Skip to main content
sharethis

ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยประสบการณ์เยี่ยมลูกความเรือนจำชั่วคราวรังสิตเจอสารพัดปัญหา ทั้งถูกปฏิเสธทุกครั้งที่เยี่ยมแต่ถึงจะเจรจาจนเข้าเยี่ยมได้แต่ก็ต้องนั่งคุยผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กลางแจ้ง เนตก็ช้าคุยสะดุด แถมทั้งทนายความลูกความก็ติดโควิด-19อีก สะท้อนความไม่พร้อมของเรือนจำกระทบถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหาที่เพิ่งเข้าเรือนจำใหม่ที่จำเป็นต้องพบทนายความ แต่ระเบียบเรือนจำกลับให้ผู้ต้องขังใหม่กักตัว 14-21 วัน โดยไม่พบใคร

16 ส.ค.2564 พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลความคืบหน้าและสภาพปัญหากลุ่มนักโทษการเมือง 8 คน(จาก 9 คน) ที่ถูกนำตัวไปขังระหว่างสอบสวนคดี #ม็อบ2สิงหา ในเรือนจำชั่วคราวรังสิตซึ่งใช้ขังผู้ต้องขังชาย ขณะนี้ที่มีการรายงานว่าติดโควิด-19 ไปแล้ว 3 จาก 8 คน โดยมี 1 คนได้ประกันไปก่อนหน้านี้แล้

พูนสุขอัพเดตว่ามี 3 คนที่ทราบว่าทราบผลการตรวจแล้วพบว่าติดโควิด-19 รายแรกที่ทราบเมื่อวันอาทิตย์คือ นิว-สิริชัย นาถึงที่ถูกย้ายไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว วันนี้ทราบข้อมูลเพิ่มว่าเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์และฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารี ก็ย้ายไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้วเช่นกัน แต่กรณีของฟ้ามีการย้ายไปเรือนจำธัญญบุรีก่อนส่งไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ด้วย

พูนสุขบอกว่าในส่วนของคนอื่นๆ ก็เริ่มมีอาการด้วยเช่นกันแต่ผลตรวจที่ออกมาพร้อมกับของสิริชัยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาปรากฏว่าผลเป็นลบ แต่จะถึงรอบตรวจอีกที่ในวันนี้(17 ส.ค.64) ซึ่งก็จะมีการตรวจคนอื่นอีกทีหนึ่งและมีความเป็นไปได้ว่าที่เหลืออีก 4 คน ได้แก่ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, ชาติชาย-ธัชพงษ์ แกดำ, แซม ซาแมท และณัฐชนนท์ ไพโรจน์ที่ยังคงถูกขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิตก็อาจจะติดเชื้อแล้วด้วยเช่นกัน และเธอยังกังวลถึงกรณีของปนัดดา ศิริมาศกูล หรือ “ต๋ง ทะลุฟ้า” ที่ถูกนำไปขังแยกอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี

นอกจากสถานการณ์การติดโควิด-19 ของทั้ 8 คนแล้ว พูนสุขยังอธิบายปัญหาที่ทนายความต้องเจอทุกครั้งเมื่อขอเยี่ยมลูกความของตนทั้ง 8 คน คือ การต้องเจรจากับทางเรือนจำเพื่อขอเข้าเยี่ยมลูกความตัวเองเนื่องจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปฏิเสธไม่ให้ทนายความเยี่ยมลูกความนับตั้งแต่การเยี่ยมครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาโดยเจ้าหน้าที่อ้างเรื่องการป้องกันโควิด-19 และปัญหาความไม่พร้อมของสภาพเรือนจำในด้านต่างๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไปกระทบกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหา

ทนายความตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะเป็นเรือนจำที่เพิ่งเปิดใหม่แม้กระทั่งป้ายระบุว่าเป็นเรือนจำก็ยังไม่มี เพราะเพิ่งมีการประกาศตั้งเรือนจำชั่วคราวรังสิตขึ้นมาเมื่อ 9มิถุนายน 2564 นี้

ทั้งนี้เมื่อกลับไปดูประกาศของกระทรวงยุติธรรมที่ให้ตั้งเรือนจำแห่งนี้ขึ้นมาให้เหตุผลว่าเพื่อใช้กักขังผู้ต้องขังเข้าใหม่ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19โดยให้ตั้งขึ้นในพื้นที่ของสถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และอยู่ภายใต้สังกัดของเรือนจำอำเภอธัญบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้เกิดการระบาดภายในเรือนจำทั่วประเทศอย่างรวดเร็วในช่วง 4 เดือนตั้งแต่เริ่มมีรายงานมีการรายงานในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บางวันจำนวนผู้ติดเชื้อสูงถึงหลักพันและมียอดผู้ติดเชื้อสะสมในปัจจุบันถึง 53,832 คน(ยอดจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 16 ส.ค.64)

ทางเข้าเรือนจำชั่วคราวรังสิตที่พูนสุขถ่ายก่อนเดินเข้าไปในพื้นที่เรือนจำเพื่อขอเยี่ยมลูกความ ภาพถ่ายโดย พูนสุข พูนสุขเจริญ

“เหมือนไม่เคยมีใครมาเยี่ยมมาก่อนที่เรือนจำนี้เลย เพราะเป็นเรือนจำชั่วคราวเปิดใหม่ ซึ่งไม่มีแม้กระทั่งป้ายใดๆ แล้วตอนแรกก็ต้องไปเจรจาเขาก็เลยขอเซตระบบก่อน ตอนแรกจะไม่ให้เยี่ยมแต่ก็ได้เยี่ยมตอนบ่าย แจมเข้าไปเยี่ยมสภาพคือไม่มีห้องให้เข้าเยี่ยม แล้วเจ้าหน้าที่ก็เอาโต๊ะพับมาวางคอมพิวเตอร์แล้วก็ลากสายแลนมาต่อให้คุยข้างหน้าอาคาร” พูนสุขเล่าถึงสภาพที่ได้เห็นสภาพเรือนจำแห่งนี้ครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 10 ส.ค. ซึ่งวันนั้นเธอไปพร้อมกับศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือทนายแจมที่ได้เข้าไปเยี่ยมลูกความคนเดียว

พูนสุขอธิบายว่าจุดที่ทางเจ้าหน้าที่เอาโต๊ะมาตั้งสำหรับให้ทนายความได้คุยกับลูกความผ่านคอมพิวเตอร์คือ เมื่อเดินเข้าประตูเรือนจำไปชั้นหนึ่งแล้วก็จะเจอรั้วอีกชั้นที่จะเป็นส่วนของเรือนจำจริงๆ แล้วก็โต๊ะที่ตั้งไว้เป็นสถานที่กลางแจ้งอยู่ถนนใต้ต้นไม้ ซึ่งการคุยเสียงก็จะออกจากลำโพงทำให้คนที่เดินผ่านไปมาก็ได้ยินเสียงการปรึกษาคดีระหว่างทนายความกับลูกความได้ เพราะระหว่างที่ปรึกษาคดีกันก็จะมีคนเดินผ่านไปผ่านมาตลอดซึ่งไม่มีความเป็นส่วนตัวใดๆ

พูนสุขกล่าวต่อไปว่านอกจากนั้นยังมีปัญหาทางเทคนิกอีกคือ ความเร็วของอินเตอร์เน็ตภายในเรือนจำแห่งนี้ที่ช้ามากจนทำให้การพูดคุยระหว่างทนายความกับลูกความในวันแรกหลุดบ่อยเป็นสิบครั้งทำให้การสนทนาระหว่างทนายความและลูกความขาดช่วง

“ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องมามุงแก้ระบบ แจมก็สันนิษฐานเอาว่าตัวเองน่าจะติดโควิดจากช่วงนั้น” ทนายความเล่าถึงข้อสันนิษฐานของศศินันท์เพื่อนทนายความที่ไปเรือนจำด้วยกันวันนั้น เนื่องจากภายหลังจากทั้งสองคนเข้าเยี่ยมลูกความในวันอังคาร ในวันพฤหัสบดีศศินันท์พบว่าตัวเองมีอาการไข้หวัดจึงใช้ชุดตรวจ Antigent Test Kit (ATK) ครั้งแรกแต่ก็ยังไม่พบเชื้อ จนในวันศุกร์ที่ 13 ส.ค.ศศินันท์ก็ได้รับทราบว่ามีเจ้าหน้าที่เรือนจำ 7 รายตรวจพบเชื้อโควิด-19 ส่วนตัวเธอเองแม้ว่าจะยังมีไข้อยู่แต่ไม่มีอาการอื่นเธอจึงใช้ ATK ตรวจซ้ำอีกครั้ง พบว่าครั้งนี้ผลออกมาว่าเธอติดเชื้อเธอจึงไปโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจ PCR ซ้ำอีกทีและผลที่ออกมาก็ยืนยันว่าเธอติดโควิด-19 ทั้งนี้ศศินันท์คิดว่าเป็นการติดเชื้อจากเรือนจำเนื่องจากก่อนหน้านี้เธอก็ไม่ได้ออกไปไหน

'ทนายแจม' เผยฉีดซิโนฟาร์มครบแล้ว แต่ตรวจ ATK ผลเป็นบวก คาดรับเชื้อจากเรือนจำ

แต่ไม่ใช่เพียงแค่ศศินันท์ที่พบว่าตัวเองติดเชื้อ ปูน ธนพัฒน์ลูกความของเธอที่ศาลเพิ่งให้ประกันตัวออกมาจากเรือนจำชั่วคราวรังสิตก็พบว่าตัวเองติดเชื้อด้วยเช่นกันเมื่อเสาร์ที่ผ่านมา(14 ส.ค.64) ในวันเดียวกับที่ได้ประกันตัว โดยทางเจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นผู้ตรวจให้เนื่องจากเช้าวันนั้นปูนพบว่าตัวเองมีอาการไข้

“วันพุธที่ 11ก็ไปกับพี่เอ๋ (เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) สองคนก็ถูกปฏิเสธเหมือนกัน เจ้าหน้าที่บอกว่าแจมเอาข้อความไปโพสต์เขาบอกว่าโดนเจ้านายว่าก็เลยจะไม่ให้เยี่ยม ก็คุยไปคุยมาก็ได้เยี่ยม แต่การเยี่ยมก็เหมือนเดิมนั่งกลางถนน มีคนมาส่งของ คนขนข้าวอาหารกลางวันเข้าไปในเรือนจำทุกคนก็เดินผ่านไปผ่านมา ทุกคนก็ได้ยินการสนทนา แล้วก็ขอตรวจสอบข้อความที่จะเอาออกนอกเรือนจำด้วย” พูนสุขเล่าถึงการไปเรือนจำชั่วคราวรังสิตครั้งที่สองของเธอ และวันศุกร์ที่ 13 ส.ค.เธอก็ไปอีกเป็นครั้งที่สามก็ยังคงมีปัญหาเดิมอีก

“แล้วตอนแรกก็ถูกปฏิเสธ เจ้าหน้าที่เรือนจำอ้างว่าเพิ่งมีเจ้าหน้าที่เรือนจำติดโควิดไป 7 คน เพิ่งทำความสะอาดไปเลยไม่อยากให้เยี่ยม ขอไปซื้อสายแลนมาติดตั้งระบบใหม่ก่อน คุยไปคุยมาจนเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าโอเค งั้นคุณก้รอไป 4โมง 6 โมงกว่าสายแลนจะมา เราก็รอซึ่งเขาก็ไปซื้อสายแลนมายาวๆ ต่อมาจุดเดิมนั่นแหละก็ไปนั่งน้ำหยดใส่หัว” ทนายความยังบอกอีกว่าทุกครั้งที่ทนายความพบลูกความก็จะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าอยู่ด้วย คนเดินผ่านไปมา แต่รอบวันศุกร์เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ตรวจสอบเนื้อหาแล้ว แต่ตอนจะเข้าเรือนจำทางเจ้าหน้าที่ก็ขอดูผลตรวจโควิด-19 แต่เธอก็ยืนยันว่าทางเรือนจำไม่ได้มีระเบียบและเรือนจำเองก็เป็นฝ่ายที่เจอว่าเจ้าหน้าที่ตัวเองติดโควิด-19

พูนสุขเล่าต่อว่า ล่าสุดวันจันทร์ที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ทนายความของศูนย์ทนายความฯ ไปเยี่ยมที่เรือนจำก็ถูกปฏิเสธอีกโดยอ้างเรื่องที่ศศินันท์ไปโพสต์เฟซบุ๊กอ้างว่าติดโควิดจากเรือนจำทำให้ทางเรือนจำเสียหาย แล้วก็ยังอ้างว่าจะต้องไปซื้อสายแลนใหม่เพื่อต่อออกไปข้างนอกเรือนจำ แต่พอทนายความยืนยันจะเยี่ยมลูกความทางเจ้าหน้าที่มาขอดูผลตรวจโควิด-19 อีกทนายก็เลยต้องออกไปหา ATK มาตรวจเพื่อแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู แต่วันนี้ทางเรือนจำเองก็ยังมีการย้ายนักโทษอื่นด้วยวุ่นวายไปหมดทนายความที่ไปก็เลยกลับก่อน จนกระทั่งประมาณบ่าย 3 ทางเรือนจำถึงโทรศัพท์มาตามกลับไปให้เยี่ยมเพราะทางเจ้าหน้าที่จะย้ายเพนกวิน แต่เพนกวินไม่ยอมย้ายจนกว่าจะเจอทนายความก่อน ผลตรวจโควิดของทนายความก็จะไม่ดูแล้ว สุดท้ายทนายความก็เลยได้เยี่ยม

“เรื่องแรก ไปเรือนจำทุกวันก็ได้รับการปฏิเสธทุกวันเลย ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเจ้าหน้าที่จะต้องไม่ให้เราเข้า ไปเรือนจำทุกวันก็ถูกปฏิเสธทุกวันไม่เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิเสธทำไม เรื่องที่สองคือตามมาตรา 61 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ รับรองว่าทนายความจะสามารถพบผู้ต้องขังได้เป็นการส่วนตัว แต่ว่าเรือนจำนี้เนื่องจากว่าเปิดใหม่สถานที่ก็ไม่พร้อมทั้งไม่มีห้องก็ไม่มีความเป็นส่วนตัวและทำให้คนที่ไปเยี่ยมมีความเสี่ยงมากขึ้นจะต้องสัมผัสคนเดินผ่านไปผ่านมาเรือนจำเพราะคนที่เข้าออกเรือนจำก็ต้องผ่านตรงจุดที่นั่งคุยตรงนั้น แล้วทนายความที่ไปเยี่ยมก็ติดโควิด”

พูนสุขยกกรณีที่ไปเข้าเยี่ยมปนัดดา ศิริมาศกูล หรือ “ต๋ง ทะลุฟ้า” ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงที่ตอนแรกเจ้าหน้าที่ก็บอกไม่ให้เยี่ยมเหมือนกันก็อ้างเรื่องอยู่ระหว่างกักตัวเหมือนกันก็เจรจาจนเขาให้เยี่ยม ซึ่งทางทัณฑสถานฯ อุปกรณ์ก็พร้อมกว่า ทางเจ้าหน้าที่ก็มานั่งฟังด้วย แต่พอขอปรึกษาเป็นส่วนตัวเจ้าหน้าที่ก็ยอมออกไป ซึ่งเทียบกันแล้วของทัณฑสถานฯ ที่ปนัดดาอยู่ก็ถือว่าโอเคที่สุด

พูนสุขกล่าวถึงทัณฑสถานบำบัดกลางที่จตุภัทร บุญภัทรรักษาถูกนำตัวไปขัง วันแรกที่ทนายความไปขอเยี่ยมก็ถูกปฏิเสธเช่นกันด้วยเรื่องอยู่ระหว่างกักตัวโควิด ก็ต้องกลับมาทำหนังสือเพื่อขอเข้าเยี่ยมอีกทีหนึ่ง ล่าสุดที่ทนายความไปเยี่ยมทางทัณฑสถานบำบัดกลางก็ยังขอใบแต่งทนายความจากศาลอีกก็มีความยุ่งยาก

“เกณฑ์ตรงนี้ก็อาจจะไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนที่ออกมาจากกรมราชทัณฑ์ นโยบายอาจจมีมาแค่ว่าให้กักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ 21 วัน แต่ไม่ได้บอกวิธีการว่าต้องให้ทนายความเข้าเยี่ยมได้ทำให้เวลาทนายความไปเยี่ยมแล้วถูกปฏิเสธหรือไม่ได้ถูกคิดเรื่องการจัดการให้ทนายความเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้โดยปลอดภัยทั้งทนายความ เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง ซึ่งควรจะเป็นนโยบายที่ถูกคิดมาก่อน แล้วก็มีมาตรการที่จะป้องกันได้” พูนสุขเห็นว่าก็ควรจะจัดสถานที่ให้พร้อมแล้วก็มีห้องสำหรับให้เข้าไปเยี่ยมได้ไม่ใช่ห้ามผู้ต้องขังเจอทนายความ

“อย่างกรณีเคสทางการเมืองพวกเราต้องพยายามยืนยันเข้าไปถึงจะได้เจอ แล้วถ้ามันเป็นคดีทั่วไปละ คือเราไปมาสามสี่วันเราไม่เห็นทนายความคนอื่นที่เรือนจำชั่วคราวรังสิตเลย ไม่แน่ใจว่าเรือนจำไม่ให้เยี่ยมหรือว่าทนายความไม่มาเยี่ยมเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วการติดต่อประสานงานระหว่างลูกความกับทนายความในช่วงที่เพิ่งเขาเรือนจำเป็นเรื่องจำเป็น แล้วคุณจะบอกว่าต้องกักตัวครบก่อนค่อยติดต่อกันได้ มันจำกัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องขังไปด้วย”

พูนสุขเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดคือศาลก็ควรจะให้สิทธิประกันตัว ซึ่งงตอนที่ทั้ง 8 คน เข้าไปครั้งแรกยังไม่มีใครมีผลตรวจแล้วพบการติดเชื้อแต่พอผ่านมา 4-5 วันทั้งเจ้าหน้าที่เอง ผู้ต้องขังเอง แล้วก็ทนายความที่ตอนนี้อย่างน้อยก็ 12 คนแล้วที่ติดโควิดจากเรือนจำแห่งนี้ ก็ไม่รู้ว่าที่เหลืออีก 4 คน จะติดเชื้อด้วยหรือไม่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net