Skip to main content
sharethis

6 ต.ค. 2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชห้ามเจ้าหน้าที่ใช้ ATK เล่อปู๋ เนื่องจากพบผลลวงทั้งผลลบและผลบวก โดยพบผลบวกลวงเกินครึ่ง ขอใช้เครื่องมือตรวจหาเชื้อที่มีคุณภาพสูงเท่านั้น ด้านตัวแทนจำหน่ายตั้งข้อสังเกตอาจเป็นประเด็นการเมือง ขณะที่ สปสช. แจกจ่าย ATK ดังกล่าวให้ประชาชนกว่า 2 แสนคน มีรายงานพบผลเป็นบวกจำนวน 1,144 ราย

ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีที่มีการสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ใช้แอนติเจนเทสต์คิต (Antigen test kit: ATK) ยี่ห้อ เล่อปู๋ (LEPU) กับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ โควิด-19 ว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนั้น ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอให้มีการใช้เครื่องมือตรวจหาเชื้อที่มีคุณภาพสูงเท่านั้น เพื่อการวินิจฉัยสู่การรักษาผู้ป่วยต่อ และลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดในการตรวจหาเชื้อ ส่วน ATK ที่ใช้สำหรับประชาชนนั้น ขอให้มีการใช้งานเฉพาะในส่วนของพี่น้องประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำหรือประชาชนที่อยากตรวจเบื้องต้น

พีพีทีวีรายงานสาเหตุที่สั่งห้ามเจ้าหน้าที่ใช้ ATK ยี่ห้อเล่อปู๋ว่า เนื่องจากพบผลลวง หรือค่าเบี่ยงเบนสูง โดยพบตั้งแต่ผลลบลวง หรือมีผู้ติดเชื้อไปตรวจที่อื่นมาแล้วว่าติดเชื้อ แต่พอมาใช้ชุดตรวจนี้ กลับพบไม่ติดเชื้อจำนวนมาก ขณะที่พบผลบวกลวงด้วย เพราะมีการนำไปตรวจประชาชนที่ อ.ทุ่งใหญ่ จำนวน 1 พันคน พบระบุติดเชื้อ 187 คน แต่เมื่อตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันการติดเชื้ออีกครั้ง พบว่า มีผลบวกแค่ 92 คน ผิดไป 95 คน หรือประมาณครึ่งต่อครึ่ง จึงไม่เหมาะเป็นเครื่องมือแพทย์

ด้าน ศิริญา เทพเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ประเทศไทย จำกัด ตัวแทนจำหน่าย เล่อปู๋ (Lepu) ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวพีพีทีวีว่า ยังไม่ทราบข้อมูลที่เกิดขึ้น แต่ส่วนตัวไม่กังวล เพราะมองว่าชุดตรวจเล่อปู๋ที่กระจายให้หน่วยบริการต่างๆ มีการตรวจสอบคุณภาพและผ่านมาตรฐาน ก่อนจัดส่งเรียบร้อยแล้ว จึงคิดว่าการคาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น น่าจะการตรวจผิด หรือใช้ข้อมูลบ้างอย่างผิดพลาดพร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะไม่ได้มาจากประสิทธิภาพของชุดตรวจ Lepu แต่น่าอาจจะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือไม่ ต้องขอตรวจสอบก่อน

“พี่ว่าไม่ใช่ประสิทธิภาพนะคะ เพราะมันก็ใช้ทั้งหมด มันไม่ใช่แค่ล็อตที่ขายให้กับองค์การเภสัชกรรมอย่างเดียว ก็ขายให้กับทั่วโลก ไม่ได้มีอะไร แล้วกับคนอื่นก็ไม่ได้มีอะไร พี่ว่ามันคงมีอะไรเป็นการเมืองหรือเปล่า อันนี้ขอเช็กอีกทีหนึ่งนะ แล้วเดี๋ยวพี่ให้ข้อมูลอีกที” ตัวแทนจำหน่ายเล่อปู๋กล่าว

ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมจัดซื้อชุดตรวจ ATK ยี่ห้อเล่อปู๋ จำนวน 8.5 ล้านชุด เพื่อส่งต่อให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระจายต่อไปยังโรงพยาบาลและประชาชน

ชมรมแพทย์ชนบทเคยออกแถลงการณ์แสดงความกังขาว่า ATK ยี่ห้อนี้เคยมีประวัติถูกเรียกเก็บออกจากตลาดสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 ตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) เพราะให้ผลการตรวจที่ไม่แม่นยำ และอ้างงานวิจัยในวารสาร Virologt Journal ที่ศึกษาในปากีสถานจากผู้ใช้ 33,000 คน พบว่า ATK เล่อปู๋ มีความไวน้อยมาก และพบผลลบลวง คือ มีเชื้อเป็นบวก แต่ผลการตรวจเป็นลบไม่มีเชื้อ สูงถึง 48% ส่วนตัวแทนจำหน่ายชี้แจงว่า ATK ที่ถูกเรียกเก็บในสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งจากผู้ผลิตโดยตรง สินค้ามีคุณภาพสามารถใช้งานได้จริง โดยผ่านมาตรฐาน CE ในยุโรป และ อย.

ขณะที่ สปสช. รายงานข้อมูลเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 เวลา 09.05 น. ว่า ทั่วประเทศมีประชาชนเข้ามารับชุดตรวจ ATK ไปแล้วทั้งสิ้น 477,798 ชุด โดยเป็นการจ่าย ATK ให้กับประชาชนรวม 233,910 ราย และได้มีการบันทึกผลการตรวจแล้ว 105,526 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของผู้ที่ได้รับ ATK โดยมีรายงานพบผลเป็นบวกจำนวน 1,144 ราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net