Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า โอลาฟ โชลซ์ จากพรรคสังคมประชาธิปไตยจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนีถัดจากอังเกลา แมร์เคิลที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาถึง 16 ปี ขณะที่เก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศตกเป็นของอันนาเลนา เบียร์บ็อค จากพรรคกรีน โดยเธอจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ โดยเมื่อปี 2563 พรรคกรีนเคยมี ส.ส. ตั้งกระทู้ถามถึงการเสด็จประทับเยอรมนีของในหลวง ร.10

25 พ.ย. 2564 โอลาฟ โชลซ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในยุคของอังเกลา แมร์เคิล ซึ่งปัจจุบันอายุ 63 ปี จะเป็นผู้นำ(ว่าที่)รัฐบาลชุดใหม่ของเยอรมนีที่เกิดขึ้นจากการจับมือกันของ 3 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคกรีน และพรรคเสรีประชาธิปไตย โดยโชลซ์ระบุว่าในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค “มีสถานะเท่าเทียมกัน” ขณะนี้กำลังรอความเห็นชอบจากสมาชิกของทั้ง 3 พรรค

“เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความเชื่อว่าด้วยความก้าวหน้าและความเชื่อว่าการเมืองสามารถทำให้เกิดสิ่งดีๆ ได้ เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้เจตนารมณ์ในการทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า และรักษาประเทศนี้ไว้ด้วยกัน” โชลซ์กล่าว

โอลาฟ โชลซ์ จากพรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD)
(ภาพจาก Dirk Vorderstraße)
 

สำนักข่าวต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่าโชลซ์จะเข้ามารับช่วงต่อเป็นรัฐบาล ในขณะที่เยอรมนีและยุโรปกำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเยอรมนีที่มียอดสูงเป็นประวัติการณ์ วิกฤติการณ์ที่อยู่อาศัยในเยอรมนี วิกฤติการณ์ผู้ลี้ภัยจากเบลารุส วิกฤติการณ์ที่ชายแดนยูเครน ขณะเดียวกันเขายังต้องแบกรับตำแหน่งผู้นำของภูมิภาคยุโรปไว้โดยพฤตินัย ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในมรดกตกทอดที่แมร์เคิลทิ้งไว้ด้วย   

ในช่วงที่ผ่านมา สื่อในเยอรมันตั้งฉายาให้กับกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ว่าเป็น “พรรคร่วมไฟจราจร” เนื่องจากเกิดจากการรวมตัวกันของพรรคสีแดง (สังคมประชาธิปไตย) พรรคสีเขียว (พรรคกรีน) และพรรคสีเหลือง (พรรคเสรีประชาธิปไตย) หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา พรรคสังคมประชาธิปไตยที่มีอุดมการณ์กลางซ้าย ชนะการเลือกตั้งโดยมีเก้าอี้มากที่สุดในรัฐสภา 206 เสียงจากทั้งหมด 735 ที่นั่ง และเป็นอดีตพรรคร่วมรัฐบาลในสมัยแมร์เคิล

การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ใช้เวลาในการพูดคุยเจรจากันเกือบ 3 เดือนเต็มโดยมีผู้เข้าร่วมเจรจากว่า 300 คน หลังจากการพูดคุยได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 6-9 ธ.ค. นี้ โดยแมร์เคิลจะลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ หลังจากเธอประกาศในช่วงหาเสียงว่าจะไม่ขอลงต่ออีกในสมัยนี้

จากการเลือกตั้งในเดือน ก.ย. ผลออกมาว่าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน หรือ CDU ซึ่งกำลังจะกลายเป็นอดีตพรรคแกนนำรัฐบาล แพ้การเลือกตั้งโดยได้คะแนนเป็นอันดับ 2 มีเก้าอี้ในสภาทั้งหมด 196 ที่นั่ง ขณะที่พรรคกรีน อดีตพรรคฝ่ายค้านที่กำลังจะกลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงเกินความคาดหมายในการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยมีเก้าอี้ในสภาตามมาเป็นอันดับสาม (118 ที่นั่ง)

อำนาจการต่อรองจากเก้าอี้ในสภาของพรรคกรีนส่งผลให้โรเบิร์ต ฮาเบค ผู้นำร่วมพรรคกรีนได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสูง (superministry) ที่จะมีการตั้งขึ้นใหม่เพื่อดูแลการเปลี่ยนเศรษฐกิจให้มีความเป็นกลางทางสภาพอากาศ ส่วนอันนาเลนา เบียร์บ็อค ผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้นำร่วมของพรรคกรีน จะได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของเยอรมนี โดยคาดว่าเก้าอี้นี้จะมีความสำคัญมากขึ้นต่อการกำหนดบทบาทท่าทีของเยอรมนีต่อสหภาพยุโรปและประเทศมหาอำนาจ

โรเบิร์ต ฮาเบค ผู้นำร่วมพรรคกรีน (ภาพจาก Heinrich-Böll-Stiftung)
 
อันนาเลนา เบียร์บ็อค (ภาพจาก Bündnis 90/Die Grünen Nordrhein-Westfalen)
 

เมื่อปี 2563 ส.ส. ของพรรคกรีนเคยตั้งกระทู้ถามในสภาเกี่ยวกับการประทับอยู่ที่เยอรมนีของ ร.10 ขณะที่การประท้วงในประเทศไทยในช่วงดังกล่าวกำลังร้อนระอุ ต่อมารัฐบาลเยอรมนีระบุว่าพระองค์ไม่ควรกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยขณะประทับอยู่เยอรมนี อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบไม่พบหลักฐานว่าพระองค์กระทำการดังกล่าวหรือการอื่นๆ ที่ขัดต่อกฎหมายของเยอรมนี

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานตรงกันว่า ร.10 เสด็จไปประทับที่เยอรมนี โดยรายงานของนิเคอิเอเชียให้ข้อมูลบริบทว่าพระองค์เสด็จประทับเยอรมนีขณะเยอรมนียังไม่มีการสรุปผลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งนี้ ในช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในเดือน ก.ย. พรรคกรีนเคยออกมาวิพากวิจารณ์รัฐบาลของอังเกลา แมร์เคิลเกี่ยวกับท่าทีต่อการเสด็จประทับเยอรมนีของพระองค์

ในการแถลงข่าวร่วมยังคงเป็นการแถลงนโยบายหลักๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยเน้นไปที่ประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ อำนาจอธิปไตยของสหภาพยุโรป และการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคร่วมทั้ง 3 เห็นว่าเป็นจุดร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล

ในการดำเนินนโยบายต่างๆ เหล่านี้ สำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ตั้งข้อสังเกตว่าขึ้นอยู่กับเอกภาพของพรรคร่วม 3 ฝ่าย ขณะที่โชลซ์เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่มีอุดมการณ์ซ้าย-กลาง พรรคกรีนได้คุมกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงสูงที่ตั้งใหม่เพื่อดูแลเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม คริสเตียน ลินด์เนอร์ ผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตยที่มี 92 เก้าอี้ในสภาก็จะได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเช่นกัน และเนื่องจากมีนโยบายการคลังแบบอนุรักษ์นิยมและไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มภาษี ลินด์เนอร์จึงถูกมองว่าอาจเป็น “ผ้าเบรก” ในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลชุดใหม่

สำหรับนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลใหม่เยอรมนี ได้แก่

  • การทำให้เยอรมนีเป็นประเทศเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศภายในปี 2045 โดยเริ่มยกเลิกการใช้ถ่านหินในปี 2030 และบังคับติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาของอาคารพาณิชย์และบ้านส่วนตัวทุกหลัง 16 รัฐในเยอรมนีจะต้องกำหนดให้ 2 เปอร์เซ็นต์ของรัฐเป็นพื้นที่สำหรับการผลิตพลังงานลม และส่งเสริมให้บนถนนของเยอรมนีมีรถไฟฟ้าวิ่งทั้งหมด 15 ล้านคัน
  • เพิ่ม “อำนาจอธิปไตยเชิงยุทธศาสตร์” ของยุโรป เพื่อให้มีความเป็นอิสระในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับพลังงาน ความมั่นคง และประเด็นระหว่างประเทศอื่นๆ มากขึ้น แต่ยังคงความเป็นสมาชิกในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ และการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกาเพื่อความมั่นคงของเยอรมนี
  • นโยบายเพิ่มค่าแรงจาก 10 ยูโรเป็น 12 ยูโรต่อชั่วโมง
  • นโยบายก่อสร้างอาคารชุดใหม่ 400,000 หลังทุกๆ ปี โดย 100,000 หลังจะถูกใช้เป็นบ้านจัดสรรสำหรับประชาชน (social housing) เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติที่อยู่อาศัย (housing crisis)
  • นโยบายลดอายุขั้นต่ำในการใช้สิทธิเลือกตั้งจาก 18 ปีเป็น 16 ปี
  • นโยบายเปิดให้ผู้ย้ายถิ่นสามารถขอสัญชาติเยอรมันได้หากอยู่ครบ 5 ปี
  • นโยบายอนุญาติให้หมอโฆษณาบริการทำแท้งได้ เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและรับทราบเกี่ยวกับวิธีการทำแท้ง โดยไม่ต้องกลัวถูกดำเนินคดีจากการทำแท้งด้วยวิธีผิดกฎหมาย
  • นโยบายเพิ่มโบนัสให้กับเจ้าหน้าที่การแพทย์ด้วยงบประมาณ 1 พันล้านยูโร
  • นโยบายตั้งทีมพิเศษเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  • นโยบายทำให้การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ถูกกฎหมาย

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net