อัยการฟ้อง ม.112 คดีปลดรูป ร.10 อ้างดูถูก-ไม่เคารพกษัตริย์ ศาลนนทบุรีให้ประกัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานความคืบหน้าคดีม.112ของศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าได้ปลดรูป ร.10 จากหน้าหมู่บ้านล่าสุดอัยการฟ้อง 3 ข้อหาม.112 ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และลักทรัพย์เวลากลางคืน อ้างว่าเป็นการกระทำดูถูกและไม่เคารพต่อกษัตริย์

4 พ.ย.2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวานนี้(3 พ.ย.) ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี มีนัดอัยการยื่นฟ้องคดี ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ชาวจังหวัดนนทบุรี อายุ 35 ปี ประกอบอาชีพอิสระรับงานวาดรูปและเล่นดนตรี ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการปลดรูปร.10 ไปจากหมู่บ้านย่านประชาชื่นและนำกรอบรูปไปทิ้งคลอง

อัยการจังหวัดนนทบุรียื่นฟ้องศิระพัทธ์ต่อศาลใน 3 ข้อหาคือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลักทรัพย์ในเวลากลางคืน

อัยการระบุพฤติการณ์คดีว่า เมื่อ 8 ส.ค.2564 เวลา 3.03น. ศิระพัทธ์ซึ่งเป็นจำเลยได้เดินออกไปทีป้อมยามหน้าทางเข้าหมู่บ้านประชาชื่น อ.เมืองนนทบุรี และได้ลักทรัพย์โดยการปีนไปเอาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปรวมเป็นมูลค่า 3,000 บาท ที่ติดตั้งบนป้อมยามโดยพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวเป็นของผู้เสียหายคือ ทรงศักดิ์ จันทโชติ ประธานกรรมการชุมชนประชาชื่นนำไปติดไว้เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

จากนั้นศิระพัทธ์ได้บังอาจดูหมิ่นพระมหากษัตริย์โดยการนําพระบรมฉายาลักษณ์มาคว่ำหน้าลงแล้วลากไปกับพื้นถนนเป็นระยะทางประมาณ 190 เมตร ซึ่งเป็นการดูถูกเหยียดหยามไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์

นอกจากนั้นเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามออกนกเคหสถานในช่วง 21.00-4.00 น. เว้นแต่ได้รับอนุญาต ซึ่งศิระพัทธ์ได้ออกนอกเคหสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนั้นอัยการยังขอให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 177 เพื่อเป็นประโยชน์แห่งความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีมาตรา 112

ทั้งนี้อัยการไม่ได้คัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แต่ระบุให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินค่าทรัพย์สินที่ลักไปที่จำเลยยังไม่ได้คืนเป็นมูลค่า 500 บาทแก่ทรงศักดิ์ที่เป็นผู้เสียหาย

หลังอัยการยื่นฟ้อง ทนายความของศิระพัทธ์ได้ยื่นขอต่อศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยใช้หลักทรัพย์เดิมในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดนัดวันคุ้มครองสิทธิ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ซึ่งต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันด้วยหลักทรัพย์ดังกล่าว

ศูนย์ทนายฯ ระบุอีกว่านอกจากศิระพัทธ์แล้วจากเหตุการณ์นี้ยังมีกนกวรรณ ฉิมนอกที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวเนื่องกัน โดยก่อนหน้านี้ เธอเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.รัตนาธิเบศร์ เมื่อ 24 ส.ค. 64 เนื่องจากถูกออกหมายจับ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเธอในฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จากเหตุที่เธอรับมอบและเก็บรักษาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ถูกลักมาเอาไว้ ซึ่งคดีของกนกวรรณศาลอนุญาตให้ประกันตัวชั้นสอบสวนด้วยหลักทรัพย์เงินสด 90,000 บาท

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความฯ เคยรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อตอนที่ศิระพัทธ์ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ว่าตอนที่ตำรวจจาก สภ.รัตนาธิเบศร์และตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีรวม 13 นาย ไปที่บ้านของเขาได้เข้าตรวจค้นบ้านของเขาโดยไม่มีการแจ้งยศสังกัดและไม่แสดงหมายจับหรือหมายค้นแต่อย่างใด มีเพียงแค่บอกว่าเขามีความผิดและถามว่าเข้าไปในบ้านได้หรือไม่ ซึ่งตัวเขาเองไม่มีความรู้ทางกฎหมายจึงให้เข้าบ้านได้

ศิระพัทธ์ยังระบุอีกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ให้เขาแตะสิ่งของใดๆ ระหว่างตรวจค้นและไม่อนุญาตให้เขาโทรศัพท์หาทนายความหรือเพื่อนด้วย และเมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นเสร็จจึงคุมตัวเขาไปที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ ต่อและถูกขังอยู่ 1 คืนก่อนนำตัวไปขอศาลฝากขัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท