Skip to main content
sharethis

ทะลุแก๊ซกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ณ แยกดินแดน แปรสภาพเป็นพื้นที่ระบายความอัดอั้นและสลายการชุมนุม บนพื้นผิวของเหตุการณ์เราอาจเห็นเพียงภาพการปะทะที่ปรากฏออกสื่อ แต่ในฐานะผู้สังเกตการณ์การชุมนุมมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายใต้พื้นผิว ซึ่งอาจช่วยปลดชนวนความรุนแรง

  • กรณีขบวนเสด็จที่สะพานชมัยมรุเชฐเป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมและจำกัดการชุมนุมไม่ให้เติบโตขยายตัวมากไปกว่านี้
  • กลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงมีความหลากหลาย ไม่ใช่แค่เด็กอาชีวะหรือ ‘เด็กแว้น’ ที่ไม่มีข้อเรียกร้องใดๆ แต่ทำได้ด้วยความคึกคะนองตามที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจ
  • การเปิดพื้นที่เจรจา พูดคุย และรับฟังในฐานะมนุษย์เท่ากันจะช่วยชะลอความรุนแรงออกไป

การสลายการชุมนุมที่แยกดินแดง ภาพโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล

กล่าวอย่างเปรียบเปรย แยกดินแดงได้เปลี่ยนเป็นสมรภูมิที่ฝ่ายผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ซและเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนไปแล้ว การปะทะมีความเข้มข้นขึ้นทุกวัน เป็นข้อสังเกตของ บุศรินทร์ แปแนะ ผู้ประสานงานโครงการ Mobdata Thailand ในฐานะผู้สังเกตการณ์การชุมนุม

ไม่เพียงสังเกตการณ์ว่าเกิดอะไรบ้างในการชุมนุมแต่ละครั้ง บุศรินทร์ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าการปะทะที่เห็นปรากฏออกสื่อมีรายละเอียดมากมายอยู่ในนั้นและต้องไม่มองแบบเหมารวมหรือลดทอน

อย่างไรก็ตาม วงจรซ้ำซากที่แยกดินแดงหรือกล่าวอย่างถึงที่สุดคือการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเปิดพื้นที่เจรจา พูดคุย และรับฟังในฐานะมนุษย์เหมือนๆ กันเป็นทางออกเดียวที่จะชะลอความรุนแรงหรือให้ดีที่สุดคือยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้น

กรณีขบวนเสด็จ จุดเริ่มต้นของการใช้กำลังสลายการชุมนุม

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ iLaw เริ่มเก็บข้อมูลการสังเกตการณ์การชุมนุมอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้เห็นรูปแบบการชุมนุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา นั่นคือคนที่ชุมนุมหรือคนที่จุดกระแสมักเป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มคนรุ่นใหม่ จนจุดติดและมีการขยายตัวจากในพื้นที่มหาวิทยาลัยสู่พื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่คุ้นชิน

บุศรินทร์ กล่าวว่า ในช่วงแรกๆ มีความพยายามจำกัด ตั้งเงื่อนไข หรือการฟ้องคดีด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพื่อสกัดการชุมนุม กระทั่งมีการเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันที่ยิ่งทำให้การชุมนุมเติบโต ซึ่งเหตุการณ์ที่เป็นจุดตัดสำคัญคือวันที่ 14 ตุลาคม 2563 กรณีขบวนเสด็จที่สะพานชมัยมรุเชฐนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ที่มีความฉุกเฉินร้ายแรงและใช้รถฉีดน้ำกับแก๊สน้ำตาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม

ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระราชินีผ่านบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะที่มีประชาชนชุมนุมกันอยู่ เมื่อ 14 ต.ค. 2563 (ภาพโดย ช่างภาพนิรนาม)

“พอมีการสลายการชุมนุมครั้งนั้นเป็นตัวเปิด ฉีดน้ำปุ๊บแต่ไม่สามารถหยุดการชุมนุมได้ เราจะเห็นว่ารัฐก็ใช้กำลังมากขึ้น ตอนนั้นการชุมนุมไปได้ไกลมาก เช่น พระบรมมหาราชวัง ราบ 11 ตอนนั้นเราเข้าใจว่ามีกระบวนการเจรจาเพราะการชุมนุมมีแกนนำชัดเจนและรัฐก็แสดงออกถึงความพยายามในการเจรจา ไม่สลายการชุมนุมทันที พอมีการเปิดฉากปะทะกันเล็กน้อยก็ยังพอมีพื้นที่ที่เจรจากันได้ ปี 2563 เราจึงเห็นแค่ 2 ครั้งที่สลายการชุมนุม มีการปะทะเล็กน้อย”

แต่ปี 2564 พบว่าแนวโน้มการจัดการของรัฐแตกต่างออกไป แม้ว่าผู้ชุมนุมจะเป็นลักษณะเดิมแบบที่เห็นในปี 2563 คือเป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มการ์ด คนเสื้อแดง หรือผู้ใหญ่ทั่วไปก็ตาม กล่าวคือรัฐเริ่มใช้กำลังมากขึ้นและคาดการณ์ไม่ได้ด้วยอำนาจจาก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แม้จะเป็นการชุมนุมขนาดเล็กที่มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 50 คน แต่ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 200 นายกรูเข้าจับกุมและลากผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่

อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นชัดเจนขึ้นคือเจ้าหน้าที่ตำรวจจะปกป้องพื้นที่สำคัญต่างๆ อย่างเข้มงวด ไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมผ่านหรือเข้าใกล้ เช่น สนามหลวง พระบรมมหาราชวัง หรือกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

“อย่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ปีนี้มีการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปราบ 1 จากการสังเกตการณ์ของเราเขาไม่เตือนว่าไปแล้วจะเจออะไร แค่เตือนว่าการรวมตัวนี้ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พอไปถึงปุ๊บกำลังจะรื้อตู้คอนเทนเนอร์เพื่อทำกิจกรรมปรากฏว่าตำรวจก็แสดงกำลังจับกุมและใช้วิธีการจับกุมโดยไม่เจรจา ผู้ชุมนุมยังอยู่ในรูปแบบการชุมนุมของปีที่แล้วคือพอตำรวจมาก็ลากรั้วมากันแล้วคิดว่าตำรวจจะชะลอ แต่เปล่า ตำรวจเข้าใส่เลยและมีการกระทืบด้วย แล้วหลังจากนั้นก็มีการใช้กระสุนยางโดยไม่มีการเตือนเป็นครั้งแรกทั้งที่ผู้ชุมนุมก็ยังอยู่ในลักษณะที่ควบคุมได้และไม่ใช้ความรุนแรง แล้วมันก็มีความตึงเครียดขึ้นมาเรื่อย เริ่มเห็นว่าเขาไม่เจรจากับผู้ชุมนุม”

รัฐไม่ต้องการให้การชุมนุมขยายตัว

‘ประชาไท’ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่การชุมนุมในปี 2564 มีการชูประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงมีการปราศรัย วิพากษ์วิจารณ์สถาบันมากขึ้น จึงเป็นตัวเร่งให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้กำลังเข้าปราบปราม บุศรินทร์ กล่าวว่า

“เราคิดว่าการปราศรัยหรือการแสดงออกก็อยู่ในระดับแบบปี  2563 ที่ไม่เกิดการปะทะ ความโฉ่งฉ่าง ป้าย หรือการพูดอย่างตรงไปตรงมาก็เป็นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เรามองว่าปีที่แล้วเขายังมีระยะที่ยังไม่ใช้ 112 เพิ่งจะมาประกาศใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ในความเห็นของเราตอนแรกเขาต่อรองว่าชุมนุมได้แต่ไม่วิจารณ์สถาบันได้ไหม แต่พอปล่อยมามันก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ มันเหมือนหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความคิด เราคิดว่าปีนี้เขาคงไม่ยินยอมให้เกิดการชุมนุมขนาดใหญ่ เกิดภาพการรวมตัวของคนจำนวนมากที่จะต่อสู้เรื่องข้อเสนอ 3 ข้อเหมือนปีที่ผ่านมา”

 ป้าย "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2563 

เหตุที่บุศรินทร์อธิบายข้างต้นเพราะจากการสังเกตการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 เป็นการชุมนุมครั้งที่ 2 หลังจากการชุมนุมใหญ่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เธอเห็นความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐในการสกัดไม่ให้เอาโดรนขึ้นเพื่อฉายภาพมุมสูงหรือการใช้รถรบกวนสัญญาณโทรศัพท์ไม่ให้สามารถไลฟ์ภาพออกสู่สังคมได้ แม้ว่าความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐจะล้มเหลวก็ตาม

“ในมุมมองของเราคิดว่าการแสดงออกมันเท่าเดิม แต่เขาจะไม่ปล่อยให้การชุมนุมสามารถเติบโตได้อีกแล้ว เขาไม่ต่อรองแล้ว ใช้วิธีการที่แข็งกร้าวขึ้นอาจจะหยุดการชุมนุมได้”

อย่าลดทอนความหลากหลายของผู้ชุมนุมที่แยกดินแดง

กรณีการปะทะที่แยกดินแดงอย่างต่อเนื่องช่วงเดือนสิงหาคม จากทะลุฟ้าถึงทะลุแก๊ซซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มอาชีวะทำให้เกิดภาพผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง       ในมุมมองของบุศรินทร์เห็นว่ากลุ่มอาชีวะเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกดินแดงตั้งแต่ปีที่แล้วโดยมีบทบาทหลักเป็นการ์ดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนนักศึกษาทั้งหมด เพียงแต่ปีนี้กลุ่มอาชีวะสามารถจัดตั้งตนเองได้โดยที่ยังเกาะเกี่ยวอยู่กับขบวนเดิม รวมทั้งกลุ่มอาชีวะอาจเห็นว่าแนวทางของขบวนนักศึกษาไม่ตอบสนองเป้าหมายของตนจึงจัดกิจกรรมด้วยตนเอง ปรากฏความเป็นอิสระตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคมเป็นต้นมา

บุศรินทร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงแรกการชุมนุมที่แยกดินแดงเริ่มต้นจากการนัดรวมตัวของแนวร่วมโดยมีกลุ่มอาชีวะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ตั้งแต่วันที่ 18 เมื่อเจอความรุนแรงและการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีการนัดชุมนุมกันเอง

“ลักษณะการเคลื่อนไหวที่แยกดินแดงมันไม่มีการปราศรัย ไปถึงก็ปาของใส่ตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นประทัดยักษ์ ลูกแก้ว ก้อนหิน ซึ่งก็เห็นแล้วว่าเป็นการเคลื่อนแบบเผชิญหน้า พอเป็นแบบนี้แนวโน้มที่เจ้าหน้าที่จะตอบโต้ก็เกิดขึ้น แล้วก็เห็นชัดว่าเจ้าหน้าที่พยายามจะแยกผู้ชุมนุมว่าทะลุฟ้าจัดได้ การชุมนุมทั่วไปโดยสงบจัดได้ แต่แยกดินแดงไม่ใช่ตัวอย่างที่ดี เราคิดว่าพอวิธีการเคลื่อนไหวที่แยกดินแดงเป็นแบบนี้ก็ส่งผลต่อการรับรู้หรือการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่พอสมควร

“ข้อสังเกตของเราที่แยกดินแดง ชุมชนจะเป็นชนชั้นกลางล่างลงไปและมีบุคลิกที่ชอบเหมารวมว่าอาชีวะเป็นเด็กแว้นซึ่งภาพลักษณ์ของเด็กกลุ่มนี้ในสังคมก็ไม่ดีนัก เคยคุยกับตำรวจระดับปฏิบัติในพื้นที่เขาก็รู้สึกไม่โอเคกับคนจำพวกนี้ พอต้องเผชิญหน้าก็รู้สึกกลัว รู้สึกว่าเป็นคนอีกแบบหนึ่ง เป็นพวกชายขอบ ก็เลยออกมาในลักษณะนั้น และด้วยแนวโน้มในปีนี้ของตำรวจคือไม่เจรจา ส่วนหนึ่งใช่ที่ว่าที่แยกดินแดนไม่มีแกนนำหลักก็ไม่รู้จะเจรจากับใคร แต่ตำรวจก็ไม่ได้แสดงท่าทีที่จะเจรจา แนวโน้มความรุนแรงมันก็มีมากขึ้นๆ ไม่มีพื้นที่พูดที่จะทำให้เข้าใจกัน”

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรลดทอนความหลากหลายของผู้ชุมนุมแล้วเหมารวมว่าเป็นกลุ่มอาชีวะทั้งหมด

“เวลาเห็นภาพจากสื่อก็จะเห็นการปะทะ การเผชิญหน้า การยิงพลุ แต่ในพื้นที่ดินแดงมันมีความหลากหลายไม่ใช่เด็กอาชีวะอย่างเดียว บางวันก็เป็นเด็กมัธยมปลายขี่มอเตอร์ไซค์มาก็คาดการณ์ได้ว่าเขาน่าจะมาจากครอบครัวชนชั้นกลางล่างที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ”

“เคยไปคุยกับเด็กคนหนึ่งอายุประมาณ 19 แต่งตัวเหมือนเด็กนักศึกษาหน้าใสอยู่ใน Beauty Standard ของสังคมนี้ เขาชอบมาดูเพราะรู้สึกว่าตำรวจต้องเจอแบบนี้แหละ ในม็อบจึงมีความหลากหลายมากไม่ใช่เฉพาะอาชีวะอย่างเดียว”

การชุมนุมที่แยกดินแดง ภาพโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล

ในความรุนแรงมีรายละเอียด

บุศรินทร์อธิบายถึงสภาพพื้นที่บริเวณแยกดินแดงด้วยว่า แนวตู้คอนเทนเนอร์ที่นำมากั้นค่อนข้างสูงทำให้สิ่งของที่ฝ่ายผู้ชุมนุมปากว่าร้อยละ 80-90 ปาไปไม่ถึง แต่เวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตอบโต้ด้วยความรุนแรงจะทำจากฐานของกลุ่มคนที่ปาข้าวของ ทั้งเจ้าหน้าที่ยังมีความเชื่อว่าผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ไม่มีข้อเรียกร้องใดๆ แค่ความคึกคะนอง ซึ่งเธอตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มผู้ชุมนุม 300-500 คนคงไม่ใช่แค่ ‘เด็กดื้อ เด็กแว้น’ อย่างที่เจ้าหน้าที่เข้าใจ หากมาจากครอบครัวชนชั้นกลางล่างที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

“พอไม่มีการฟังเสียง มันก็เป็นแบบนี้ทุกวัน ไปปาของๆ ตำรวจฉีดน้ำออกมา ยิงกระสุนยางที่ผิดหลักสากล มันยิ่งทำให้เขาโกรธ อย่างช่วงวันที่ 23-24 สิงหาคม พอตำรวจโต้กลับ เพื่อนของเขาล้มลงไปหรือเห็นเพื่อนโดนกระสุนยาง พวกเขาก็ยิ่งโกรธแล้วหาทางลงไม่ได้ ก็ซัดกันไปซัดกันมาจนเคอร์ฟิว ทุกวันเป็นลูปวนไป ออกมาปา ตำรวจโต้กลับ จนเคอร์ฟิว ทุกคนกลับบ้าน ไม่รู้จะหาทางลงยังไง”

และอีกเช่นกันภาพการปาสิ่งของ ภาพการปะทะ อาจทำให้เห็นว่าผู้ชุมนุมโกรธแค้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุศรินทร์เล่าว่ากลุ่มอาชีวะไม่ได้มองเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนเป็นฝ่ายตรงข้าม พวกเขาอาจจะไม่พอใจตำรวจควบคุมฝูงชน แต่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ปกติผู้ชุมนุมจะปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง หรือการใช้อิฐทุบป้อมจราจรเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในป้อม บุศรินทร์ไม่ได้บอกว่าการชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดงไม่มีความรุนแรงหรือการทุบทำลายข้าวของ แต่มันมีรายละเอียดอยู่ในนั้นที่ต้องพิจารณา หรือเหตุการณ์เผาป้อมยาม...

“พูดแบบนี้อาจจะโดนว่าว่ารู้ได้อย่างไรว่าเป็นผู้ชุมนุม แต่ก็เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมนั่นแหละ การเผาไม่ได้อยู่ๆ จะเกิดขึ้นแบบวิ่งเข้ามาแล้วเผาเลย อาจจะเกิดการทุบก่อนแล้วจะเผา แล้วมีคนห้าม แต่อารมณ์มันไปถึงจุดหนึ่งแล้วมันก็จะเกิดการเผาขึ้นมา ก็เห็นแหละว่าเป็นกลุ่มที่อยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม

“หลายคนที่ปาสิ่งของก็มีสื่ออย่าง Voice เข้าไปสัมภาษณ์ว่าตั้งใจเอาถึงชีวิตเลยไหม คาดหมายจะให้ได้รับบาดเจ็บหรือเปล่า เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้จะเอาชีวิต แล้วเวลาปาก็ไปไม่ถึงตำรวจ เขาก็วางแนวว่าปาตรงไหนแล้วจะหนีทัน มีอยู่วันหนึ่งไปดูแล้วเห็นว่าระเบิดเพลิงที่ปามันไปไม่ถึง คนที่สังเกตการณ์อยู่แนวหลังตำรวจยืนยันว่าของที่ปาไปไม่ถึงเลย แต่พลุมันยิงได้ไกล มันจะตกใกล้กับ คฝ. แล้วสะเก็ดพลุอาจจะโดนได้”

