Skip to main content
sharethis

รู้จัก ‘ฮาวานาซินโดรม (Havana Syndrome)’ อาการไม่พึงประสงค์ของนักการทูตสหรัฐฯ ที่ทำให้เที่ยวบินจากสิงคโปร์ไปเวียดนามของ ‘กมลา แฮร์ริส’ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดีเลย์ไปถึง 3 ชั่วโมง

25 ส.ค. 2564 สำนักข่าว CNN ของสหรัฐฯ รายงานว่าว่าช่วงเย็นวานนี้ (24 ส.ค. 2564) เที่ยวบินจากสิงคโปร์ไปเวียดนามตามแผนการเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความล่าช้าออกไปหลายชั่วโมง หลังจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงฮานอยแจ้งว่า “มีรายงานว่าอาจพบเหตุผิดปกติด้านสุขภาพเมื่อไม่นานมานี้” ซึ่งคำดังกล่าวเป็นคำที่ทางการสหรัฐฯ ใช้เรียกกลุ่มอาการฮาวานาซินโดรม (Havana syndrome) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ หลายร้อยคนเจ็บป่วยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ซีโมน แซนเดอร์ส หัวหน้าโฆษกของแฮร์ริสให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าแฮร์ริสยังมีสุขภาพที่ดี และเตรียมตัวเดินทางไปเยือนเวียดนามตามกำหนด ขณะที่เลขาธิการโฆษกประจำทำเนียบขาวระบุว่า “แฮร์ริสจะไม่เดินทางไปยังประเทศอื่น หากไม่มีการยืนยันเรื่องความปลอดภัย ณ จุดหมายปลายทาง” อย่างไรก็ตาม เลขาธิการโฆษกประจำทำเนียบขาวไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องการรักษาความปลอดภัยใดๆ เพิ่มเติม บอกเพียงแค่ว่าเจ้าหน้าที่ที่มีอาการฮาวานาซินโดรมไม่ได้เดินทางไปเวียดนามร่วมกับแฮร์ริส และปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่กี่คนที่มีอาการดังกล่าว

CNN รายงานเพิ่มเติมว่ารองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางออกจากฐานทัพอากาศปายาเลบาร์ของสิงคโปร์ในเวลา 19.32 น. เมื่อวานนี้ (24 ส.ค. 2564) ตามเวลาท้องถิ่นของสิงคโปร์ หลังจากเที่ยวบินล่าช้าไป 3 ชั่วโมง ต่อมา เวลา 22.44 น. สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงฮานอยรายงานว่าแฮร์ริสเดินทางถึงเวียดนามอย่างปลอดภัยแล้ว และ CNN ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ คนใดในเวียดนามที่มีอาการดังกล่าวหรือไม่

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2564 สำนักข่าวดอยช์เวเล (DW) ของเยอรมนีระบุว่าเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ จำนวน 2 คนมีอาการฮาวานาซินโดรม ซึ่งทั้ง 2 คนนี้ทำงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย เช่น ดูแลเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ระหว่างสหรัฐฯ-เยอรมนี รวมถึงการแทรกแซงทางการเมืองด้านอื่นๆ

ฮาวานาซินโดรม (Havana Syndrome) คืออะไร

ฮาวานาซินโดรมคือชื่อเรียกของกลุ่มอาการเจ็บป่วยทางร่างกายที่ส่งผลต่อประสาทสัมผัส โดยเฉพาะด้านการได้ยิน ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนหัวและศูนย์เสียการทรงตัวเฉียบพลัน คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัวรุนแรง และหูอื้อ ซึ่งคาดว่าเกิดจากการได้ยินเสียงที่มีคลื่นความถี่สูง ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับบาดเจ็บทางสมองร่วมด้วย ซึ่งผลผลให้ร่างกายอ่อนแรงและมีปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ตามมา

ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) รายงานว่าอาการฮาวานาซินโดรมพบครั้งแรกในช่วงปลายปี 2559 ที่กรุงฮาวานา เมืองหลวงของประเทศคิวบา โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ที่ทำงานให้กับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ อธิบายว่าพวกเขามีอาการหูอื้อ ปวดหัว และได้ยินเสียงเหมือนจักจั่นร้องอื้ออึงอยู่ในหูตลอดเวลา นอกจากนี้ พวกเขายังรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย และมีปัญหาเรื่องความทรงจำ รวมถึงมีอาการปวดหู และสูญเสียการได้ยินร่วมด้วย หลังจากที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้รับการรักษาและเข้ารับการสแกนสมอง พบว่า เนื้อเยื่อสมองบางส่วนของพวกเขาถูกทำลาย มีลักษณะคล้ายกับการถูกทำลายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือแรงกระแทกจากระเบิด เป็นเหตุให้ทางการสหรัฐฯ ต้องอพยพเจ้าหน้าที่เหล่านั้นออกจากสถานเอกอัครราชทูตในกรุงฮาวานาโดยด่วน

เบื้องต้น ทางการสหรัฐฯ คาดว่าอาการฮาวานาซินโดรมเกิดจากอาวุธที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Sonic weapons) แต่ข้อสันนิษฐานนี้ถูกตีตก เนื่องจากคลื่นเสียงความถี่สูงที่หูของมนุษย์ไม่ได้ยินนั้นไม่สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยดังกล่าวได้ ต่อมาในปี 2560 ผลการศึกษาที่เผยแพร่โดย NASEM องค์กรวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า คลื่นไมโครเวฟสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองได้โดยไม่ทำลายโครงสร้างทั้งหมดของสมอง ซึ่งสามารถอธิบายที่มาที่ไปของอาการดังกล่าวได้ อีกทั้งในผลการศึกษาดังกล่าวยังระบุว่ารัสเซียมีการพัฒนาเทคโนโลยีคลื่นไมโครเวฟมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 สมัยที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต และเคยใช้อาวุธจากคลื่นไมโครเวฟระเบิดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในกรุงมอสโกอีกด้วย ต่อมาในปี 2562 ผลการศึกษาอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ JAMA ของสมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association) ก็มีข้อสรุปที่คล้ายคลึงกัน

เจฟฟรีย์ สตาบ ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ประจำ Mayo Clinic ผู้ร่วมทีมวิจัยของ NASEM กล่าวว่ามีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากคลื่นไมโครเวฟ จนไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัด และถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะทราบดีว่าการยิงคลื่นไมโครเวฟเข้าไปในหัวมนุษย์โดยตรงสามารถทำให้บุคคลเหล่านั้นได้ยินเสียง ‘คลิก’ ดังต่อเนื่องในหู ซึ่งเรียกว่าปรากฏการณ์ Frey Effect แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าคลื่นไมโครเวฟสามารถสร้างบาดแผลที่เห็นได้ชัดในสมองหรือไม่ ด้านเคนเนท ฟอสเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ที่อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นคนแรกก็คิดว่าการเชื่อมโยงสาเหตุการเกิดโรคว่ามาจากคลื่นไมโครเวฟนั้น “ขัดต่อความน่าเชื่อถือ”

อีกหนึ่งสมมติฐานสำหรับอธิบายสาเหตุของอาการฮาวานาซินโดรม คือ อุปทานหมู่ (Mass Psychogenic Illness) เพราะหลังจากการตรวจสอบสุขภาพของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในคิวบาอย่างละเอียดแล้วพบว่าผู้ที่สูญเสียการได้ยินมีเพียง 2 จาก 21 คนเท่านั้น ซึ่งรายงานเพิ่มเติมระบุว่าเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 คนมีอาการดังกล่าวก่อนเกิดเหตุในคิวบา แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ากลุ่มตัวอย่างผู้มีอาการฮาวานาซินโดรมที่ปรากฎในผลการศึกษายังถือว่าน้อยเกินกว่าจะสรุปสาเหตุของอาการได้ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าอาการของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันนั้น เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากความเครียดที่ต้องถูกจับตามองตลอดเวลา หลังย้ายไปประจำการในคิวบาเมื่อ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นปีที่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองและความมั่นคงของสหรัฐฯ หลายคน รวมถึงผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ หัวหน้า CIA และ FBI ได้ประชุมปรึกษาหารือเรื่องการสืบสวนที่มาที่ไปของอาการฮาวานาซินโดรม ซึ่งที่ปรึกษาหลายคนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ออกมาให้ข่าวว่าพวกเขาเชื่อว่า CIA จะสืบทราบที่มาที่ไปของอาการดังกล่าวโดยจะสืบสวนย้อนกลับไปยังรัสเซีย ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการสืบสวนหาสาเหตุของอาการฮาวานาซินโดรมตามหลักวิทยาศาสตร์อาจถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมือง อย่างไรก็ตาม ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ให้ความเห็นว่าไม่ว่าสาเหตุของอาการฮาวานาซินโดรมจะเกิดขึ้นจาก ‘อาวุธลับ’ หรือ ‘อุปทานหมู่’ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาการต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจริงสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ที่เจ็บป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net