สุรพศ ทวีศักดิ์: บทบาทนักบวชและนักวิชาการในพุทธราชาชาตินิยม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถึงแม้ชาวพุทธบ้านเราจะถูกกล่อมเกลาให้เชื่อกันว่า พุทธศาสนาไทยเป็น “เถรวาทแท้” คือเป็นพุทธศาสนาแบบที่รักษาคำสอนและประเพณีเถรวาทตามที่ปรากฏในไตรปิฎกและอรรถกถาไว้ดีที่สุด หากเทียบกับเถรวาทแบบพม่า ศรีลังกา ลาว กัมพูชาแล้ว เราก็ภูมิใจกันว่าเถรวาทไทยรุ่งเรืองกว่าทั้งด้านการศึกษาและการปฏิบัติตามวิถีพุทธธรรม ถึงขนาดประกาศเป็นทางการว่าไทยเป็น “ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก” เลยทีเดียว

แต่ขณะดียวกันกลับมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมาย ที่แสดงให้เห็น “หน้าตา” ของพุทธศาสนาแบบที่เรียกให้ชัดเจนได้ว่า “พุทธราชาชาตินิยม” คือ พุทธศาสนาแบบที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยมที่ถือว่าราชาผู้ปกครองโดยธรรมคือผู้นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชาติและพุทธศาสนา ราชาหรือกษัตริย์จึงเป็นผู้ปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร เชื่อกันว่าประวัติศาสตร์เช่นนี้มีพัฒนาการมาแต่ยุคสุโขทัย แม้จะมีการปรับเปลี่ยนตามบริบททางสังคมการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ความสัมพันธ์ในแบบสนับสนุนกันและกันระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา หรือระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันพุทธศาสนาจะต้องไม่มีวันเปลี่ยนแปลง หรือไม่มีวันแยกเป็นอิสระจากกัน 

หลักฐานรูปธรรมอีกอย่าง คือหน้าตาและความหมายของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ชื่อว่า “สัปปายสภาสถาน” อันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอุดมการณ์ทางการเมืองแบบพุทธราชาชาตินิยมอย่างชัดเจน


 ที่มาภาพ: https://prachatai.com/journal/2010/08/30655

ในทางระบบ/โครงสร้าง จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันสถาบันกษัตริย์ยิ่ง “กระชับอำนาจ” ในการปกครองศาสนจักร (มหาเถรสมาคม) มากขึ้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขล่าสุด พ.ศ. 2561 จำได้ว่าในช่วงสอบถามความคิดเห็นต่อ “ร่าง” แก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ นักวิชาการพุทธแถวหน้าอย่างสมภาร พรมทา ได้แสดงความเห็นทำนองว่า การแก้กฎหมายสงฆ์ให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็น “พระราชอำนาจ” มีข้อดีในแง่ที่จะยุติปัญหาความเป็นการเมืองเรื่องตำแหน่งในวงการสงฆ์ หรือไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง ส่วนกษัตริย์จะแต่งตั้งใครเป็นสมเด็จพระสังฆราช ท่านก็ต้องปรึกษาคณะสงฆ์ก่อนอยู่แล้ว แต่ พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขนี้จะดีหรือไม่ ก็ต้องรอดูผลจากการใช้ไปสักระยะก่อน

ถึงวันนี้กฎหมายสงฆ์ฉบับดังกล่าวได้ใช้มานานแล้ว ปรากฏทางสื่อมวลชนว่า การแต่งตั้งเจ้าคณะปกครองระดับสูงจนถึงเจ้าอาวาสวัดสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ เมื่อคณะกรรมการมหาเถรสมาคมเสนอชื่อพระรูปหนึ่งไป แต่กษัตริย์ให้แต่งตั้งพระอีกรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายสงฆ์ฉบับนี้เลย เพราะตามกฎหมายสงฆ์ฉบับนี้ กษัตริย์มีอำนาจปกครองศาสนจักรแบบสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ถือว่า “มหาเถรสมาคมมีหน้าที่ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติเพื่อถวายให้ทรงมีพระราชวินิจฉัย” ซึ่งเป็นอำนาจปกครองศาสนจักรสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ยังไม่เห็นสมภาร “รีวิว” ผลดี ผลเสียของการใช้กฎหมายซึ่งตนเองเคยสนับสนุนเลย

อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เราเห็นบ่อยๆ ทางสื่อโซเชียลคือ มักจะมีพระวัดป่า หรือพระสายปฏิบัติออกมาแสดงความเห็นสรรเสริญการปฏิบัติธรรม และการเสียสละ “ทรงงานหนัก” เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนของกษัตริยในลักษณะ “ปิดทองหลังพระ” พร้อมๆ กับประณามคนที่ตนมองว่าไม่รู้บุญคุณของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำนองว่าจะเป็นบาปกรรมหนักที่ทำให้ตกนรกหมกไหม้

ดูเผินๆ เหมือนเป็นเรื่องบทบาทเฉพาะบุคคลของพระบางรูป แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของระบบ/โครงสร้างของพุทธราชาชาตินิยมที่ยึดอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ต่างหากที่ผลิตสร้างพระสงฆ์ให้มีบทบาทเช่นนั้นขึ้นมาดังที่เราได้เห็นอยู่เสมอ แม้พระเณรทั่วประเทศก็อยู่ภายใต้กฎของ “ศาสนจักรของพุทธราชาชาตินิยม” ที่กำหนดให้พระสงฆ์ทุกวัดทั่วราชอาณาจักรเทศนาสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ห้ามแสดงความเห็นและชุมนุมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน (ผู้จ่ายภาษีแก่ศาสนจักร) ดังที่เราทราบกันดี

ไม่ใช่เพียงพุทธราชาชาตินิยมจะปลูกฝังจิตสำนึก หรือผลิตสร้าง “นักบวชอวยเจ้า” ที่เห็นอยู่ทั่วไปเท่านั้น แม้แต่ปราชญ์พุทธศาสนาอย่างพุทธทาสภิกขุ, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ทั้งสองท่านนี้สร้างความรู้ด้านพุทธธรรมและตีความพุทธธรรมในมิติตอบสนองต่อการปฏิบัติธรรมของปัจเจกบุคคลที่ก้าวหน้าไว้มากมาย แต่เมื่อตีความพุทธธรรมในทางการเมืองแล้ว ก็หนีไม่พ้นการเสนอความคิดใน “กรอบ” ของพุทธราชาชาตินิยม

นั่นคือ เสนอว่าระบบการเมืองที่ดีต้องเป็นเผด็จการโดยธรรม หรือเผด็จการโดยคนดีที่มีทศพิธราชธรรม และถือว่าอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ขณะที่ข้อเสนอ “ประชาธิปไตยแบบมีธรรมมาธิปไตยกำกับ” ก็เน้นการใช้ธรรมมาธิปไตยตรวจสอบนักการเมืองและประชาชน (ผู้ซึ่งไม่เคยประกาศเป็นสัญญาประชาคมเลยว่าจะใช้ธรรมปกครอง เพราะพวกเขายึดหลักประชาธิปไตย) โดยไม่เคยอ้างธรรมาธิปไตยตั้งตำถามและวิจารณ์ตรวจสอบกษัตริย์ผู้ประกาศ “จะปกครองโดยธรรม” แต่อย่างใด 

นอกจากนี้ท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ยังมีบทบาทสำคัญในการ “ผลิตซ้ำ” และผลิตสร้างพุทธราชาชาตินิยม อันเป็นการสืบทอดแนวคิดของรัชกาลที่ 4, 5, 6 และขยายความพร้อมกับให้เหตุผลสนับสนุนอย่างครอบคลุมรอบด้านมากยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฏในหนังสือหลายเล่มของท่าน (ซึ่งผมวิจารณ์ไว้อย่างละเอียดแล้วในหนังสือ “อำลาพุทธราชาชาตินิยม” ที่จะตีพิมพ์เสร็จในเร็วๆ นี้)

นอกจากที่กล่าวมา อาจสรุปให้เห็น “ลักษณะเด่น” ของบทบาทผู้รู้และนักวิชาการพุทธศาสนาแถวหน้าสองเรื่องหลักๆ คือ

หนึ่ง การนิยมอ้างพุทธธรรมในไตรปิฎก, อรรถกถา เพื่อตรวจสอบ, ตัดสินความเชื่อแบบบ้านๆ แทนที่จะอ้างตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบอำนาจศาสนจักร

บทบาทเช่นนี้เห็นได้ทั่วไป ไล่มาตั้งแต่พุทธทาสภิกขุ, ปัญญานันทภิกขุ, ป.อ. ปยุตฺโต เรื่อยมาถึง “พระเซเลบ” ในปัจจุบัน หากเป็นการปาฐกถาหรือบรรยายวิจารณ์ความเชื่อเชิงไสยศาสตร์ ปาฏิหาริย์ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์งมงายต่างๆ ก็ยังพอทำเนา แต่ถึงขนาดมีนักบวชบางรูปยกทีมไปพบชาวบ้านแล้วเรียกพวกเขามา “ไต่สวนความเชื่อแบบไลฟ์สด” แล้วตัดสินว่าความเชื่อเช่นนั้นไม่มีในไตรปิฎก นี่เป็นการ “ไม่เคารพ” สิทธิในความเชื่อส่วนบุคคลของผู้อื่นหรือไม่

อีกอย่าง นักบวชผู้รู้เหล่านั้นไม่เคย “ฉุกคิด” กันบ้างเลยหรือว่า ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ เรื่องเหนือจริงต่างๆ ของชาวบ้าน อาจได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนานั่นเอง เพราะเรื่องเหนือจริง อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ล้วนมีในไตรปิฎก อรรถถกา และเรื่องเล่าของเกจิอาจารย์ต่างๆ ทั้งนั้นเลย ตั้งแต่เรื่องเกิดมาเดินได้ 7 ก้าว เหาะเหินเดินอากาศ เปิดโลกสวรรค์ นรก ไปจนถึงเรื่องพญานาค ยันเรื่องโพธิสัตว์เคยเกิดเป็นเหี้ยและสัตว์ชนิดต่างๆ เหตุใดเรื่องเล่าพวกนี้ไม่งมงาย แต่ความเชื่อของชาวบ้านงมงาย หรือเหตุใดพิธีกรรมทางศาสนาแบบบ้านๆ หลายเรื่องถูกตีตราว่างมงาย แต่พิธีปลุกเสกแบบทางการของคณะสงฆ์ไม่งมงาย เป็นต้น

สอง บทบาทของนักวิชาการพุทธศาสนาที่ชอบอ้างแนวคิดประชาธิปไตย ไอเดียวัฒนธรรมประชาธิปไตยในทางทฤษฎีหรือแนวคิดนักปรัชญาสำคัญๆ มาตัดสินประชาชนและนักวิชาการด้วยกันเอง (โดยเฉพาะประชาชน, นักวิชาการฝ่ายที่ต่อต้านเผด็จการ) ทำนองว่า เขาเหล่านั้นไม่รู้ประชาธิปไตยจริงบ้าง ไม่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตยเท่ากับตนเองบ้าง แทนที่จะอ้างตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบอำนาจเผด็จการของระบบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ศาสนจักร และอำนาจเผด็จการในมิติอื่นๆ ดังที่นักปรัชญาสมัยใหม่เขาทำกันมาเป็นประเพณี

บทบาททำนองนี้เห็นได้งานเขียนและการบรยายที่เผยแพร่ในยูทูปหลายชิ้นของสมภาร พรมทา มีตั้งแต่ การอภิปรายในงานวันวิสาขบูชาโลกที่ไทยรัฐเอามาลงเรื่องที่เขาพูดถึง “ชาวบ้านเสื้อแดง” ที่มาชุมนุมทำนองว่า ชาวบ้านอีสานเหล่านั้นไม่รู้หรอกว่าประชาธิปไตยคืออะไร ถ้าเอาประชาธิปไตยไปให้พวกเขา ก็ไม่ต่างจากเอาเทคโนโลยีไปให้ พวกเขาจะถามกลับว่า “เทคโนโลยีกิโลละเท่าไร” จนกระทั่งเขียน “นิยาย” บันทึกประวัติศาสตร์การชุมนุมของเสื้อแดงว่า มาชุมนุมเพราะรักทักษิณ รับจ้างชุมนุมวันละ 300 บาท ได้ยินแกนนำพูดบนเวทีเรื่อง “สองมาตรฐาน” ก็ไม่รู้เรื่อง ได้แต่จินตนาการถึง “ฐานพระ” หรือ “ส้วมพระ” ในวัดบ้านนอก เป็นต้น  

กับนักวิชาการฝ่ายต่อต้านเผด็จการ สมภารก็มักหยิบเรื่องหยุมหยิมขึ้นมาวิจารณ์ตัดสินมากกว่าที่จะนำ “ความคิดหลัก/ข้อเสนอหลัก” ของเขามาโต้แย้งด้วยหลักการและเหตุผล เช่น อ้างเรื่องที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเถียงกับคนอื่นๆ ว่าเขาไม่เคยชมว่าคนอื่นคิดได้ดีกว่า แล้วอ้างแนวคิดจอห์น ดิวอี้มาตัดสินว่า สมศักดิ์ไม่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตยเท่าตนเอง แถมยังบอกว่าตนเคยเถียงกับสมศักดิ์ครั้งเดียวในประชาไท จากนั้นสมศักดิ์ไม่กล้ามาตอแยกับตนอีกเลย คงคิดว่าถ้าเจอกับคนคนนี้แล้วอาจจะเจ็บตัว เป็นต้น เรื่องทำนองนี้เห็นได้ใน “คลิปการบรรยายในชั้นเรียน” ของสมภารที่เขานำมาเผยแพร่ทางยูทูป ซึ่งน่าแปลกใจว่า การยกเรื่องยิบย่อยของคนอื่นๆ มาวิจารณ์ตัดสินลับหลังในชั้นเรียนเช่นนั้น มันแสดงถึง “การมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยเหนือกว่า” อย่างไร และรู้ได้อย่างไรว่าคนอื่นไม่กล้ามาเถียงกับตนเพราะกลัวเจ็บตัว

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง สมภารก็พูดและเขียนวิจารณ์ “ประเด็นสถาบันกษัตริย์” ด้วยเช่น ดูเหมือนเขาจะเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย “ควรมีบทบาททางวัฒนธรรม” เท่านั้น และเห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เขาจะระมัดระวังมากเป็นพิเศษ และเรียกร้องให้ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ระวัดระวังด้วย เช่นเขาเสนอว่าการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ควรใช้เหตุผลและใช้ “ความนุ่มนวล” ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคนรักสถาบันที่มีอยู่จำนวนมากด้วย ขณะที่แทบไม่พูดถึงประชาชนฝ่ายผู้ถูกกระทำอย่างอยุติธรรมและรุนแรงจาก “การล่าแม่มด” ทั้งด้วยวิธีใช้กฎหมายและวิธีนอกกฎหมายเลย

ในอีกด้านหนึ่งสมภารก็แสดงความชื่นชมในด้านที่ตนเห็นว่า “ดี” ด้วย เช่นชื่นชมว่า ในหลวง ร.9 มีใจกว้างที่แปลหนังสือ “ติโต” ทั้งๆ ที่เป็นความคิดของฝ่ายคอมมิวนิสต์ หรือชมนายทหารใหญ่รองหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นประธานกรรมการสองคณะที่สมภารร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วยว่า นายทหารคนนั้น “มีวัฒนธรรมฉันปัญญาชน” เพราะเปิดกว้างรับฟังความเห็นต่างในที่ประชุมเป็นต้น แต่แล้วนายทหารผู้มีวัฒนธรรมฉันปัญญาชนนั้น ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา สว.ที่ทำการสรรหาตนเองให้เป็น 1 ใน 250 สว.ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการด้วย  

หากจะพูดรวมๆ แล้วกล่าวได้ว่านี่เป็น “โทนเสียง” ที่ต่างกัน ระหว่างการพูดถึงผู้มีอำนาจ กับพูดถึงคนระดับชาวบ้าน และนักวิชากรฝ่ายต่อต้านเผด็จการ

หรือพูดอีกอย่างว่า ทั้งหมดที่ว่ามานั้น เป็นบทบาทของนักบวชผู้รู้ธรรม และนักวิชาการพุทธแถวหน้าที่วิจารณ์ความเชื่อ, ความคิดของประชาชน, นักวิชาการด้วยกัน และวิจารณ์อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบ “วิจารณ์ไป กราบไป” ซาบซึ้งไป ซึ่งเป็น “ประเพณี” (tradition) ของการวิจารณ์ในแบบที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุน “การคงอยู่” ของระบบ/โครงสร้าง และวัฒนธรรมอำนาจของรัฐและศาสนจักรแบบพุทธราชาชาตินิยม ไม่ใช่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยแต่อย่างใด 

 

ที่มาภาพปก: https://www.winnews.tv/news/22309

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท