Skip to main content
sharethis

“ทนายเมย์” ชี้ปัญหาคำสั่งยุบ “ก้าวไกล” ของศาลรัฐธรรมนูญ กระทบทั้งสิทธิประกันในคดีอาญาของคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และศาลได้ทำเกินหน้าที่ของศาลทั้งที่การยื่นร่างเสนอแก้กฎหมายเป็นกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ ย้ำการแก้ไขกฎหมายไม่ใช่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ไม่มีม.112 ก็ยังมีกฎหมายอื่นคุ้มครอง

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคก้าวไกลในที่สุด หลังจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้วว่าความพยายามในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยการใส่ไว้ในนโยบายของพรรคถือเป็นล้มล้างการปกครองและสั่งให้พรรคหยุดกระทำการใดๆ กับการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้

ในคดียุบพรรคนี้ศาลยังคงใช้เหตุผลเดียวกับคดีแรกคือการที่พรรคมีทั้ง สส.ที่ไปร่วมกิจกรรมรณรงค์ของภาคประชาสังคมโดยที่ทางพรรคก็ยืนยันว่าพวกเขาไปร่วมโดยส่วนตัวไม่ได้ไปในนามพรรคและไปตั้งแต่ยังไม่เป็น สส. มี สส.ของพรรคถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เสียเองแม้ว่าการกระทำของพวกเขาเริ่มตั้งแต่ยังไม่เป็น สส. และยังรวมไปถึงมี สส.บางคนในพรรคไปเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีมาตรา 112 และมี สส. 44 คนร่วมกันลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ตามกลไกนิติบัญญัติด้วย

จากเหตุดังกล่าวนอกจากจะทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ใหญ่ถูกยุบไปแล้ว ความกังวลที่ตามมาของคนที่ติดตามเรื่องนี้ก็คือ สรุปแล้วการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้จะยังทำได้หรือไม่ แล้วจะส่งผลต่อทั้งเรื่องคดีความในศาล ไปจนถึงเรื่องนิรโทษกรรมอย่างไร

ศาลทำเกินหน้าที่ แก้กฎหมายเป็นงานนิติบัญญัติ

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรานี้และรณรงค์ให้มีการออกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองอยู่ในเวลานี้ ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าสำหรับการเสนอแก้ไขกฎหมายก็ยังคิดว่าสามารถทำได้อยู่แต่วิธีการและพื้นที่ก็ถูกจำกัดลงไป เพราะคำคัดสินของศาลเช่นนี้ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าตกลงแล้ว สส.จะเสนอกฎหมายได้แค่ไหนแล้วการแก้ไขกฎหมายด้วยกระบวนการทางนิติบัญญัติจะเป็นอย่างไร

“ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วโดยส่วนตัวเห็นว่ากระบวนการเสนอแก้ไขกฎหมายตอนนี้ยังเป็นส่วนของนิติบัญญัติ ไม่ใช่ช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการเข้ามาตัดสินควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของร่างกฎหมาย แต่การมีคำตัดสินเช่นนี้ก็จะมีผลแน่นอนในการจำกัดและสร้างความกังวลให้กับ สส. หรือ คนที่จะเสนอแก้ไขมาตรา 112 หลังจากนี้”

แต่ก็มีคำถามว่ากระบวนการทางนิติบัญญัติอย่างเช่นที่มี สส.ก้าวไกล 44 คนร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายผ่านสภาก็ถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลว่าเป็นส่วนหนึ่งของการล้มล้างการปกครองไปแล้วและยังส่งผลมาจนถึงการยุบพรรคก้าวไกลไปด้วยเช่นนี้จะกลายเป็นการปิดประตูเรื่องนี้ไปโดยปริยายแล้วหรือไม่

พูนสุขเห็นว่ายังไม่อยากให้ตีความไปถึงขนาดที่ว่าคำตัดสินนี้จะเป็นการปิดประตูแก้ไขกฎหมายมาตรานี้แล้ว เพราะถ้าดูในคำวินิจฉัยคดีแรกเมื่อเดือนมกราคมที่ศาลมีการระบุว่าทำแบบไหนได้หรือไม่ได้เอาไว้ก็อาจจะยังมีวิธีแก้ในลักษณะอื่นได้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด

“แต่เราก็อยากยืนยันว่าจริงๆ แล้ว กระบวนการแก้ไขกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ แล้วก็การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายทั้งตรวจสอบก่อนที่จะออกไปเป็นกฎหมายและหลังกฎหมายออกมาแล้วด้วย อันนั้นมันอยู่คนละขั้นตอนของสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ เราคิดว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาควบคุมตั้งแต่ตอนเสนอร่าง เราคิดว่ามันเกินกว่าอำนาจหน้าที่ของศาล”

ทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีขาดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

นอกจากคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการจะไปกระทบกระบวนการเสนอแก้ไขกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว คำวินิจฉัยนี้ยังยกประเด็นที่มี สส.ของพรรคไปเป็นนายประกันในคดีมาตรา 112 มาใช้วินิจฉัยรวมเป็นการกระทำของพรรคก้าวไกลด้วย

ประเด็นนี้ พูนสุขเริ่มจากอธิบายหลักของเรื่อง “นายประกัน” ในคดีอาญาว่า นายประกันคือการรับประกันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่คดียังไม่สิ้นสุดจะอยู่ร่วมตลอดกระบวนการพิจารณาคดี ไม่หลบหนีไปไหนเท่านั้น

ผลกระทบที่นายประกันจะต้องเจอในกรณีร้ายแรงที่สุดในทางกฎหมายกรณีที่เกิดการผิดเงื่อนไขประกันก็คือ นายประกันจะเสียหลักประกันซึ่งเป็นวงเงินที่ศาลตีเป็นเงินประกันเอาไว้

“นายประกันก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าในระบบกฎหมายอาญามันต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด การประกันตัวเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลยังคงสถานะเป็นปกติในการร่วมกระบวนการทางกฎหมาย”

นอกจากนั้นทนายความยังชี้ปัญหาที่ศาลหยิบข้อเท็จจริงนี้มาพิจารณาถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงต่อกระบวนการยุติธรรมมากเพราะศาลรัฐธรรมนูญได้ทำให้คนที่มาเป็นนายประกันได้รับผลร้ายมากกว่าความเป็นจริงที่ควรจะเป็น ทั้งที่นายประกันถือเป็นคนที่เข้ามาเป็นตัวช่วยในกระบวนการยุติธรรมด้วยซ้ำ และในฐานะนักกฎหมายคำวินิจฉัยนี้ของศาลรัฐธรรมนูญนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้เลย

“มันก็อาจจะทำให้ในคดี 112 หลังจากนี้คนที่จะมาช่วยอำนวยความยุติธรรมเป็นนายประกันที่จากเดิมก็น้อยอยู่แล้วก็ยิ่งน้อยลงไปอีก หรือไม่มีใครกล้ามาเป็นนายประกันก็จะส่งผลให้ คนที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยากลำบากมากขึ้น”

การแก้ไขกฎหมายไม่ใช่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์

พูนสุขเน้นย้ำว่า การแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงแม้ว่าจะเกิดการแก้ไขกฎหมายขึ้นมาจริงหรือสุดท้ายกฎหมายมาตรานี้จะถูกยกเลิกไปก็ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์ และบุคคลในสถาบันก็ยังได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายอยู่

“เพียงแต่ว่าตัวกฎหมายที่บอกว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายมันหายไปเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่ากษัตริย์จะไม่มีความคุ้มครองแล้ว ไม่ได้แปลว่าใครจะดูหมิ่น หมิ่นประมาทอาฆาต มาดร้ายได้ เพราะถึงไม่มีมาตรานี้ก็ยังมีกฎหมายทั่วไปเรื่องดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทอยู่ ในความเป็นจริงแล้วกษัตริย์ก็คือบุคคล เมื่อกษัตริย์ยังมีสถานะเป็นบุคคลอยู่เขาก็ได้รับความคุ้มครองตามอย่างบุคคลทั่วไป”

“สถานะของสถาบันโดยหลักแล้วก็อยู่ในรัฐธรรนมนูญเป็นหลัก การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นสถาบันซึ่งเป็นองค์กรเลย อยากให้ทำความเข้าใจตรงกันว่าการตีความว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเป็นการล้มล้างการปกครอง เป็นการตีความที่ไกลเกินกว่าเหตุไปมาก และเราไม่เห็นด้วยกับการตีความเช่นนี้ของศาลรัฐธรรมนูญ”

