'ก้าวไกล' จี้ ‘ประยุทธ์’ ทบทวนคำสั่งลอยเเพแรงงานต่างชาติ ฉะ ‘ใบอนุญาตปล่อยตาย’ เลือกปฏิบัติเพื่อปกปิดความผิด

‘แรงงานก้าวไกล’ ประสานเสียง จี้ ‘ประยุทธ์’ ทบทวนคำสั่งลอยเเพแรงงานต่างชาติ  ‘สุเทพ’ ฉะ ‘ใบอนุญาตปล่อยตาย’ เลือกปฏิบัติเพื่อปกปิดความผิดพลาดในการบริหารวิกฤต ‘วรรณวิภา’ ซัด ‘สุชาติ’ ถ้ารัฐมนตรีแรงงานไม่ช่วยแรงงาน แล้วยังจำเป็นต้องมีรัฐมนตรีอยู่หรือไม่ ด้าน 'กรมการจัดหางาน' ชี้ยกเลิกโครงการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวด้านสาธารณสุข หาช่องช่วยแบบใหม่

 

14 ก.ค. 2564 วันนี้ สุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนปีกเเรงงาน พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นผ่านเฟสบุคเเฟนเพจส่วนตัว กรณีที่มีหนังสือของกรมจัดหางาน เรื่อง แจ้งยกเลิกโครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข ในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 

สุเทพ กล่าวว่า ณ วันนี้ วิกฤติโควิดอาจจะน่ากลัวน้อยกว่าวิกฤตปัญญาความสามารถในการจัดการเพื่อควบคุมโรคของรัฐบาลแล้ว รัฐมีนโยบายเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างชัดเจน ไล่เรียงมาตั้งแต่นโยบายการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบการโควิดด้วยการเยียวยาตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ไม่รวมแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคม กีดกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยการจำกัดให้การตรวจหาเชื้อสามารถตรวจได้เฉพาะแรงงานที่มีเอกสารเท่านั้น ทั้งที่รัฐทราบดีว่า ‘โควิดไม่เลือกที่รักมักที่ชัง’  จะชาติไหน มีบัตรหรือไม่ก็มีโอกาสติดโควิดเหมือนกัน และถ้าแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะมีเอกสารหรือไม่มีเอกสารไม่ปลอดภัย พวกเราทุกคนก็ไม่มีทางปลอดภัย

“ล่าสุดออกคำสั่งนิวโลว์ขั้นสุดอีกตามหนังสือฉบับนี้ คือยกเลิกการตรวจหาเชื้อในแรงงานข้ามชาติที่มีเอกสารประจำตัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอีก คำสั่งเช่นนี้คือ ใบอนุญาตปล่อยให้คนตายใช่หรือไม่ และนี่ไม่ใช่การปกป้องแรงงานข้ามชาติแต่เป็นการเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลอยู่รอดจากการบริหารที่ล้มเหลว พลเอกนายกประยุทธ์ จันทรโอชา ปล่อยให้ เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร” สุเทพกล่าว 

สุเทพ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลต้องหยุดดำเนินนโยบายด้วยการเลือกคุ้มครองหรือปกป้องใคร แต่ต้องจัดลำดับความสำคัญให้กลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่มเข้าถึงการตรวจหาเชื้อและได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุดเพื่อลดความร้ายแรงของการแพร่ระบาดโดยไม่เลือกปฎิบัติเหมือนที่โควิดไม่เลือกที่จะติดหรือไม่ติดใคร และรัฐบาลต้องหยุด สั่งการเฉพาะเรื่องคนต่างด้าว เพราะมันเป็นคำสั่งที่ชี้หน้ารัฐเองว่าเป็นคนล้มเหลวในการจัดการโรคระบาดและความล้าหลังของรัฐที่ไม่สามารถก้าวข้ามการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเชื้อชาติได้

“การเลือกปฎิบัติในทศวรรษที่ 21 เป็นเรื่องน่าละอาย และการเลือกปฏิบัติในภาวะวิกฤติโรคระบาดเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ  รัฐบาลต้องมีมาตรการคุ้มครองพวกเราทุกคน ให้ทุกคนเข้าถึงการควบคุมป้องกันโรคเพื่อความปลอดภัยของทุกคน เพราะพวกเราจะไม่มีความปลอดภัยถ้าทุกคนไม่ปลอดภัย

ทั้งนี้ สุเทพ กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้เเทนราษฎร จะเร่งดำเนินทำหนังสือไปยังพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทบทวนคำสั่งอย่างเร่งด่วน เเละชี้เเจงต่อคณะกรรมาธิการการเเรงงานเเละประชาชนว่ารัฐบาลจะต้องปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ผลักภาระให้ประชาชน

