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมืองมากกว่า. แองเกิลส์เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 1820 ที่บาร์เมน (ปัจจุบันเป็นชานเมืองของวุพเพอะไทล์ เยอรมนี) เขาเป็นคนหนุ่มที่มีอนาคตไกลแต่ไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพราะพ่อของเขาซึ่งเป็นนักอุตสาหกรรมสิ่งทอผลักดันให้เขาไปดูแลกิจการของครอบครัว. ด้วยเหตุนี้ แองเกิลส์จึงต้องค้นคว้าด้วยตนเอง เขาศึกษาอย่างหิวกระหายในความรู้และตีพิมพ์ผลงานที่ได้จากการค้นคว้าโดยใช้นามปากกาเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับครอบครัวที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมเคร่งศาสนา. ตัวแองเกิลส์เองไม่ได้นับถือศาสนา. เมื่ออายุได้ 22 ปีเขาถูกส่งไปทำงานที่ Erman & Engels ซึ่งเป็นโรงงานทอผ้าที่เมืองแมนเชสเตอร์เป็นเวลาสองปี ช่วงเวลาดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสุกงอมทางความคิดการเมืองของแองเกิลส์. เขาได้ประสบพบเห็นผลกระทบของทรัพย์สินส่วนบุคคล การขูดรีดกรรมกรของนายทุน และ การแก่งแย่งแข่งขันของปัจเจกชนด้วยตนเอง. แองเกิลส์ได้ติดต่อกับขบวนการชาร์ติสต์ และได้ตกหลุมรักกับแมรี เบริ์น คนงานหญิงชาวไอริชผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความคิดทางการเมืองของเขา. ในฐานะนักเขียนผู้ปราดเปรื่อง แองเกิลส์ได้ส่งงานเขียนเกี่ยวกับการต่อสู้ทางสังคมในอังกฤษไปตีพิมพ์ในเยอรมนีและเขียนเรื่องราวของความก้าวหน้าทางสังคมในภาคพื้นทวีปให้แก่สื่อภาษาอังกฤษ. บทความเรื่อง ‘โครงร่างของการวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมือง’ของเขาซึ่งตีพิมพ์ใน the Franco-German Yearbooks ในปี 1844 ได้ปลุกเร้าความสนใจของมาร์กซ์ซึ่งได้ตัดสินใจที่จะทุ่มเทพลังงานทั้งมวลที่มีอยู่ให้แก่การวิพากษ์เชิงเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกัน. จากนั้นทั้งคู่ได้เริ่มความร่วมมือทางการเมืองและทางทฤษฏีซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาตลอดชีวิตของพวกเขา.

ในปีต่อมาแองเกิลส์ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกชื่อ สภาวะของชนชั้นคนงานในอังกฤษ (The Condition of the Working Class in England) เป็นภาษาเยอรมัน. ชื่อรองของหนังสือเน้นว่าผลการศึกษาได้มาจากการสังเกตการณ์ชีวิตคนงานโดยตรง และเขาเขียนในคำนำว่าความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และการทำงานของคนงานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการสนองรากฐานอันมั่นคงให้แก่ทฤษฏีสังคมนิยม. ในบทนำที่อุทิศให้แก่ชนชั้นคนงานอังกฤษแองเกิลส์ชี้ให้เห็นอีกว่าการเก็บข้อมูลภาคสนามทำให้เขามีความรู้เกี่ยวกับชีวิตจริงของคนงานที่เป็นรูปธรรม. นอกจากนี้ แองเกิลส์ยังชี้ให้เห็นว่าคนงานไม่เคยเลือกปฏิบัติต่อเขาในฐานะที่เป็นคนต่างชาติและเขามีความสุขที่เห็นคนงานหลุดพ้นจากความคับแคบและความเย่อหยิ่งทะนงตนแบบชาตินิยมอันชั่วร้าย.

