Skip to main content
sharethis

ประชาไทตระเวนคุยกับคนขับแท็กซี่ ที่มาเข้าร่วมเรียกร้องอุทธรณ์ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ… หน้ากระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 64 พร้อมสะท้อนปัญหาของคนขับแท็กซี่ยุคโควิด-19 และข้อเรียกร้องอื่นๆ ถึงรัฐบาล

บรรยากาศการชุมนุมหน้าสำนักงานกระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 64

17 มิ.ย. 64 ตามที่หลายสำนักข่าว รายงานตรงกัน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 64 สมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ นำโดย วรพล แกมขุนทด นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยคนขับแท็กซี่จำนวนหนึ่ง เดินทางมาที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ทีมกฎหมายยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยต้องการขออุทธรณ์มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ… ก่อนที่หลังจากนั้นจะเดินทางไปหน้ากระทรวงคมนาคม เพื่อขอพบ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม เพื่อเจรจา และชี้แจงถึงเหตุผลที่ผลักดันกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว

แม้จะไม่ได้พบ รมว.กระทรวงคมนาคม แต่ทางสมาคมฯ ได้โอกาสเข้าร่วมประชุมกับตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎกระทรวงฯ ในวันที่ 17 มิ.ย. 64 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ถนนพิษณุโลก

ผู้สื่อข่าวประชาไท จึงตระเวนสัมภาษณ์ผู้ขับรถยนต์สาธารณะแท็กซี่เพื่อสอบถามเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ… ปัญหาที่พวกเขาประสบโดยเฉพาะรายได้ช่วงโควิด-19 และความหวังที่อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหา

เหตุผลที่คนขับแท็กซี่ต่อต้าน กฎกระทรวง 'ให้รถส่วนบุคคล' วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านแอปฯ ถูกกฎหมาย

วรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการค้านร่างกฎกระทรวงนี้ ระบุว่า ร่างกฎกระทรวงฯ จะส่งผลให้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถป้ายทะเบียนดำ สามารถทำงานรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชัน ได้เฉกเช่นเดียวกับรถยนต์ขนส่งสาธารณะ (ป้ายทะเบียนสีเหลือง) หรือทำงานได้เหมือนแท็กซี่มิเตอร์

วรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่
 

เขาตั้งข้อกังขาว่า หนึ่ง เป็นการทำผิดกฎหมายหรือไม่ โดยการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายทะเบียนดำ) มาทำงานขนส่งสาธารณะ (ป้ายทะเบียนเหลือง) 

อ้างอิงจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รถยนต์ พ.ศ. 2522 นิยามรถยนต์ส่วนบุคคลว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก

ขณะที่ ‘รถยนต์สาธารณะ’ หมายความว่า หนึ่ง รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด ซึ่งได้แก่รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่ใช้รับจ้างระหว่างจังหวัด โดยรับส่งคนโดยสารได้เฉพาะที่นายทะเบียนกำหนด สอง รถยนต์รับจ้าง ซึ่งได้แก่รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์สาธารณะอื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจำทาง

ดังนั้น หากพิจารณาตามคำนิยามนี้ ถือว่าเป็นการใช้รถยนต์ผิดประเภทหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล จะถือครองใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล แต่การมาใช้ขับรถยนต์สาธารณะ ซึ่งต้องใช้ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ ก็เข้าข่ายผิดกฎหมาย 

สอง แต่เดิมผู้โดยสารรถแท็กซี่ก็น้อยอยู่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้หลายบริษัทดำเนินมาตรการ ‘Work from Home’ ให้พนักงาน หรือลูกจ้าง ทำงานที่บ้าน อีกทั้ง จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่น้อยลง ส่งผลให้รายได้ของผู้ขับแท็กซี่ลดลงเป็นเงาตามตัว 

ดังนั้น การออกร่างกฎกระทรวงฯ อนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคล มาทำงานเฉกเช่นเดียวกับ รถยนต์สาธารณะ หรือรถแท็กซี่ ในห้วงเวลานี้ จะทำให้มีรถสาธารณะรับ-ส่งผู้โดยสารมากขึ้น คนขับรถแท็กซี่ก็ได้ผู้โดยสารน้อยลง ถือเป็นการซ้ำเติมปัญหาของคนขับแท็กซี่รากหญ้าในช่วงเวลาที่สาหัสเข้าไปอีก 

คนขับแท็กซี่ร่วมสะท้อนปัญหายุคโควิด-19 ลูกค้าน้อย วิ่งไม่คุ้ม

ธงชัย ชายวัยกลางคนอายุราว 50 ปี ทำงานเป็นผู้ขับรถแท็กซี่มานาน 17 ปี เคยมีประสบการณ์ขับแท็กซี่ เขียว/เหลือง ก่อนที่จะแบกหนี้ชำระไฟแนนซ์ไม่ไหว (การชำระไฟแนนซ์ต่อเดือนของธงชัย มีค่าใช้จ่ายราว 21,000 บาทต่อเดือน) ต้องเปลี่ยนมาเช่ารถแท็กซี่ขับเลี้ยงชีพแทน 

ธงชัย ผู้ขับขี่แท็กซี่ 
 

รถแท็กซี่บุคคลโดยสีเขียว/เหลือง เป็นสีของกรมขนส่ง ที่จดทะเบียนไว้ให้ประชาชนทั่วไปที่อยากมีแท็กซี่เป็นของตัวเองได้ใช้โดยไม่ต้องไปขอร่วมกับสหกรณ์

ธงชัย ระบุว่า การนำรถบ้านมาวิ่งเป็นรถขนส่งสาธารณะ ถือเป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจของผู้ขับแท็กซี่ อาจทำให้คนขับแท็กซี่ ‘ตายทั้งเป็น’

ธงชัย กล่าวว่า ก่อนมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เขาเคยทำงานได้เงินสูงถึงวันละ 2,000 บาท แต่พอมีปัญหาการแพร่ระบาด และการเปิดให้บริการแอปพลิเคชันของบริษัทแพลตฟอร์ม ส่งผลให้ธงชัย มีรายได้จากการขับแท็กซี่ลดลง เนื่องจากมีรถให้บริการรับ-ส่งเยอะเกินไป และประชาชนมีทางเลือกในระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น 

“ผมเคยมีแท็กซี่เอง ก่อนโควิด-19 ยังสู้ไม่ไหว เพราะว่าแท็กซี่ในกรุงเทพฯ มีเป็น 1-2 แสนคัน ยังไม่รวมสุวรรณภูมิ ยังไม่รวมดอนเมือง ถ้ารถกลุ่มนั้นประมาณ 7 หมื่นกว่าคัน… และยังเอารถป้ายดำมาวิ่งทับเราอีก” ธงชัย กล่าว

ชีวิตทำงานปกติของธงชัย เขาจะเริ่มทำงานขับรถแท็กซี่ตั้งแต่เวลา 5.00-17.00 น. เป็นประจำทุกวัน (ผู้สื่อข่าว - การเช่ากะกลางวัน จะเริ่มเวลา 5.00-17.00 น.) รายได้ต่อวันในช่วงนี้ อาจอยู่ที่ 300-600 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งไม่รวมค่าเชื้อเพลิง ค่ากิน-อยู่ และค่าเช่าที่คนขับต้องออกเอง 

‘เรามีค่าเช่า เรามีค่าเชื้อเพลิง/ก๊าซ ซึ่งแต่ละวันต้นทุนของเราจะอยู่ที่ประมาณ 800-900 บาทต่อวัน ที่เหลือค่าตัวผู้ขับ เราได้ค่าเชื้อเพลิง เราถึงจะได้ค่าคนขับแค่ประมาณ 100-200 บาท ลูกเมียเราจะอยู่ยังไง เด็กโตขึ้นต้องใช้เงินเยอะ’ ธงชัย กล่าวถึงรายได้ในแต่ละวัน 

ธงชัย กล่าวเพิ่มว่า ตนมีเวลาทานข้าวประมาณ 10 นาที แต่ถ้าถึงเวลาทานข้าวแล้ว มีลูกค้าโบกเรียก ก็ต้องรับลูกค้าก่อน เพราะช่วงเวลานี้ลูกค้าหายากเหลือเกิน แต่ถ้าวิ่งออกไป 2-3 ชม. แล้วไม่ได้ลูกค้าเลย ก็พักอยู่ที่บ้านดีกว่า เพราะวิ่งไปไม่คุ้มค่าเชื้อเพลิง 

“วิ่งไม่ได้ผู้โดยสาร 2-3 ชม. เข้าบ้านดีกว่า พักผ่อน ไม่คุ้มค่าเชื่อเพลิง คราวที่แล้วเติมก๊าซตั้งแต่เช้า 11.00 น. ไม่ได้ผู้โดยสารเลย พอเที่ยง บ่ายโมงก็หันหัวเข้า (ผู้สื่อข่าว - บ้าน) แต่ค่าเช่าเราก็ให้เขาเต็ม” ธงชัย กล่าว

ชีวิตติดลบตั้งแต่วันแรกที่ขับรถแท็กซี่ 

ธงชัย เล่าให้ฟังเพิ่มว่า เวลาคนจะมาขับแท็กซี่ สมมติว่าเป็นรถแท็กซี่สีเขียว-เหลือง แรกเริ่มต้องติดหนี้ไฟแนนซ์ คันละ 8 แสนบาท มีค่าดาวน์ 25% ของราคาเต็ม หรือต้องเสียประมาณ 250,000 บาท ทยอยส่งจ่ายรายเดือน ตกเดือนละ 21,000 บาท คนขับต้องแบกรับค่าสึกหรอ อย่างการถ่ายน้ำมันเกียร์ น้ำมันเครื่อง ฯลฯ 

“แล้วสถานการณ์แบบนี้จะเอาเงินที่ไหนไปทำ เปลี่ยนเบรกล้อหน้า คู่หนึ่งเกือบ 2,000 บาท ถ่ายน้ำมันเกียร์ 1,500 บาท ...เปลี่ยนยางชุดหนึ่งถูก ๆ 7,000 กว่าบาท แต่ถ้าเอาบริษัท บริดจ์สโตน มิชลิน ดันลอป อย่างต่ำ 15,000 บาท และคุณจะเอาเงินที่ไหน... หาเงินไม่ได้ แต่ถึงเวลาต้องเปลี่ยนถ่าย เขาก็ต้องเอาเงินเก็บ มาทำ เพื่อเป็นการบำรุงรักษารถยนต์ 

“หลังจากนั้น ต้องไปทำสี ติดอุปกรณ์ทั้งหมด ค่าจดทะเบียน 50,000 บาท ประกันภัยรถยนต์ปีแรก 40,000-50,000 บาท หลังจากนั้นทำสัญญากับไฟแนนซ์ ทำสัญญาเสร็จ ได้รถออกมาก็เป็นหนี้แล้ว ขับ 4-5 วัน ไม่คุ้มเงิน เอาไปคืนไม่ได้” ธงชัย กล่าวถึงช่วงสมัยขับรถแท็กซี่ เขียว/เหลือง

กรณีที่เช่ารถยนต์ จะไม่ต้องจ่ายค่าอุปกรณ์เอง ทางเจ้าของอู่ หรือเจ้าของรถยนต์จะเป็นผู้ออกให้ แต่กรณีที่เป็นรถยนต์ส่วนตัวต้องออกค่าอุปกรณ์เองทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีค่าต่อมิเตอร์ต้องเสียให้กรมขนส่งทางบกต่อปี ค่าเสียภาษีอีกประมาณ 500-600 บาท ค่าต่อประกันภัย ปีหนึ่งต้องเสียอีก 20,000 บาท 

ไฟแนนซ์ไม่เห็นใจ-คอยแต่ยึด

ธงชัย เล่าถึงปัญหาแท็กซี่ให้ฟังเพิ่มว่า คนขับแท็กซี่เวลาเจอช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไฟแนนซ์ไม่เคยมีระบบช่วยเหลือ หรือมาตรการพักชำระหนี้ให้แต่อย่างใด

“ไฟแนนซ์นี่แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 เขาเคยผ่อนผันไหม เขาก็ไม่เคยผ่อนผัน โทรจิก ๆ ทุกวัน ผมเดือนเดียว ไฟแนนซ์โทรจิกทุกเดือน และจะเอาแกร็บคาร์ เอารถป้ายดำ มาวิ่งคู่กับเรา ทับเส้นทางกับเรา” ธงชัย กล่าว

กรณีถ้าคนขับรถแท็กซี่ติดหนี้ไฟแนนซ์นานหลายเดือน ก็จะถูกยึดได้ แม้ว่าจะเคยผ่อนไว้ 500,000 บาทก็ตาม แต่เมื่อเจอปัญหา ไม่สามารถชำระได้ ก็มีสิทธิ์ถูกยึดเช่นเดียวกัน 

อยากให้รัฐช่วยเหลือเรื่องวัคซีนโควิด-19

สำหรับข้อเสนอของถึงภาครัฐ นอกจากยกเลิกร่างกฎหมายฯ ข้างต้น ธงชัย อยากให้พวกเขา ซึ่งทำงานขับรถแท็กซี่ที่เสี่ยงไม่แพ้กลุ่มวิชาชีพอื่น ๆ ได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นลำดับต้น ๆ เนื่องจากคนขับต้องพบปะและรับผู้โดยสารมากหน้าหลายตา ซึ่งไม่ทราบว่าใครติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่บ้าง ถือว่าเป็นกลุ่มอาชีพมีความเสี่ยงได้รับเชื้อโควิดสูง 

พอพวกเขามีความเสี่ยงโรคระบาด หรือพบเจอผู้โดยสารที่ติดเชื้อ ก็ต้องกักตัวเอง ไม่สามารถออกไปทำงานได้ ขาดรายได้ และการไม่ไปทำงานวันหนึ่ง หมายความว่าเขาก็ไม่มีเงินจ่ายหนี้ในแต่ละวัน

‘‘คนที่เป็นรัฐบาลไม่ได้สนใจคนที่ขับรถสาธารณะ อย่างเช่น แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ วัคซีนโควิด-19 จะต้องปันผลให้เขาก่อน สร้างเลยจุดนี้ ให้แท็กซี่มาลงทะเบียน นัดวันเขามา มาลงทะเบียน”

ปรับขึ้นค่ามิเตอร์

อีกหนึ่งข้อเรียกร้องของธงชัย คือ อยากให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่ามิเตอร์จากที่เริ่มต้นกิโลเมตรแรกที่ 35 บาท ซึ่งคงราคานี้มาเกือบ 10 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น 

“นายกสมาคมแท็กซี่ฯ เคยมาเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่ามิเตอร์ ผลคำตอบได้มาคือ ‘เขาบอก ทำไมคุณไม่ไปหาร้านค้าที่โฆษณา ที่ติดสติกเกอร์ตรงท้ายรถมาโฆษณา’ แต่มันเป็นหน้าที่ของคุณ (รัฐบาล)” ธงชัย กล่าว 

ข้อเสนอเรื่องมิเตอร์นี้ถือว่าเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร ซึ่งธงชัย ก็อยากให้เข้าใจว่าค่าครองชีพแพงขึ้นทุกปี เท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่ไหวแล้ว

“อยากบอกผู้โดยสารว่า ค่าครองชีพมันสูงขึ้นทุกปี ๆ ...แต่ละวันเรามีค่าใช้จ่าย มีค่าเชื้อเพลิง ต้นทุนเราอยู่ที่ประมาณ 800-900 บาท ต่อหนึ่งกะ” ธงชัย กล่าว

สุดท้าย แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของคนขับแท็กซี่ยังถดถอยแค่ไหน ธงชัย บอกว่าเขายังคงยึดอาชีพนี้ต่อไป เพราะสำหรับคนอายุประมาณ 50 ปี ไม่สามารถทำงานอื่นได้แล้ว บริษัทเขาไม่รับ 

“เราอายุเยอะแล้ว ขับรถส่งของอะไรแบบนี้เขาไม่รับ เพราะเขารับอายุ 18-30 ปี แต่ถ้าเราบอกว่าอายุ 50 ปี เขาบอกเขาไม่เอา เพราะเราก็แก่... ไปทำอาชีพอื่นก็คงไม่ได้แล้ว” คนขับแท็กซี่จาก กทม. กล่าว

อยากให้มีมาตรการช่วยเหลือ พักผ่อนหนี้ให้แท็กซี่

สุปัน ผู้ขับแท็กซี่จากมินบุรี วันนี้ก็เดินทางมาร่วมเรียกร้องถอดร่างกฎกระทรวง อนุญาต ‘รถป้ายดำ’ วิ่งผ่านแอปฯ ถูกกฎหมาย ประสบการณ์ทำงาน 10 ปี สุปัน ระบุว่า ตนมาเพราะอยากให้รัฐมาดูแลแท็กซี่ถูกกฎหมายป้ายเหลืองให้มันดีขึ้น และมีความเห็นสอดคล้องกับคนอื่น ๆ ที่มาร่วมชุมนุมว่า การให้รถส่วนบุคคลมาแย่งงานรถแท็กซี่ จะทำให้แท็กซี่ตายสนิทแน่นอน จากช่วงโควิด-19

สุปัน ผู้ขับขี่แท็กซี่ และเข้าร่วมเรียกร้องถอนร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ…

“อยากให้คนทำงานราชการมาสำรวจความทุกข์ร้อนของแท็กซี่มากกว่า ทุกวันนี้ไม่พอใช้อยู่แล้ว ค่าครองชีพมันขึ้นมาเยอะมากเลย สมัยก่อนพออยู่ได้ ข้าวแกงเมื่อ 15 บาท ตอนนี้ขึ้นมาก๋วยเตี๋ยว 40-50 บาท แต่รายได้เท่าเดิม ค่ามิเตอร์เท่าเดิม เริ่มที่ 35 บาท ไม่ขึ้นอยู่ได้ไหม กรมขนส่งต้องมาสำรวจ” สุปัน กล่าว 

สุปัน กล่าวต่อว่า รายได้ช่วงก่อน และช่วงโควิด-19 ต่างกันเยอะมาก เมื่อก่อนเคยได้ประมาณ 1,500 บาท (ไม่รวมค่าสึกหรอ ค่าก๊าซ และอื่น ๆ) แต่ตอนนี้วิ่งทั้งวันได้ประมาณ 500 บาทเท่านั้น 200-300 บาทต้องใช้จ่ายในครอบครัว วันหนึ่งก็ไม่เหลือแล้ว ในช่วงเวลาที่เงินไม่พอ สุปันก็ใช้วิธีประหยัดค่ากินแทน 

ท้ายสุด สุปัน ระบุว่า เขาอยากให้พักร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ก่อน ให้สถานการณ์ดีขึ้นก่อน และค่อยว่ากันอีกที อีกเรื่องที่สุปัน อยากได้คือ เรื่องการมาตรการเยียวยา หรือพักชำระหนี้ให้กับคนขับแท็กซี่ในช่วงโควิด-19 ให้อย่างน้อยพวกเขาสามารถประคองตัวผ่านห้วงเวลานี้ไปให้ได้ 

หวังให้รัฐกลับมาพัฒนาแอปฯ Taxi OK

วินัย ประสบการณ์คนขับ 10 ปี พื้นที่วิ่งหางานอยู่ใน กทม. วินัยเป็นอีกหนึ่งผู้ขับแท็กซี่ ที่มาร่วมเรียกร้องถอดถอนร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ความเห็นของเขาไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ที่มองว่า ร่างกฎกระทรวงฯ อนุญาตให้รถผิดกฎหมาย หรือรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งมีป้ายทะเบียนดำเข้ามาวิ่งหาเงินเหมือนรถป้ายทะเบียนเหลือง และซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจของคนขับแท็กซี่ เพราะการทำแบบนี้ส่งผลให้มีรถรับ-ส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 

วินัย ผู้ขับขี่รถแท็กซี่

“ค่าเช่าของรถแท็กซี่ เมื่อก่อนต้องจ่ายวันละ 1,000 บาท ตอนนี้หาเงิน หักทุกอย่างเหลือแค่ร้อยเดียวก็จ่าย ช่วยเจ้าของรถ ค่าจ่ายเหมือนเดิม แต่รายได้ไม่มี และมาเจอไอ้นี่อีก (ผู้สื่อข่าว - ร่างกฎกระทรวงฯ) เข้าไปอีก แทนที่จะชะลอ กลับเอามาซ้ำเติม แถมมาทำตอนที่มีโควิด-19” วินัย กล่าว

นอกจากนี้ วินัย มีความเห็นเพิ่มว่า กระทรวงคมนาคม 'ควรเอาทุนมาพัฒนาแอปฯ ที่รัฐเคยทำ ให้มันมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ไปหาช่องทางให้รถป้ายทะเบียนดำมาทำให้ถูกกฎหมาย'  

“มันน่าโมโหตรงนี้ ผมติดแอปฯ (ผู้สื่อข่าว - แอปพลิเคชัน ‘แท็กซี่โอเค’) นะ แต่ไม่มีงาน ติดครั้งแรก 40,000 บาท จ่ายรายปี ปีละ 3,000 บาท คิดดู แต่ไม่มีงาน รถใหม่ ๆ จะมีจอนั่นคือแอปฯ ของกรมขนส่ง ไม่มีงานให้ แต่ถ้าไม่ติด ไม่ต่อภาษี ไม่ต่อบัตรขนส่งสาธารณะและอื่นๆ ให้” วินัย กล่าว 

ทั้งนี้ ในมุมมองของเขา คาดว่าคงไม่มีการถอนกฎกระทรวงฉบับนี้แน่นอน น่าจะจบลงที่การเจรจาหาทางออกร่วมกัน แต่วินัย ยืนยันว่า เขาพร้อมจะมาร่วมชุมนุมจนกว่ากระทรวงคมนาคมจะถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net