Skip to main content
sharethis

เครือข่ายวิทยุชุมชนร้องเรียน ส.ส.พรรคเพื่อไทย แก้กฎหมาย กสทช. หวั่นถูกยกเลิกกว่า 4,000 แห่ง ด้าน 'ชลน่าน' เผยพร้อมใช้กระบวนการสภาฯ หาทางออก - กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ สผ. เตรียมหารือ กสทช.หลังมีการปรับลดคลื่นความถี่ส่งสัญญาณออกอากาศ ส่งผลผู้ประกอบการกิจการวิทยุฯ พร้อมขอ กกต.ชี้แจงแนวทางแก้ไข พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น


ที่มาภาพ: เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค รับหนังสือร้องเรียนจากนายชาลี นพวงศ์ ณ อยุธยา ตัวแทนองค์กรภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนแห่งประเทศไทย หลังได้รับผลกระทบจากพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 หรือ พ.ร.บ.กสทช.

นายชาลี ระบุว่า ผู้ประกอบการวิทยุชุมชน ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากกฎหมายดังกล่าวที่ออกระเบียบให้นำคลื่นความถี่ไปประมูล โดยวันที่ 3 เมษายน 2565 จะเป็นวันสุดท้ายที่คลื่นวิทยุกำลังส่งต่ำได้ออกอากาศ เนื่องจากระเบียบดังกล่าวจะทำให้เหลือเพียงคลื่นวิทยุที่มีกำลังส่งสูงเท่านั้น ซึ่งจะทำให้สถานีวิทยุท้องถิ่นกว่า 4,000 แห่ง ต้องหยุดดำเนินการ ส่งผลให้ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนภาษาท้องถิ่น ไม่สามารถเผยแพร่ผ่านสื่อวิทยุได้ ซึ่งวิทยุท้องถิ่นอยู่คู่กับชาวบ้านมานาน 20-30 ปี ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ช่วยขับเคลื่อนในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

ด้านนายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวผ่านนายคมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคจะดำเนินการให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายให้กับผู้ประกอบการวิทยุชุมชน ขณะเดียวกันจะนำปัญหาดังกล่าวไปแก้ไขผ่านกระบวนการของสภาฯ ทั้งการปรึกษาหารือต่อที่ประชุมสภาฯ ตั้งกระทู้ถามสด กระทู้ถามทั่วไป หรือเสนอเป็นญัตติขอแก้ไขกฎหมายในอนาคต

กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ สผ. เตรียมหารือ กสทช.หลังมีการปรับลดคลื่นความถี่ส่งสัญญาณออกอากาศ ส่งผลผู้ประกอบการกิจการวิทยุฯ พร้อมขอ กกต.ชี้แจงแนวทางแก้ไข พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวสรุปผลการประชุมกรรมาธิการ ว่าที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนขององค์กรภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ภายหลังภาคีเครือข่ายฯ ได้ร้องเรียนมายังกรรมาธิการ กรณีมีการปรับปรุงให้ลดคลื่นความถี่การส่งสัญญาณออกอากาศในการกระจายเสียงจากเดิมประมาณ 1,000 วัตต์ เหลือเพียง 100 วัตต์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลด้านเทคนิค วิศวกรรมการบิน ระบบการสื่อสาร และอื่น ๆ ทั้งนี้ประชุมจึงกำหนดให้มีการหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมครั้งถัดไป โดยจะเชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ภาคีเครือข่ายฯ สมาคมนักบินไทย และบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการกับคลื่นความถี่ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการ การได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายต่อไป
          
นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องร้องเรียน กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรช่วยหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะทำงานติดตามการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล รองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมหารือ ซึ่งจากข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว พบปัญหาด้านการบังคับใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มีความไม่ชัดเจนในขอบเขตการบังคับใช้ ม.34 และ ม.69 ในบทกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน ด้านรองศาสตราจารย์สมชัย ได้เสนอให้มีการแก้ไขใน 2 มาตราข้างต้น พร้อมกับเสนอให้มีการพิจารณาว่าความคิดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จะส่งผลต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่ ส่วนด้านคณะกรรมาธิการมีข้อเสนอไปยัง กกต.ให้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ส.ส. และ ส.ว. สามารถกระทำการที่เป็นคุณต่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่ มีขอบเขตมากน้อยเพียงใด กลับกำหนดคำนิยามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และพนักงานของรัฐให้มีความชัดเจน 2.สอบถามแนวทางการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าว และ 3.ที่ผ่านมา กกต.เคยใช้อำนาจตามกรณีดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ขอให้ กกต. เขียนรายงานชี้แจงมายังกรรมาธิการเพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าวต่อไป


ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net