สุรพศ ทวีศักดิ์: ความผิวเผินของข้อโต้แย้งแนวคิดโลกวิสัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เวลาที่นักวิชาการบ้านเราแย้งว่าแนวคิดโลกวิสัย (secularism) หรือการแยกศาสนากับรัฐแบบตะวันตกอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับสังคมไทย เหตุผลเพราะนั่นเป็นแนวคิดยุคเรืองปัญญา (the Enlightenment) ที่ต่อสู้กับอำนาจศาสนจักรในยุโรป แต่ปัจจุบันเกิดกระแสการให้ความสำคัญกับศาสนามากขึ้น ศาสนาพยายามเข้ามามีตำแหน่งแห่งที่ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น มีนักคิดตะวันตกบางคนเสนอแนวคิดหลังสังคมโลกวิสัย (Post-secularism) ที่หาที่ทางให้ศาสนามีที่ยืนในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น แม้แต่ในรัฐโลกวิสัยอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังมีคนเคร่งศาสนา มีพรรคการเมืองหาเสียงกับชุมชนศาสนาเป็นต้น

ภาพข้างบนอาจถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของกระแสการกลับมาของศาสนา เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำเนียบขาวเปิดให้ชาวพุทธในอเมริกาประกอบพิธีฉลองวันวิสาขบูชา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2021 และยังมีแถลงการณ์ของโจ ไบเดนส่งความปรารถนาดีต่อชาวพุทธในอเมริกาและทั่วโลกที่จัดพิธีรำลึกวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพุทธะ พร้อมกับชื่นชมคำสอนของพุทธศาสนาเรื่องความเมตตา ความถ่อมตน ความเสียสละ และพูดถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวพุทธในอเมริกาที่ทำให้ชุมชนในประเทศนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (ดู https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/05/26/statement-by-president-biden-on-vesak/?fbclid=IwAR0OyAOqPKI6yK0LfK9argudz1IWkp_dBnorG9FOuLu3PWGdheW3Ytv0eIk)

คำถามคือ การกลับมาของศาสนาตามกรณีตัวอย่างถือเป็นกระแสต่อต้านหลักการโลกวิสัยหรือไม่ ผมคิดว่า “ไม่” เพราะการจัดพิธีฉลองวิสาขะในทำเนียบขาวก็เป็นพิธีกรรมขององค์กรชาวพุทธเอกชนหลายนิกาย และคำแถลงของไบเดนก็มีนัยยะสำคัญสนับสนุนสังคมพหุวัฒนธรรมมากกว่า

ถ้าจะอ้างเรื่องปัจเจกบุคคลและชุมชนศาสนาต่างๆ ในรัฐโลกวิสัยยังเคร่งศาสนา หรือศาสนาเข้ามาแสดงตนในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น แล้วสรุปว่าแนวคิดโลกวิสัยหรือการแยกศาสนากับรัฐไม่ใช่คำตอบ ข้อสรุปเช่นนี้จะสมเหตุสมผลก็ต่อเมื่อมันสามารถ “หักล้าง” หลักการพื้นฐานของแนวคิดโลกวิสัยได้

สมาคมโลกวิสัยแห่งชาติ (National Secular Society) ที่รณรงค์การแยกศาสนากับรัฐในสหราชอาณาจักร สรุปหลักการพื้นฐานของแนวคิดโลกวิสัยไว้ดังนี้

1. หลักการแยกศาสนากับรัฐ คือ การแยกสถาบันทางศาสนาออกจากสถาบันของรัฐและพื้นที่สาธารณะที่ศาสนาอาจมีส่วนร่วมได้แต่ไม่ครอบงำ

การแยกศาสนากับรัฐคือรากฐานของแนวคิดโลกวิสัย มันทำให้มั่นใจได้ว่ากลุ่มศาสนาต่างๆ จะไม่แทรกแซงกิจการของรัฐ และรัฐจะไม่แทรกแซงกิจการทางศาสนา

ถามว่า การเปิดทำเนียบขาวให้ประกอบพิธีฉลองวันวิสาขะโดยคำนึงถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมถือว่าขัดหลักการนี้หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่ขัด” เพราะองค์กรศาสนาเหล่านั้นแยกจากรัฐไปแล้ว เป็นองค์กรเอกชนและจัดพิธีกรรมเล็กๆ ในรูปแบบเอกชน การแสดงตนทางศาสนาในพื้นที่สาธารณะเช่นนี้ก็ไม่อาจครอบงำ (dominate) รัฐและสังคมได้ และไม่ใช่ศาสนาแทรกแซงกิจการภายในของรัฐ หรือรัฐแทรกแซงกิจการทางศาสนา

แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการไม่แยกศาสนากับรัฐแบบยุคกลาง ที่อำนาจเทวสิทธิ์ของกษัตริย์และศาสนจักรเป็นอำนาจที่ควบคุมและจัดระเบียบสังคม ในยุคที่ไม่แยกศาสนากับรัฐเช่นนั้นไม่มีแม้แต่ “พื้นที่สาธารณะ” (public sphere) อันเป็นพื้นที่เสรีภาพให้ปัจเจกบุคคลได้ใช้เหตุผลถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างเท่าเทียมด้วยซ้ำ เพราะอำนาจเผด็จการโดยเทวสิทธิ์ของกษัตริย์และศาสนจักรไม่ยอมให้มีเสรีภาพของปัจเจกบุคคล (เช่น เสรีภาพทางศาสนา) และเสรีภาพทางการเมือง

สังคมไทยที่ไม่แยกสถาบันศาสนาออกจากสถาบันของรัฐ ยังมีศาสนจักรของรัฐขึ้นต่อ “พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี” ซึ่งเป็นพระราชอำนาจปกครองสถาบันศาสนาแบบยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือยุคสังคมจารีต (ยุคกลาง) ทำให้สถาบันศาสนาตกเป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม คืออุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ชัดเจน ซึ่งขัดหลักเสรีภาพทางศาสนา และหลักความเสมอภาคทางศาสนาตามข้อ 2 และ 3

2. หลักเสรีภาพทางศาสนา คือ พลเมืองทุกคนต้องมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศรัทธา หรือความเชื่อทางศาสนาโดยไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น, มีเสรีภาพในการเปลี่ยนศาสนา หรือการไม่มีศาสนาตามมโนธรรมแห่งตน

3. หลักความเสมอภาคทางศาสนา เป็นหลักการที่มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ความเชื่อทางศาสนาหรือการไม่มีศาสนาทำให้เราต้องได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน

ในสังคมไทยไม่มีความเสมอภาคแม้แต่ชาวพุทธด้วยกันเอง เช่น กลุ่มชาวพุทธที่ไม่ขึ้นต่อศาสนจักรของรัฐหรือมหาเถรสมาคม คือ กลุ่มสันติอโศกและภิกษุณี ถือเป็น “พวกข้าวนอกนา” ที่รัฐไม่รับรองสถานภาพและไม่ให้การอุปถัมภ์ หรือแม้แต่กลุ่มที่อยู่ภายใต้ศาสนจักรของรัฐ ก็อาจถูกรัฐกดปราบได้อย่างอยุติธรรมหากถูกมองว่าเป็น “ภัยความมั่นคง” เช่น การใช้กองกำลังกดปราบ “สำนักธรรมกาย” เป็นต้น

เท่าที่ติดตามข้อโต้แย้งของผู้ที่เชื่อว่าแนวคิดโลกวิสัยไม่ใช่คำตอบของสังคมไทย ยังไม่เห็นว่ามีข้อโต้แย้งใดหักล้างหลักการพื้นฐาน 3 ประการนี้ได้เลย ส่วนมากเป็นการพูดถึงปัญหาปลีกย่อย หรือปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐโลกวิสัยของตะวันตกมากกว่า และถ้ายืนยันว่าแนวคิดโลกวิสัยไม่ใช่ทางออก แล้วจะแก้ปัญหาระบบศาสนจักรของรัฐดังที่กล่าวแล้ว (เป็นต้น) ได้อย่างไร ก็ยังไม่พบคำตอบจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแยกศาสนากับรัฐอีกเช่นกัน

สมาคมโลกวิสัยยังอธิบายส่วนขยายของแนวคิดโลกวิสัยออกไปอีก เช่น

- แนวคิดโลกวิสัยปกป้องทั้งผู้ที่เชื่อและผู้ไม่เชื่อ (Secularism protects both believers and non-believers)

แนวคิดโลกวิสัย พยายามให้หลักประกันและปกป้องเสรีภาพในความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาสำหรับพลเมืองทุกคน นักโลกวิสัยต้องการเสรีภาพทางความคิดและมโนธรรมเพื่อนำไปใช้อย่างเท่าเทียมกันกับทุกคน ทั้งผู้เชื่อและผู้ไม่เชื่อ พวกเขาไม่ต้องการจำกัดเสรีภาพทางศาสนา

- เสรีภาพทางศาสนา (Religious Freedom)

แนวคิดโลกวิสัยปกป้องเสรีภาพที่สมบูรณ์ (absolute freedom) ของศาสนาและความเชื่ออื่นๆ และปกป้องสิทธิที่จะแสดงความเชื่อทางศาสนาตราบที่ไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น อีกทั้งให้หลักประกันว่าสิทธิของปัจเจกบุคคลในเสรีภาพในการนับถือศาสนานั้นย่อมสมดุลกับสิทธิที่จะเป็นอิสระจากศาสนาด้วยเสมอ

- แนวคิดโลกวิสัยเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยและความเป็นธรรม (Secularism is about democracy and fairness)

ในระบอบประชาธิปไตยโลกวิสัย (secular democracy) พลเมืองทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมายและรัฐสภา ต้องไม่มีการสังกัดทางศาสนาหรือทางการเมืองใดๆ ทำให้เกิดข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบ และผู้เชื่อทางศาสนาก็ย่อมเป็นพลเมืองที่มีสิทธิและภาระผูกพันเช่นเดียวกับผู้อื่น

แนวคิดโลกวิสัยยังสนับสนุนสิทธิมนุษยชนสากลเหนือข้อเรียกร้องทางศาสนา ยึดถือหลักความเสมอภาคทางกฎหมายที่ปกป้องสตรี, LGBT และชนกลุ่มน้อยจากการเลือกปฏิบัติทางศาสนา กฎหมายที่ให้สิทธิเท่าเทียมดังกล่าวให้หลักประกันว่าผู้ที่ไม่เชื่อย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ที่ระบุว่ามีความเชื่อทางศาสนาหรือปรัชญา

- ความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสาธารณะ (Equal access to public services)

การบริการสาธารณะทุกประเภทที่รัฐจัดให้จะต้องเป็นแบบทางโลก (secular) ที่ทุกคนเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน ไม่มีใครเสียเปรียบหรือถูกปฏิเสธการเข้าถึงด้วยเหตุผลของความเชื่อทางศาสนา (หรือการไม่เชื่อ) โรงเรียนที่ได้รับทุนจากรัฐทั้งหมดต้องมีลักษณะที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา โดยที่เด็กๆ จะได้รับการศึกษาร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงศาสนาของพ่อแม่ เมื่อหน่วยงานสาธารณะให้สัญญาในการให้บริการแก่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือความเชื่อใดๆ บริการดังกล่าวจะต้องดำเนินการอย่างเป็นกลาง โดยไม่พยายามส่งเสริมแนวคิดของกลุ่มศรัทธานั้นๆ

- แนวคิดโลกวิสัยไม่ใช่อเทวนิยม (Secularism is not atheism)

อเทวนิยม คือการไม่มีความเชื่อในพระเจ้า แนวคิดโลกวิสัยเพียงเตรียมกรอบโครงสร้างสำหรับสังคมประชาธิปไตย อเทวนิยมมีความสนใจอย่างชัดเจนในการสนับสนุนแนวคิดโลกวิสัย แต่ฝ่ายโลกวิสัยเองไม่ได้พยายามท้าทายหลักคำสอนของศาสนาหรือความเชื่อใดๆ และไม่ได้พยายามยัดเยียดลัทธิอเทวนิยมให้ใครก็ตาม

พูดอีกอย่าง แนวคิดโลกวิสัยเป็นเพียงกรอบโครงสร้างเพื่อวางหลักประกันความเท่าเทียมกันทั่วทั้งสังคม ทั้งในด้านการเมือง การศึกษา กฎหมาย และอื่นๆ สำหรับผู้เชื่อและผู้ไม่เชื่อ

- แนวคิดโลกวิสัยปกป้องเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก (Secularism protects free speech and expression)

ผู้นับถือศาสนามีสิทธิที่จะแสดงความเชื่อของตนต่อสาธารณะ แต่ผู้ที่คัดค้านหรือตั้งคำถามกับความเชื่อเหล่านั้นก็ต้องมีสิทธิดังกล่าวด้วยเช่นกัน ความเชื่อ, ความคิด และองค์กรทางศาสนาใดๆ ต้องไม่ได้รับอภิสิทธิ์คุ้มครองจากสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ในระบอบประชาธิปไตย ทุกความคิดและความเชื่อจะต้องเปิดให้อภิปรายได้เสมอ เพราะสิทธิทั้งปวงถูกกำหนดโดยปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ถูกกำหนดจากความคิด ความเชื่อทางศาสนา

แนวคิดโลกวิสัยเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะสร้างสังคมที่ผู้คนจากทุกศาสนา หรือไม่มีศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยุติธรรมและสงบสุข

จะเห็นได้ว่าหลักการต่างๆ ของแนวคิดโลกวิสัยที่ว่ามา ก็คือหลักการของแนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ที่ยืนยันว่ารัฐต้อง “เป็นกลางทางคุณค่าเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีของปัจเจกบุคคล” และยืนยันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองนั่นเอง ซึ่งหลักเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองกลายมาเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย (secular liberal democracy) หรือระบอบเสรีประชาธิปไตยที่แยกศาสนากับรัฐ เช่นสหรัฐอเมริกาเป็นต้น

จากหลักการดังกล่าวมา ไม่มีข้อห้ามใดๆ ที่ปัจเจกบุคคลหรือชุมชนศาสนาต่างๆ จะเคร่งศาสนา แกนกลางของแนวคิดโลกวิสัยอยู่ที่ต้องแยกสถาบันทางศาสนาออกจากสถาบันของรัฐ และรัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา จะเป็นเช่นนั้นได้ รัฐและองค์กรศาสนาที่เป็นเอกชนจะต้องไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน และหากศาสนาจะแสดงตนในพื้นที่สาธารณะ หรือมีบทบาททางสาธารณะ ก็ย่อมทำได้ภายใต้การกำกับของหลักการเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย

เช่น กรณีศาสนาจารย์อย่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์เป็นแกนนำต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำเป็นต้น แต่ศาสนาจะมีบทบาททางสาธารณะเพื่อครอบงำรัฐและสังคมแบบยุคกลางที่ยังไม่แยกศาสนากับรัฐไม่ได้ รัฐโลกวิสัย (secular state) จึงต้องมีข้อห้ามสถาปนาศาสนาประจำชาติ ห้ามมีศาสนจักรหรืองค์กรศาสนาของรัฐ ห้ามบังคับเรียนเพื่อปลูกฝังความเชื่อทางศาสนาในโรงเรียนของรัฐ

พูดอีกอย่างคือ ตามหลักการโลกวิสัย องค์กรศาสนาใดๆ จะถืออภิสิทธิ์เอา “อำนาจสาธารณะ” หรือกฎหมายไปใช้เพื่อตอบสนอง ปกป้อง และส่งเสริมความเชื่อทางศาสนาอันเป็นความเชื่อส่วนตัวของกลุ่มศาสนาตนเองไม่ได้ หากทำได้ก็หนีไม่พ้นที่ศาสนาจะครอบงำรัฐเพื่อผลประโยชน์ขององค์กรศาสนานั้นๆ หรือรัฐจะใช้ศาสนาครอบงำความคิดของประชาชน ซึ่งย่อมขัดหลักเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาดังกล่าวแล้ว

ข้อสังเกตคือ เวลานักวิชาการบ้านเราถกเถียงว่า กฎหมายสงฆ์มีปัญหากระทบสิทธิเสรีภาพในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ที่จริงแล้วเขาก็กำลังใช้ไอเดียสิทธิ เสรีภาพตามกรอบคิดเสรีนิยมโลกวิสัยนั่นเองในการวิพากษ์กฎหมายสงฆ์ แต่พอใครเสนอแนวคิดโลกวิสัย-การแยกศาสนากับรัฐเป็นทางออกตรงไปตรงมา พวกเขากลับโต้แย้งด้วยข้ออ้างที่ผิวเผิน โดยข้ออ้างผิวเผินต่างๆ นั้นโดยสาระสำคัญแล้วก็ไม่ต่างจากข้อโต้แย้งประชาธิปไตยแบบตะวันตกด้วยจุดยืนประชาธิปไตยตามบริบทความเป็นไทยเท่าใดนัก

ที่แย่กว่านั้นคือ ในศตวรรษที่ 21 แล้ว วงการพุทธศาสน์ศึกษา, ปรัชญา และนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในบ้านเรายังถกเถียงในประเด็นว่า “จะบัญญัติกฎหมายให้สอดคล้องกับธรรมวินัยของพุทธศาสนาได้อย่างไร” ราวกับว่ายังอยู่ในยุคกลาง

อีกปัญหาหนึ่ง คือพวกที่ “เชื่อล่วงหน้า” ว่าการแยกศาสนากับรัฐในบ้านเราเป็นไปไม่ได้ นี่ก็ไม่ต่างจากพวกที่เชื่อล่วงหน้าว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นไปไม่ได้ แท้จริงแล้วการเชื่อล่วงหน้าเช่นนี้เป็นทัศนคติที่คล้อยตามระบอบเผด็จการอำนาจนิยมโดยปริยาย ขณะที่ผู้ไม่เชื่อล่วงหน้าเช่นนั้นพยายามต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง

 

 

หมายเหตุ: เนื้อหาหลักๆ ของบทความนี้มีที่มาจาก What is Secularism? https://www.secularism.org.uk/what-is-secularism.html

ที่มาภาพ: https://tricycle.org/trikedaily/vesak-white-house/?fbclid=IwAR1ar6KtcHNih-BWV88ssXZrLTu789x27YA0_VrOEnkmV9EpozkzemdCUSE

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท