Skip to main content
sharethis

ญาติเหยื่ออุ้มหายและภาคประชาสังคม เข้ายื่นหนังสือให้สภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายให้เสร็จภายในสมัยประชุมนี้ เชื่อว่าจะเป็นกฎหมายที่จะสร้างหลักประกัน หยุดสังคมป่าเถื่อนที่คนเห็นต่างคุกคามจนต้องหายไปหรืออยู่ไม่ได้

 

8 ก.ย. 2564 เหยื่อและผู้เสียหายจากการบังคับสูญหาย องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมเดินทางมาแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และยื่นหนังสือที่รัฐสภา เพื่อแสดงเจตจำนงให้มีการเร่งรัดให้ผ่าน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย

มานพ คีรีภูวดล ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ออกมารับหนังสือจากตัวแทนเหยื่อ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้ประชุมกันเมื่อวาน ก็ได้ทีมติเสนอให้สภาเลื่อนร่างฯ ขึ้นมาให้ทันการพิจารณาในสัปดาห์นี้ คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ฝ่ายการเมืองและรัฐสภาต้องทำ โดยในเดือน พ.ย. นี้ ไทยจะต้องมีตัวแทนไปที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อชี้แจงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมายฉบับนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าไทยได้ทำตามข้อตกลงที่ไปลงนามกับอารยประเทศหรือไม่ ส่วนตัว ในฐานะที่เป็นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อนๆ ชาติพันธุ์อย่างชัยภูมิ ป่าแส ก็ถูกกระทำจากทหาร แล้วภาพจากกล้องก็หาย มีกรณี 'บิลลี่' พอละจี รักจงเจริญ ที่ก่อให้เกิดคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมจากประชาชน ดังนั้นในสภาก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่

 

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกลที่ออกมารับหนังสืออีกคน กล่าวว่า ตนก็มีเพื่อนและพี่หลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการสูญหาย ส่วนตัวก็เคยกินข้าวกับ 'วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์' สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ส่วนตัวรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งที่พบว่าคนที่มีความตั้งใจอยากเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นสังคมที่ดีงาม วันหนึ่งกลับอยู่ในประเทศไม่ได้ และเมื่อถูกทำให้สูญหาย ก็ไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย เป็นความทรมานที่ตนและครอบครัวได้เจอทุกครั้งที่คิดว่าคนเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และยังสะอนความโหดร้ายและป่าเถื่อนของสังคมที่เราอยู่ ที่คนที่ต้องการเห็นสังคมที่เปลี่ยนแปลง ไม่สามารถอยู่ได้อย่างปกติ เรื่องเลห่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีกฎหมาย หรือเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้นเชื่อว่าทำได้และเป็นสิ่งที่ต้องทำ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นหลักประกันในสังคมที่ป่าเถื่อน และหากมีคนที่ได้รับผลกระทบ ก็จะมีคนที่ค้นหาความจริงและเป็นเพื่อนของผู้สูญเสีย

รังสิมันต์ กล่าวว่า เมื่อวานได้ประชุมวิปฝ่ายค้าน ก็ได้เรียกร้องให้เลื่อนตัวร่างฯ มาต่อท้ายร่าง พ.ร.บ.การปฏิรูปการศึกษา ที่เป็นไปได้สูงว่าอาจจะผ่านวาระที่หนึ่ง ก่อนออกมาก็ประสานกับวิปรัฐบาลท่านหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่าไม่น่ามีปัญหาในการเลื่อนร่างฯ ขึ้นมา จึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกลงไปได้

 

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีการจะนำกฎหมายเข้าสภาก็จะมีจดหมายน้อยเข้ามาทำให้หลุดการพิจารณาออกไป การได้เข้าวาระพิจารณาของสภาครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากในการที่จะทำให้การทรมานและบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญา โดยทาง ส.ส. ของพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านก็มีการเสนอร่างฯ เข้าไป 3 ฉบับ เพื่อเข้าไปประกอบกับฉบับที่กระทรวงยุติธรรมที่นายกฯ ทำหนังสือส่งให้ประธานสภาไปเมื่อ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมาสังคมไทยเริ่มรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมากขึ้น ก็มีรายงานของการถูกคุมขังและกสรทรมานอย่างเช่นถูกบังคับให้ยืนเป็นเวลา 4 วัน 4 คืน ถูกแก้ผ้า ถูกทำให้หายใจไม่ออกด้วยวิธีหลายวิธี กฎหมายฉบับนี้จะล้วงมือไปควบคุมและตรวจสอบให้เกิดการป้องกันทรมาน การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ความเป็นมนุษย์ รวมถึงการทำให้หายไปของคนนอกประเทศ ที่อาจเกิดจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

มิน นักกิจกรรมจากชายแดนใต้กลาวว่า ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา มีคนถูกอุ้มหาย พลัดพรากจากครอบครัว ถูกจับกุมเพียงเพราะเหนต่างจากรัฐหรือผู้มีอำนาจ มีคนที่เข้าเกณฑ์ถูกบังคับสูญหายหรือทรมานมากกว่า 7 พันคน กรณีคลุมถุงดำที่ จ.นครสวรรค์เป็นเพียงหนึ่งในจำนวนที่ไม่อาจทราบได้ หากไม่มีคลิปหลุดออกมาก็คงเป็นเหมือนหลายๆ กรณีที่เจ้าหน้าที่มักจะกล่าวอย่างเคยชินว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ไหนๆ เขาก็ทำกัน ถือเป็นความเศร้าสลดที่เราจะต้องส่งต่อสังคมที่จะหาพื้นที่ปลอดภัยแทบไม่ได้ในค่ายทหารและสถานีตำรวจให้ลูกหลาน กฎหมายนี้จะเป็นหลักประกันให้คนรุ่นหลังที่จะไม่ต้องหวาดระแวงกับสภาพสังคมแบบนี้อีกต่อไป

ก่อการ บุปผาวัฏฏ์ ลูกของชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ 'ภูชนะ' ผู้ลี้ภัยชาวไทยที่ถูกพบเป็นศพในแม่น้ำโขงเมื่อปี 2562 กล่าวว่า การมีกฎหมายฉบับนี้คงทำให้ตำรวจทำงานได้คล่องตัวขึ้น เพราะให้อำนาจตำรวจในการสืบหาความจริงหรือเยียวยาผู้เสียชีวิตและเหยื่อไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ถือเป็นเรื่องทางมนุษยธรรมที่มนุษย์จะกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันได้ในสภา

สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่ถูกลักพาตัวที่พนมเปญเมื่อปี 2563 กล่าวว่า การมีกฎหมายนี้จะทำให้ทุกคนได้รับการปกป้องไม่มากก็น้อย ถือเป็นเกราะกำบังของคนที่ออกมาเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง อนึ่ง ความคืบหน้าของการค้นหาความจริงกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิมนั้น จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรับสำนวนเพื่อสืบสวนสอบสวนไม่ว่าจะทั้งในไทยและกัมพูชา

ตัวแทนจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ อ่านจดหมายจากสมาชิกกลุ่ม โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ใจความว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยถูกหมักหมมจากอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ มีคนที่ถูกทำลาย ละเมิดสิทธิ์ ทั้งจากการแสดงความกระด้างกระเดื่อง การทรมานและการบังคับสูญหายเกิดขึ้นหลายทศวรรษ แต่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง สะท้อนความป่าเถื่อนของผู้กุมอำนาจในสังคมไทยและความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม

ปัญหาในสวัสดิภาพได้กัดกินสังคมไทยเรื่อยมา จนมาถึงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยิ่งมีคนถูกอุ้มหายและคุกคามอีกหลายคน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงสถิติ แต่เป็นชีวิต เป็นสมาชิกครอบครัวและคนรักของใครหลายๆ คน ในฐานะประชาชน ก็จะจับตามองกระบวนการผ่านกฎหมายฉบับนี้

หลังจากยื่นหนังสือหน้าสภา ทางกลุ่มได้เข้าไปในรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือให้กับสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสมบูรณ์ระบุว่า ลำดับของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ถูกเลื่อนมาเป็นลำดับที่ 4 แล้ว

ก้าวไกล ยืนยันดันร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ให้ทันสมัยประชุมนี้

ทีมข่าวพรรคก้าวไกลรายงานว่าเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยมานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ร่วมรับหนังสือจากเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ที่จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร เร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามบุคคลสูญหาย ที่รัฐสภา โดยมีธนัตถ์ ธนกิจอำนวย หรือลูกนัท พร้อมด้วยสิตานันท์ สัตยศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม สัตยศักดิ์สิทธิ์ บุคคลที่ถูกทำให้สูญหาย ณ ประเทศกัมพูชา ร่วมเรียกร้องต่อประเด็นดังกล่าว

รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า ตนเองก็มีกลุ่มเพื่อนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกกระทำให้สูญหาย ซึ่งตนเคยรับประทานอาหารร่วมกับนายวันเฉลิม สัตยศักดิ์สิทธิ์ บุคคลที่ถูกทำให้สูญหาย ณ ประเทศกัมพูชาในสมัยที่ตนเคยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตนรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้ง ที่วันหนึ่งคนที่มีความตั้งใจอยากจะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นสังคมที่ดีงาม ไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ในประเทศนี้ได้ และสุดท้ายต้องถูกบังคับสูญหาย ถือเป็นความเจ็บปวดทุกครั้ง ที่เราไม่รู้ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ เขายังมีลมหายใจหรือเปล่า เราได้แต่รอ เราได้เเต่ฝัน เราได้แต่พยายามคิดในแง่บวกว่าเขาอาจจะอยู่ในที่ที่ดีกว่าที่เราจะจินตนาการได้ ตนคิดว่ามันเป็นความเจ็บปวดเเละความทุกข์ทรมานของครอบครัว ของเพื่อนที่ต้องเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้ายเเละป่าเถื่อนของสังคมที่เรากำลังอยู่ ที่คนต้องการเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถมีชีวิตได้อย่างปกติ

"ผมคิดว่าสถานการณ์แบบนี้มันไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป เเละการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีการเรียกร้องให้มีร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองต่อการอุ้มหายเเละซ้อมทรมาน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเเปลงให้สังคมนี้เป็นประชาธิปไตยขึ้น เพื่อไม่ให้ใครต้องหวาดกลัวอีกต่อไป ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เเละเป็นสิ่งที่จะต้องทำ" รังสิมันต์กล่าว พร้อมระบุว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามบุคคลสูญหายและซ้อมทรมาน ถูกมองว่าไม่ใช่กฎหมายที่ทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์ เป็นเรื่องไกลตัว แต่เราต้องไม่ลืมว่ากฎหมายนี้ เป็นการสร้างหลักประกันให้สังคมของเราไม่เป็นสังคมที่ป่าเถื่อนอีกต่อไป เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ในสังคมนี้ได้โดยปราศจากความหวาดกลัว หรือถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาได้รับผลกระทบ เราจะมั่นใจได้ว่า จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามหาความจริง เป็นเพื่อนที่เคียงข้างให้กับครอบครัวที่สูญเสีย ตนขอเเสดงความนับถือกับครอบครัวผู้สูญเสียที่พยายามไม่อยู่เฉย ตนยังจำได้ในวันแรกๆ ที่เกิดเรื่องแบบนี้ สังคมของเราหวาดกลัวขนาดไหน เราไม่มีทางรู้ว่าเราจะเป็นรายต่อไปเมื่อไร ซึ่งตนคิดว่าการรวมกลุ่มเเละการไม่อยู่เฉย การพยายามพูดออกมา ไม่ใช่แค่การทำให้บุคคลที่ถูกอุ้มหายเเละซ้อมทรมานได้มีตัวตนเท่านั้น เเต่มันคือการประจานความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา เเต่การผลักดันที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือ การให้มีร่างกฎหมายที่จะคุ้มครองเรื่องนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะยาวต่อไปในอนาคต

รังสิมันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนขอเเจ้งข่าวดีต่อครอบครัวผู้สูญหาย เเละผู้เรียกร้องต่อกรณีนี้ว่า เมื่อวาน (7 ก.ย. 2564) ทางวิปฝ่ายค้านได้หารือว่าจะเลื่อนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา ต่อจากร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา ซึ่งที่ประชุมฝ่ายค้านเห็นด้วย โดยในช่วงเช้าตนได้หารือกับทางวิปรัฐบาลให้เลื่อนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา โดยทางวิปรัฐบาลก็ได้ระบุว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งหมายความว่า โอกาสที่รัฐสภาจะได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านวาระที่ 1 ในสมัยประชุมนี้ ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ในปัจจุบันเรามีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน 3-4 ฉบับ ของคณะรัฐมนตรี 1 ฉบับ ของสภาผู้เเทนราษฎร 3 ฉบับ ซึ่ง 1 ใน 3 ฉบับ คือ ฉบับที่คณะกรรมาธิการการฎหมาย การยุติธรรม เเละสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมพัฒนากับพี่น้องประชาชนยื่นเข้ามา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน เเละพรรคร่วมรัฐบาล ตนค่อนข้างมีความมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรที่ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไปได้

"สิ่งที่ครอบครัวผู้สูญหาย พยายามพูดมาโดยตลอด วันนี้ไม่ได้ทำให้บุคคลที่ถูกทำให้สูญหายเเละซ้อมทรมานได้มีตัวตนต่อในประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่วันนี้กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว และมันกำลังเกิดขึ้น
กงล้อของการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้กำลังเกิดขึ้น กำลังหมุนไปเเล้ว ทุกคนอย่าเพิ่งท้อถอย ในที่สุดเเล้วเราจะสามารถคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้สูญเสียทุกคนได้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ครับ อย่าหยุดพูด การไม่หยุดตรงนี้ วันหนึ่งเราจะได้ความเป็นธรรมกลับคืนมา ยังอยากให้ทุกคนมีหวังต่อไปในการที่สังคมจะเปลี่ยนเเปลงไปในทางที่ดีขึ้น" รังสิมันต์ กล่าว

ขณะที่ มานพ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (7 ก.ย. 2564) พรรคก้าวไกล ในที่ประชุม ส.ส.ของพรรคได้มีการหารือถึงประเด็นดังกล่าว โดยพรรคก้าวไกลมีมติที่จะเสนอต่อรัฐสภาให้เลื่อนญัตติในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามบุคคลสูญหาย ฉบับที่ พ.ศ…. ขึ้นมาพิจารณาให้ทันในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายการเมือง เเละฝ่ายนิติบัญญัติควรให้ความสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. คือ การประชุมเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน ณ นครเจนีวา สหพันธรัฐสวิส ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าประเทศไทยทำตามข้อตกลงที่ลงนามกับนานาอารยประเทศหรือไม่ ส่วนในประเทศไทย ตนเห็นในหลายกรณี อย่างล่าสุด กรณี พ.ต.ท.ธิติสรรค์ อุทธนผล (ผู้กำกับโจ้) ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนถึงแก่ความตาย ซึ่งเกิดขึ้นจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อประชาชน

นอกจากนี้ ตนในฐานะตัวแทนของกลุ่มชนชาติพันธุ์ ขอเรียกร้องความเป็นธรรม์ให้กับชัยภูมิ ป่าแส ที่โดนเจ้าหน้าที่ทหารกระทำจนถึงแก่ชีวิต เเละพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) ที่โดนกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการตรวจสอบความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมจะต้องเกิดขึ้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับการคุ้มครอง อย่างยุติธรรมเเละเท่าเทียม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net