ขณะเดียวกัน ในฐานะผู้สังเกตการณ์บุศรินทร์ต้องการข้อมูลเชิงประจักษ์จากทั้งสองฝ่าย อย่างในกรณีมีการบาดเจ็บเธอต้องเก็บข้อมูลการบาดเจ็บด้วยและสัมภาษณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในกรณีการบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลและตัวผู้บาดเจ็บ

“อย่างเช่นวันที่ 10 ประกาศว่ามีการใช้กระสุนจริง มีตำรวจโดนกระสุนจริง แล้วก็อุ้มคนที่บาดเจ็บ เราก็จะขอเข้าไปดู เขาก็ล้อมไม่ให้ดูอาจจะเป็นข้อจำกัดของเขาหรือเป็นวิธีปฏิบัติของเขา แต่เราก็อยากคอนเฟิร์มด้วยตนเองว่าเจ็บจริง ไม่ใช่ว่าเราไม่เชื่อแต่ทุกครั้งที่ผู้ชุมนุมเจ็บเราก็เข้าไปถามเพราะเราอยากได้ข้อมูลเชิงประจักษ์จริงๆ แต่เราก็มีอุปสรรคในการเก็บข้อมูลการบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่”

พูดคุยในฐานะมนุษย์เหมือนกัน

ภาพการปะทะ การสลายการชุมนุมเป็นพื้นผิวที่เห็นได้ง่าย ภายใต้พื้นผิวต่างหากที่ส่งสะท้อนให้เกิดปรากฏการณ์ บุศรินทร์เล่าว่าการรวมตัวของเยาวชนที่แยกดินแดงเกิดจากความรู้สึกอัดอั้น การได้พูดคุยกับผู้ชุมนุมบางคนทำให้เธอรู้ว่าพวกเขากำลังลำบาก พ่อแม่ตกงาน

“มีคนหนึ่งที่ได้คุยกับเขาว่ามาทำไมเหรอ พอถามว่าได้รับผลกระทบเยอะไหมเขาบอกว่าเยอะมากจนไม่รู้จะพูดยังไง เขาพูดออกมาให้เราเข้าใจไม่ได้ แต่ท่าที ใบหน้า การแสดงออกรู้ว่ามันหนัก พอถามว่าที่บ้านพ่อแม่ยังทำงานอยู่ใช่ไหม เขาก็หลุบตา ก้มหน้าลงมองพื้น ตอบด้วยเสียงที่ไม่ปกติว่าก็มีตกงานบ้าง

“คนทั่วๆ ไปที่มาดูก็เล่าว่าเขาไม่เคยสนใจการเมือง ไม่เคยมาม็อบเลย ที่แยกดินแดงเป็นม็อบครั้งแรกของเขา ที่เขามาสนใจเรื่องการเมืองเพราะว่าบ้านเขาได้รับผลกระทบเยอะมาก ล้มละลาย เขาต้องลาออกไม่ได้เรียนต่อเพื่อให้ได้น้องอีก 2 คนได้เรียนต่อ มาทำงานหาเลี้ยงตัวเอง”

ความรู้สึกอึดอัดคับข้องเผชิญกับการไม่รับฟังของรัฐอาจได้ผลลัพธ์ที่ไม่มีใครต้องการ หากจะหยุด บรรเทา หรือชะลอเวลาความรุนแรงออกไป การพูดคุยสื่อสารและการเจรจาดูจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด

“ที่แยกดินแดงเห็นได้ชัดเลยว่าความรุนแรงยกระดับขึ้นทุกวัน การเผชิญหน้าเข้มข้นขึ้นทุกวัน ดูเหมือนว่าความอดทนของตำรวจก็จะลดลงทุกวัน เราคิดว่าต้องอาศัยองค์กรที่จะสามารถเปิดพื้นที่เจรจาทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการก็ได้ มีช่องทางให้เขาได้เปล่งเสียงออกมา

“ทุกวันนี้ที่เป็นแบบนี้เพราะพวกเขารู้สึกไม่ถูกรับฟัง จนถึงปัจจุบันเขายังมองว่าทะลุแก๊ซไม่มีข้อเรียกร้อง สรรพกำลังต่างๆ ของรัฐหรือว่าคดีความมันไม่สามารถหยุดความขัดแย้งนี้ได้เพราะมันเริ่มต้นจากความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ความไม่เป็นธรรมทางการเมือง จะใช้กำลังแก้ไขความไม่เป็นธรรมนี้ไม่ได้ ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่สื่อสารด้วยทำให้ต่างฝ่ายต่างมองว่าเป็นมนุษย์เหมือนกันไม่ใช่ฉันเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ฉันเป็นผู้ชุมนุม”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net