Skip to main content
sharethis

แม้ไม่นิยมในเสรีภาพหรือประชาธิปไตย แต่สำหรับคนที่นิยมในความจริงหรือประโยชน์สาธารณะ จะเอาอย่างไร เมื่อ ม.112 ไม่มีเหตุยกเว้นโทษเหล่านี้ ทั้งที่หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามี ขณะที่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเคยเคยยกเว้นโทษ แต่ก็ถูกตัดออกเมื่อปี 2499 

กฎหมาย ม.112 หรือกฎหมายความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่มีกระแสการถกเถียงว่าจะยกเลิก แก้ไข หรือคัดค้านการแตะต้องนั้น มีประเด็นปัญหาที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจะเป็น คนริเริ่มคดีเป็นใครก็ได้ โทษหนักเกินไป ไม่มีขอบเขตชัดเจน หรือการตีความกว้างขวางเกินไป เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สอดคล้องกับผู้ที่แสวงหาความจริง คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ หรือระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมี Accountability หรือหลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้คือเรื่องไม่มีเหตุยกเว้นความผิด หากแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ให้ไม่เป็นความผิด และการพูดความจริงในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะไม่ต้องรับโทษ 

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ทั้งนี้ iLaw เคยชี้ว่า ความผิดฐาน "หมิ่นประมาท" บุคคลธรรมดามีข้อยกเว้นในมาตรา 329-330 ดังกล่าวข้างต้นได้ แต่มาตรา 112 ไม่ได้นำข้อยกเว้นเหล่านี้มาเขียนให้ชัดเจนด้วย ทำให้การแสดงความคิดเห็นที่แม้จะเป็นไปโดยสุจริต เป็นความจริง และเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง อย่างไรก็ดี กฎหมายลักษณะอาญาที่แก้ไขเมื่อปี 2477 เคยยกเว้นให้การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่ก็ถูกตัดออกเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาในปี 2499 

สอดคล้องกับที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าชี้ปัญหาของ มาตรา 112 ไว้ประการหนึ่งว่า ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นการติชมโดยสุจริต หรือการพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่วิจารณ์นั้นเป็นความจริง

ซึ่งข้อจำกัดนี้ คณะนิติราษฎร์ ที่ปิยบุตรเป็นสมาชิก เคยเสนอไว้ 1 ใน 7 ข้อ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวเมื่อ มี.ค.54 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า "เพิ่มเหตุยกเว้นโทษกรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ" 

และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ของพรรคก้าวไกล ประการหนึ่งคือ ให้มีบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ ที่ระบุว่า “ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด” และ “ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ ถ้าเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน” ทางสำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรโต้แย้งกลับมาว่าเป็นบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6

ทั้งนี้ความผิดฐาน "หมิ่นประมาท" บุคคลธรรมดามีข้อยกเว้นในมาตรา 329-330 บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 329  ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม  ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา 330  ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net