II การปฏิวัติและปฏิปักษ์ปฏิวัติ

ในปี 1845 เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสเนรเทศมาร์กซ์เพราะเขายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมของชาวคอมมิวนิสต์ แองเกิลส์ได้เดินทางไปพบมาร์กซ์ที่บรัสเซลส์. ทั้งสองได้ตีพิมพ์งานร่วมกันเป็นครั้งแรกชื่อ The Holy Family, or the Critique of Critical Criticism: Against Bruno Bauer and Company และยังได้เขียนต้นฉบับขนาดยาวที่ปล่อยให้ ‘หนูกัดแทะ’ โดยไม่ได้ตีพิมพ์ ต่อมาต้นฉบับดังกล่าวตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ อุดมการณ์เยอรมัน (German Ideology). ในช่วงเวลานี้ แองเกิลส์ได้เดินทางไปอังกฤษกับมาร์กซ์และได้พามาร์กซ์ไปดูวิถีการผลิตแบบทุนนิยมที่เขาได้เห็นและเข้าใจในช่วงก่อนหน้านี้. ในที่สุดมาร์กซ์ได้ตัดสินใจยุติการวิพากษ์ปรัชญาหลังเฮเกล (post-Hegelian philosophy) และเริ่มการค้นคว้าอันยาวนานที่นำไปสู่การตีพิมพ์หนังสือทุน (Capital) เล่มที่ 1 ในอีก 20 ปีต่อมา. ในปี 1848 ทั้งสองได้ร่วมกันเขียน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Manifesto of the Communist Party) และได้ร่วมการลุกขึ้นสู้ที่เกิดขึ้นในยุโรปในปีนั้นด้วย.

ภายหลังความพ่ายแพ้ของการปฏิวัติในปี 1949 มาร์กซ์ต้องเดินทางไปยังอังกฤษและในเวลาไม่นานแองเกิลส์ก็ติดตามเขาไป. มาร์กซ์ได้พักอาศัยในลอนดอน ขณะที่แองเกิลส์ได้ไปดูแลธุรกิจของครอบครัวที่แมนเชสเตอร์ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 300 กิโลเมตร. แองเกิลส์ได้กลายเป็น “ไวโอลินตัวที่สอง”(เขาเปรียบเปรยตัวเองเช่นนี้) เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและช่วยเหลือมาร์กซ์ผู้ซึ่งมักจะไม่มีรายได้ แองเกิลส์ได้ตกลงเข้าบริหารโรงงานพ่อของเขาในแมนเชสเตอร์จนถึงปี 1870. ระหว่างสองทศวรรษนี้ เมื่อแองเกิลส์ยุติบทบาททางธุรกิจและได้ร่วมงานกับมาร์กซ์อีกครั้งที่เมืองหลวงของอังกฤษ ทั้งคู่ได้ผ่านช่วงเวลาอันเข้มข้นเร่าร้อนที่สุดในชีวิตของพวกเขา ในหนึ่งสัปดาห์พวกเขาได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจของยุคสมัยหลายครั้ง. เกือบทั้งหมดของจดหมายจำนวน 2,500 ฉบับที่ทั้งสองแลกเปลี่ยนกันเขียนขึ้นในช่วงสองทศวรรษนี้ ในช่วงนี้พวกเขายังได้ส่งจดหมายราว 1,500 ฉบับถึงนักเคลื่อนไหวและปัญญาชนในเกือบ 20 ประเทศ. นอกจากจดหมายที่กล่าวมานี้ยังมีจดหมายอีกนับ10,000 ฉบับที่ส่งถึงมาร์กซ์และแองเกิลส์จากบุคคลที่สาม และยังมีอีก 6,000 ฉบับที่สามารถยืนยันได้ว่ามีอยู่จริงแต่ค้นหาไม่เจอ. จดหมายที่เป็นเสมือนสมบัติที่ประเมินค่าไม่ได้เหล่านี้ในบางกรณีก็ปรากฏความคิดที่มาร์กซ์และแองเกิลส์ไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาให้สมบรูณ์ในงานเขียนของพวกเขา.

