Skip to main content
sharethis

พาชมภาพบางส่วนจากนิทรรศการศิลปะภายใต้ชื่อ Stop Torture หรือยุติการซ้อมทรมาน ของศิลปินภายในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีทั้งหมด 7 คน พร้อมคุยกับ กรกฎ สังข์น้อย หนึ่งในศิลปินที่นำเสนอผลงาน เพื่อสื่อสารประเด็นปัญหาและสร้างความตระหนักรู้ต่อความเข้าใจต่อปรากฎการณ์การซ้อมทรมาน

ช่วงระหว่างวันที่ 5 พ.ย. - 5 ธ.ค.นี้ ที่ Patani artspace อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีการจัดนิทรรศการศิลปะภายใต้ชื่อ Stop Torture เป็นหนึ่งในกิจกรรมเทศกาลภายใต้โครงการชื่อ Safe in Custody Awareness Month โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (APT) มีการจัดแสดงผลงานทางด้านศิลปะจากศิลปินภายในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีทั้งหมด 7 คน เพื่อสื่อสารประเด็นปัญหาและสร้างความตระหนักรู้ต่อความเข้าใจต่อปรากฎการณ์การซ้อมทรมานและการปฏิบัติการที่ไร้มนุษย์ธรรมให้แก่สังคมผ่านการแสดงงานทางด้านศิลปะ 

ในโอกาสนี้จึงพาผู้อ่านพูดคุยกับ กรกฎ สังข์น้อย หนึ่งในศิลปินชาวปัตตานีที่ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานศิลปะภายในนิทรรศการเพื่อทำความเข้าใจต่อประเด็นและความหมายของงานที่ได้นำเสนอผ่านการสรรสร้างผลงานทางด้านศิลปะเพื่อสื่อสารประเด็นการซ้อมทรมานในพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานี 

ผลงานที่จัดแสดงภายในงานนิทรรศาการ Stop Torture ที่ Patani Artspace

กรกฎ เล่าว่า ในงานศิลปะที่เราได้ทำกันมานั้นพูดถึงเรื่องความรู้สึกอยู่แล้ว ซึ่งในแต่ล่ะชิ้นงานมันมีก็บางลายระเอียดที่มันสามารถสัมผัสกับความรู้สึกของคนได้หรือให้คนดูได้รู้สึกตาม ซึ่งก็ไม่ใช้ทุกคนที่จะรู้สึกเหมือนๆ กัน และเรายอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกเหมือนกันแต่ว่าในฐานะศิลปินเราได้หยิบยกประเด็นบางอย่างขึ้นมาพูดหรือแสดงผ่านผลงานของเรา ก็เหมือนกับว่าให้คนได้ฉุดคิดว่าแล้วว่ามันมีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาในสังคมจริง ๆ ส่วนคนดูหรือสังคมจะคิดหรือตีความต่อผลงานศิลปะที่เราสรรสร้างขึ้นมาอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้คน เพราะว่าผู้คนที่มาดูก็มีความหลากหลาย มีทั้งประชาชนที่มาจากหลากหลายพื้นที่ หลากหลายความคิด และทั้งนักเรียน นักศึกษา เยาวชน หรือแม้กระทั้งหน่วยงานต่าง ๆ 

Patani artspace เราก็ทำงานเกี่ยวกับการสะท้อนประเด็นที่มันเกิดขึ้นจริงๆ อยู่แล้วในสังคมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก่อนที่จะมาเป็นนิทรรศการนี้ด้วยซ้ำ ซึ่งเรามองว่าเจตจำนงของเราก็คือเราทำงานศิลปะเพื่อที่จะให้สังคมยอมรับเราก็ต้องทำเรื่องที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ด้วยไม่ใช่แค่วาดแค่ดอกไม้ที่สวยหรูหรือสวยงามเท่านั้น หากเป็นอย่างนั้นมันก็ขัดแย้งกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา และของคนที่นี้ ถ้าเราจะให้คนได้มาสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่จริงๆ เราก็ต้องทำเรื่องที่มันมีผลกระทบกับชีวิตของเขาจริงๆ เช่นกัน

“การที่เราได้สร้างสรรค์และสร้างผลงานออกมาให้คนได้เห็นมันเหมือนกับว่าเราได้สะท้อนว่ามันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง ๆ ในพื้นที่หรือว่าที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในปัจจุบันเรามองว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในพื้นที่สามจังหวัดแล้วมันมีให้เราได้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงนี้มันเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ซึ่งเราคิดว่าสามจังหวัดนี้มันชัดเจนกว่าพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ด้วยพอมันเป็นงานศิลปะหรืองานสร้างสรรค์คนได้เข้าถึงและก็ได้สัมผัสใกล้ชิดมากกว่าที่เป็นข้อมูลซึ่งบางข้อมูลก็อาจจะไม่ได้ถูกเปิดเผยอย่างโจ่งแจ้งหรือเป็นสาธารณะ” กรกฎ กล่าว 