ม.112 กระทบสิทธิเสรีภาพ

พูนสุขกล่าวว่าเรื่องมาตรา 112 ก็ไปเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพการแสดงออกด้วย โดยสิทธินี้ถือเป็นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยและเรื่องสิทธิมนุษยชน อีกทั้งหลักสิทธิมนุษยชนก็เป็นเครื่องมือหลักของโลกนี้ที่พยายามทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆ ในประเทศใดก็ตามมีความใกล้เคียงและเคารพความเป็นมนุษย์มากที่สุด เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของทุกคนไม่ใช่แค่เรื่องคนในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนในฐานะมนุษย์ที่จะแสดงออกอย่างเคารพกันและกัน หรือการตรวจสอบสถาบันหลักๆ ของสังคมก็ควรจะสามารถทำได้เช่นกัน

ทนายความยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเองก็มีสถานะเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น แล้วก็ยังเข้าไปเป็นภาคีของพันธกรณีและอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับเช่นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR เพราะฉะนั้นไทยมีหน้าที่ต้องเคารพและปฏิบัติตาม

นอกจากนั้นกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นก็เคยมีแนวความเห็นเรื่องมาตรา 112 ที่ระบุว่าการควบคุมตัวคนที่โดนคดีมาตรา 112 เป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบตามหลักสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นการแก้ไขเพื่อลดโทษในกฎหมายเพื่อให้ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดก็เป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสากล

สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว

ทั้งนี้เมื่อให้ประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากคำวินิจฉัยนี้จะไปกระทบเรื่องอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ทั้งการเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ คดีที่ยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาล สิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ไปจนถึงการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองที่ฝ่ายภาคประชาชนกำลังผลักดันให้นับรวมคดีมาตา 112

พูนสุขมองว่า ถ้าดูตามเหตุตามผลแล้วก็ต้องบอกว่าไม่เกี่ยวกันและควรจะแยกส่วนกันในการพิจารณา คนหนึ่งคนจะได้ประกันตัวหรือไม่ก็ต้องดูว่าคนนั้นมีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไม่ การจะพิพากษาลงโทษในคดีมาตรา 112 หรือไม่ก็ต้องดูตามหลักการตามข้อเท็จจริงในคดี หรือการนิรโทษกรรม กับการแก้ไขม.112 คิดว่าเรื่องนี้ในทางทฤษฎีมันแยกกัน แต่เธอก็ไม่ปฏิเสธว่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นจากการตีความกฎหมายในลักษณะนี้มันไม่ส่งผลดีต่อหลักการในทางกฎหมายโดยเฉพาะการบังคับใช้มาตรา 112

สุดท้ายเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าคำตัดสินของศาลเองจะทำให้ผู้คนกลัวหรือกังวลจากสภาวะคลุมเครือที่ทำให้ไม่รู้ว่าอะไรจะถูกตีความว่าเป็นการล้มล้างการปกครองบ้างหรือไม่

พูนสุขมองว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก จากการที่ศาลนำข้อเท็จจริงหลายอย่างมาใช้พิจารณาตั้งแต่คดีล้มล้างการปกครอง(คดีแรก) แล้วเช่น การนำเรื่องการเป็นนายประกันไปรวมว่าเป็นพฤติการณ์ล้มล้าง หรือการไปชุมนุมก็กลายเป็นการล้มล้างทั้งที่ถ้ามองแยกกัน พฤติการณ์อย่างการเป็นนายประกันจะกลายเป็นการล้มล้างการปกครองไปได้อย่างไร หรือคนที่ไปชุมนุมก็ไม่ได้กระทำในฐานะตัวแทนของพรรคด้วยซ้ำ

“เราคิดว่ามันตีความกว้างมากไป แล้วก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ เมื่อเกิดการตีความที่กว้างและไม่แน่นอนในลักษณะนี้ก็ทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวตามมาก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่เราในฐานะนักกฎหมายก็ยืนยันว่าคำวินิจฉัยทั้งสองนี้มันยังสามารถวิจารณ์ได้ว่าตัดสินเกินไปกว่าหลักการกฎหมายที่ควรจะเป็น ก็ต้องยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ก็ยังทำได้”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net