มีน้อยนักที่จดหมายโต้ตอบในศตวรรษที่ 19 จะได้รับการยกย่องว่าเต็มไปด้วยความรู้ที่ลึกซึ้งเช่นเดียวกันกับที่เขียนขึ้นโดยนักปฏิวัติแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งสอง. มาร์กซ์อ่านได้ 9 ภาษาและแองเกิลส์เชี่ยวชาญถึง 12 ภาษา. ความโดดเด่นของจดหมายของพวกเขาอยู่ที่จำนวนของการอ้างอิงที่แสดงถึงความเป็นผู้คงแก่เรียนและการสลับเปลี่ยนการใช้ภาษาต่างๆในการเขียน รวมทั้งที่เป็นภาษากรีกและลาตินโบราณด้วย. นักมนุษยนิยมทั้งสองยังเป็นผู้ที่หลงใหลในวรรณกรรมอีกด้วย. มาร์กซ์จดจำข้อความในงานเขียนของเช็คสเปียร์ได้ขึ้นใจและอ่านงานของ เอสเคอรัส (Aeschylus) ดานเต้ (Dante) และ โบล์แซค (Balzac) อย่างไม่รู้เบื่อ. ส่วนแองเกิลส์ดำรงตำแหน่งประธานสถาบันชิลเลอร์ (Schiller) ในแมนเชสเตอร์เป็นเวลานานและเป็นผู้ชื่นชมอริสโตเติ้ล เกอเทอะ (Goethe) และเลสซิ่ง (Lessing). พร้อมๆกับการอภิปรายเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางสากลและความเป็นไปได้ของการปฏิวัติ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของพวกเขาเป็นจำนวนมากยังเกี่ยวกับความก้าวหน้าที่สำคัญแห่งยุคสมัยในด้านเทคโนโลยี ธรณีวิทยา เคมี ฟิสิคส์ คณิตศาสตร์ และมานุษยวิทยา. มาร์กซ์ถือว่าแองเกิลส์เป็นคู่สนทนาที่ขาดไม่ได้ เมื่อใดก็ตามที่ต้องแสดงจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นที่ก่อให้เกิดการโต้แย้ง เขาจะรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ของแองเกิลส์ก่อนเสมอ.

ความสัมพันธ์ระหว่างมาร์กซ์กับแองเกิลส์ เมื่อพิจารณาจากไมตรีจิตที่มีต่อกันนับเป็นสิ่งที่มีความโดเด่นยิ่งกว่าระดับของภูมิปัญญาเสียอีก. มาร์กซ์เล่าถึงความยากลำบากของเขาตั้งแต่ความฝืดเคืองด้านวัตถุอย่างแสนสาหัสจนถึงปัญหาด้านสุขภาพนานาประการที่ทรมานเขามาหลายทศวรรษให้แองเกิลส์ฟังเท่านั้น. แองเกิลส์ได้แสดงถึงความเสียสละส่วนตัวอย่างถึงที่สุดในการช่วยมาร์กซ์และครอบครัวทุกวิถีทางที่สามารถทำได้เพื่อให้พวกเขาดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและช่วยให้มาร์กซ์เขียนหนังสือสำเร็จ. มาร์กซ์ซาบซึ้งในความช่วยเหลือด้านการเงินนี้อย่างไม่รู้ลืม ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่เขาเขียนในคืนหนึ่งของเดือนสิงหาคม 1867 ไม่กี่นาทีหลังจากตรวจแก้ต้นฉบับหนังสือทุน เล่ม 1 เสร็จว่า “เพราะคุณคนเดียวที่ทำให้สิ่งนี้เป็นจริง”.

ในช่วง 20 ปีที่แองเกิลส์บริหารโรงงานที่แมนเชสเตอร์ เขาไม่ได้หยุดเขียนงาน. ในปี 1850 เขาตีพิมพ์หนังสือชื่อ สงครามชาวนาในเยอรมนี (The Peasant War in Germany) ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของการลุกฮือในปี 1524-25 ที่มุ่งแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของชนชั้นกลางในเวลานั้นเหมือนกับพฤติกรรมของนายทุนน้อยระหว่างการปฏิวัติของปี 1848-49 อย่างไร และชนชั้นกลางรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างไร. เพื่อให้มาร์กซ์มีเวลามากขึ้นในเขียนหนังสือทุนให้สำเร็จ ระหว่างปี 1851และ1862 แองเกิลส์ได้เขียนบทความเกือบครึ่งหนึ่งของบทความจำนวน 500 ชิ้นที่มาร์กซ์เขียนให้ New-York Tribune (หนังสือพิมพ์ที่มียอดขายมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา). เขารายงานต่อสาธารณชนในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับสาเหตุและผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ของสงครามเป็นจำนวนมากที่เกิดขึ้นในยุโรป. แองเกิลส์ได้แสดงให้เห็นบ่อยครั้งถึงความสามารถในการทำนายพัฒนาการของสงครามและคาดการณ์ยุทธศาสตร์ทางทหารที่ใช้ในแนวรบต่างๆได้อย่างแม่นยำ ทำให้เขาได้รับสมญานามว่า “นายพล” จากบรรดาสหายทั้งหลาย. แองเกิลส์ทำหน้าที่สื่อมวลชนเป็นเวลานาน และในปี 1870-71 ขณะที่เขาเคลื่อนไหวในขบวนการกรรมกรสากล เขาได้ตีพิมพ์ บันทึกเกี่ยวกับสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Notes on the Franco-Prussian War) ซึ่งเป็นซีรี่ส์ของบทความ 60 ชิ้นที่วิเคราะห์เหตุการณ์ทางทหารก่อนการเกิดคอมมูนปารีสในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ Pall Mall Gazette. งานเขียนเหล่านี้ของแองเกิลส์เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและแสดงให้เห็นถึงความเฉียบแหลมในประเด็นดังกล่าว.

