Skip to main content
sharethis

'Patani Baru' กลุ่มการเมืองใหม่หวังสร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ในพื้นที่ตอบโจทย์การเคลื่อนไหวในระบบรัฐสภา สุไฮมี ดูละสะ เลขาธิการฯ Patani Baru ชี้กลไกรัฐสภาคือพื้นที่สำคัญในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ / ปาตานี

  • เลขาธิการ Patani Baru หวังยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อตอบโจทย์ความฝันเจตนารมณ์ที่ตกผลึกร่วมกัน มุ่งเป็นตัวแทนของคนปาตานีในสนามการเมืองระดับประเทศ
  • คนรุ่นใหม่เล็งเห็นการเมืองเชิงนโยบายสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนต้องมีส่วนร่วมต่อกระบวนการสันติภาพ ‘ย้ำ’ รัฐสภาคือกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งปาตานี  ตรวจสอบอำนาจฝ่ายความมั่นคง หวังยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ 
  • เปิดตัวผ่านพื้นที่ชุมชนเชิงสัญลักษณ์หวังสื่อสารถึงการต่อสู้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม ชี้ 'ไทยสร้างไทย' ให้คนปาตานีได้ส่งเสียงกำหนดนโยบาย - ก้าวข้ามภาพจำภัยต่อความมั่นคงได้  หวังเห็นสันติภาพผ่านการสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่

ภาพสัญลักษณ์กลุ่มจากเพจ Patani Baru 

หลังจากการเปิดศูนย์ประสานงานพรรคไทยสร้างไทยพร้อมทั้งการเปิดตัวกลุ่ม Patani Baru อย่างเป็นทางการที่ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดย Patani Baru นั้นถือว่าเป็นกลุ่มการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ก่อร่างสร้างตัวจากอดีตนักกิจกรรมและอดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากหลายๆ กลุ่มในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ / ปาตานี 

สุไฮมี ดูละสะ ในฐานะเลขาธิการกลุ่ม Patani Baru

ในโอกาสนี้จึงชวนผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักับกลุ่ม Patani Baru ผ่านการพูดคุยกับสุไฮมี ดูละสะ ในฐานะเลขาธิการกลุ่ม Patani Baru และในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีบทบาทต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ / ปาตานี เพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจต่อที่มาที่ไปและจุดเริ่มต้นของการก่อร่างสร้างตัวของกลุ่มอีกทั้งให้ทราบถึงเจตนารมณ์ของกลุ่ม

“จะสรรสร้างสันติภาพปาตานีผ่านกลไกรัฐสภา” เลขาธิการ Patani Baru กล่าวไว้ขณะเปิดตัว

หวังยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อตอบโจทย์ความฝันเจตนารมณ์ที่ตกผลึกร่วมกัน

สุไฮมี เล่าว่า Patani Baru เป็นกลุ่มการเมืองที่เกิดจากรวมตัวกันของอดีตนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวที่เคยเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ / ปาตานี เพื่อสันติภาพและขับเคลื่อนประเด็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นประเด็นร่วมของประเทศ หลังจากที่พวกเรามีโอกาสริเริ่มพูดคุยระดมความคิดกัน โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี เพื่อพูดคุยถกเถียงว่าการเมืองในระบบรัฐสภานั้นเราจะสามารถใช้โอกาสในการเข้าไปผลักดันประเด็นวาระและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจวบจนถึงสร้างสันติภาพในปาตานีผ่านกลไกรัฐสภาอย่างไรและจำเป็นมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายเราก็ตกผลึกร่วมกันว่าระบบรัฐสภานั้นจำเป็นและมันสามารถที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้จริง จนนำไปสู่ข้อสรุปว่าเราจำเป็นที่จะต้องสร้างกลุ่มการเมืองขึ้นมาในการที่จะเข้าไปผลักดันประเด็นต่อเนื่องที่เราเคยขับเคลื่อนในสมัยที่เป็นนักศึกษาและองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเราหวังจะยกระดับการขับเคลื่อนการเมืองในระดับนโยบายมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความฝันและเจตนารมณ์ที่เราตกผลึกร่วมกันผ่านการถกเถียงในระยะเวลา 2 ปี 

สุไฮมี เล่าต่อว่า เราริเริ่มจากการทำห้องเรียนการเมืองเล็กๆ โดยการดึงผู้ที่สนใจประเด็นทางการเมืองและเห็นถึงแนวทางการต่อสู้ในแบบการเข้าสู่ในระบบรัฐสภานั้นมันสามารถที่จะแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถเห็นผลได้จริง ซึ่งรายละเอียดของการสร้างห้องเรียนการเมืองนั้นเรามีโอกาสเชิญวิทยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เคยเคลื่อนไหวหรือนักวิชาการทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เพื่อมาแลกเปลี่ยนความเห็นกับเรา ซึ่งห้องเรียนการเมืองนี้ถือเป็นพื้นที่และจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการนำไปสู่การมีกลุ่มการเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า Patani Baru ขึ้น

ภาพ สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และกลุ่ม Patani Baru ขณะเปิดศูนย์ประสานงานพรรคไทยสร้างไทยจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2564 (ภาพจากเพจ Patani Baru)

มุ่งเป็นตัวแทนของคนปาตานีในสนามการเมืองระดับประเทศ

เราหวังไว้ว่าอยากเป็นตัวแทนทางการเมืองของคนปาตานีในการต่อสู้เรียกร้องและผลักดันประเด็นวาระทางการเมืองในระบบการเมืองรัฐสภา เราอยากมีพรรคการเมืองที่สามารถสานฝันเจตนารมณ์ของคนปาตานีและพูดถึงปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหรือกฎหมายที่มันกดทับและลดทอนสิทธิเสรีภาพของคนในพื้นที่หรือจะเป็นประเด็นความมั่นคง ประเด็นเรื่องแนวทางการปกครอง ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือเราอยากเป็นตัวแทนของคนที่นี่ คนปาตานีในการเข้าไปสู่สนามการเมืองเพื่อต่อสู้และขับเคลื่อนประเด็นประชาธิปไตยในระดับภาพรวมของประเทศ

“เราเชื่อมั่นเสมอว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มใบและการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องหวังว่าให้คนรุ่นใหม่ทั้งประเทศและในพื้นที่นั้นออกมาต่อสู้เรียกร้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน สิ่งสำคัญคือคนในพื้นที่ต้องตระหนักรู้ว่าการต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหารนั้นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการปลดโซ่ตรวนการกดขี่ที่กดขี่เราชาวปาตานีมาโดยตลอด เราหวังว่าหากเมื่อใดประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ปาตานีเองก็คงได้เห็นสันติภาพในเร็ววัน” สุไฮมี กล่าว

คนรุ่นใหม่เล็งเห็นการเมืองเชิงนโยบายสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

เลขาธิการ Patani Baru เล่าว่าเรามองว่าสิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจวิธีการขับเคลื่อนในแบบที่เราพยายามทำอยู่ก็คือ เรามองว่าการสร้างสันติภาพหรือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น เราจำเป็นต้องใช้แนวทางทางการเมืองในรัฐสภาในการขับเคลื่อนเพื่อพูดถึงสภาพปัญหาและหาวิธีการแก้ไข อีกทั้งเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องปัญหาปากท้อง ที่คนรุ่นใหม่ล้วนต้องเผชิญกับชะตากรรมอันแสนหดหู่เช่นนี้ มันเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องกัน และเพราะเราเชื่อว่าแนวทางการต่อสู้ในรัฐสภานั้นสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ 

จึงอาจจะทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มเห็นถึงวิธีการต่อสู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาที่เราต้องเผชิญร่วมกันได้ อีกทั้งเราคิดว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันประเด็นวาระการแก้ไขปัญหาหรือการสร้างสันติภาพในพื้นที่ผ่านกลไกรัฐสภานั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำและได้ผลมากที่สุด มันจึงทำให้คนเริ่มเห็นว่ากลไกรัฐสภาคือกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างที่ได้กล่าวมาทั้งหมด 

“สิ่งที่สามารถดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่แนวทางการต่อสู้ผ่านกลไกรัฐสภาภายใต้กลุ่ม Patani Baru นั้นด้วยกระแสของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเมืองในระดับท้องถิ่น การเมืองในระดับจังหวัดหรือการเมืองในระดับประเทศ และอีกหลายคนที่สนใจแต่ยังไม่มีพื้นที่ในการขับเคลื่อน ฉะนั้นเมื่อเราร่วมกันสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมาภายใต้กลุ่ม Patani Baru คนรุ่นใหม่ในพื้นที่จึงเริ่มที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและพร้อมที่จะเข้าไปแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่อสู้ทางการเมืองในรัฐสภาได้” สุไฮมี กล่าว

เปิดตัวผ่านพื้นที่ชุมชนเชิงสัญลักษณ์หวังสื่อสารถึงการต่อสู้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม

เหตุผลที่เราเลือกสถานที่เปิดตัวกลุ่ม Patani Baru พร้อมทั้งการเปิดตัวศูนย์ประสานงานของพรรคไทยสร้างไทยที่ ต.พ่อมิ่ง อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี นั้นเราคิดว่าในสังคมปาตานีนั้นเมื่อสังคมพูดถึงชุมชนพ่อมิ่งนั้นเราจะเห็นภาพได้ทันทีว่าชุมชนแห่งนี้นั้นมีสัญลักษณ์บางอย่างที่ฉายให้เห็นถึงมิติการต่อสู้ของชนชั้นรากหญ้าต่ออำนาจที่อยุติธรรมและมันเป็นชุมชนที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อคนปาตานีจริงๆ ซึ่งมันมีมิติที่สามารถบ่งบอกได้ถึงพลังของการต่อสู้ของประชาชนต่อการถูกกดขี่ อีกทั้งเรื่องปฎิสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมภายในชุมชน ผู้คน และวิถีชีวิต ในชุมชนแห่งนี้มันมีสัญลักษณ์ว่าการต่อสู้นี้เพื่อชาวปาตานีผ่านสัญลักษณ์ของชุมชน ซึ่งตรงตามเจตจำนงที่เราต้องการที่จะสื่อสารประเด็นวาระที่เรามองเห็นว่าเป็นวาระร่วมของปาตานีได้ และเราเองในฐานะตัวแทนของชาวปาตานีที่หวังผลักดันประเด็นวาระทางการเมืองผ่านกลไกรัฐสภา 

“เราถึงเลือกชุมชนแห่งนี้ก็เพราะว่าจะส่งสารแก่สังคมว่าเราต้องการที่จะสู้เพื่อคนปาตานีจริงๆ และชุมชนแห่งนี้ก็คือสัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกได้ว่านั่นก็คือการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของคนปาตานีจริงๆ” เลขาธิการ Patani Baru กล่าวย้ำ

ภาพงานเปิดศูนย์ประสานงานพรรคไทยสร้างไทยจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2564 (ภาพจากเพจ Patani Baru)

ประชาชนต้องมีส่วนร่วมต่อกระบวนการสันติภาพ ‘ย้ำ’ รัฐสภาคือกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งปาตานี 

เลขาธิการฯ Patani Baru มองว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมาเรามองเห็นปรากฎการณ์การมีขึ้นของกระบวนการสันติภาพ ‘Peace process’ และการเจรจราที่มีขึ้นระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการติดอาวุธ ‘BRN’ ซึ่งกระบวนการสันติภาพและการเจรจานี้ชี้ให้เห็นว่าแม้จะพูดกันอีกกี่ครั้งหากไม่มีกระบวนการรองรับหรือกฎหมายที่สามารถนำเอาสิ่งที่พูดคุยกันระหว่างทั้งสองฝ่ายมาถกเถียงต่อกันได้นั้นมันก็ไม่ได้สิ้นสุดปัญหาความขัดแย้งและปัญหาก็ยังไม่ได้ถูกแก้ ซึ่งก็จะเป็นเพียงแค่การพูดคุยแล้วก็จบทันทีมันไม่สามารถที่จะไปต่อได้ มิหนำซ้ำยังอาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นแล้วกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบก็คือประชาชนในพื้นที่ สิ่งนั้นคือสิ่งที่เราเห็นว่ามันมีปัญหา ฉะนั้นการพูดคุยหรือการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายต้องมีพื้นที่ ที่สามารถให้ตัวแทนของประชาชนนั้นสามารถถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปและสามารถที่จะนำไปสู่การวางแบบแผนหรือกฎหมายที่สามารถกำหนดวาระการพูดคุยหรือการเจรจาเพื่อที่จะให้วาระการเจรจานั้นสามารถที่จะนำเอาผลหรือข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายมาต่อยอดได้ ซึ่งเรามองเห็นรัฐสภาคือพื้นที่ที่ชอบธรรมที่สุดในการพูดคุยวาระสันติภาพปาตานี 

“เมื่อมีการพูดถึงรูปแบบการปกครอง ผลของข้อเสนอที่มีต่อประเด็นการปกครองในพื้นที่จากทั้งสองฝ่ายเมื่อมันผ่านกระบวนการถกเถียงในรัฐสภาจนนำไปสู่การมีแบบแผนหรือข้อระเบียบกฎหมายแล้วนั้น ซึ่งมันก็ชอบธรรมที่จะสามารถนำเอาไปปฎิบัติได้จริง ต่างกับระบบเดิมของการเจรจาที่มีอยู่ในปัจจุบันที่รัฐสภาเกือบจะไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ ต่อกระบวนการสันติภาพเพราะมันขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีและฝ่ายความมั่นคงซึ่งตัวแทนของประชาชนในนามของสมาชิกผู้แทนราษฎรเองที่อยู่ในรัฐสภาก็เกือบจะไม่มีส่วนร่วมซึ่งมันไม่ชอบธรรมและมองว่ามันไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้” เลขาธิการ Patani Baru กล่าว

‘ใช้รัฐสภา’ ตรวจสอบอำนาจฝ่ายความมั่นคง หวังยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ 

สุไฮมี ให้ความเห็นว่า เป้าใหญ่ที่เราต้องการแก้ไขปัญหานั้นแน่นอนคือการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเชิงโครงสร้าง ก็คือการทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปสู่การปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยจริงๆ อย่างเต็มใบในแบบที่ควรจะเป็น เปลี่ยนให้ประเทศไทยมีสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองมีหลักกฎหมายที่เคารพความคิดที่เห็นต่างทางการเมืองได้  แต่ปัญหาระยะสั้นที่มองว่าจำเป็นต้องพูดกันและแก้ไขให้เร็วที่สุดก็คือปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอด 18 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่ซึ่งก็คือปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง และอำนาจของฝ่ายความมั่นคงที่เอ่อล้นเกินไปจนไม่สามารถตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ได้เลย การแก้ไขปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่ตัวแทนของประชาชนต้องพูดถึงและริเริ่มหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุดผ่านกลไกรัฐสภา เพราะหากไม่รีบแก้ไขประชาชนก็จะยังคงอยู่ภายใต้การถูกกดขี่และการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพอยู่อย่างนี้อีกไม่จบไม่สิ้น

ภาพ สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และกลุ่ม Patani Baru ขณะเปิดศูนย์ประสานงานพรรคไทยสร้างไทยจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2564 (ภาพจากเพจ Patani Baru)

'ไทยสร้างไทย' ให้คนปาตานีได้ส่งเสียงกำหนดนโยบาย - ก้าวข้ามภาพจำภัยต่อความมั่นคงได้ 

เลขาธิการ Patani Baru กล่าวว่าสิ่งแรกเลยก็คือเรื่องจุดยืนต่อประเด็นประชาธิปไตยที่ตนนั้นมองเห็นว่า พรรคไทยสร้างไทยเองก็ยืนหยัดในการต่อสู้ที่ยืนอยู่เคียงข้างฝ่ายประชาธิปไตย อีกทั้งในเรื่องจุดยืนในระดับปัจเจกของคุณหญิงสุดารัตน์เองนั้น เราก็มองว่าคุณหญิงไม่เคยที่จะพลิกผันตัวเองเข้าสู่หรือยืนอยู่ในระบอบของฝ่ายเผด็จการทหารแม้แต่ครั้งเดียว นั่นคือสิ่งที่เรารู้สึกว่าสำคัญและสามารถที่จะร่วมงานกันได้ ต่อมาก็เป็นเหตุผลที่ยิ่งเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจที่จะทำงานร่วมกันกับพรรคไทยสร้างไทยก็คือพรรคไทยสร้างไทยหยิบยื่นโอกาสและพื้นที่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นปาตานีอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่ม Patani Baru สามารถกำหนดนโยบายเฉพาะในพื้นที่ปาตานีเพื่อเสนอให้กับพรรค อีกทั้งให้เราออกแบบกระบวนการคัดสรรเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้สมัครในนามพรรคได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเราคิดว่านี่คือโอกาสและนิมิตหมายอันดีในการที่ร่วมต่อสู้เพื่อความฝันของคนปาตานีจริงๆ 

“การที่จะมีพรรคการเมืองมามอบโอกาสและให้พื้นที่ในการส่งเสียงหรือกำหนดนโยบายทางการเมืองเพื่อคนปาตานีจริงๆ นั้นมีไม่ค่อยมากและไม่บ่อยครั้ง อีกทั้งเป็นพรรคการเมืองที่ยืดหยัดต่อสู้อยู่เคียงข้างฝ่ายประชาธิปไตย รวมถึงการที่พรรคไทยสร้างไทยก้าวข้ามภาพจำหรืออคติทางด้านความแตกต่างหรือแม้กระทั่งภาพจำที่ดูเหมือนจะเป็นภัยต่อความมั่นคงได้นั้น นั่นคือสิ่งที่เรามั่นใจว่าเราสามารถที่จะผลักดันประเด็นวาระของปาตานีได้ในนามพรรคนี้” เลขาธิการ Patani Baru กล่าว

หวังเห็นสันติภาพผ่านการสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่

สุไฮมี กล่าวว่า ปาตานี บารู เป็นภาษามลายูซึ่งมีความหมายว่า ปาตานี ใหม่ สิ่งที่เราพยายามจะสื่อสารผ่านกลุ่มที่เราสร้างขึ้นมาก็คือเราอยากเห็นวัฒนธรรมการต่อสู้ทางการเมืองในแบบใหม่ๆ ที่สามารถสร้างความแตกต่างไปจากเดิมได้ ไม่ว่าจะเป็นการกล้าที่จะพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมืองที่มันกดทับผู้คนอย่างตรงไปตรงมาบนหลักการที่ถูกต้อง การกล้าที่จะเสนอแนะนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้อย่างถูกจุด และที่สำคัญคือการสร้างชุดความคิดว่าการเมืองนั้นสำคัญอย่างไรกับวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่บนหลักการพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตย และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อประเด็นทางการเมือง นั้นคือสิ่งที่เราต้องการอยากจะเห็นและอยากลงมือทำให้เกิดขึ้นจริงๆ 

“เราจะทลายกำแพงชุดความเชื่อที่มีต่อคนในพื้นที่ว่าการเมืองสำหรับคนรุ่นใหม่นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีต้นทุนทางการเมืองหรือเงินในการขับเคลื่อน เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่าการเมืองในแบบที่ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงหรือการพึ่งพาบ้านใหญ่หรือเหล่าคนอาวุโสนั้นมันสามารถเกิดขึ้นได้และจะส่งผลดีอย่างไรต่อเรา อีกทั้งการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ที่หลายๆ คนมองว่าไม่สามารถทำได้ในระบบรัฐสภา ซึ่งเราเชื่อเสมอว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานีนั้นจะยุติลงได้มีเพียงแค่แนวทางทางการเมืองเท่านั้น และรัฐสภาคือกลไกสำคัญที่จะตอบคำถามนี้ ว่าสุดท้ายจะทำได้หรือไม่ได้ ” เลขาธิการ Patani Baru กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับ มูฮัมหมัดอานัส หลงเดวา ผู้สัมภาษณ์/เรียบเรียงรายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานที่กองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net