Skip to main content
sharethis

10 โมง 9 สิงหา สื่อมวลชนผู้ได้รับผลกระทบ-ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เตรียมยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งรัชดาคุ้มครองฉุกเฉินอีกครั้ง เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยการชุมนุมต่อจากนี้ ที่มีแนวโน้มอันสามารถคาดหมายได้ว่าจะได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป

 

8 ส.ค.2564 ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา สื่อมวลชนจาก Plus Seven และ The Matter พร้อมกับทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและพวก จากกรณีเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนในที่ชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมด้วยการยิงกระสุนยาง ซึ่งในวันเดียวกันนี้ โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยฉุกเฉิน โดยให้มีคำสั่งห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน และให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมให้สอดคล้องกับหลักการสากล เพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพและสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม #ม็อบ7สิงหา อีกด้วย

เนื่องจากที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสลายการชุมนุมทุกครั้งที่เกิดการชุมนุมสาธารณะขึ้น เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ ไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชนที่มีสัญลักษณ์แสดงชัดเจนว่ามาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนก็ตาม โดยจากการยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉินต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 นั้น ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน และทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวตกไปในตัว ซึ่งศาลได้พิจารณาเห็นว่า เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตไม่อาจคาดเดาได้ จึงไม่มีเหตุฉุกเฉิน

หลังจากเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา และมีสื่อมวลชน รวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก พรุ่งนี้ (9 ส.ค. 2564) เวลา 10.00 น. ณ ศาลแพ่งรัชดา สื่อมวลชนผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงเตรียมยื่นคำร้องขอให้ศาลคุ้มครองฉุกเฉินอีกครั้ง เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยการชุมนุมต่อจากนี้ ที่มีแนวโน้มอันสามารถคาดหมายได้ว่าจะได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป

คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน ดังนี้

1. ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้ความรุนแรง เช่น ใช้อาวุธปืนกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำผสมสารเคมี ทำร้ายร่างกาย โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนที่สวมปลอกแขนสีขาวหรือสัญลักษณ์อื่นที่แสดงว่าเป็นสื่อมวลชน รวมทั้งประชาชนผู้มาชุมนุม หรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ จำกัดพื้นที่การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน

2. ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน สั่งการเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน

3. ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) และหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เนื่องจากโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนย่อมได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมด้วย

สำหรับ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นการรวมตัวขององค์กรสิทธิมนุษยชนด้านกฎหมาย ได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฏหมายประชาชน (iLaw)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net