III คุณูปการทางทฤษฏีที่สำคัญ

ในห้วงกว่า 15 ปีต่อมา แองเกิลส์ได้สร้างคุณูปการสำคัญทางทฤษฏีผ่านงานเขียนหลายชิ้นที่เขียนขึ้นเพื่อคัดค้านจุดยืนของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในขบวนการกรรมกรและมุ่งที่จะสร้างความชัดเจนในประเด็นที่มีการโต้แย้งกัน. ระหว่างปี 1872 กับ 1873 เขาเขียนบทความขนาด 3 ตอนจบลงพิมพ์ใน Volksstatt ซึ่งในเวลาเดียวกันก็ตีพิมพ์เป็นจุลสารภายใต้ชื่อ ปัญหาที่อยู่อาศัย (The Housing Question) ด้วย. แองเกิลส์เขียนงานชิ้นดังกล่าวเพื่อยับยั้งการขยายความคิดของปิร์แอร์ โจเซฟ ปรูดองในเยอรมนีและให้ความกระจ่างชัดแก่กรรมกรว่าการปฏิรูปเชิงนโยบายไม่สามารถแทนที่การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพได้. ในปี 1878 เขาตีพิมพ์ คัดค้านดูห์ริง (Anti-Duhring) ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็นหนังสือที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างวิธีการแบบวิภาษวิธีกับโลกทรรศ์แบบคอมมิวนิสต์. คัดค้านดูห์ริง ได้กลายเป็นแหล่งอย่างอิงที่สำคัญในการก่อตัวของลัทธิมาร์กซ์. ถึงแม้ว่าเราจำเป็นต้องแยกระหว่างงานเขียนเพื่อการเผยแพร่แก่คนทั่วไปที่ขาดความซับซ้อนของแองเกิลส์กับการปฏิบัติแบบสามานย์ของนักสังคมประชาธิปไตยเยอรมันรุ่นหลัง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่เขาหันไปหาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้เปิดทางสู่แนวคิดเชิงวิวัฒนาการของปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งลดทอนการวิเคราะห์ที่ซับซ้อนลุ่มลึกของมาร์กซ์ลง. หนังสือ สังคมนิยม: แบบเพ้อฝันและแบบวิทยาศาสตร์ (Socialism: Utopian and Scientific) (1880) ซึ่งเนื้อหาปรับมาจาก 3 บทของ คัดค้านดูห์ริง เพื่อใช้ในการศึกษาได้สร้างผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง. แต่ถึงแม้ว่าหนังสือดังกล่าวจะมีคุณค่าและมีการเผยแพร่กว้างอย่างขวางพอๆกับ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ การให้คำนิยาม “วิทยาศาสตร์” และ “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์” ของแองเกิลส์อาจจะเป็นตัวอย่างของญาณวิทยาแบบอำนาจนิยมที่ในเวลาต่อมาถูกลัทธิมาร์กซ์-เลนินใช้เป็นคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์เพื่อกีดกันไม่ให้มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแนวคิดของ “ปรมาจารย์แห่งลัทธิคอมมิวนิสต์”. งานเขียนสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของแองเกิลส์คือ วิภาษวิธีของธรรมชาติ (The Dialectic of Nature) ที่เนื้อหาได้มาจากการศึกษาที่ต้องเขียนๆหยุดๆหลายครั้งระหว่างปี 1873 กับปี 1883. หนังสือเล่มดังกล่าวก่อให้เกิดการถกเถียงครั้งใหญ่. ในทัศนะของคนบางส่วน วิภาษวิธีของธรรมชาติ เป็นหลักหมายสำคัญของลัทธิมาร์กซ์ สำหรับคนอีกส่วนหนึ่งมันคือต้นตอสำคัญในการก่อเกิดลัทธิคัมภีร์แบบโซเวียต. ในปัจจุบัน เราควรอ่าน วิภาษวิธีของธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นงานเขียนที่ไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ (an incomplete work) ที่แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของแองเกิลส์ แต่ก็แสดงถึงศักยภาพในการวิพากษ์ทางนิเวศวิทยาของเขาด้วย. ในขณะที่ไม่มีข้อกังขาว่าการใช้วิภาษวิธีของแองเกิลส์ลดความซับซ้อนทางวิธีวิทยาและทางทฤษฏีของมาร์กซ์ แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (เหมือนเช่นที่บางคนทำอย่างเอาเป็นเอาตายหรืออย่างผิวเผินในอดีต) ที่จะโทษอยู่ร่ำไปว่าการใช้วิภาษวิธีของแองเกิลส์ทำให้เกิดสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบในงานเขียนของมาร์กซ์และหาว่าเป็นเพราะแองเกิลส์เพียงคนเดียวที่ก่อให้เกิดความผิดพลาดทางทฤษฏีหรือกระทั่งทำให้พ่ายแพ้ในทางปฏิบัติ.

ในปี 1884 แองเกิลส์ได้ตีพิมพ์หนังสือ กำเนิดครอบครัว ทรัพย์สินส่วนบุคคล และรัฐ (Origins of the Family, Private Property and the State) เนื้อหาของหนังสือเป็นการวิเคราะห์การศึกษาทางมานุษยวิทยาของเลวิส มอร์แกน นักวิชาการชาวอเมริกันผู้ซึ่งค้นพบว่าในทางประวัติศาสตร์ครอบครัวที่ผู้หญิงเป็นใหญ่มาก่อนครอบครัวที่ผู้ชายเป็นใหญ่. ในทัศนะของแองเกิลส์การเปิดเผยเกี่ยวกับกำเนิดมนุษยชาติของมอร์แกนมีความสำคัญเฉกเช่นเดียวกับที่ “ทฤษฏีของดาร์วินมีต่อชีววิทยาและทฤษฏีมูลค่าส่วนเกินของมาร์กซ์มีต่อเศรษฐศาสตร์การเมือง”. ครอบครัวมีความเป็นปฏิปักษ์ซึ่งจะพัฒนาขึ้นในสังคมและรัฐในเวลาต่อมา. การกดขี่ทางชนชั้นครั้งแรกที่ปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ “เกิดขึ้นพร้อมๆกับการกดขี่ต่อผู้หญิงโดยผู้ชาย”. ในเรื่องเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ เช่นเดียวกับการต่อต้านลัทธิล่าเมืองขึ้น แองเกิลส์ไม่ลังเลที่จะเชิดชูและอรรถาธิบายอย่างละเอียดลออและหนักแน่นเกี่ยวกับเป้าหมายของการปลดปล่อย. แองเกิลส์ตีพิมพ์งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งชื่อ ลุดวิค ฟอยเออร์บัค และจุดจบของปรัชญาเยอรมันคลาสสิค (Ludwig Feuerbach and the End of Classical German Philosophy) ในปี 1886. งานชิ้นดังกล่าวเขียนขึ้นเพื่อโต้แย้งกับการกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งของลัทธิจิตนิยมในแวดวงวิชาการเยอรมัน.

