ฝ่ายค้านอภิปรายหนุนร่าง พ.ร.บ. #ปลดอาวุธคสช. ลงมติสัปดาห์หน้า

พรรคร่วมฝ่ายค้านช่วยกันอภิปรายหนุนร่าง พ.ร.บ. #ปลดอาวุธคสช สะท้อนปัญหาทั้งจากที่ตัวเองเคยโดน คสช.คุมตัวไปไว้ในค่ายทหาร โครงการเขตเศรษฐกิจหลายแห่งที่เกิดขึ้นตามมาจากประกาศ คำสั่งของ คสช.ที่กระทบที่ดินทำกินของประชาชน เช่น ที่จะนะ สงขลา ทั้งนี้หลังการอภิปรายจบปรากฏองค์ประชุมไม่ครบจึงต้องเลื่อนลงมติเป็นการประชุมสัปดาห์หน้า

8 ธ.ค. 2564 วันนี้ (8 ธ.ค. 2564) เวลา 15.45 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภามีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .... ที่จอน อึ๊งภากรณ์และคณะเสนอโดยมีประชาชนลงชื่อร่วม 12,609 คน และร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. .… ที่ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ กับคณะผู้เสนอ

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลเป็นผู้นำเสนอรายละเอียดของ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. .… ของปิยบุตร

สภาเริ่มอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.ทั้งของภาคประชาชนและอนาคตใหม่

รังสิมันต์เริ่มโดยกล่าวว่าแม้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบไปจนทำให้ปิยบุตรที่เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาไม่มีที่นั่งในสภาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลก็ยังคงมีความต้องการที่อยากจะเห็นการขจัดมรดก คสช.ยังคงมีอยู่และขัดขวางอำนาจของประชาชน

รังสิมันต์กล่าวถึงหลักการของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าคือกฎหมายที่จะยกเลิกประกาศคำสั่งต่างๆ ของ คสช.ที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม ด้วยเหตุผลคือคณะนายทหาร คสช.ที่นำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชาที่เป็นผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้นทำรัฐประหารแล้วยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์และออกประกาศ คำสั่ง คสช.ออกมาและเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 2557 หัวหน้า คสช.ก็มีอำนาจในการออกคำสั่งได้อีกตามมาตรา 44 และยังถูกรับรองไว้ให้ประกาศคำสั่งต่างๆ ที่ออกมาในช่วงเวลานั้นเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งในฉบับชั่วคราวและฉบับ 2560 มาตรา 279 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีรการออกประกาศ คำสั่งและคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวนมากที่มีเนื้อหาเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดหลักนิติธรรมและวามยุติธรรม ขัดหลักรัฐธรรมนูญโดยตัวมันเอง แต่ประกาศคำสั่งเหล่านี้ไม่มีทางขัดกฎหมายและรัฐธรรมนูญได้เลย

แม้ว่า คสช.จะได้ออกประกาศมายกเลิกประกาศ คำสั่งและคำสั่งหัวหน้า คสช.ไปแล้วจำนวนหนึ่งแต่ก็ยังคงเหลืออีกจำนวนมากที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดหลักนิติธรรม และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิทธิเสรีภาพและขัดกับหลักประชาธิปไตย ในขณะที่ไทยกำลังเข้าสุ่ระบบปกติโดยมีการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะคงประกาศและคำสั่งเหล่านี้ไว้เพื่อให้ประเทศไทยได้กลับมาเป้นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงต้องร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา

รังสิมันต์อธิบายต่อว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในเนื้อหาจะมีการยกเลิกประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวน 17 ฉบับ ได้แก่

1. ประกาศ คสช. ที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง

2. ประกาศ คสช. เฉพาะ ที่ 25/2557 เรื่อง ให้มารายงานตัว หรือแจ้งเหตุขัดข้อง

3. ประกาศ คสช. ที่ 26/2557 เรื่อง การดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์

4. ประกาศ คสช. ที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

5. ประกาศ คสช. ที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลเข้ามารายงานตัวเป็นความผิด

6. ประกาศ คสช. ที่ 49/2557 เรื่อง ความผิดสำหรับการสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง

7. คำสังหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ

8. คำสังหัวหน้า คสช. ที่ 4/2558 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยส่วนรวม

9. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2558 เรื่อง แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ครั้งที่ 3/2558

10. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

11. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง. และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

12. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท

13. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

14. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

15. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 74/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558

16. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 เรื่องมาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

17. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 31/2560 เรื่อง การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ

รังสิมันต์กล่าวว่าที่ต้องการยกเลิกประกาศ และคำสั่งทั้ง 17 ฉบับนี้ยังคงมีผลบังคับใช้ แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแต่มีนาคม 2562 สิ่งแรกที่สภาแห่งนี้ควรจะทำคือการขจัดมรดกคณะรัฐประหาร จึงเป็นเหตุผลที่พรรคอนาคตใหม่ในเวลานั้นต้องการที่จะยกเลิกประกาศ คำสั่ง ของคสช. แต่ก็แน่นอนว่าไม่สามารถทำได้ทั้งหมดเพราะว่าประกาศและคำสั่งของ คสช.จำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการบริหารแผ่นดินหากยกเลิกทั้งหมดจะเกิดความวุ่นวายในระบบกฎหมายจำนวนมากจึงเป็นเหตุผลที่เรามุ่งเน้นไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมและเสนอร่างนี้

เขากล่าวต่อว่าเวลาผ่านมาแล้ว 2 ปีกว่าเพิ่งได้พิจารณาร่างตัวนี้เป้นเรื่องน่าเศร้าที่สภาที่มาจากการเลือกตั้งกลับพิจารณาการยกเลิกประกาศ คำสั่งของคณะรัฐประหารที่ทำหลายสิทธิมนุษชนและนิติธรรมที่เป้นหัวใจของประชาชน

นับตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 นำมาซึ่งปัญหาหลายอย่างในเวลานั้นและมีผลถึงวันนี้ ทั้งการสลายการชุมนุมโดยอาศัยอำนาจตามประกาศ คสช.ที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และควบคุมตัวประชาชนทั้งที่บางคนแค่ต้องการจัดกินแซนด์วิช อาจจะมีเจตนาเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร แต่การรวมตัวกินแซนด์ชวิชครั้งนั้นคนที่เข้าร่วมก็ถูกนำตัวไปปรับทัศนคติและเซน MOU ว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีกนอกจากนั้นยังมีตำรวจทหารเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไปเยี่ยมเยือนคนที่ร่วมเพื่อถามว่ายังไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองอีกหรือไม่

รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นการรัฐประหารครั้งนั้นยังนำไปสู่การปิดกั้นสื่อมวลชนไม่ให้รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนทราบอีกทั้งยังมีสื่อมวลชนบางส่วนถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคคิ

“เราอาจจะรู้สึกว่ามีสื่อมวลชนไม่กี่กลุ่มไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่สื่อมวลชนไม่สามารถรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมาผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับสื่อมวลชนหรือคนที่ติดตามการเมืองอยู่เป็นนิจ แต่ผลกระทบยังเกิดขึ้นกับประชาชนทุกคน เพราะเราไม่มีเสรีภาพที่จะรับข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา”

“ผมยังจำได้ว่ามีเพื่อ ส.ส.หลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกปรับทัศนคติ เป็นเรื่องน่าเศร้าที่วันนี้เราอาจจะพิจารณาช้าแล้ว แต่ผมยังทราบว่ามีความพยายามที่จะทำให้ร่างนี้ตกไป โดยการไม่โหวตรับ ผมก็พยายามมองหน้าคนที่เคยได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร ท่านจะใจดำขนาดนั้นจริงๆ เหรอครับ ท่านจะไม่สนับสนุนร่างฉบับนี้จริงๆ เหรอครับทั้งที่ครั้งหนึ่งตัวท่านเองรู้อยู่แก่ใจว่าได้รับผลกระทบจากคำสั่ง หรือประกาศของหัวหน้า คสช.อย่างมาก” ส.ส.ก้าวไกลกล่าวถึงการเรียกคนไปปรับทัศนคติของ คสช. ที่ในช่วงเวลานั้นมีนักการเมืองจากหลายพรรคถูกเรียกตัวไป

รังสิมันต์กล่าวว่า คสช.ยังได้ออกนโยบายทวงคืนผืนป่าไม่มีประชาชนได้เข้ามาส่วรรวมและมีจำนวนมากที่ถูกขับไล่และเสียสิทธิในการมีที่อยู่อาศัย ผลกระทบยังคงมีอยู่จนถึงวันนี้ และยังมีการแก้ไขผังเมืองที่ทำให้นายทุนที่สนับสนุนคณะรัฐประหารได้ประโยชน์ แต่กลับเป้นการทำลายสภาพแวดล้อมที่ดีที่ประชาชนควรจได้รับในการอยู่อาศัย

รังสิมันต์กล่าวถึงผู้ที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองเนื่องจากการรัฐประหารของ คสช.ด้วยทั้งที่พวกเขาแค่ต้องการเห้นประเทศดีขึ้นและผู้ลี้ภัยบางคนก็อาจเป็นคนรู้จักของ ส.ส.ที่กำลังจะโหวตไม่รับร่างพ.ร.บ.นี้ด้วย ซึ่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้บางคนก็อาจจะโชคดีที่ได้ลี้ภัยไปประเทศที่สาม แต่บางคนกลับต้องเสียชีวิตหรือสูญหาย

“หลังพวกเขาเสียชีวิตร่างกายไปโยนลงแม่น้ำโขงอัดแท่งปูนในร่างเพื่อทวงน้ำปกปิดสิ่งที่เกิดขึ้น สร้างความสะเทือนใจให้กับครอบครัว เป็นฝันร้ายที่จะต้องจินตนาการตลอดเวลาว่าก่อนที่พวกเขาเสียชีวิตต้องทรมานขนาดไหน”

นอกจากนั้นการรัฐประหารครั้งนั้นยังทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ รัฐธรรมนูญที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจาก คสช. แล้วกลายเป้นปัญหาเรื้อรัง จึงเป้นเหตุผลว่าสภาแห่งนี้จึงจำเป้นต้องพิจารณายกเลิกประกาศ คำสั่งและคำสั่งหัวหน้า คสช. รวม 17 ฉบับ แม้ว่าฉบับของปิยบุตรอาจแตกต่างกันบ้างกับของภาคประชาชน แต่เขาก็เชื่อว่าสภาสามารถนำมารวมกันพิจารณาแล้วก็ยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช. ไปในคราวเดียวกันได้

“หลายท่านอาจรู้สึกว่าคสช.ไม่อยู่กับเราแล้ว นับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง คสช.ไปแล้ว แต่ผมอยากจะเตือนสติท่านประธานว่า เวลาพูดถึง คสช. เราไมได้พูดถึงคนที่ไปทำรัฐประหารเท่านั้น เราไม่ได้พูดถึง คสช.ที่มายึดอำนาจเท่านั้น แต่เรากำลังพูดถึง คสช.ในระบบกฎหมายของพวกเขาที่ทิ้งเอาไว้ในระบบกฎหมายปัจจุบัน แล้วระบบกฎหมายที่พวกเขาทิ้งเอาไว้แบบนี้ส่งผลกระทบต่อพี่อน้องอีกจำนวนมาก”

“ตัวผมเองปัจจุบัยังมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับ คสช.อีกอย่างน้อย 6 คดี ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าบรรดากฎหมาย ซากเดนต่างๆ ที่เขาเล่นงานผมไว้จะเอาผมออกจากตำแหน่งและทำให้ผมไม่สามารถพูดแทนประชาชนได้อีกต่อไป ผมไม่มีทางรู้”

รังสิมันต์กล่าวอีกว่าเขาอยากขอเตือนสติสมาชิกสภาทุกคนว่า “ถ้ายังมีสามัญสำนึก ถ้ายังจำความเจ็บปวดที่เคยได้รับ วันนี้เราคือเพื่อนกันที่จะยกเลิกบรรดาคำสั่ง คสช.และผมเชื่อว่าการยกเลิกคำสั่ง คสช.จะเป็นก้าวแรกของการออกจากประตูของความขัดแย้งและสร้างระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หัวใจของ คสช.ไม่ใช่แค่ คสช.แต่คือประกาศ คำสั่งของ คสช.ที่ทิ้งเอาไว้”

รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 จะรับรองประกาศ คำสั่งเหล่านี้ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้อำนาจอยู่ในมืออยู่ที่เพื่อนสมาชิกในสภาว่าจะทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ อยากจะขอให้ช่วยกันยกเลิกประกาศคำสั่งเหล่านี้ ออกจากทางตันออกจากปัญหาและไม่กลับไปสู่วัฏจักรของการรัฐประหารแบบในอดีตที่ผ่านมา

