Skip to main content
sharethis

ILO ชี้การตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อ 'ผู้ติดเชื้อเอชไอวี' ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในโลกแห่งการทำงาน ผลสำรวจ 55,000 คน ใน 50 ประเทศ พบเกือบ 4 ใน 10 ระบุว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยตรงกับผู้ไม่ติดเชื้อ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้ติดเชื้อมากที่สุด


ที่มาภาพประกอบ: United Nations Photo (CC BY-NC-ND 2.0)

1 ธ.ค. 2564 กว่า 40 ปีหลังจากการระบาดของโรคเอดส์เริ่มขึ้น การตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวียังคงมีอยู่ จากรายงาน The ILO Global HIV Discrimination in the World of Work Survey ซึ่งเป็นผลงานจากความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และบริษัทสำรวจความคิดเห็น Gallup International ได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสาเหตุของการคงอยู่ในการตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีและการเลือกปฏิบัติในโลกแห่งการทำงาน จากการสำรวจความคิดเห็นผู้คนมากกว่า 55,000 คน ใน 50 ประเทศทั่วโลก

เกือบ 4 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยตรงกับผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี และผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 6 ใน 10 คน ยังสนับสนุนการตรวจเชื้อเอชไอวีภาคบังคับก่อนที่จะรับบุคคลนั้น ๆ เข้ามาทำงาน

ผลการสำรวจนี้เผยให้เห็นว่าทัศนคติที่ตีตราและการเลือกปฏิบัตินั้นเกิดจากการขาดความรู้เกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวีได้อย่างไร ผู้ตอบแบบสอบถามครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) เท่านั้นที่รู้ว่าการใช้ห้องน้ำร่วมกันไม่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีได้ และมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ตอบคำถามอย่างถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวี แสดงให้เห็นถึงมายาคติและความเข้าใจผิดที่ยังคงมีอยู่ และมีส่วนทำให้เกิดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี

ความเข้าใจและทัศนคติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีแตกต่างกันมากในระดับภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีความเข้าใจต่ำที่สุดและมีและทัศนคติเชิงลบมากที่สุด โดยผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ระบุว่าผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีควรได้รับอนุญาตให้ทำงานกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ ตามมาด้วยภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ มีเพียงร้อยละ 42 เท่านั้นที่ระบุว่าผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีควรได้รับอนุญาตให้ทำงานกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ

ส่วนภูมิภาคที่มีทัศนคติเชิงบวกมากที่สุดคือแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ โดยผู้ตอบแบบสอบถามเกือบร้อยละ 90 ระบุว่าควรอนุญาตให้ทำงานโดยตรงกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี 

นอกจากนี้ระดับการศึกษาที่สูงขึ้นยังสัมพันธ์กับทัศนคติเชิงบวกต่อการทำงานร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยเช่นกัน ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นไปร้อยละ 68 เห็นพ้องต้องกันว่าควรอนุญาตให้มีการทำงานโดยตรงกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี เมื่อเทียบกับร้อยละ 39.9 ของผู้ที่ได้รับการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาเท่านั้น

“เป็นเรื่องน่าตกใจที่ 40 ปี ของการแพร่ระบาดของเอชไอวีและเอดส์ มายาและความเข้าใจผิดยังคงแพร่หลายมาก การขาดข้อเท็จจริงพื้นฐานเกี่ยวกับวิธีการแพร่เชื้อเอชไอวีทำให้เกิดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ” ชิดิ คิง หัวหน้าแผนกเพศสภาพ ความเสมอภาค ความหลากหลายและการรวมกลุ่ม (GEDI) ของ ILO กล่าว “การสำรวจครั้งนี้เป็นการกระตุ้นให้มีการฟื้นฟูโครงการป้องกันและการศึกษาเอชไอวีอีกครั้ง โลกแห่งการทำงานมีบทบาทสำคัญ การตีตราและการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานผลักดันให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ความยากจน และบ่อนทำลายเป้าหมายของการทำงานที่ดี”

รายงานฉบับนี้ของ ILO ยังเสนอคำแนะนำหลายประการ ซึ่งรวมถึงการอบรมให้พนักงานในสถานประกอบการต่าง ๆ เข้าใจเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวีเพื่อแก้ไขการตีตราและความเข้าใจผิด รวมทั้งกระตุ้นให้รัฐบาลต่าง ๆ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับเอชไอวีเพื่อปกป้องสิทธิของคนทำงาน ยกเลิกการตรวจเชื้อเอชไอวีในการสมัครงาน ตามข้อแนะว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ในโลกแห่งการทำงาน ค.ศ. 2010 ของ ILO (ฉบับที่ 200) การส่งเสริมการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมและการจัดการกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดที่อาจเกิดขึ้นจากการตีตราและการเลือกปฏิบัติ โดยให้สัตยาบันและดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน ค.ศ.2019 (ฉบับที่ 190) 


ที่มาเรียบเรียงจาก
Stigma and discrimination remain major issues for workers with HIV/AIDS (ILO, 30 November 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net