กลุ่ม ‘โมกหลวงริมน้ำ’ จัดรำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย เรียกร้องยุติการคุกคามผู้เห็นต่าง

ประมวลกิจกรรม ‘คืน-ยุติธรรม’ รำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 64 ตรงข้ามทำเนียบ จัดโดย กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ไฮไลท์สำคัญมีการเสวนาของญาติและบุคคลใกล้ชิดผู้ถูกบังคับสูญหาย ประชาชนที่ถูกรัฐคุกคาม พร้อมแขกพิเศษ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์  

 

5 ก.ค. 64 ผู้สื่อข่าวประชาไท ประมวลกิจกรรมรำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 4 ก.ค. 64 ที่แยกพาณิชยการ เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล จัดโดย กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 

กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 17.30-21.30 น. โดยไฮไลท์สำคัญคือการเสวนาของญาติและบุคคลใกล้ชิดผู้ถูกบังคับสูญหาย ประชาชนที่ถูกรัฐคุกคาม โดยเรื่องราวที่เขามาร่วมสะท้อน มีตั้งแต่ความรู้สึกของการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ปัญหาที่ต้องเผชิญระหว่างการเรียกร้องความยุติธรรม และการถูกภาครัฐคุกคามอย่างไม่เป็นธรรม ก่อนที่จะปิดท้ายด้วย แขกพิเศษ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่อัดคลิปวิดีโอตนเอง ส่งมาที่งานนี้แบบเอ็กซ์คลูซีฟ 

ทั้งนี้ ในระหว่างที่กลุ่มโมกหลวงริมน้ำจัดกิจกรรม ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานด้วยว่า เวลา 18.00 น. พบกลุ่มประชาชน ภายหลังทราบชื่อว่า ‘กลุ่มสิทธิชนต่อต้านเผด็จการ’ เดินทางมาแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองที่หน้าทำเนียบรัฐบาลโดยการถือป้ายเป็นข้อความต่างๆ ที่แสดงความไม่พอใจต่อการบริหารช่วงโควิด-19 ของรัฐบาล นำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เช่น ‘รัฐอำมหิต’ ‘ตู่อยู่โควิดอยู่ ทักษิณมาโควิดไป’ ‘Vaccine ที่ดี No Sinovac’ และอื่นๆ 

นอกจากนี้ ทางกลุ่มสิทธิชนต่อต้านเผด็จการ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มฯ ทำกิจกรรมนี้ต่อเนื่องนานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว โดยสมาชิกจะมายืนแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หน้าทำเนียบฝั่งถนนพิษณุโลก เป็นประจำ เวลา 17.30 น. ของทุกวัน

บรรยากาศการทำกิจกรรมของกลุ่มสิทธิชนต่อต้านเผด็จการ

เรื่องเศรษฐกิจก็ต้องพูด การบังคัญสูญหายก็ต้องหยุด

"ลองคิดว่าถ้าวันหนึ่งเป็นคุณที่ตั้งคำถามกับนาย หรือหัวหน้าคุณ หรือว่าเป็นคนในครอบครัว เป็นลูก เป็นสามี ภรรยาคุณ แล้วการแสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากผู้มีอำนาจแล้วต้องถูกคุกคาม บางคนถูกทำร้าย ถูกกดดันในหน้าที่การงาน บางคนต้องโดนข้อกล่าวหาทางกฎหมาย ลองคิดสภาพว่ามันสมควรไหม ทั้งที่คุณก็แค่ความเห็นไม่ตรงกับเขา"

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช แกนนำกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมรำลึกผู้ถูกบังคับสูญหายครั้งนี้ ระบุ 

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง แกนนำกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ
 

นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า ที่เขามาจัดกิจกรรมในวันนี้ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการคุกคามผู้ที่แสดงความเห็นที่แตกต่าง เขาตระหนักถึงกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เขาเริ่มทำกิจกรรม และถือเป็นกรณีที่ใหญ่ เพราะวันเฉลิมไม่ได้ทำอะไรที่รุนแรง แต่ก็ต้องลี้ภัยและถูกบังคับสูญหาย แล้วรัฐยังตีหน้าซื่อ บอกว่าไม่ได่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่เป็นคนที่บีบให้เขาหนี 

"ถ้าเรื่องนี้มันเกิดกับพี่ต้าร์ (ชื่อเล่นของวันเฉลิม) ได้ มันก็อาจจะเกิดกับใครก็ได้" โสภณ สำทับ 

นอกจากนี้ เขาระบุด้วยว่า วันนี้บางคนอาจจะคิดว่าต้องพูดถึงเรื่องการอยู่รอด เรื่องเศรษฐกิจก่อน แต่ว่าเรื่องการถูกคุกคามเพราะการแสดงความเห็นก็เป็นเรื่องที่ต้องทำให้จบลงเช่นกัน

รำลึกทนง โพธิ์อ่าน นักสู้เพื่อสิทธิแรงงาน ผู้ถูกบังคับสูญหายยุค รสช.  

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเมื่อเวลา 19.02 น. สรุปเสวนา รำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย หน้าทำเนียบรัฐบาล 

วรชาติ อหันทริก ที่ปรึกษาด้านสิทธิแรงงาน เพื่อนของทนง โพธิ์อ่าน นักสิทธิแรงงาน ผู้ถูกบังคับสูญหายเมื่อ 19 มิถุนายน 2534 วรชาติร่วมเสวนาในกิจกรรมวันนี้ โดยเล่าถึงเรื่องราวของทนงว่า ทนงได้ผลักดันเรื่องสิทธิและสวัสดิการของแรงงาน ทั้งเรื่องสวัสดิการแห่งรัฐ ค่าแรงขั้นต่ำ และ พ.ร.บ. ประกันสังคม สร้างอำนาจในการต่อรองของแรงงานกับรัฐบาล เมื่อเขาถูกอุ้มหายในรัฐบาลรัฐประหาร รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ในวันก่อนที่จะต้องไปประชุมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เขาประกาศว่าจะนำความไม่เป็นธรรมต่อแรงงานไปตีแผ่ในเวทีโลก แม้ถูกรัฐบาลห้ามเดินทางและตัดงบ ทนงก็ใช้ทุนรอนของตัวเองเพื่อจะเดินทางไป แต่ทรงไปไม่ถึงจุดหมาย เพราะถูกอุ้มหายไปก่อน 

วรชาติ อหันทริก ที่ปรึกษาด้านสิทธิแรงงาน เพื่อนของทนง โพธิ์อ่าน (ซ้าย)

วรชาติ เชื่อว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาถูกอุ้ม คือการที่ทนง ไปชี้หน้าด่าพลเอก สุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะ รสช. ว่า "ประชาธิปไตยกำลังจะเต็มใบ แต่ดันมีควายมายืนขวาง"

จากนั้นไม่นาน รสช. ประกาศแยกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจาก พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอลง พี่น้องแรงงานมีอำนาจต่อรองที่น้อยลง

วรชาติ กล่าวว่า ขบวนการแรงงานก็ได้สานต่อความตั้งใจของทนง ในการผลักดันเรื่องสวัสดิภาพแรงงาน ให้มีโครงสร้างค่าแรงเป็นลำดับขั้น ไม่ใช่ทำงาน 5 ปี 10 ปีก็ยังเป็นค่าแรงขั้นต่ำอยู่

ท้ายสุด วรชาติ เรียกร้องให้ประชาชนอย่ายอมแพ้ ต้องลุกขึ้นต่อสู้ และสานต่ออุดมการณ์ของผู้ถูกทำให้สูญหายไป

