'ประยุทธ์' สั่งสนธิกำลัง 'ตำรวจ-ทหาร-สธ.' คุมเข้มแคมป์คนงาน

โฆษกกลาโหมเผย'ประยุทธ์' สั่งสนธิกำลัง 'ตำรวจ-ทหาร-สธ.' คุมเข้มแคมป์คนงาน - รมว.แรงงาน เผยเกณฑ์ชดเชยค่าจ้างคนงานแคมป์ 50% จ่ายทุก 5 วัน เช็กชื่อรายตัว เชื่อไม่มีแรงงานหนีกลับต่างจังหวัด เตรียมถกผู้ประกอบการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.)

โฆษกกลาโหมเผย'ประยุทธ์' สั่งสนธิกำลัง 'ตำรวจ-ทหาร-สธ.' คุมเข้มแคมป์คนงาน - รมว.แรงงาน เผยเกณฑ์ชดเชยค่าจ้างคนงานแคมป์ 50% จ่ายทุก 5 วัน เช็กชื่อรายตัว เชื่อไม่มีแรงงานหนีกลับต่างจังหวัด เตรียมถกผู้ประกอบการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.)
ที่มาภาพ: ประชาชาติธุรกิจ

26 มิ.ย. 2564 พล.ท.คงชีพ  ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมเปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ  ช้างมงคล รมช.กลาโหมและ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหมได้เรียกประชุมด่วน หน่วยงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม (นขต.กห.) เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล (VTC ) ณ ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อสนับสนุนรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด 19 จากสถานการณ์ภายในประเทศและภูมิภาคที่ยังคงมีแนวโน้มระบาดต่อไป

'เพื่อไทย' เตือนปิดแคมป์ทำคนงานกลับภูมิลำเนา หวั่น COVID-19 ระบาดต่างจังหวัดซ้ำ

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศรอบบ้าน ยังคงรุนแรงและน่ากังวลในมาเลเซีย เมียนมาและกัมพูชา พบการแพร่ระบาดและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองในเมียนมา มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้หลบหนีข้ามแดนมายังไทยมากขึ้น 

สถิติการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมือง ระหว่าง 19-23 มิ.ย.64  จับกุมได้จำนวน 830 คน ( เมียนมา 202 คน กัมพูชา 210 คน ลาว 85 คน คนไทย 155 คน และ ผู้นำพา 7 คน )  ขณะที่ภายในประเทศ ยังคงพบการแพร่ระบาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน เป็นระยะในพื้นที่เสี่ยง เช่น แคมป์คนงาน ตลาดสดและชุมชนแออัด ในขณะที่ระบบสาธารณสุข เริ่มมีข้อจำกัดในการรับมือกับผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยสีแดง

พล.ท.คงชีพกล่าวว่า รมช.กลาโหมได้ย้ำนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมกับ กอ.รมน. ทุกเหล่าทัพและ ตร. ขอให้เร่งเตรียมและบูรณาการกำลังสนับสนุนข้อกำหนดของ ศบค.ที่จะประกาศบังคับใช้เป็นมาตรการเฉพาะในกรุงเทพมหานครฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อจำกัดควบคุมโรคเฉพาะกลุ่มและกิจกรรมในพื้นที่เสี่ยงสูงอย่างเข้มงวด ไม่ให้ขยายออกนอกพื้นที่จนไม่สามารถควบคุม

“พร้อมย้ำสั่งการ ของ พล.อ.ประยุทธ์ให้ประสานกับ กทม.และทุกจังหวัด บูรณาการจัดกำลังเร่งด่วนร่วมกัน เข้าไปสนับสนุนควบคุมจำกัดพื้นที่ทุกแคมป์และไซต์คนงานก่อสร้างเป้าหมายทั้งใน กรุงเทพมหานครฯและปริมณฑล ที่พบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมากทันที”

พล.ท.คงชีพกล่าวว่า โดยให้เร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกและนำเข้าสู่ระบบการรักษาควบคุมโรคโดยเร็ว รวมทั้งขอให้ขยายผลประชาสัมพันธ์ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเยียวยาค่าแรงรายวันระหว่างการควบคุมดังกล่าว  ทั้งนี้ ขอให้ทุกเหล่าทัพ จัดรถครัวสนามพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคจำเป็น สนับสนุนทุกชุมชนและคลัสเตอร์ที่เข้าไปควบคุมการปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน

พล.ท.คงชาติกล่าวว่า สำหรับพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้  สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ให้จัดกำลังสนับสนุนจังหวัด ควบคุมจำกัดการเคลื่อนย้ายของประชาชนข้ามเขต เพื่อหยุดการกระจายเชื้อสายพันธ์แอฟริกาใต้ที่กำลังแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในมาเลเซียเข้าไทย  ซึ่งปัจจุบันพบการติดเชื้อกับประชาชนใน 4 จังหวัดแล้ว 

โดยมีการเชื่อมโยงแพร่เชื้อข้ามเขตผ่านการเคลื่อนย้ายของประชาชนไปมา ทั้งนี้ให้จัดตั้งด่านตรวจร่วม กวดขันและจำกัดไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นกลุ่มก้อนข้ามเขต และประชาชนในพื้นที่กำหนด จนกว่าจะมีมาตรการผ่อนคลาย

พล.ท.กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ขอให้ทุกเหล่าทัพ ประสานทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด เร่งเข้าไปเสริมและสนับสนุนแก้ปัญหาเร่งด่วนในการขาดแคลนเตียงผู้ป่วยสีแดง โดยให้พิจารณาขยายขีดความสามารถสูงสุดของ รพ.ทหารในสังกัด เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยห้อง ICU รองรับสถานการณ์ และให้เตรียมการสนับสนุนหากจำเป็นต้องจัดสร้างห้องผู้ป่วยความดันลบเพิ่มเติม โดยให้พิจารณาบูรณาการบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกันกับทุกหน่วยงาน   

นอกจากนั้น พล.อ.ชัยชาญยังได้ย้ำ ขอให้ กองกำลังป้องกันชายแดนทหารและตำรวจ ยังคงต้องเพิ่มความเข้มงวดกวดขันมาตรการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร และเพิ่มความถี่เฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเฉพาะชายแดน มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา โดยให้เพ่งเล็งคนไทยที่ลักลอบข้ามแดนไปมา กับบ่อนพนันและสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดน และการคงเข้มมาตรการควบคุมโรคควบคู่กันไป

รมว.แรงงาน เผยเกณฑ์ชดเชยค่าจ้างคนงานแคมป์ 50% จ่ายทุก 5 วัน เช็กชื่อรายตัว เชื่อไม่มีแรงงานหนีกลับต่างจังหวัด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน แถลงข่าวกรณีปิดแคมป์แรงงานในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ เพื่อควบคุม COVID-19 ระยะเวลา 1 เดือน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศบค. เป็นห่วงเรื่องการซีลแคมป์คนงาน 1 เดือน ว่า จะกระทบกับผู้ประกอบการและแรงงานในเรื่องค่าครองชีพหรือไม่ ซึ่งได้รายงานกับนายกรัฐมนตรี ว่าหากหยุดทำงานในแคมป์แล้วกระทรวงแรงงานจะหาเม็ดเงินมาเยียวยา โดยมีกฎกระทรวงที่จะจ่ายเงินเยียวยาแรงงาน ลักษณะการจ่ายรายวันให้กับผู้ที่ยังอยู่ในแคมป์ ส่วนผู้ที่ไม่อยู่จะได้รับเงินดังกล่าว พร้อมหารือกับผู้ประกอบให้ประสานโฟว์แมนและให้แรงงานอยู่กับที่ หากผู้ใดไม่อยู่ในแคมป์ก็จะไม่ได้รับเงินค่าจ้าง

“รัฐบาล-ผู้ประกอบการจ่ายค่าชดเชยให้ 50% ถือเงินสดไปจ่ายให้ที่แคมป์คนงาน เช็กชื่อรายบุคคลทุกวัน และทุก ๆ 5 วัน ไม่อยู่ไม่จ่าย เชื่อคนหนีออกแคมป์น้อย เพราะจะไม่ได้รับเงินค่าจ้าง โดยวันพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.) ในเวลา 14.00 น. นัดผู้ประกอบก่อสร้างหารือเรื่องแนวทางการจ่ายเงินค่าจ้าง”