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีเดียวกันว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีคำสั่งยกเลิกมาตรการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่แรงงานข้ามชาติ นอกจากเป็นการไร้มนุษยธรรม ไม่สมกับเป็นเจ้ากระทรวงแรงงานแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่บานปลายมากขึ้น และต้องไม่ลืมว่าเศรษกิจในประเทศไทย ขับเคลื่อนด้วยแรงงานข้ามชาติ ที่สร้างเมือง สร้างความเจริญ และสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยทำกับคนงานเหล่านี้ คือทำเหมือนไม่ใช่มนุษย์ ตั้งแต่วิกฤตโรคระบาดโควิด 19 เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ระลอกแรก แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยได้รับการเยียวยา และต่อให้อยู่ในระบบประกันสังคม ก็ไม่ได้รับการเยียวยาเช่นกันเหตุเพราะไม่มีสัญชาติไทย

“หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ปฎิบัติกับแรงงานกลุ่มนี้เปรียบเสมือนเขาไม่ใช่มนุษย์ จับขังรวมกันบ้างทั้งคนมีเชื้อและไม่มีเชื้อ สั่งปิดแคมป์คนงานตั้งแต่ต้นเดือนเป็นต้นมาก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาที่ครบถ้วน ตกหล่นหลายราย แถมยังไม่ได้รับการรักษาแต่อย่างใด แถมข้าวกล่องที่ท่านรับปากไว้ว่าจะมีให้ครบ 3 มื้อก็ไม่เป็นความจริง แรงงานส่งเรื่องขอความช่วยเหลือแทบจะทุกแคมป์ใน กทม. ประชาชนต้องออกมาช่วยออกเงินบริจาคและลงแรงต่างๆ มากมายเพื่อช่วยกันเอง ท่าน รมต.บอกว่า ใช้เงินหลายล้านในแต่ละวันเพื่อบริจาคอาหาร ไข่ไก่ ข้าวกล่องต่าง ๆ มากมายเช่นกัน นั่นไม่ใช่หน้าที่ที่ท่านต้องทำเพราะรับปากแรงงานไว้หรอกหรือ และหน้าที่ของ รมต.แรงงาน มีศักยภาพเท่านี้จริง ๆ หรือ”

วรรณวิภา ย้ำว่า มาจนถึงตอนนี้ยังได้ซ้ำเติมด้วยการสั่งประกาศยกเลิกโครงการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่แรงงานข้ามชาติ เอกสารอ้างว่าโรงพยาบาลล้น รักษาไม่ไหว โดยไม่คำนึงถึงการระบาดของโรคว่ามันไม่ได้เลือกให้ติดเฉพาะคนสัญชาติไทย แต่ติดไปทั่วทุกที่ไม่ว่าจะสัญชาติไหน การเลือกปฎิบัติของรัฐ จะกลายเป็นการทำให้เชื้อโควิดแพร่กระจายไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะถ้าไม่คัดกรอง รักษา เยียวยาอย่างถ้วนหน้า สุดท้ายก็จะมีคนติดเชื้อเพิ่มเติมอยู่ดี และหากท่านให้สัมภาษณ์ออกสื่อข่าวว่า ไม่มีหน้าที่ในการควบคุมโรค แล้วแรงงานจะต้องพึ่งใคร รมต.แรงงาน ไม่ช่วยแรงงาน แล้วยังจำเป็นต้องมี รมต.แรงงานอยู่หรือไม่

“ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ทบทวนและยกเลิกคำสั่งนี้โดยเร็วที่สุด ในช่วงที่แรงงานทุกคนยากลำบากเจ้ากระทรวงแรงงานควรเป็นที่พึ่งของพวกเขา ไม่ใช่ทำตัวเป็นหอกทิ่มแทงซ้ำเติมแรงงานไปอีก การที่จะระงับโรคระบาดนี้ได้คือการปูพรม ตรวจรักษาทุกคน ไม่ว่าสัญชาติใดโดยไม่เลือกปฎิบัติ เพราะโรคโควิด19 ก็ไม่เคยเลือกสัญชาติเช่นกัน และถ้ายังไม่ยับยั้งตั้งแต่วันนี้ ก็ไม่สามารถที่จะหยุดการระบาดได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น นอกจากท่านจะไม่มีจิตวิญญาณความเป็นรัฐมนตรีกระทรวงของแรงงานแล้ว ยังไม่มีซึ่งความเป็นมนุษย์ด้วยอีก” วรรณวิภา กล่าวทิ้งท้าย

'กรมการจัดหางาน' ชี้ยกเลิกโครงการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวด้านสาธารณสุข หาช่องช่วยแบบใหม่

ทั้งนี้ สยามรัฐ รายงานว่า ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.)เปิดเผยกรณีการเปิดเผยหนังสือกรมการจัดหางาน เรื่อง แจ้งยกเลิกการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข ลงวันที่ 5 ก.ค. 2564 ว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการตรวจคัดกรองโรคโควิด – 19 ให้แก่แรงงานต่างด้าวในกิจการที่มีความเสี่ยงและอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในด้านสาธารณสุข โดยได้มอบหมายสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ซึ่งอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย สำรวจจำนวนแรงงานต่างด้าวในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.64 คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้จัดการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 14/2564 โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า อำนาจในการตรวจคัดกรองโควิดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลในเรื่องดังกล่าว ในส่วนกรมการจัดหางานไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติในด้านอื่นๆตามภารกิจของกรมการจัดหางานต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท