Skip to main content
sharethis

วานนี้ในการประชุม ครม. กระทรวงยุติธรรมตอบประเด็นที่คณะกรรมการสิทธิฯ มีรายงานและข้อเสนอถึงรัฐบาลเพื่อป้องกันการซ้อมทรมานโดยให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. 2 ฉบับที่ยังให้อำนาจทหารในการจับกุมสอบสวน รวมถึงดำเนินการออกกฎหมายป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมาน สืบเนื่องจากกรณีผู้ต้องสงสัยคดียาถูกซ้อมตายเมื่อปี 63 ยธ.ระบุคำสั่ง คสช.ยังจำเป็นต้องใช้

30 ส.ค.2564 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีมีการนำเสนอรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เป็นการสรุปผลพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการป้องกันการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีลักษณะเป็นการทรมานบุคคล

ในรายงานยกกรณีที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร้องเรียนต่อ กสม.เรื่องผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด 2 คน ที่ถูกทหารจากศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ค่ายพระยาสุรทรธรรมธาดาจับกุมไปซักถามข้อมูลในวัดเมื่อ 17 เม.ย.2563 และมีการซ้อมทรมานจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและมี 1 คนที่เสียชีวิต ซึ่งทางมูลนิธิฯ ขอให้ตรวจสอบเนื่องจากเห็นว่ากรณีนี้เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากการรู้เห็นและยินยอมจากเจ้าหน้าที่

ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าการกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2550 ประกอบกับที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับการซ้อมทรมานบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ แต่ผู้กระทำผิดมักลอยนวล เนื่องจากได้รับการช่วยเหลือจากผู้บังคับบัญชา ทำให้การกระทำทรมานบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในท้องที่ต่าง ๆ ของประเทศ

ทาง กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของทหารน่าจะกระทำการเข้าข่ายเป็นการทรมานผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง2ด้วยการซ้อมรุมทำร้ายหรือใช้กำลังทำร้ายร่างกายหลายครั้งติดต่อกัน ตั้งแต่ในระหว่างการจับกุมจนกระทั่งควบคุมตัวเพื่อซักถามข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมุ่งประสงค์ให้ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 2 รับสารภาพหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของยาเสพติดเพื่อขยายผลไปถึงเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดหรือผู้เสพยาเสพติดรายอื่น ๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ตามนิยามของการทรมาน และยังเป็นการกระทำทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ และขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ข่าวที่ประชุม ครม. ระบุว่าจากเรื่องดังกล่าว ทาง กสม. มีข้อเสนอ ใน 3 ประเด็น

ประเด็นแรก กสม.เสนอให้ยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2 ฉบับได้แก่ 23/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ลงวันที่ 24 ก.ค. 2558 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ลงวันที่ 29 มี.ค. 2559 ที่ให้อำนาจทหารเหมือนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการสืบสวนการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดทางอาญาอื่น

ทั้งนี้ทางกระทรวงยุติธรรมเห็นว่าคำสั่ง คสช.ทั้ง 2 ฉบับยังมีความจำเป็นในการป้องกันปราบปรามการบ่อนทำลาย เศรษฐกิจ สังคม ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสุจริตชน แต่ทางกระทรวงยุติธรรมก็เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งทั้ง 2 ฉบับอาจเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเจ้าหน้าที่จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบกฎหมายและเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเคร่งครัด

ประเด็นที่สอง กสม.เสนอให้ ครม. ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ไว้เป็นลำดับแรกเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไปโดยเร็ว และนำหลักการและสาระสำคัญตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญไปบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว รวมทั้งกำหนดให้มีกลไกพิเศษในการสืบสวนสอบสวนคดีทรมานและคดีที่เกี่ยวกับการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพ

กระทรวงยุติธรรมได้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว โดยผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ (อนุวิปรัฐบาล) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล)

ประเด็นที่สาม กสม. เสนอให้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางในการปฏิบัติงานแบบบูรณาการระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายและจัดทำโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรมระบุว่ากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจ และการฝึกอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องให้แก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ การฝึกอบรมหลักสิทธิมนุษยชนสำหรับนายทหารเหล่าทหารพระธรรมนูญ การฝึกอบรมเทคนิคการสืบสวนสอบสวนแนวใหม่ การฝึกอบรมเทคนิคการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อหาร่องรอยจากการทรมานฯ และการบังคับให้บุคคลสูญหายตามแนวทางของพิธีสารมินนิสโซต้าและพิธีสารอิสตันบูลด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net