ยืนยันจะร่วมชุมนุมต่อ แม้ถูกดักทำร้าย

เวลา 19.33 น. เบิร์ด ประชาชน และผู้ร่วมเสวนากิจกรรมจัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เปิดเผยประสบการณ์การถูกดักทำร้าย และความเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ในการสืบหาตัวผู้กระทำความผิด

ก่อนเล่าเหตุการณ์ที่เขาถูกทำร้าย เบิร์ด เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่เขาเริ่มออกมาร่วมชุมนุมว่า เป็นเพราะเขารู้สึกโกรธมาก และรับไม่ได้กับการบังคับสูญหายของวันเฉลิมที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา 

“ผมรับไม่ได้ตอนที่คุณวันเฉลิมถูกอุ้ม และก็คนในสังคม รวมทั้งรัฐ ทั้งสลิ่ม เขาทำเรื่องนี้เป็นเรื่องตลก (make fun) จากการหายตัวไปของวันเฉลิม ผมเลยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ตอนนั้น” เบิร์ด กล่าว 

เบิร์ด ประชาชนผู้ถูกดักทำร้าย ขณะกลับจากม็อบวันที่ 6 มีนา หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาฯ โดยกลุ่ม REDEM (ที่มา ไลฟ์สดผ่านช่องทางยูทูปของ Voice TV)
 

เบิร์ด กล่าวว่า ตนไปม็อบมาตลอด จนกระทั่งวันที่ 6 มี.ค. 64 ขณะที่เขากลับบ้านจากการชุมนุมที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาฯ เบิร์ด ถูกกลุ่มชาย 4 คน สะกดรอยตามมาจากม็อบ และลอบทำร้าย เบิร์ด จนกระดูกที่หลังร้าว

เบิร์ด กล่าวต่อว่า วินาทีแรกที่โดนทำร้าย เขาทราบทันทีว่าตำรวจจะไม่ช่วยอะไร แม้จะแจ้งความก็ตาม และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ หลังเบิร์ดเข้ารักษาที่โรงพยาบาล และเริ่มมีเรี่ยวแรงลุกขึ้นเดินได้ ตำรวจไม่ทำอะไรเลย เบิร์ดต้องหาพยานหลักฐานด้วยตัวคนเดียวทั้งหมดเพื่อเอาผิดกับคนร้าย คุยกับเพื่อนบ้านเพื่อขอภาพในกล้องวงจรปิด สัมภาษณ์พยาน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เบิร์ดหันมาตั้งคำถามต่อการทำงานของตำรวจว่านี่เป็นงานของตำรวจใช่หรือไม่ ทำไมเหยื่อต้องมาหาหลักฐานเอง 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส แต่เบิร์ด ยืนยันว่าเขาจะมาร่วมชุมนุมต่อไป เพราะเขารู้สึกว่ามันเป็น 'หน้าที่' ที่ต้่องออกมาส่งเสียง เมื่อสังคมมันบิดเบี้ยว 

“ตอนที่ผมโดนทำร้าย จนฟื้น เริ่มเดินได้ ผมก็ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง … ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดี แต่มันเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ ไม่ใช่เพื่อให้คนชม แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำเมื่อเราอยู่ในสังคมที่มันบิดเบี้ยว” เบิร์ด ทิ้งท้าย

พ.ร.บ. ต่อต้านการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย หวังเคสวันเฉลิมเป็นเคสสุดท้าย

เวลา 20.16 น. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขึ้นปราศรัยกิจกรรม รำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย ระบุว่า การบังคับสูญหายคือการทำให้พยานหลักฐานหายไป กรณีวันเฉลิมนั้นเป็นเรื่องที่สำนักข่าวต่างประเทศให้ความสนใจ ญาติและทีมงานกฎหมายได้ยื่นเรื่องต่อศาลกัมพูชาและแจ้งต่อรัฐบาลไทยไปแล้วว่า วันเฉลิมอาศัยอยู่ในกัมพูชาจริงในช่วงที่เกิดเหตุ แต่เอกสารที่ยื่นต่อศาลกัมพูชาไป ก็ถูกพยายามบิดเบือน ปฏิเสธให้ได้ว่าเหตุที่เกิดไม่ได้เกิดที่กัมพูชา และยังมีหลักฐานว่าวันเฉลิมถูกติดตามโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยด้วย

พรเพ็ญ กล่าวว่า การบังคับสูญหายคือการควบคุมตัว และการทรมานจนไม่ให้กลับสู่สังคม และมีการซ่อนเร้นศพ ถือเป็นข้อหาที่ร้ายแรง และยังไม่มีความผิดทางอาญาในกฎหมายไทย บทลงโทษที่เคยมีขึ้นคือกรณีทนายสมชาย คือข้อหาบังคับหน่วงเหนี่ยว ซึ่งความผิดก็ไม่สมกับการกระทำ

ภาคประชาชนมีการร่าง พ.ร.บ. ต่อต้านการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย เพื่อทำให้การกระทำข้างต้นเป็นอาชญากรรม ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาในลำดับท้ายๆ และถ้าหากยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ กรณีของวันเฉลิมก็คงไม่ใช่คดีสุดท้าย

'ผู้ถูกบังคับสูญหาย มักเป็นคนสำคัญของใครสักคน'

เวลา 20.39 น. กึกก้อง บุปผาวัลย์ บุตรชายของ ชัชชาญ บุปผา​วัลย์ หรือ "ภูชนะ" นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 53 ปี ผู้ถูกบังคับสูญหายเมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 วันนี้ตัวของกึกก้องไม่ได้มาพูดด้วยตัวเองในพื้นที่กิจกรรมรำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย แต่โฟนอินเข้ามาแทน โดยกึกก้อง เล่าประสบการณ์ถูกรัฐคุกคาม แม้ว่าบิดาของเขา ภูชนะ จะจากไปแล้ว 

กึกก้อง บุปผาวัลย์ บุตรชายของ ชัชชาญ บุปผา​วัลย์ หรือ "ภูชนะ"

กึกก้อง ระบุว่า หลังบิดาตนเสียมีตำรวจมาติดตามที่บ้านและติดต่อมาสอบถามเยอะ ไม่ได้เดือดร้อน แต่ว่าทำให้มีคำถามว่าจะอะไรนักหนา ยิ่งตอนจัดงานศพ ก็มีคนไม่ทราบหน่วยงานมาสอบถามว่ารู้ไหมว่าจัดงานให้ใคร มีใครมาร่วมบ้าง

กึกก้อง กล่าวต่อว่า เคยมีกรณีคนอ้างว่าขอยึดโทรศัพท์เพื่อเอาไปตรวจสอบ ตอนนั้นความรู้เรื่องกฎหมายไม่มี จึงลบข้อมูลไลน์ที่ติดต่อกับพ่อไปทั้งหมด ในนั้นที่คุยกับพ่อครั้งสุดท้าย พ่อบอกว่าต้องกบดาน จะติดต่อไม่ได้สักพัก เมื่อ 13 ธ.ค. 2561 ก็ตอบว่าโอเค ติดต่อได้เมื่อไหร่ก็ติดต่อมา เพราะวันที่ 23 ธ.ค. 2561 จะเป็นวันเกิดเขา อยากวิดีโอคอลล์ให้ลูกหลานได้พูดคุย แต่ก็หายไปตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2561 

หลังภูชนะจากไป ก็มีข่าวว่าพ่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เสียเช่นกัน แววตาประยุทธ์ ดูไม่มีความสุข ก็เข้าใจเหมือนกันว่าเป็นแววตาของคนเสียพ่อ แต่ตนเสียพ่อไปกลับไม่มีโอกาสแม้แต่จะร่ำลา ภาพสุดท้ายของพ่อที่เห็นคือศพที่อยู่ในห้องนิติเวช ที่รู้ผลว่าเป็นเขา เพราะผลจากนิติวิทยาศาสตร์ และในกลุ่มผู้ลี้ภัยที่หายไป หลายคนก็เป็นพี่ เป็นพ่อ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นคนที่สำคัญของใครสักคนกันทั้งนั้น 

