Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พูดถึงตัวละครเอกในพุทธราชาชาตินิยมร่วมสมัย ย่อมไม่มีใครโดดเด่นไปกว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พระธัมมชโย และสมณะโพธิรักษ์ 

ท่านแรกคือ “ปราชญ์พุทธเถรวาทไทย” ที่เป็นจุดอ้างอิงหลักในฐานะผู้อธิบายพุทธธรรมเถรวาทอย่างแตกฉาน ท่านที่สองเป็น “ผู้นำจิตวิญญาณ” ของชาวธรรมกาย และท่านที่สามคือ “ท่านพ่อ” ที่เป็นทั้งผู้นำจิตวิญญาณ และอุดมการณ์ทางการเมืองของชาวสันติอโศก

พุทธราชาชาตินิยมคือ พุทธศาสนาเชิงความคิดและโครงสร้างที่ตอบสนองต่ออุดมการณ์ราชาชาตินิยม ที่เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4, 5, 6 และมีพัฒนาการมาจนปัจจุบัน 

ราชาชาตินิยมตามคำอธิบายของธงชัย วินิจจะกูลคือ ชาตินิยมที่มีราชาเป็นศูนย์กลางอำนาจ, ความมั่นคง, ความจงรักภักดี และความสามัคคีของประชาชน และตามคำอธิบายของชนชั้นนำยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ราชา คือผู้นำที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ชาติ พุทธศาสนา และคุ้มครองศาสนาอื่นๆ ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร มีนัยเชื่อมโยงกับพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ราชาเป็นสง่าแห่งแว่นแคว้น” หรือกล่าวเจาะจงคือ ราชาผู้ปกครองโดยธรรมตามอุดมคติพุทธเถรวาทนั่นเอง

กล่าวให้ชัดยิ่งขึ้นอีก ราชาชาตินิยม ก็คือชาตินิยมที่ยึดอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งถือว่ากษัตริย์สำคัญสูงสุด พุทธราชาชาตินิยมก็คือพุทธศาสนาแบบรัฐที่สนับสนุนการปกครองโดยธรรมของราชา ภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์นั่นเอง

ในเชิงโครงสร้าง พุทธราชาชาตินิยมมีกษัตริย์ปกครองโดยธรรม และมีอำนาจปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร (มหาเถรสมาคม) นี่เป็นโครงสร้างในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน 

พระปยุตโต คือตัวละครเอกในฐานะปราชญ์พุทธศาสนา ผู้ผลิตสร้างความรู้พุทธธรรมตามคัมภีร์และประยุกต์พุทธธรรมกับโลกสมัยใหม่อย่างครอบคลุม แต่ขณะที่ตีความพุทธธรรมประยุกต์กับความรู้สมัยใหม่และคุณค่าแบบโลกวิสัยผ่านงานเขียน งานบรรยายที่ครอบคลุมทุกสรรพศาสตร์ เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ที่ครอบศาสตร์นั้นๆ ด้วยวาทกรรม “แนวพุทธ” ที่มีพุทธธรรมเป็นรากฐานของสิ่งเหล่านั้น กระทั่งเสนอ “พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์” เป็นต้น จะเห็นว่าการตีความพุทธศาสนาเช่นนี้ คือการทำให้พุทธศาสนา “ทันสมัยใหม่” หรือมี “ความเป็นสมัยใหม่” (modernity) หรือมีเนื้อหาสาระที่สนทนากับสังคมสมัยใหม่ได้อย่างมีเหตุมีผล

แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระปยุตโตกลับยืนยันอุดมการณ์และโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาแบบพุทธราชาชาตินิยม ซึ่งเป็นอุดมการณ์และโครงสร้างแบบ “ก่อนสมัยใหม่” ปัญหาที่ตามมาคือ การที่พระปยุตโตปกป้อง “ความเพียว” ของธรรมวินัยเถรวาทผ่านหนังสือ “กรณีสันติอโศก” ที่วิจารณ์การสอนผิด ปฏิบัติผิดของชาวสันติอโศก และหนังสือ “กรณีธรรมกาย” ที่วิจารณ์การสอนผิด ปฏิบัติผิดของชาวธรรมกายนั้น ถ้าเป็นการวิจารณ์เฉยๆ ย่อมเป็นเสรีภาพธรรมดาๆ

แต่ถ้าเป็นการวิจารณ์การสอนผิด สอนถูกหลักศาสนา ควบคู่กับการยืนยันอำนาจศาสนจักรและอำนาจรัฐในการควบคุมจัดการต่อการสอนผิดสอนถูกนั้นๆ ย่อมเป็นการยืนยันระบบอำนาจที่ขัดกับหลักการเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยที่ถือว่ารัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา และต้องไม่มีศาสนจักรของรัฐที่มีและใช้อำนาจทางกฎหมายแทรกแซงการตีความคำสอนและการปฏิบัติทางศาสนาใดๆ ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น การยืนยันเช่นนี้ของพระปยุตโตจึงก่อให้เกิดปัญหาตามมา

กล่าวคือ หนึ่ง เป็นการยืนยันระบบอำนาจรัฐและศาสนจักรที่ขัดหลักการเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย และ สอง เมื่อยืนยันข้อแรก ความเพียวของธรรมวินัยที่พระปยุตโตยืนยันย่อมไร้ความหมาย (ไม่ make sense) เพราะถ้ายืนยันว่าอะไรที่ถูกต้องและชอบธรรมได้จริงในทางพุทธศาสนาต้องมีหลักธรรมวินัย/พุทธธรรมรองรับเสมอ ก็ชัดเจนว่าไม่มีหลักธรรมวินัย/พุทธธรรมรองรับระบบสมณศักดิ์ฐานันดรของนักบวช และอำนาจทางกฎหมายของนักบวชหรือศาสนจักรของรัฐ (มหาเถรฯ) 

ปัญหาสำคัญคือ นอกจากการยืนยันอำนาจรัฐและอำนาจตามกฎหมายของศาสนจักรในการรักษาความเพียวของธรรมวินัยจะไม่มีหลักธรรมวินัย หรือพุทธธรรมรองรับ “ความชอบธรรม” ตั้งแต่แรก ยังเป็นการยืนยันที่ขัดหลักการเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยอีกด้วย พูดอีกอย่างคือ เป็นการยืนยันที่สร้างปัญหาหรือเป็นอุปรรคสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่ง “ย้อนแย้ง” กับการตีความพุทธธรรมสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของพระปยุตโตเสียเอง

ตัวละครที่สองคือ พระธัมมชโย ถ้ามองในฐานะผู้นำจิตวิญญาณของชุมชนผู้ศรัทธาแบบธรรมกาย ซึ่งเน้นการฝึกสมาธิ การทำบุญ คำสอนเรื่องอายตนนิพพาน มงคลชีวิต 38 ประการเป็นต้น ย่อมไม่ขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาในสังคมเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย แต่ความยิ่งใหญ่ของพระธัมมชโยและการขยายตัวของธรรมกาย กลับไม่ได้ดำเนินไปโดยตระหนักรู้และเคารพหลักเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย หากดำเนินไปในทิศทางที่ขัดแย้งอย่างชัดแจ้ง

เช่น การอาศัยอำนาจศาสนจักรของรัฐหรือมหาเถรสมาคม อาศัยอำนาจรัฐ กลไกราชการในการขยายอิทธิพลของธรรมกายเข้าไปในหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนา การเผยแพร่ศาสนาเชิงรุกด้วยการนำกิจกรรมศาสนาแบบธรรมกายเข้าไปในโรงเรียนของรัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ การจัดบิณฑบาตพระ 1,000,000 รูป ที่ทำครั้งละเป็นหมื่นๆ รูป ต้องระดมพระจากวัดต่างๆ ระดมคนมาร่วมพิธีจำนวนมาก รวมทั้งการเกณฑ์นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการครู ข้าราชการจากหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรมระดับชาติ ล้วนแต่อาศัยอำนาจศาสนจักร อำนาจรัฐ งบประมาณรัฐ (ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ธรรมกายได้งบฯ ร่วม 1,000 ล้านบาท จากรัฐในการจัดโครงการปฏิบัติธรรมแก่ครูทั่วประเทศ) ซึ่งขัดหลักการโลกวิสัยหรือการแยกศาสนากับรัฐอย่างชัดแจ้ง 

การที่เราเห็นว่า รัฐใช้กองกำลังมหาศาลล้อมวัดเพื่อจับกุมพระธัมมชโยไม่ถูกต้อง หรือการเรียกร้องให้รัฐและศาสนาจักรเอาผิดการสอน การปฏิบัติตวามเชื่อแบบธรรมกาย ย่อม “ไม่แฟร์” กับธรรมกายนั้น นับเป็นความเห็นที่มีเหตุผล 

แต่เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า การที่ธรรมกายรุกขยายอิทธิพลเข้าไปในสถานการศึกษาของรัฐ โดยอาศัยอำนาจศาสนจักรและอำนาจรัฐอย่างขัดหลักการโลกวิสัยดังกล่าวแล้ว ก็ย่อม “ไม่แฟร์” กับบรรดาผู้ไม่เชื่อ หรือไม่ศรัทธาธรรมกายด้วยเช่นกัน เพราะถ้าคุณเป็นข้าราชการ เป็นนักเรียน หรือผู้ปกครองนักเรียนที่ไม่ศรัทธาในธรรมกาย มันแฟร์หรือที่คุณหรือลูกหลานคุณต้องถูกเกณฑ์เข้าร่วมกิจกรรมศาสนาแบบธรรมกายผ่านกลไกราชการ 

