ACT ผนึก 14 องค์กรฯ ขับเคลื่อนข้อตกลงคุณธรรม ชูเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับรู้โดยตรง

ACT ผนึกกำลัง 14 องค์กรฯ เช่น สถาบัน TDRI, กรมบัญชีกลาง, ป.ป.ช. และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระดมไอเดีย ขับเคลื่อนข้อตกลงคุณธรรม ชูการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับรู้โดยตรง เพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเพิ่มความโปร่งใส

20 ต.ค. 2564 โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom meeting) ในวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา เรื่องการสร้างความโปร่งใสการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐด้วยข้อตกลงคุณธรรม โดยมีวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เป็นประธาน เพื่อระดมความคิดเห็นจากหลากหลายมุมมอง จากการดำเนินงานโครงการข้อตกลงคุณธรรม และการทำหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ รวบรวมปัญหาและอุปสรรค พร้อมนำเสนอวิธีแก้ไข และนำผลลัพธ์มาประยุกต์สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน พร้อมกันนี้ยังมีผู้แทนจาก 14 องค์กรร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), สภาวิศวกร (COE), บริษัทแฮนด์วิสาหกิจเพื่อสังคมจำกัด (HAND), สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD), กรมบัญชีกลาง, สำนักงาน ป.ป.ช., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ผู้สังเกตการณ์, สำนักข่าวอิศรา, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

วิชัย อัศรัสกร
 

รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจากทั้ง 14 องค์กร พร้อมระบุว่าจะนำความคิดเห็นที่ได้ไปขยายผลในเวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Main Forum) ในวันที่ 20 พ.ย. 2564 ซึ่งจะมีประเด็นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในโครงการข้อตกลงคุณธรรม และโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดเท่าที่เคยมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงคณะกรรมการ ค.ป.ท. ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงาน นอกจากการป้องกันการทุจริตแล้วยังเป็นการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐที่มุ่งเน้นความคุ้มค่า ความมีคุณภาพ และความสำเร็จ ขนาดนี้ต้องขอชื่นชมภาครัฐและภาคประชาชน ขอบคุณกรมบัญชีกลางที่เป็นหัวใจสำคัญ ที่เกิดความสำเร็จในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชน และภาครัฐ ที่มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

สำหรับข้อเสนอที่น่าสนใจในการประชุมสรุปได้ 2 ประการ ประกอบด้วย หนึ่ง การเปิดเผยข้อมูล เพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทำอย่างไรจะสามารถเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนรับรู้ได้โดยตรง กลไกการเพิ่มความโปร่งใสโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น การสร้างมาตรฐานว่าข้อมูลใดควรเปิดเผย และถ้าจะเปิดควรเปิดอย่างไร ซึ่งภาครัฐต้องเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึง เพราะหัวใจหลักของข้อตกลงคุณธรรม คือ การสร้างความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน และทุกภาคส่วน ส่วนข้อเสนอที่สองนั้น คือการนำข้อตกลงคุณธรรมไปขยายขอบเขตนอกเหนือ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างตามมติ ครม. ซึ่งครอบคลุมไปถึงกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฯ ต้องดำเนินการให้มีรูปแบบและทำเป็นมาตราฐานเดียวกันกับข้อตกลงคุณธรรมที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง

ล่าสุดมีมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 มิ.ย. 2564 ให้นำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ไปใช้โดยอนุโลม และ ACT ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการความร่วมมือการป้องกันการทุจริต (คณะกรรมการ ค.ป.ท.) ให้เป็นองค์กรที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่อีก 3 ปี ซึ่งกลไกนี้เป็นสมบัติของชาติ เป็นสิ่งที่เราสร้างด้วยกันและเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา และจะพัฒนาให้เป็นสิ่งที่ยั่งยืนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท