Skip to main content
sharethis

ทางการอังกฤษมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับสถานการณ์เมื่อพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตถึงขั้นตั้งชื่อรหัสว่า 'ปฏิบัติการลอนดอนบริดจ์' สื่อที่ได้รับทราบแผนการเหล่านี้มองว่าแผนการที่ออกมามีทั้งเรื่องน่าเบื่อไปจนถึงน่าขบขัน

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 2558 (ที่มา:wikipedia)

15 พ.ย. 2564 สื่อบางแห่งในอังกฤษเริ่มนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมรับมือกับการสวรรคตของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ที่ขณะนี้มีพระชนมายุได้ 95 พรรษาและครองราชย์ในสหราชอาณาจักรมาเป็นเวลากว่า 69 ปี และเคยมีเอกสารที่ถูกเปิดเผยในหน้าสื่อก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลอังกฤษวางแผนการเตรียมรับมือสถานการณ์นี้ไว้ด้วยและตั้งชื่อแผนนี้ว่า "ปฏิบัติการลอนดอนบริดจ์" ก่อนจะมีการเปิดเผยแผนนี้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา แผนดังกล่าวเคยถูกปิดเป็นความลับมาก่อน

ในแผนการที่ว่านี้มีรายละเอียดว่า เมื่อพระราชินีสวรรคตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษจะได้รับโทรศัพท์แจ้งเตือนด้วยประโยคที่เป็นรหัสว่า "สะพานลอนดอนพังลงแล้ว" สื่อถึงว่าพระราชินีทรงเสด็จสวรรคตแล้ว รวมถึงให้มีการรายงานเรื่องนี้ผ่านข่าวด่วนและสมาคมผู้สื่อข่าว

นอกจากนี้ยังมีการเตรียมการในส่วนอื่นทั้งจากเชื้อพระวงศ์และจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีอังกฤษเพื่อเตรียมพร้อมทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยและการรับมือฝูงชนที่ออกมารวมตัวกันและสภาพการจราจรอันโกลาหลที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีแผนการให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเยี่ยมสุสานฝังพระศพของราชินีและให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ที่เป็นรัชทายาทสืบราชสมบัติต่อเป็นพระมหากษัตริย์ชาร์ลส์และเสด็จพระราชดำเนินทั่วอังกฤษเป็นเวลาหลายวันก่อนที่จะมีพิธีฝังพระศพของพระราชินี

สำหรับรายละเอียดของปฏิบัติการเพื่อเตรียมการรับมือในส่วนอื่นๆ เป็นเวลา 10 วันในช่วงที่การไว้อาลัยการสวรรคตของพระราชินี สื่อ Politico ระบุว่ามีตั้งแต่เรื่องน่าเบื่อไปจนถึงฟังดูน่าขบขัน เช่น รัฐบาลอังกฤษกลัวว่าประชาชนจะไม่พอใจถ้าพวกเขาไม่สามารถลดธงลงจากยอดเสาครึ่งหนึ่งเพื่อแสดงการไว้อาลัยไม่ทันภายในเวลา 10 นาทีหลังจากการสวรรคต ทำให้ถึงขั้นต้องจัดจ้างผู้ปฏิบัติงานจากภายนอกในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังสั่งห้ามกลุ่มข้าราชการที่ทำงานในกระทรวงต่างๆ ของรัฐบาลไม่ให้รีทวีตสิ่งต่างๆ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาต

โดยที่รายละเอียดดังกล่าวของปฏิบัติการลอนดอนบริดจ์ รวมถึงปฏิบัติการสปริงไทด์ (กระแสฤดูใบไม้ผลิ) มีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

ดีเดย์ (D-Day) คือวันที่พระราชินีเสด็จสวรรคต ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการสวรรคตเลขาธิการส่วนพระองค์ของพระราชินีจะต้องแจ้งแก่นายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ที่อาวุโสที่สุดจำนวนหนึ่ง และเลขาฯ ส่วนพระองค์ยังมีหน้าที่แจ้งกับสำนักงานสภาองคมนตรีด้วยเนื่องจากสำนักงานสภาองคมนตรีมีหน้าที่ประสานงานกับรัฐบาลแทนราชวงศ์ด้วย

ภายในวันนี้การประชุมสภาจะถูกเลื่อนออกไปก่อนชั่วคราว รวมถึงในสก็อตแลนด์, เวลส์และ ไอร์แลนด์เหนือ ด้วย และเปลี่ยนเว็บไซต์ของราชวงศ์ให้กลายเป็นสีดำเพื่อไว้ทุกข์ รวมถึงมีข้อความสั้นๆ ยืนยันถึงการสวรรคต ส่วนเว็บไซต์กลางของรัฐบาลอังกฤษ (GOV.UK) รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ของทุกกระทรวงจะขึ้นแถบสีดำด้านบนเว็บไซต์ และเปลี่ยนรูปโปร์ไฟล์เป็นตราของกระทรวง และจะไม่เผยแพร่เนื้อหาที่ไม่ใช่เรื่องด่วนออกไป

ต่อมาราชวงศ์จะเป็นผู้ประกาศแผนการพระราชพิธีศพของราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ตลอด 10 วัน โดยจัดให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนแรกของรัฐบาลที่จะแถลงข่าวเท่านั้น และสมาชิกในรัฐบาลจะต้องไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ จนกว่านายกรัฐมนตรีจะแถลง กระทรวงกลาโหมจะเป็นผู้จัดยิงปืนสลุดในทุกสถานียิงสลุด มีการประกาศสงบนิ่งไว้อาลัยทั้งประเทศเป็นเวลา 1 นาที หลังจากนั้นก็จะมีการเปิดให้กษัตริย์องค์ใหม่คือกษัตริย์ชาร์ลส์ทรงมีพระราชดำรัสต่อประชาชนผ่านทางโทรทัศน์ในช่วงเวลา 6 โมงเย็น ขณะเดียวกันก็จะจัดให้มีพระราชพิธีรำลึกที่มหาวิหารเซนต์พอลใจกลางกรุงลอนดอนที่จะมีเพียงนายกฯ กับผู้แทนระดับสูงในรัฐบาลไม่กี่คนเท่านั้นที่เข้าร่วม Politico ระบุว่าจากเอกสารดังกล่าว แผนงานเหล่านี้เหมือนจะต้องดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีโดยอัตโนมัติ

ในวันดี-เดย์ที่สอง จะมีพระราชพิธีเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติของกษัตริย์ชาร์ลส์ โดยจัดให้กลุ่มคนในระดับสูงของรัฐบาล รวมถึงนายกรัฐมนตรีและองคมนตรีของประเทศสวมชุดเรียบๆ เน้นสีดำเข้าร่วม รวมถึงออกแถลงการณ์ในเรื่องการเถลิงถวัลยราชสมบัติที่พระราชวังเซนต์เจมส์และที่เดอะรอยัลเอ็กซ์เชนจ์ในกรุงลอนดอน โดยที่กิจกรรมอื่นๆ ของรัฐสภาทั้งหมดจะถูกระงับเป็นเวลา 10 วัน และในเวลาบ่าย 3โมงครึ่งของวันนี้จะให้นายกฯ กับคณะรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้ากษัตริย์พระองค์ใหม่

ในวันที่สามจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการกับพระศพของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นอยู่กับว่าพระองค์เสด็จสวรรคตที่ไหน เช่น เสด็จสวรรคตที่ในวังบัลมอรัลที่สก็อตแลนด์ก็ถึงขั้นต้องมีปฏิบัติการในชื่อรหัสอื่นๆ มารองรับการขนย้ายพระศพรูปแบบต่างๆ

จากนั้นในวันที่ 4 และ 5 ก็จะมีการเสด็จพระราชดำเนินไปตามที่ต่างๆ ของกษัตริย์ชาร์ลส์เพื่อแสดงการรำลึกถึงพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2

ในวันที่ 6 จะเป็นการนำโลงพระศพของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 จากพระราชวังบัคกิงแฮมมาที่พระราชวังเวสต์มิสเตอร์เพื่อประกอบพระราชพิธี

วันที่ 7-10 พระศพของราชินีเอลิซาเบธจะประทับอยู่ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์เป็นเวลา 3 วัน มีการตั้งชื่อสำหรับปฏิบัติการนี้ด้วยว่า “ปฏิบัติการเฟเทอร์ (ปฏิบัติการขนนก)” โดยที่จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมพระศพ 23 ชั่วโมงต่อวัน และจะมีการให้ตั๋วช่วงเวลาเฉพาะสำหรับคนที่เป็นวีไอพี นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 7-10 นี้จะมีการเตรียมการพระราชพิธีศพด้วย

ในเอกสารยังมีการระบุอีกว่า ทางรัฐบาลอังกฤษเชื่อว่าพวกเขาจะดำเนินพระราชพิธีศพให้เป็นไปได้ด้วยดี แต่จะต้องทุ่มทุนทุ่มแรงไปจำนวนมากและมีความกังวลว่าจะเกิดปัญหาบางด้าน เช่น การที่กระทรวงการต่างประเทศต้องจัดการเรื่องการเดินทางของผู้นำประเทศต่างๆ ที่มาเยี่ยมแสดงความเสียใจ รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นในขณะที่ยังคงมีการระบาดของ COVID-19 อยู่

ขณะที่กระทรวงการคมนาคมก็จะต้องรับมือกับการเดินทางในช่วงที่เมืองหลวงลอนดอนจะแออัดยัดเยียดไปด้วยผู้คน ถึงขั้นประเมินความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดว่าถ้าผู้คนอัดแน่นเต็มกรุงลอนดอนอาจจะส่งผลให้บริการต่างๆ ประสบปัญหาเกินกว่าที่จะรับมือได้ทั้งทางการคมนาคมขนส่งมวลชน, เรื่องอาหารการกิน, การบริหารจัดการหรือกำกับดูแลความเรียบร้อย, ด้านสาธารณสุข และบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ยังมีการพิจารณาปัญหาเรื่องการจัดให้วันพระราชพิธีศพเป็น "วันไว้ทุกข์แห่งชาติ" ซึ่งจะทำให้ต้องประเมินว่ามันเป็นวันหยุดธนาคาร แต่ก็ไม่มีการสั่งให้นายจ้างจัดให้เป็นวันหยุดของลูกจ้างรัฐบาลระบุว่าเรื่องนี้ให้เป็นข้อตกลงกันเองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

พระราชพิธีศพจะมีขึ้นในวันที่ 11 ที่โบสถ์เวสต์มินสเตอร์ตามประเพณี มีการจัดให้สงบนิ่งไว้อาลัยเป็นเวลา 2 นาทีทั่วประเทศในช่วงเวลากลางวัน นอกจากนี้ยังจะมีการจัดพิธีที่วิหารเซนต์จอร์จ และพระราชวังวินด์เซอร์ จากนั้นก็จะนำพระศพไปฝังที่โบสถ์อนุสรณ์กษัตริย์จอร์จที่ 6 ในวินด์เซอร์

 

เรียบเรียงจาก

Britain’s plan for when Queen Elizabeth II dies, Politico, 03-09-2021

Operation London Bridge: What happens when The Queen dies, Get Reading, 14-11-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net