Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 5,916 ราย ติดเชื้อสะสม 283,067 ราย รักษาหายเพิ่ม 3,404 ราย รักษาหายสะสม 220,903 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 44 ราย เสียชีวิตสะสม 2,226 ราย - พบคลัสเตอร์ใหม่ใน 5 จังหวัด โรงงานในแม่สอดติดเชื้อ 153 คน - คปภ.เพิ่ม 3 มาตรการป้องกันฉ้อฉลประกันโควิด - เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แจงพบอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม เพียง 0.1%

4 ก.ค.2564 ศบค.รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ระลอก เม.ย.2564 ผู้ป่วยรายใหม่ 5,916 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสม 254,204 คน หายป่วยแล้ว 193,477 คน เสียชีวิตสะสม 2,132 คน ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 283,067 คน หายป่วยแล้ว 220,903 คน เสียชีวิตสะสม 2,226 คน

ขณะที่ ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 3 ก.ค.2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 10,670,897 โดส ขณะที่วันที่ 3 ก.ค.2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 81,032 คน เข็มที่ 2 จำนวน 17,573 คน

ขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อตามพื้นที่ ระลอก เม.ย.2564 (1 เม.ย. - 4 ก.ค.2564) กรุงเทพฯ (ไม่รวมเรือนจำ) ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,498 คน ผู้ติดเชื้อสะสม 80,515 คน ผู้เสียชีวิต 30 คน ปริมณฑล (5 จังหวัด) ไม่รวมเรือนจำ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,762 คน ผู้ติดเชื้อสะสม 54,806 คน ผู้เสียชีวิต 6 คน

4 จังหวัดภาคใต้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 699 คน ผู้ติดเชื้อสะสม 13,142 คน ผู้เสียชีวิต 3 คน จังหวัดอื่น (67 จังหวัด) ไม่รวมเรือนจำ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,912 คน ผู้ติดเชื้อสะสม 66,798 คน ผู้เสียชีวิต 5 คน เรือนจำและที่ต้องขัง ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 39 คน ผู้ติดเชื้อสะสม 37,225 คน ผู้เสียชีวิต 0 คน

พบคลัสเตอร์ใหม่ใน 5 จังหวัด

ขณะที่การพบการระบาดใหม่ 5 คลัสเตอร์ ใน อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร  บ.เครื่องใช้ในครัวเรือน ผู้ติดเชื้อ 15 คน ,  อ.พานทอง จ.ชลบุรี  บ.พิมพ์บรรจุภัณฑ์ ผู้ติดเชื้อ 16 คน , อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี แคมป์ก่อสร้าง ผู้ติดเชื้อ 28 คน , อ.แม่สอด จ.ตาก โรงงานเสื้อผ้า ผู้ติดเชื้อ 153 คน และ  อ.คลองท่อม จ.กระบี่ โรงเรียน ผู้ติดเชื้อ 14 คน

ขณะที่ สถานการณ์ทั่วโลก เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 184,233,949 คน อาการรุนแรง 77,793 คน รักษาหายแล้ว 168,609,914 คน เสียชีวิต 3,987,322 คน

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 34,588,176 คน, 2. อินเดีย จำนวน 30,544,485 คน, 3. บราซิล จำนวน 18,742,025 คน, 4.ฝรั่งเศส จำนวน 5,783,654 คน 5.รัสเซีย จำนวน 5,585,799 คน, ขณะที่ ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 65 จำนวน 283,067 คน

คปภ.เพิ่ม 3 มาตรการป้องกันฉ้อฉลประกันโควิด

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า กรณีมีผู้ชักชวนให้จงใจติดเชื้อ COVID-19 เพื่อเอาเงินประกันผ่านสังคมออนไลน์ จึงได้ร่วมพิจารณาเรื่องนี้กับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ มีมติให้ดำเนินการเพิ่ม 3 มาตรการ ได้แก่ 1. การป้องปรามและดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่มีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อจูงใจหรือยั่วยุให้ผู้อื่นกระทำความผิด เช่น ความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือการโฆษณาขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ความผิดเกี่ยวกับโรคติดต่อ

2. ให้เร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยและแนวทางในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงตามนโยบายการรับประกันภัยของแต่ละบริษัทแก่ประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการฉ้อฉลประกันภัย

และ 3. ควรเร่งบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และ สคบ. เพื่อการป้องกันและป้องปรามพฤติการณ์การฉ้อฉลประกันภัย รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและเฝ้าระวังเหตุอันควรสงสัยในพฤติการณ์ดังกล่าวทั้งหมดนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ

เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แจงพบอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม เพียง 0.1%

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แจงรายละเอียดรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ระบุว่าจำนวนผู้ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มทั่วประเทศ 67,992 ราย ร้อยละ 97 ไม่พบอาการผิดปกติ ในส่วนการเกิดอาการไม่พึงประสงค์นั้น พบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาทีระหว่างรอสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีน เพียง 100 รายจากทั้งหมด 67,992 รายที่รับวัคซีน คิดเป็น 0.1% เท่านั้นที่มีอาการไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาทีหลังรับวัคซีน และอาการที่พบบ่อยได้แก่ เวียนศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ทุกรายมีอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง

ในส่วนการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีนซิโนฟาร์ม 1 วันนั้น ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้จัดส่ง sms รายงานอาการไม่พึงประสงค์แก่ผู้รับบริการวัคซีน เพื่อติดตามความปลอดภัย อาการข้างเคียงได้อย่างทันท่วงที พบว่ามีผู้ตอบ sms จำนวน 17,154 ราย คิดเป็น 25% ของผู้รับบริการวัคซีน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ ในจำนวนผู้ที่รายงานว่ามีอาการผิดปกตินั้น พบว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยได้แก่ ปวดศรีษะ (2.3%), อ่อนเพลีย (1.7%), ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (1.7%), ปวด บวมบริเวณที่ฉีดยา (1.6%), ไข้ (1.5%) ซึ่งสอดคล้องกับผลการรายงาน evidence assessment: Sinopharm/BBIBP COVID-19 vaccine ของ WHO :ซึ่งรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีดยา ปวดศรีษะและอ่อนเพลีย

ในส่วนของการรักษาพยาบาลนั้น ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีความเป็นห่วงในความปลอดภัยของผู้รับบริการวัคซีนทุกราย ในกระบวนการรับวัคซีนซิโนฟาร์มนั้นจะมีประกันสุขภาพ เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลเมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ ที่เกิดขึ้น สามารถเคลมประกันเข้ารับการรักษาได้โดยง่าย จากรายงานบริษัทประกันพบว่า มีผู้รับบริการฉีดวัคซีนแล้วขอเคลมประกันรักษาพยาบาลอาการไม่พึงประสงค์โดยรับการรักษาใน รพ. จำนวน 8 ราย ซึ่งขณะนี้ขอเน้นย้ำว่า “ยังไม่มีการรายงานอาการรุนแรงจากการรับวัคซีนซิโนฟาร์มเลย”

ในส่วนการรายงานอาการที่เกิดขึ้นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนซิโนฟาร์มนั้น ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รายงานทุกเหตุการณ์ด้วยความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการรับบริการวัคซีนซิโนฟาร์ม ดังนั้นจึงรายงานอาการไม่พึงประสงค์โดยพบผู้ป่วยโรคลมชักและเบาหวานชนิดพึ่งอินสุลิน 1 ท่าน มารับบริการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์มที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น พบมีอาการชัก ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณได้ให้การรักษาและตรวจวินิจฉัยด้วย CT Scan ,MRI และ MRA สมองนั้น ไม่พบความผิดปกติในสมอง การวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท วินิจฉัย pseudoseizure ซึ่งได้รับการรักษาและผู้ป่วยอาการกลับเป็นปกติ กลับบ้านได้

ดังนั้นขอให้ประชาชนผู้รับบริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ได้มั่นใจว่าวัคซีนซิโนฟาร์มมีความปลอดภัยสูง อาการไม่พึงประสงค์พบเป็นเพียงอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงเลยจากการฉีดวัคซีนทั้งหมด 67,992 ราย

รพ.ราชวิถี ตรวจพบบุคลากรติดโควิด-19 งดผ่าตัด-รับผู้ป่วยใน 5-16 ก.ค. 2564

โรงพยาบาลราชวิถี ประกาศเรื่อง ตรวจพบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยระบุว่า จากการตรวจพบบุคลากรของศัลยกรรมทั่วไป ผู้ป่วยใน โรงพยาบาลราชวิถี ติดเชื้อโควิด-19 คณะกรรมการควบคุมการติดเชื้อ ในโรงพยาบาลได้ดําเนินการสอบสวนโรค พบบุคลากรจํานวนหนึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัว ด้วยเหตุนี้ จึงกําหนดแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วย ดังนี้

1. กลุ่มงานศัลยศาสตร์ทั่วไป ของดให้บริการผ่าตัด และรับผู้ป่วยในตั้งแต่วันที่ 5-16 ก.ค. 2564
2. ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ศัลยกรรมทั่วไป เปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยเก่าที่มีนัดเดิมเท่านั้น
3. งดรับผู้ป่วยส่งต่อ และผู้ป่วยใหม่ทุกกรณี

ทั้งนี้ โรงพยาบาลราชวิถี ขอความร่วมมือผู้รับบริการทุกท่าน งดการเดินทางมายังโรงพยาบาล หากไม่มีความจําเป็นเร่งด่วน และขอให้ทุกท่านติดตามการรายงานสถานการณ์และประกาศจากทางโรงพยาบาล ซึ่งจะมีประกาศเป็นระยะๆ ในลําดับถัดไป ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือ และขออภัย ในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้

 

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย | ไทยรัฐออนไลน์
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net