ความ “ไม่แฟร์” ในการเรียกร้องให้ใช้อำนาจรัฐและศาสนจักรจัดการกับธรรมกาย กับความไม่แฟร์ที่ธรรมกายอาศัยอำนาจศาสนจักรและอำนาจรัฐเผยแพร่ศาสนาเชิงรุกเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ (ระบบการศึกษาของรัฐ ระบบราชการเป็นต้น) รากฐานของปัญหาความไม่แฟร์ ก็คือ “การไม่แยกศาสนากับรัฐ” นั่นเอง มันทำให้ชาวพุทธขัดแย้งกันเอง ตีกันเอง เพราะระบบไม่แยกศาสนากับรัฐมันถูกออกแบบไว้ให้ฝ่ายที่เชื่อต่างกันทางศาสนาสามารถ “ฉวยใช้” อำนาจศาสนจักรและอำนาจรัฐ เพื่อตอบสนองความเชื่อของพวกตนเองอย่างไม่คำนึงถึงความแฟร์กับอีกฝ่ายได้เสมอ

ในโรงละครของพุทธราชาชาตินิยมที่ไม่แยกศาสนากับรัฐ ในยุคหนึ่งธรรมกายได้รับการสนับสนุนจากอำนาจรัฐก็รุ่งเรือง ในอีกยุคหนึ่งที่รัฐมองเป็นศัตรูก็ถูกดปราบ จนวันนี้ร่วม 4 ปีแล้ว ที่สังคมไม่รู้ “ร่องรอย” ของพระธัมมชโย ผู้นำทางจิตวิญญาณผู้ยิ่งใหญ่ที่แม้แต่อำนาจมหึมาของรัฐก็เอื้อมไม่ถึง แต่ทว่ากลับไม่มีแม้แต่สิทธิจะปรากฏกายในสายตาของบรรดาผู้ศรัทธาภักดี

ส่วนสมณะโพธิรักษ์ ได้ประกาศอิสรภาพของชาวสันติอโศกด้วยการถอนตัวออกจากการปกครองของศาสนจักร ทำให้สันติอโศกกลายเป็น “องค์กรศาสนาเอกชน” ซึ่งเป็นการเลือกทางเดินที่สอดคล้องกับการแยกศาสนากับรัฐโดยบังเอิญ เพราะไม่ได้แยกออกมาด้วยความคิดและจิตสำนึกแบบโลกวิสัยแต่แรก และเพราะไม่ได้มีความคิดและจิตสำนึกแบบโลกวิสัยนั่นเอง จึงสร้างปัญหาในตอนหลัง ด้วยการเล่นการเมืองบนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ซึ่งขัดหลักการโลกวิสัยโดยตรง 
แต่โดยภาพรวมแล้ว ถ้าช่วงเวลาที่สันติอโศกไม่ยุ่งการเมืองแบบขวาจัดแล้ว กิจการศาสนาแบบเอกชนของสันติอโศกดูจะมีความสุขดีมากกว่า เพราะไร้การกดขี่จากศาสนจักรและอำนาจรัฐ หรือไม่มีอำนาจรัฐและศาสนจักรมายุ่งกับความเพียว ไม่เพียว

กล่าวโดยสรุป ผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณแบบพุทธทั้งสามท่าน ต่างมี “เจตนาดี” ในการเผยแพร่พุทธศาสนา หรือประยุกต์ใช้พุทธธรรมเพื่อประโยชน์แก่ผู้คนและสังคมส่วนรวมตามแนวทางของตน แต่ทว่าภายใต้พุทธราชาชาตินิยมที่ไม่แยกศาสนากับรัฐ ทั้งสามท่านต่างยืนยันและกระทำ หรือปฏิบัติสวนทางกับหลักการเสรีประชาธาธิปไตยโลกวิสัยในระดับที่ชัดเจน 

ผลก็คือ นอกจากจะทำให้พุทธธรรมหรือพุทธศาสนาตามแนวทางของทั้งสามท่าน ไม่สามารถจะมีคุณค่าอย่างสอดคล้อง, เคารพ และสนับสนุนคุณค่าเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย คือคุณค่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรมทางสังคมแล้ว ทั้งสามท่านยังเป็นตัวละครที่ขัดแย้งกันเอง ตีกันเอง เพราะเรื่องเพียวไม่เพียวของคำสอน และการทำงานพุทธศาสนาเชิงรุกที่แต่ละท่านอุทิศชีวิตให้ กลับกลายเป็นพุทธศาสนาที่รุกและคุกคามหลักเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยเสียเอง ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม

สุดท้าย พุทธธรรมหรือพุทธศาสนาเชิงรุกตามแนวของแต่ละท่าน ก็นับวันแต่จะไร้พลังและ อ่อนปวกเปียก ภายใต้อำนาจทางอุดมการณ์และโครงสร้างของพุทธราชาชาตินิยม!


  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net