เปิดความรู้สึกหลังจากได้แสดงผลงานทางศิลปะเพื่อสะท้อนประเด็นปัญหาการซ้อมทรมาน

“ผมเป็นคนพุทธน่ะ หลายคนชอบตั้งคำถามกับผมว่าผมเป็นใคร เคยมีหน่วยงานหนึ่งเมื่อตอนที่เขาเห็นงานผมแล้ว ผมก็สะท้อนความรู้สึกและเจตนารมณ์ที่ผมสรรสร้างผลงานศิลปะนี้ขึ้นมา เมื่อผมบอกว่าผมเป็นพุทธเขาก็เลยแปลกใจว่าอยู่ด้วยกันได้อย่างไร มันอยู่ด้วยกันไม่ได้หรือเปล่า เราก็เลยเดินทางของเราหาคำตอบว่าสิ่งที่เขากล่าวว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้นี้มันเป็นอย่างไรถ้าพูดไปอีกประเทศนี้เขามองว่าคนสามจังหวัดหรือปาตานีเป็นส่วนน้อยของประเทศ ซึ่งพอผมอยู่ในพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมลายูมุสลิมซึ่งแตกต่างไปจากตัวผม ซึ่งผมก็เป็นส่วนน้อย ผมเลยรู้สึกเหมือนที่คนมุสลิมรู้สึก” กรกฎ กล่าว 

“ผมมองว่าศิลปะคือชีวิต ซึ่งชีวิตคนเรามันก็มีหลากหลายอยู่แล้วซึ่งผมคิดว่าเราในฐานะมนุษย์ต้องให้ความสำคัญกับชีวิตไม่ว่าจะชีวิตใดชีวิตหนึ่ง ซึ่งเราจะสะท้อนชีวิตของเราอย่างไรก็ได้จะเป็นงานศิลปะ จะเป็นกวีหรือจะเป็นเป็นดนตรีหรือแม้กระทั้งเป็นงานเขียนก็แล้วแต่ตามถนัดของแต่ล่ะคนแต่สิ่งสำคัญคือความสำคัญของชิ้นงานหรือผลงานที่เราทำมันก็คือชีวิต ซึ่งสุดท้ายแล้วพวกเราได้ทำในส่วนของเราอย่างเต็มที่ที่สุดแล้วส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรเราก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะทำให้คนทุกคนพอใจ” กรกฎ กล่าว 

“หากถามต่อว่ามันว่ามันสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่ามันสำเร็จตั้งแต่วันที่เราได้คิด ได้วางแผน ได้วาดโครงงานลงในสมุดแล้ง ในตอนนั้นความคิดหรือจินตนการที่มันอยู่ในหัว ที่มันอยู่ในหัวใจ มันได้ผุดออกมางอกเงยอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว แล้วยิ่งเมื่อได้เข้าถึงความรู้สึกของคนมันก็ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว แต่มันก็ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก มันต้องทำต่อไป ซึ่งมันก็เป็นเรื่องราวระหว่างทางที่มีบททดสอบ มีเรื่องราวให้เราได้เรียนรู้ตลอดที่ระยะเวลาที่ผ่านมา” กรกฎ กล่าว

Under ผลงานการแสดงศิลปะของ กรกฎ

กรกฎ สังข์น้อย เล่าถึงงานของเขาว่า ผลงานนี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่บนเฟรมสองมิติ ซึ่งมีชื่อผลงานว่า Under ที่แปลว่าใต้ 

“ผมอยากจะสะท้อนเรื่องของอำนาจที่มันกดทับประชาชน กดทับผู้คน พอมันกดทับแล้วอำนาจนั้นก็สามารถที่จะทำอะไรก็ได้กับประชาชน อย่างเช่นงานที่เราจัดก็เป็นกรณีการซ้อมทรมาน ทำไมมันถึงเกิดขึ้นกับคนด้วยกัน ซึ่งผมก็ลองจินตการว่ามันคงจะมีอำนาจบางอย่าง ซึ่งผมก็ทำเป็นโครงร่างของเท้าอยู่ข้างบนและผมก็ให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ด้านล่าง อำนาจนั้นเปรียบเสมือนโครงร่างที่ผู้คนนั้นสร้างขึ้นมาเท่านั้นเอง ถ้าเราพูดขึ้นมาพูดอำนาจนั้นก็จะไม่มีความหมาย” กรกฎ กล่าว 

“เป็นผลงานที่ใช้ด้ายในการถักทอเป็นตัวอักษรในภาษายาวีคือคำว่า Adilan ซึ่งมีความหมายว่า ความยุติธรรมในภาษาไทย อธิบายต่อผลงานชิ้นนี้คือ พยายามที่สะท้อนว่าความยุติธรรมอยู่ที่ไหน ซึ่งถือว่าเป็นคำถามที่ถูกถามอย่างมีความหวังจากคนในพื้นที่ว่าความยุติธรรมบนผืนแผ่นดินนี้อยู่ที่ไหน” กรกฎ สังข์น้อย เล่าถึงงานของศิลปินอีกคน

กรกฎ เล่าถึงงานของศิลปินอีกคนว่า ผลงานชิ้นนี้คือการหยิบยกนำเอาดินซึ่งเปรียบเสมือนเป็นความเชื่อของคนมุสลิมที่หมายความว่า “เรานั้นเกิดมาจากดิน” และสร้างเป็นสัญลักษณ์คนขึ้นมา

“ซึ่งดินที่เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของคนนั้นเปรียบเสมือนชีวิตของผู้คนที่มีทหารคอยกดทับอยู่ในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ที่สำคัญก็คือเมื่อเราให้ความหมายว่าเรานั้นมาจากดินก็เปรียบเสมือนประเทศนี้เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเราและมีทหารเต็มทั่วทุกพื้นที่เลย” กรกฎ กล่าว 

เสียงสะท้อนจากผู้คน

กรกฎ กล่าว คนรุ่นใหม่ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ให้ความสำคัญกับงานนิทรรศการมากพอสมควรเพราะว่าพวกเขารู้สึกมีถึงการมีความรู้สึกร่วมกับเรื่องราวเหล่านี้ที่เราหยิบยกเอามานำเสนอ ซึ่งประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมันยังไม่ค่อยทำให้เป็นที่ถูกพูดถึงมากเท่าที่ควรภายในในสังคม พอเราได้หยิบยกประเด็นปัญหาเหล่านั้นเอามานำเสนอจึงทำให้พวกเขารู้สึกว่าผลงานเหล่านั้นสามารถที่จะมอบพลังบางอย่างแก่พวกเขาได้จากที่ผมดูและสัมผัสกับพวกเขาภายในนิทรรศการ 

“มีผู้ชมท่านหนึ่งมาเล่ากับผมว่าเขาทนดูการแสดงงานไม่ได้มันทำให้เขารู้สึกหวาดกลัวเพราะในอดีตเขาเคยโดนซ้อมทรมานมาแล้วสามครั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ซึ่งภาพเหล่านั้นมันลอยเข้ามาในหัวตอนที่เขาดูการจัดนิทรรศการ มันรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวมาก ๆ  มันรู้สึกว่าเขากำลังกลับไปอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายแบบนั้นอีกครั้งและเขาไม่อยากกลับไปอีก” กรกฎ กล่าว 

ความหวังในอนาคตต่อการพัฒนาผลงานศิลปะในสังคม 

“ในปัจจุบันผมหวังว่าสังคมคงจะมีสื่อแบบนี้ แบบที่เราทำอยู่ผลิตออกมามากยิ่งขึ้นในสังคม ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งสื่อโซเชียวมีเดีย ข่าวสาร และงานศิลปะ คือหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถสื่อสารประเด็นทางสังคมการเมืองได้อย่างเช่นกัน ผมคิดว่าหากเราไม่มีเครื่องมือเหล่านี้ เหตุการณ์ความรุนแรงก็อาจจะเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาทิเช่น เหตุการณ์เดือนตุลาฯ เหตุการณ์ตากใบ ในช่วงนั้นสังคมอาจจะยังไม่ค่อยมีสื่อหรืองานสร้างสรรค์ที่สามารถสื่อสารประเด็นอย่างสาธารณะประเภทนี้มากเท่าไหร่ ซึ่งถ้าหากมันไม่มีเลยผมคิดว่ามันคงจะเกิดขึ้นอีกซ้ำ ๆ ถ้าหากมันไม่มีการถูกพูดถึงหรือถูกสื่อสารอย่างเป็นสาธารณะเพื่อให้สังคมรับรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคม ซึ่งเราก็พยายามเดินต่อเรื่องเหล่านี้ครับ และเราก็คิดว่าจะผลิตผลงานและพัฒนางานศิลปะที่สามารถสะท้อนประเด็นทางสังคมออกมาอีกเรื่อยๆ” กรกฎ กล่าวทิ้งท้าย

ผลงานที่จัดแสดงภายในงานนิทรรศาการ Stop Torture ที่ Patani Artspace : 

สำหรับ มูฮัมหมัดอานัส หลงเดวา ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.อ. ปัตตานี ปัจจุบันร่วมฝึกงานกับกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net