อำนาจที่รัฐบาลจะทำได้อย่างแรกคือการยอมรับว่าเขาเหล่านั้นคือมนุษย์คนหนี่ง ถ้ายอมรับว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เกมต่อรองผลประโยชน์อะไร ก็ควรมีอะไรที่เป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ตอนนี้ไม่รู้รัฐบาลไปโฟกัสเรื่องอะไร ตอนนี้รู้สึกว่าประเทศที่เป็นแบบนี้ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว

พลังทุกคนสามารถยุติการสูญหายได้

เวลา 21.13 น. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม และประกายดาว พฤกษาเกษมสุข อดีตคนรักของวันเฉลิม : ร่วมเวทีเสวนา เพื่อสะท้อนเรื่องราวของตามหาวันเฉลิม และความฟ่อนเฟะของกระบวนการยุติธรรมไทย

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (กลาง) และ ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข (ขวา)
 

เบื้องต้น สิตานัน กล่าวถึงของการสูญเสียวันเฉลิมว่า การสูญเสียคนๆ หนึ่ง คนที่ได้รับความรู้สึกมากที่สุดคือคนในครอบครัว แต่ครั้งนี้แย่ยิ่งกว่า เพราะการหายตัวไป ไม่เห็นศพ ไม่ทราบชะตากรรมเลยว่าวันเฉลิมเป็นยังไง เวลานึกถึงทุกครั้ง มันทำให้สะเทือนใจมากยิ่งขึ้น  

สำหรับประเด็นการคุกคามก่อนที่วันเฉลิมหายไป ประกายดาว ระบุว่า ในฐานะที่ตนได้มีโอกาสไปกัมพูชา เพื่อเยี่ยมวันเฉลิม ก็มีเหตุการณ์ที่เธอได้เป็นประจักษ์พยานการคุกคามจากรัฐ คือเมื่อปี 2015 มีกลุ่มคนแอบติดตามเธอในวันที่เธอไปเยี่ยมวันเฉลิมที่กัมพูชา ขณะที่ตัววันเฉลิม เคยระบุด้วยว่า บางครั้งก็รู้สึกได้ว่า มีคนไทยมาป้วนเปี้ยนแถวคอนโดฯ ที่เขาอาศัย

สิตานัน กล่าวถึงการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้วันเฉลิม หากย้อนไปตอนที่สิตานัน เริ่มเข้ามาตามหาวันเฉลิม รัฐบาลไทยมักอ้างว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการหายไปของเขา ไม่ทราบว่าเขาอยู่ไหน แต่สุดท้าย สิตานัน ได้หลักฐานที่ชี้ชัดว่า แท้จริงแล้ว รัฐไทยติดตามวันเฉลิมตลอด

สิตานัน กล่าวต่อว่า 1 ปีที่ผ่านมา ตนได้ไปยื่นเรื่องให้หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานช่วยติดตาม แต่ไร้ความคืบหน้า เพราะเขาอ้างว่า ไม่ทราบว่าวันเฉลิม หายที่ไหน แต่ทางสิตานัน ยืนยันหนักแน่นว่า หลักฐานของเธอชี้ชัดว่า วันเฉลิมหายตัวไปจากกัมพูชา แต่รัฐไทยยังปฏิเสธตลอด