นายสุชาติ กล่าวว่า หลังจากนี้จะเข้าตรวจเชิงรุกทุกคนภายในแคมป์ และตรวจทั้งหมดเพื่อแยกผู้ติดเชื้อและผู้ไม่ติดเชื้อออกจากกัน โดยเตรียมจัดหาวัคซีน COVID-19 มาฉีดให้กับแรงงาน ทั้งนี้ กทม.มีแคมป์ประมาณ 575 แห่ง แรงงาน 80,0000 คน จ.นนทบุรี 140 แห่ง ปทุมธานี 149 แห่ง และสมุทรปราการ 32 แห่ง

ถือเป็นการคุมแรงงานก้อนใหญ่ไว้ เพื่อควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ส่วนจังหวัดปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้ตรวจสอบแคมป์และรายชื่อลูกจ้างทั้งหมด

“การปิดแคมป์ 1 เดือน เป็นข้อเสนอจากที่ปรึกษาและแพทย์ เพื่อดูว่าหากซีลแคมป์แล้วตัวเลขการแพร่ COVID-19 จะลดลงหรือไม่ ถ้าปิดแล้วลดลงแสดงว่าจุดนี้เป็นพื้นที่เสี่ยงแพร่ COVID-19 แต่หากปิดแล้วยังไม่ลด ก็ต้องหาจุดเสี่ยงใหม่”

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้พูดคุยกับผู้ประกอบแคมป์ก่อสร้างขนาดใหญ่ ให้ทำความเข้าใจกับแรงงานในแคมป์ ซึ่งพบว่าแคมป์ใน กทม.ส่วนใหญ่ เป็นแรงงานข้ามชาติ เชื่อจะไม่หนีออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะมีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล และสนับสนุนอาหารตลอดระยเวลา 1 เดือน คนงานจะออกไปบ้าง 5-10 เปอร์เซ็นต์ แต่ดูแล้ว ยากที่คนงานจะออกไป เพราะอยู่แล้วได้เงิน มีอาหารการกิน 

“ถ้ากลับไม่ได้เงิน อยู่ได้เงินค่าจ้าง 50% ตอนนี้คำสั่ง ศบค.ยังไม่ออก หากแรงงานกลับไปต่างจังหวัดก่อนก็ไม่มีความผิด แต่ส่วนตัวเชื่อว่าแรงงานข้ามชาติจะไม่หนีออกไปไหน เพราะตอนนี้รัฐบาลเยียวยาและทบทวนมาตรการทุก 15 วัน”

กทม.สั่ง 50 เขต คุมเข้มแคมป์คนงานก่อสร้าง งดเคลื่อนย้ายแรงงาน 15 วัน พร้อมประสานทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดูแล

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร มีหนังสือสั่งการทางวิทยุ (ด่วนที่สุด) ถึงผู้อำนวยการเขตทุกเขต ความว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้แถลงหลังจากการประชุม เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเวลา 15 วัน หรือ 1 เดือน ขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

สำหรับมาตรการดังกล่าว เพื่อให้การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคฯ ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงให้สำนักงานเขตดำเนินการ ดังนี้ 1.เร่งสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการที่มีแคมป์คนงานก่อสร้างทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดฯ ตามที่ทางราชการกำหนด 2.งดการเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นเวลา 15 วัน โดยประสานหน่วยงานทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการปฏิบัติงานดังกล่าวโดยด่วน 3.ให้มีมาตรการตรวจสอบเข้มงวดกับแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการกำกับ ตักเตือน และสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ จะมีการประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 ต่อไป

รัฐบาลขอความร่วมมือผู้ประกอบการควบคุมแคมป์คนงานไม่ให้แรงงานเดินทางกลับต่างจังหวัด

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ห่วงใยกลุ่มคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นในแคมป์ที่พักคนงานต่างๆ ที่มีการเดินทางจากแคมป์ที่พักอาศัยไปสู่สถานที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล รวมถึง 4 จังหวัดภาคใต้คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา  นราธิวาส และจังหวัดสงขลา จึงได้มีมติให้ปิดแคมป์คนงานเหล่านี้เป็นการชั่วคราว เพื่อระงับการแพร่ระบาด โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ดูแลค่าใช้จ่าย เงินค่าจ้างชดเชย ให้แก่ลูกจ้างแทนผู้ประกอบการ ในช่วงที่มีการประกาศปิด 1 เดือน แต่คนงานจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดไว้ โดยกระทรวงแรงงาน จะเข้าตรวจสอบเช็คชื่อคนงานทุกวัน เพื่อทำบัญชีค่าจ้างร่วมกับตัวแทนนายจ้าง หากลูกจ้างคนใดไม่อยู่ในแคมป์ก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป เพราะการจ่ายค่าจ้างนั้นอยู่ที่นายจ้างต้องรับรองด้วย 

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน จะประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อลงไปในพื้นที่และพบกับผู้ประกอบการ เพื่อทำความเข้าใจและชี้แจงมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐบาล พร้อมกับขอความร่วมมือในการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งหมดในเวลานี้ โดยในช่วงที่ปิดแคมป์ กระทรวงแรงงาน จะมีมาตรการเยียวยาให้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ซึ่งเป็นการชดเชยเยียวยากรณีว่างงาน เพราะเหตุสุดวิสัย เนื่องจากถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. ซึ่งในเบื้องต้น กระทรวงแรงงาน มีแผนที่จะทำรายการจ่ายเงินสดให้คนงานที่แคมป์ทุกๆ 5 วัน ตลอดช่วง 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดระยะเวลาที่มีการปิดแคมป์ดังกล่าว ซึ่งกระทรวงแรงงานจะมีระบบตรวจสอบว่าแรงงานที่จะได้รับการเยียวยานั้น จะต้องอยู่ในแคมป์จริงๆ

กระทรวงแรงงาน จะลงไปตรวจโควิด-19 เชิงรุกทุกแคมป์ที่ปิด และหากแคมป์ใดถือว่าปลอดภัยแล้วและได้รับวัคซีนในส่วน ม.33 แล้ว รวมถึงคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงแรงงาน ผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัย จะดำเนินการปลดล็อคให้แคมป์นั้นกลับมาเปิดได้โดยเร็วที่สุด และอาจไม่ต้องรอให้ครบ 1 เดือน ขณะที่โครงการใดที่มีสัญญากับรัฐหรือเอกชน จะมีการขยายระยะเวลาสัญญาให้ในช่วงที่แรงงานต้องหยุดการทำงานทั้งหมด และขอความร่วมมือผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเด็ดขาด และไม่ให้คนงานเดินทางกลับต่างจังหวัด โดยหน่วยงานของรัฐจะเข้าไปดูแลเรื่องอาหาร และความเป็นอยู่ให้เรียบร้อย โดยกระทรวงแรงงาน และผู้ว่าราชการจังหวัด จะขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงเข้าไปดูแล เฝ้าระวังพร้อม ทั้งดูแลความปลอดภัยเพิ่มเติมในแต่ละแคมป์ เพื่อดูความเรียบร้อยในช่วงเวลา 1 เดือนนี้ด้วย

นอกจากนี้ จากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ใน กทม. และปริมณฑล มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลโดย ศบค. จึงขอให้แต่ละจังหวัดเตรียมการเฝ้าระวังป้องกันและมุ่งเน้นการควบคุมโรคในระดับสูง รวมถึงแจ้งเตือนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่เฝ้าระวังบุคคลที่ไปจาก กทม. และจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง โดยพิจารณาเรื่องการ Quarantine อย่างเหมาะสมและเน้นการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง และคนที่มาจากจังหวัดอื่น หากพบการติดเชื้อให้เร่งคัดกรอง ควบคุมและรักษาโดยเร็ว

ส่วนของโรงงานในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดปัตตานี ยะลา สงขลาและจังหวัดนราธิวาส ยังคงสามารถประกอบการได้ตามปกติ แต่ต้องมีการ Bubble & Seal รวมทั้งจะพิจารณากิจการที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค ซึ่งไม่เป็นการปิดทั้งหมด แต่จะมีมาตรการเฉพาะออกมาเป็นการชั่วคราว โดยรัฐบาลจะดูแลเป็นพิเศษทั้งหมดทุกกิจการ ทุกพื้นที่และทุกคลัสเตอร์

 

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] | ประชาชาติธุรกิจ | สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท