Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักวิชาการฟิลิปปินส์ทำแคมเปญรณรงค์ต่อต้านปฏิบัติการของรัฐบาลรอดริโก ดูเตอร์เต ที่สั่งให้ถอดหนังสือที่พวกเขาอ้างว่า "บ่อนทำลาย" ออกจากชั้นหนังสือของห้องสมุดซึ่งเป็นการลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการมีการเปรียบเทียบได้กับตอนที่พวกเผด็จการนาซีสั่งเผาหนังสือในอดีต

ห้องสมุดในฟิลิปปินส์กำลังตกอยู่ในอันตรายหลังจากที่หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลรอดริโก ดูเตอร์เต ที่เรียกว่ากองกำลัง NTF-ELCAC ได้บุกเข้าตรวจค้นและสั่งให้นำหนังสือที่พวกเขาอ้างว่าเป็นการ "บ่อนทำลาย" ออกจากชั้นหนังสือของห้องสมุด ทำให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มนักวิชาการที่มองว่าการกระทำเยี่ยงยุคสมัยนาซีเผาหนังสือเช่นนี้เป็นการโจมตีเสรีภาพทางวิชาการ

กองกำลังผสมทหารและตำรวจของรัฐบาลดูเตอร์เต เริ่มก่อเหตุบุกค้นห้องสมุดมาตั้งแต่สองเดือนที่แล้ว โดยเริ่มจากในวันที่ 1 ก.ย. ที่พวกเขาบุกค้นห้องสมุดของมหาวิทยาลัยจังหวัดกาลิงกะ เมืองตาบุก ในอีกสัปดาห์ต่อมาก็สั่งให้มหาวิทยาลัยจังหวัดอีซาเบลาส่งหนังสือที่พวกเขาอ้างว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" ในห้องสมุดของพวกเขาให้กับหน่วยงานข่าวกรองของทางการ "โดยสมัครใจ"

ที่เกาะปาไนย์ทางตอนกลางของฟิลิปปินส์ก็มีกรณีที่มหาวิทยาลัยอัคลานก็ได้รับคำสั่งจากสำนักงานตำรวจประจำจังหวัด "ให้ยอมมอบของกลาง" เป็นหนังสือในห้องสมุดที่ทางตำรวจอ้างว่า "ไม่ดีต่อสุขภาพจิต" อีกมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ได้รับคำสั่งจากตำรวจในเรื่องนี้คือมหาวิทยาลัยแอนติก ซึ่งพวกเขาบอกกับกองกำลังรัฐบาลฟิลิปปินส์ไปว่าพวกเขาไม่มี "หนังสือที่เป็นเชิงบ่อนทำลาย" ในห้องสมุดของพวกเขา

รัฐบาลดูเตอร์เตจะเพิ่มความพยายามในการปราบปรามกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ในฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ที่ดำเนินการมายาวนานที่สุดในโลก ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ใช้เรื่องนี้ในการโจมตีนักศึกษา, ภาควิชา และสถาบันการศึกษา กล่าวหาแปะป้ายว่าพวกเขาเป็น "กบฏคอมมิวนิสต์" ทำให้มีการจับกุมโดยอาสัยข้อกล่าวหาที่ปั้นขึ้นมาเองหรือเลวร้ายกว่านั้นก็มีการวิสามัญฆาตกรรม

นั่นทำให้กลุ่มนักศึกษา บรรณารักษ์ นักวิจัย และกลุ่มอื่นๆ ในชุมชนนักวิชาการร่วมมือในการต่อต้านการปราบปรามของรัฐบาลดูเตอร์เต พวกเขารวมกลุ่มกันในชื่อ สหพันธ์นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (ADHR) ซึ่งมีทั้งครูอาจารย์, ผู้ดูแลสถานศึกษา และวิชาชีพด้านการศึกษาอื่นๆ มีการล่ารายชื่อออนไลน์เพื่อต่อต้านการกวาดล้างทำลายเสรีภาพทางวิชาการโดยรัฐบาลซึ่งทำให้รวบรวมรายชื่อได้อย่างน้อย 422 รายชื่อแล้ว

นอกจากนี้องค์กรด้านสันติภาพอย่างสหพันธ์ประชาชนเพื่อสันติภาพ (CAJP) ก็บอกว่าการเซนเซอร์หนังสือของดูเตอร์เตจะทำให้เกิดผลทางลบต่อความเป็นไปได้ในการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกบฏเพื่อหยุดความขัดแย้งจากการต่อสู้ด้วยอาวุธ

ที่มาของภาพประกอบ: ดัดแปลงจาก Twitter karl | #StopTheKillingsPH

นอกจากนี้กลุ่ม ADHR ยังได้ทำแคมเปญรณรงค์ด้วยการตั้งเว็บไซต์ชื่อ "อัสวังในห้องสมุด" เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยที่ "อัสวัง" เป็นชื่อของภูติผีอสูรกายตามความเชื่อของฟิลิปปินส์ที่แฝงตัวเป็นคนในยามกลางวันและออกล่ากินเนื้อมนุษย์หรือดูดเลือดมนุษย์ในตอนกลางคืน ซึ่งอาจารย์ใหญ่ของภาควิชาสารสนเทศและบรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ดิลิแมน มารี เกรซ โกลโฟ-บาร์เซโลนา กล่าวว่าอัสวังในบริบทนี้คือกลุ่มกองกำลังความมั่นคงฟิลิปปินส์ที่ทำตัวเป็นผีดิบทำร้ายโจมตีห้องสมุดและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เว็บไซต์ดังกล่าวนี้ได้รวบรวมความคืบหน้าของการรณรงค์ #HandsOffOurLibraries รวมถึงข่าว-บทความต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่กองทัพใช้อำนาจเซนเซอร์หนังสือและมีการรวบรวมแถลงการณ์จากภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้

นอกจากนี้ในเว็บไซต์ยังเป็นแม่ข่ายจัดเก็บแฟ้มข้อมูลออนไลน์ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือและเนื้อหาที่เสี่ยงต่อการถูกเซนเซอร์จากรัฐบาลให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและฟรี ไม่ว่าจะเป็นแบบเรียนเบื้องต้นสำหรับเด็กในเรื่องสันติภาพ และหนังสือแรงๆ ที่ถกกองทัพขึ้นบัญชีดำ รวมถึงเรื่องที่สื่อถึงยุคสมัยเผด็จการมาร์กอส

ในหมู่หนังสือที่ถูกรัฐบาลกล่าวหาว่า "บ่อนทำลาย" นี้มีใบปลิวข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติฟิลิปปินส์ที่เป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายมีอุดมการณ์เพื่อความเป็นธรรมในหลายๆ ด้านของสังคมซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์จัดให้กลุ่มนี้เป็น "กลุ่มก่อการร้าย" เมื่อช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา ในส่วนนี้รวมถึงเอกสาร "ประมวลข้อตกลงในด้านการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมนานาชาติ" (CARHIHL) นอกจากนี้ยังมีการยึดหนังสือที่เขียนโดย โฮเซ มาเรีย สิซัน ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์ด้วย

คลังข้อมูลหนังสือออนไลน์ของกลุ่มนักวิชาการนี้ใช้ชื่อว่า "ปีศาจแห่งหนังสือ" ซึ่งพาดพิงถึงประโยคแรกใน "แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์" ของคาร์ล มาร์กซ์ และฟริดิช เองเกล

ถึงแม้ว่าภาคส่วนวิชาการจำนวนมากจะเริ่มรณรงค์ต่อต้านการลิดรอนเสรีภาพจากรัฐบาล แต่กลุ่มคนในระดับสูงอย่างคณะกรรมการอุดมศึกษาของฟิลิปปินส์ (CHED) กลับปกป้องการถอนหนังสือที่ถูกมองว่่าเป็น "คอมมิวนิสต์" หรือเป็น "การก่อการร้าย" ออกจากห้องสมุด อ้างว่าเป็น "การกระทำในเชิงเสรีภาพทางวิชาการ"

อย่างไรก็ตามรัฐบาลดูเตอร์เตมีการควบคุมอย่างหนักข้อขึ้นในเรื่องการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างเสรีและการมีความคิดเชิงวิพากษ์ ทำให้มีผู้คนเข้าร่วม #HandsOffOurLibraries เพื่อปกป้องห้องสมุดและเสรีภาพทางวิชาการมากขึ้นเรื่อยๆ

เรียบเรียงจาก

#HandsOffOurLibraries: Scholars protest removal of ‘subversive’ books from Philippine universities, Global Voices, 05-11-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Aswang

https://en.wikipedia.org/wiki/National_Democratic_Front_of_the_Philippines

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net