Skip to main content
sharethis

วิลเลียม เจ.โจนส์ อาจารย์ ม.มหิดลชี้ปัญหาคำตัดสินยุบ “ก้าวไกล” ศาลรัฐธรรมได้เข้ามาแทรกแซงการแบ่งอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าทางการเมืองในระยะอันใกล้ และคำตัดสินศาลอาจออกมาเพื่อทำลายความหวังคนหนุ่มสาว

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2567 เว็บไซต์ geopolitical monitor เผยแพร่บทความของ  วิลเลียม เจ.โจนส์ อาจารย์สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนบทความ “ก้าวถอยหลัง: การยุบพรรคก้าวไกลของประเทศไทย” ถึงปัญหาของคำวินิจฉัยและบรรยากาศสังคมการเมืองหลังการยุบพรรคก้าวไกล

โจนส์ระบุว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับการคาดการณ์ของเขาและคนอื่นๆ นั่นคือ ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี คำตัดสินนี้เป็นการยุบพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด และเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2565 ด้วยจำนวน สส. 151 คน และได้รับคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14 ล้านคน คำตัดสินของศาลไม่ได้ทำลายเสถียรภาพทางการเมืองของไทย หรือเปลี่ยนสภาพเดิมของประเทศจากก่อนที่จะมีคำตัดสินแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและเหตุผลที่นำมาใช้อธิบายคำตัดสินมีประเด็นที่สามารถสะท้อนเศรษฐกิจการเมืองของประเทศไทยได้ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาว่านโยบายหาเสียงประเด็นการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ใจความสำคัญของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

โจนส์ระบุในบทความว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นหลักที่สำคัญไม่กี่ประการ ประการแรก พรรคก้าวไกลถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคซึ่งเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี

ประการที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจสูงสุดของตนเองที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งรัฐธรรมนูญเข้าไปยังสถาบันอื่นๆ  ซึ่งหมายถึงพรรคการเมืองและกระบวนการนิติบัญญัติด้วย ศาลวินิจฉัยว่าพรรคการเมืองที่ปฏิรูปกฎหมายมาตรา 112 เป็นภัยต่อความมั่นคง เพราะไม่ได้ระบุชัดเจนว่า การแก้ไขใดๆ จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับมาตรา 1 และมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

โดยสรุป คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวางแนวทางไว้ว่าไม่สามารถพูด แสดงจุดยืน และดำเนินกระบวนการทางกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ คำวินิจฉัยยังเห็นได้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงกลไกหรือกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ยิ่งไปกว่านั้นศาลยังมีคำวินิจฉัยว่า นโยบายปฏิรูปมาตรา 112  ทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือการเมืองเสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกนำมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ห้ามแก้ไขหรือปฏิรูปมาตรา 112 แต่ความคลุมเครือว่าอะไรคือการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ผู้เขียนมองว่าเป็น ‘เสาประตูที่มองไม่เห็น’ (invisible goalpost) ที่ไร้ขีดจำกัด ในอนาคตถ้าพรรคใดพยายามแก้กฎหมายมาตรา 112 ก็ไม่รู้ว่าจะโดนยุบพรรคหรือไม่

ประการที่สาม ศาลใช้อำนาจแทรกแซงเหนือการแบ่งแยกอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภา ในทางปฏิบัติ คำวินิจฉัยได้กำหนดขอบเขตว่า สถาบันกษัตริย์อยู่นอกเหนือขอบเขตการพิจารณาใดๆ ทั้งทางกฎหมายและอื่นๆ โดยสถาบันหรือบุคคลใดๆ ในราชอาณาจักร สิ่งนี้ยังตอกย้ำด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ที่คุ้มครองศาลจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ กฎหมายนี้ยกระดับการหมิ่นประมาทศาลให้เทียบเท่าศาลอาญา ศาลอุทธรณ์ และศาลฏีกา แต่กำหนดโทษรุนแรงกว่าด้วยโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งไม่มีศาลใดกำหนดบทลงโทษเช่นนี้  กฎหมายนี้ทำให้ศาลไม่ได้รับความเห็นทั้งในทางบวกและคำวิจารณ์จากสาธารณะต่อคำวินิจฉัยของศาล

กล่าวโดยสรุปก็คือ ทุกคนถูกทำให้ต้องปิดปากเงียบ และต้องเห็นด้วยกับคำตัดสิน หรือไม่แสดงความเห็นในที่สาธารณะ

ประการสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญได้แทรกตัวเองเข้ามาเป็นผู้ตัดสินความจริงในประชาสังคมไทย วงวิชาการ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า

คำวินิจฉัย (ต้องสั่งยุบพรรคก้าวไกล-ผู้แปล) ‘แม้นักวิชาการ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเทศไม่ว่าในระดับใดต่างก็มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความเห็นใด ๆ ย่อมต้องมีมารยาทสากลทางการทูตและการต่างประเทศที่พึงปฏิบัติต่อกัน

ข้อความนี้ถูกใส่เข้ามาด้วยน่าจะเป็นความตั้งใจ อันเนื่องมาจากการนำเสนอข่าวอย่างเข้มข้นและมีคำวิจารณ์ศาลในแง่ลบ รวมทั้งการที่พิธาพบกับทูตจาก 18 ประเทศที่สถานทูตเยอรมนีในวันที่ 2 สิงหาคมก่อนที่ศาลจะมีคำตัดสิน ศาลให้เหตุผลว่า ประเทศไทยพิเศษจากชาติอื่นๆ โดยมีบริบทที่ต่างกัน และการเมืองไทยเป็นที่อธิปไตยของไทยซึ่งต้องปราศจากการแทรกแซงจากต่างประเทศ เหตุผลนี้สองคล้องกับสองประเด็นที่กล่าวไปแล้วข้างต้นที่ว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญทำให้ศาลเป็นศาลเหนือสถาบันอื่นๆ (supra-institutional court) ในราชอาณาจักร

นัยของคำตัดสิน

คำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลไม่อาจหยุดยั้งพลังที่ตั้งต้นมาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเช่นเดียวกันเมื่อปี 2563 พรรคประชาชนถือปรากฎขึ้นพร้อมกับส.ส. 143 คนจากพรรคก้าวไกลที่ถูกยุบไป การเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้ายังคงดำเนินต่อไป โดยไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร

เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจและระบบสังคมของไทยเกี่ยวข้องกับคำตัดสินของศาลอย่างเข้มข้น ศาลส่งสัญญาณผ่านคำตัดสินอย่างชัดเจนว่า ไม่อนุญาตให้มีการปฏิรูปภายในระบบไม่ว่าภายใต้สภาวการณ์ใดๆ ก็ตาม ที่นอกเหนือจากสถานะเดิมที่เป็นอยู่ สภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตรกลับประเทศไทยโดยไม่มีข้อหาใดๆ และเพิกเฉยต่อความขัดแย้งทางการเมืองไทยเมื่อ 15 ปีก่อนที่มาจากชนชั้นนำไทย

จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าทางการเมืองและสังคมในประเทศไทยในเร็ววัน หรือในระยะอันใกล้ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจใดๆ ขึ้นอยู่กับนโยบายที่ขับเคลื่อนการใช้จ่ายของผู้บริโภคจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย ‘วีซ่าอาเซียน’ การสร้าง ‘ซอฟท์พาวเวอร์’ ที่คาดเดาไม่ได้  และบ่อนคาสิโน ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้ของรัฐ การจ้างงานและการท่องเที่ยว นโยบายประชานิยมและแนวคิดแบบที่เร่งเห็นผลเร็วเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และผลิตภาพที่หายไปในหลายทศวรรษที่หายไปก่อนหน้านี้เลย

โจนระบุว่า สุดท้ายเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่น่าสนใจมาก คำตัดสินของศาลอาจจะตั้งใจออกมาเพื่อทำลายความหวังของคนหนุ่มสาว เขาในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่สอนนักศึกษาชั้นปริญญาตรีในภาคเรียนสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ได้ถามนักศึกษากลุ่มหนึ่งใน 38 คนว่ามีแผนหลังจากเรียนจบอย่างไร มีมากกว่า 9 คนที่ตอบว่าจะไปเรียนต่อต่างประเทศ หางานทำและไม่กลับประเทศ เหตุผลง่ายๆ เพราะพวกเขาไม่เห็นอนาคตของตัวเองในสังคมและเศรษฐกิจของประเทศนี้ เหตุผลเบื้องหลังคือความรู้สึกไม่เชื่อมโยงกับทิศทางที่ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าไป ในฐานะนักการศึกษา สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ใจสลาย และเป็นลางไม่ดีกับประเทศ คนที่ฉลาดเฉลียวที่สุดและคนที่มีความสามารถที่สุดมากมายไม่เห็นว่าประเทศไทยเป็นพื้นที่ซึ่งมีค่ามากพอสำหรับให้ใช้ชีวิตอยู่ และช่วยกันสร้างสรรค์

ที่มาของความกังวลใจนี้เรียบง่าย ระบบการเมืองกำลังผลิตผลลัพธ์ที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน เศรษฐกิจชะลอตัว และความพยายามเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดล้มเหลวหรือไม่ถูกรับฟัง เลวร้ายไปกว่านั้น การเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงถูกลงโทษรุนแรงที่สุด ประชาชนหลายร้อยคนซึ่งรวมทั้งเด็กที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ หรือผู้ที่ต้องลี้ภัย รวมทั้งการเสียชีวิตของบุ้ง นักกิจกรรมในเรือนจำเมื่อต้นปี  ท้ายที่สุดนี้การต่อสู้เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิมยังดำเนินต่อไป แล้วเราจะได้เห็นผลของมัน

ที่มา:

Moving Backwards: The Dissolution of Thailand’s Move Forward Party 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net