“ถ้าคุณบอกว่า เรากดดันคุณน่ะไม่ใช่ เพราะผ่านมา 1 ปี คุณไม่ทำอะไรเลย คุณเลือกที่จะนิ่ง ไม่สืบสวน พี่มองว่าเรากดดันมันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คุณไม่ทำมันเป็นเรื่องแปลก การละเลยปฏิบัติหน้าที่ และเพิกเฉยต่อกระบวนการยุติธรรมที่จะตามหา และกล้าพูดว่ารัฐไทยมีส่วนกับการกระทำในครั้งนี้แน่นอน” สิตานัน กล่าว

สิตานัน ระบุว่า ตนพอเข้าใจว่าทำไมต้องเป็นต้าร์ และทราบว่าต้าร์ทำอะไรบ้าง ก่อนทิ้งท้ายว่า “ถ้าเราไม่เข้มแข็ง ถ้าพวกเราไม่ออกมาช่วยรณรงค์มันอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่ถ้าเราเข้มแข็งและออกมากันทุกคน และออกมาเป็นพลังให้ซึ่งกันและกัน พี่คิดว่าก็ไม่ง่าย ที่จะมีคนหายอีกต่อไป”

ถึงเวลาที่ทุกคนต้องส่งเสียง-กดดันรัฐไทยยุติการคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง  

ประชาไท รายงานติดตามการทำกิจกรรมรำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย ที่แยกพาณิชยการ เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ฝั่งตรงข้ามทำเนียบ เวลาประมาณ 21.00 น. ส่งวิดีโอของตนเข้ามาในงานรำลึกผู้สูญหาย โดยกล่าวว่า เดิมทีเมื่อมีการหายตัวไปของผู้ลี้ภัยไทยชุดแรกๆ อย่างวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) หรือ อิทธิพงษ์ สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) ก็ยังนึกว่าอาจไม่ใช่รัฐไทยที่เป็นคนทำ แต่พอมีหลายกรณีมาขึ้นที่เหยื่อเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ ก็ทำให้สรุปได้ว่าไม่มีทางเป็นอื่นได้ การที่รัฐไทยกระทำการเช่นนี้ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยที่ร้ายแรง 

ปวิน ชัชวาลพงษ์พันธ์ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยชาวไทย
 

ปวิน กล่าวว่า ตนถือว่าโชคดีที่ไม่ได้รับอันตรายมากนักจากการถูกบุกห้องพักและติดตามตัวขณะอยู่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้ตำรวจญี่ปุ่นได้จับตัวคนกระทำผิดในกรณีหลังได้แล้ว แต่ในกรณีของวันเฉลิม ถือว่าอุกอาจ และอยากให้เป็นกรณีสุดท้าย ไม่มีประเทศใดในโลกที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย แต่ทำแบบนี้กับคนเห็นต่าง ถึงเวลาที่ทุกคนต้องส่งเสียง ตนก็ได้ส่งเสียงเท่าที่ทำได้ทั้งด้วยการเขียนบทความ และใช้เครือข่ายที่รู้จักในเวทีนานาชาติ เพื่อสร้างแรงกดดันจากนอกประเทศ

เวลา 21.20 น. มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยการจุดเทียน และวางดอกไม้ เพื่อรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหาย เนื่องด้วยข้อหาทางการเมือง ก่อนประกาศยุติกิจกรรม และประชาชนทยอยแยกย้ายออกจากพื้นที่ทำกิจกรรม

“การจุดเทียนครั้งนี้ไม่ได้รำลึกถึงผู้ที่ตาย และผู้ที่สูญหายไปแล้ว แต่รวมถึงผู้ที่มีชีวิต และถูกคุกคามโดยรัฐ ให้วันหนึ่งเขาได้รับความยุติธรรม และได้ใช้ชีวิตกับครอบครัว กับคนรักเหมือนเดิม เป็นกำลังใจให้ครอบครัวและคนรักของเขาด้วยที่ต้องสู้โดยไม่ทราบจุดหมายจะจบลงที่ไหน” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง แกนนำกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กล่าว

 
ภาพบรรยากาศช่วงจุดเทียน และวางดอกไม้รำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท