Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 19,014 ราย ป่วยสะสม 1,049,295 ราย รักษาหาย 20,672 ราย หายสะสม 839,636 ราย เสียชีวิต 233 ราย เสียชีวิตสะสม 9,320 ราย ยอดผู้รับวัคซีน (ถึง 21 ส.ค. 2564) สะสมทั้งหมด 26,832,179 โดส - สกัดติดเชื้อในตลาดสุ่มใช้ ATK ตรวจ 2 แสนคน - 'แพทย์ชนบท' คาดไทยติดโควิดมากกว่าตัวเลขที่รายงาน ระบุตรวจ ATK รายงานผลเป็นบวกแต่ยังไม่รวม เชื่อ ATK มีความแม่นยำจะทำให้เห็นตัวเลขที่แท้จริง

22 ส.ค. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 19,014 คน ติดเชื้อใหม่ 18,818 คน ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 196 คน ผู้ป่วยสะสม 1,020,432 คน (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) หายป่วยกลับบ้าน 20,672 คน หายป่วยสะสม 812,210 คน (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) กำลังรักษา 200,339 คน เสียชีวิต 233 คน

ขณะที่เว็บไซต์ worldometers.info รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก เมื่อเวลา 07.53 น. มีจำนวน 212,103,181 คน หายป่วยสะสม 189,733,602 คน และเสียชีวิตสะสม 4,435,512 คน

สำหรับประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคืออินเดีย บราซิล รัสเซีย ฝรั่งเศส ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 33 ของโลก

สกัดติดเชื้อในตลาดสุ่มใช้ ATK ตรวจ 2 แสนคน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วประเทศ พบว่าพื้นที่สีแดงเข้มโดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับตลาดสด ตลาดนัด โดยมีข้อมูลว่าตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-10 ส.ค. พบการติดเชื้อใน 23 จังหวัด ในตลาด 132 แห่ง ผู้ติดเชื้อรวม 14,678 คน

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในตลาด เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมศบค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน พิจารณาดำเนินการ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ในตลาดมี 3 ส่วน ได้แก่ มาตรการป้องกันคน ป้องกันสถานที่ และจัดการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค โดยการป้องกันคนนั้นจะมีตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ในกลุ่มเป้าหมายได้แก่ผู้ค้า ลูกจ้าง แรงงานที่เดินทางเข้าออก ผู้อยู่อาศัยที่ประกอบธุรกิจอยู่โดยรอบ และมีการสุ่มตรวจผู้ซื้อที่เดินทางเข้าไปใช้บริการในตลาดดำเนินการในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด

โดย 3 ระยะแรกเริ่มใน 9 จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กทม.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ราชบุรี ชลบุรี นครราชสีมา สงขลา และสระแก้ว เป้าหมายที่ตลาดค้าส่งและตลาดขนาดใหญ่ 500แผงขึ้นไป ตลาดที่มีความเสี่ยงสูง มีชุมชนรอบตลาด รวม 27 แห่ง

ส่วนระยะที่ 2 ตรวจในพื้นที่ตลาดทุกขนาด ในจังหวัดสีแดงเข้ม 16 จังหวัด ครอบคลุมตลาด 117 แห่ง และระยะที่ 3 ดำเนินการครอบคลุมตลาดทุกขนาด ในพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด 683 แห่ง

“เบื้องต้นคาดว่าจะตรวจครอบคลุมเป้าหมาย 202,010 คน ตรวจทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ใช้ชุดตรวจ 808,040 ชุด และสำรองอีก 41,960 ชุด รวมใช้ชุดตรวจ 850,000 ชุด จะขอรับการสนับสนุนชุดตรวจจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)”

นอกจากดำเนินการตรวจเชิงรุกแล้ว ตามมาตรการนี้จะมีการให้วัคซีนแก่ผู้เกี่ยวข้องในตลาดตามลำดับความเสี่ยง รวมถึงดำเนินมาตรการอื่นควบคู่ เช่น การมีแผนเผชิญเหตุ การจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่แยกกัก เพื่อรองรับกรณีผู้ติดเชื้อหรือพบผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก

คุมเข้มกรณีจัดปาร์ตี้สังสรรค์ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย หลังทราบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับการจัดงานเลี้ยง สังสรรค์ รวมกลุ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมตัวกันมั่วสุมในแหล่งอบายมุขหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ทั้งยังฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่มีข้อห้ามการรวมกันทำกิจกรรมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคด้วย

“นายกรัฐมนตรี กำชับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จังหวัด ท้องถิ่นป้องกันการรวมกลุ่มในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ตรวจสอบสถานที่ที่มักมีการรวมกันจัดงานเลี้ยง หรือแหล่งอบายมุขในพื้นที่”
ทั้งนี้ หากพบการกระทำความผิด ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยห้ามละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มิเช่นนั้น เจ้าหน้าที่จะมีความผิดด้วย และหากพบว่าเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจให้เกิดกิจกรรมมั่วสุม จะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดด้วยเช่นกัน

“ไทยร่วมใจฯ” นัดคิวฉีดวัคซีนใหม่ 25-27 ส.ค.

เพจ Facebook “ไทยร่วมใจกรุงเทพฯ ปลอดภัย” นัดคิวฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มที่ 1 เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนซึ่งมีอายุ 18-59 ปี และมีคิวฉีดวัคซีนระหว่างวันที่ 16-20 ส.ค. ให้มาฉีดวัคซีนในวันพุธที่ 25 ส.ค. คิวระหว่างวันที่ 21-25 ส.ค. ให้มาฉีดในวันพฤหัสบดีที่ 26 ส.ค. และคิวระหว่างวันที่ 26-31 ส.ค. ให้มาฉีดในวันศุกร์ที่ 27 ส.ค.

ส่วนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ให้เข้ารับวัคซีนตามที่นัดหมาย และผู้ตั้งครรภ์สามารถวอล์กอินได้ที่ศูนย์ฉีด 12 แห่ง ในระหว่างวันที่ 25-27 ส.ค. เช่นกัน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ประจำวันนี้ (22 ส.ค.) พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 19,014 คน หายป่วยกลับบ้าน 20,672 คน เสียชีวิต 233 ราย ภาพรวมยอดสะสมตั้งแต่เมษายน มีผู้ติดเชื้อกว่า 1,020,000 คน

'แพทย์ชนบท' คาดไทยติดเชื้อมากกว่าตัวเลขที่รายงาน ระบุตรวจ ATK รายงานผลเป็นบวกแต่ยังไม่รวม

ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คถึงประเด็น โควิดว่าด้วยเรื่องตัวเลข โดยระบุว่า หัวใจของการทำความเข้าใจตัวเลขรายงานของ ศบค.นั้น มีประเด็นสำคัญที่ต้องดูร่วมกันอยู่ 2-3 ประเด็นจำนวนผู้ป่วยใหม่ประจำวันนั้น มากน้อยขึ้นกับจำนวนการตรวจ RT-PCR ด้วย

เช่นในวันนี้ 22 ส.ค.2564 พบผู้ป่วยใหม่ 19,014 ราย เราพบผู้ป่วยเฉลี่ยที่ราว 20,000 รายต่อวันมาตลอด แต่ตัวเลขนี้เป็นผลมาจากการตรวจ RT-PCR ของสัปดาห์นี้ที่เฉลี่ยตรวจได้วันละ 52,845 ราย ซึ่งหมายความว่ายังมีการตรวจ RT-PCR ที่มีจำนวนไม่มากนัก เพราะศักยภาพการตรวจนั้น ประเทศไทยทำได้ที่มากกว่า 100,000 รายต่อวัน

ในขณะที่การตรวจ ATK ประจำวันนั้นแม้มีรายงานเป็นผลบวก แต่ก็จะยังไม่นำมารวมในตัวเลขผู้ติดเชื้อ หากรายใดได้ทำ RT-PCR ซ้ำ รายนั้นหากเป็นบวก ก็จะถูกนับว่าเป็นผู้ป่วยใหม่ แต่หากไม่ได้ตรวจซ้ำ ก็จะหลุดไป
นี่คือเบื้องต้นว่าด้วยโควิดกับตัวเลข แท้จริงจำนวนผู้ป่วยใหม่มีมากกว่ามาก จะกี่เท่ายากที่จะเดา และหากเรามี ATK ที่มีความแม่นยำ ทีมแพทย์เชื่อมั่นในผล ATK ที่ได้มาเราก็จะสามารถเห็นตัวเลขที่แท้จริงจากการรายงานได้มากขึ้น

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย | กรุงเทพธุรกิจ


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net