IV การเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์

ในช่วง 12 ปีภายหลังการเสียชีวิตของมาร์กซ์ แองเกิลส์อุทิศตนเองให้กับการจัดการกับต้นฉบับที่มาร์กซ์ทิ้งไว้เพื่อนำไปสู่การตีพิมพ์และให้กับการนำของขบวนการกรรมกรสากล. บทบาทของแองเกิลส์ต่อการขยายตัวของพรรคการเมืองของกรรมกรในเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรทั้งในทางทฤษฏีและองค์กรแสดงออกผ่านบทความจำนวนมากที่เขาเขียนให้แก่หนังสือพิมพ์แนวสังคมนิยมที่สำคัญในเวลานั้นอย่างเช่น Die Neue Zeit, Le Socialista, และ Critica Sociale คำปราศรัยในที่ประชุมสมัชชาพรรค และจดหมายหลายร้อยฉบับที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว. งานเขียนดังกล่าวบางส่วนเกี่ยวกับการก่อตั้งและข้อถกเถียงที่ดำเนินอยู่ในสากลที่สองซึ่งประชุมสมัชชาก่อตั้งในวันที่ 14 กรกฎาคม 1889.

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น แองเกิลส์ได้ทุ่มเทอย่างสุดความสามารถให้กับการเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์. ก่อนอื่นใดเขาได้ดำเนินการภารกิจอันยากลำบากในการเป็นบรรณาธิการทำการปรับแก้ คัดเลือก เอกสารฉบับร่างของหนังสือทุนเล่มที่ 2 และ3 ที่มาร์กซ์ทำค้างไว้. นอกจากนี้ เขายังดูแลการพิมพ์ครั้งใหม่ของงานที่เคยตีพิมพ์แล้ว ทำการแปล เขียนบทนำ และบทส่งท้ายให้แก่งานของมาร์กซ์และงานของเขาเองที่นำมาพิมพ์ใหม่. หนึ่งในนั้นคือบทนำใหม่ที่เขาเขียนให้กับหนังสือของมาร์กซ์เรื่อง การต่อสู้ทางชนชั้นในฝรั่งเศส (Class Struggle in France) (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี1850) ซึ่งเขียนขึ้นไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต. ในบทนำดังกล่าวแองเกิลส์ได้ปรับขยายทฤษฏีการปฏิวัติเข้ากับภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ในยุโรป. เขาเห็นว่าการที่กรรมกรกลายเป็นคนส่วนใหญ่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะได้อำนาจรัฐโดยผ่านการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้การต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายการปฏิวัติเกิดขึ้นได้ภายในกรอบของกฎหมาย. อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้ของกรรมกรต้องจำกัดอยู่แค่การต่อสู้ทางรัฐสภาเท่านั้นและการต่อสู้บนท้องถนนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นดังเช่นที่พวกสังคมประชาธิปไตยเยอรมันบิดเบือน. หากแต่การปฏิวัติย่อมปราศจากการเข้าร่วมอย่างแข็งขันของมวลชนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การทำงานอย่างอดทนและยาวนานจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้. การอ่านงานเขียนของแองเกิลส์ในปัจจุบันในขณะที่ทุนิยมกำลังเผชิญปัญหาอย่างหนักหน่วง ได้ปลุกเร้าให้เราเดินตามเส้นทางของเขาอีกครั้ง.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net