ทั้งนี้ภายหลังการชี้แจงของรังสิมันต์เสร็จสิ้น ส.ส.ที่ลุกขึ้นอภิปรายโดยส่วนใหญ่เป็นของพรรคฝ่ายร่วมฝ่ายค้านที่อภิปรายแสดงความเห็นสนับสนุนร่างกฎหมายทั้งของภาคประชาชนและของปิยบุตรที่นำเสนอต่อสภาในวันนี้

วิรัชต์ วรศสิริน ส.ส.บัยชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายสนับสนุนร่าง พรบ ยกเลิกประกาศคำสั่งนี้ว่า ม.44 เป็นการใช้อำนาจเผด็จการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเขาเห็นว่าประกาศ คำสั่งเหล่านี้เป็นการใช้อำนาจตามแต่ใจตัวเอง อีกทั้งยังขัดต่อดสิทธิมนุษชน

ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนว่า กฎหมายเกิดขึ้นมาเพื่อความยุติธรรมและทุกคนได้รับประโยชน์จากกฎหมาย แต่คำสั่ง คสช.ที่ออกมามุ่งสนับสวนุนผู้มีอำนาจและรักษาอำนาจให้คนกลุ่มหนึ่งอยุ่ในอำนาจและกดทับอีกกลุ่มหนึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษชน

“อาชญาการไม่ใช่หมายความถึงผู้ที่กระทำที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดเท่านั้น แต่หมายถึงผู้บงการให้เกิดเกิดกฎหมาย ตัวกฎหมาย ผู้จัดทำกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เพราะถ้ากฎหมายฉบับนั้นเกิดมาเพื่อเป็นสมบัติส่วนตัวของคนบางคนแล้วต้องการให้คนอีกกลุ่มหนึ่งต้องอยู่ภายใต้อำนาจ สังคมใดบังคับให้คนทุกคนยอมทำตาม สังคมนั้นเป็นสังคมเผด็จการ” ทวียังกล่าวอีกว่ามาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช.ไว้ก็เหมือนกับมาตรา 17 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2502ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์คือเกิดมาเพื่อปราบปรามการบ่อนทำลายความมั่นคงในราชอาณาจักรแล้วก็เกี่ยวกับเศรษฐกิจสังคมซึ่งในสมัยนั้นมีการประหารชีวิตคนไป 76 คน แล้วก็ทำให้คนติดคุกไปร้อยกว่าคน

ทวีได้ยกตัวอย่างเช่นการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 47/2560 เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไปเปลี่ยนผังเมือง และเขาได้ยกตัวอย่างของรองนายกรัฐมนตรีสมัย คสช. ว่าก่อนที่รองนายกรัฐมนตรีคนนี้จะเข้ามารับตำแหน่งเคยเป็นประธานบริษัทแห่งหนึ่งมาก่อนแต่ก็ออกจากตำแหน่งมารับตำแหน่งรองนายกฯ หลังเกิดการรัฐประหาร และเมื่อคำสั่งฉบับนี้ของ คสช. ออกมาที่มีการเปลี่ยนบางพื้นที่ให้กลายเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ส่งผลให้ราคาที่ดินของบริษัทที่รองนายกฯ เคยเป็นประธานอยู่พุ่งขึ้นทันทีรวมแล้วกว่า 2 แสนล้านบาทจากเดิมที่ซื้อมาเพียงไม่กี่ล้าน

ทวีกล่าวอีกว่า คสช.ยังมีการออกคำสั่งให้ยกเลิกสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. ทั้งที่สภาที่ปรึกษามีทั้งตัวแทนภาครัฐและประชาชน แต่เมื่อเกิดกรณีเช่น จะนะ แล้วก็มีการตั้งกรรมการยุทศาสตร์ที่มาจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในหรือมาจากทางหัวหน้า คสช. เป็นส่วนใหญ่ เมื่อโครงการพัฒนาจะนะออกมาในช่วงรัฐบาล คสช.ก็ไม่ได้เกิดจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่

“ตัวอย่างที่เป็นการสร้างความร่ำรวยให้กับพวกพ้องแล้วยังปรากฏอยู่ คำสั่งดังกล่าวนอกจากจะพรากชีวิตคนให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว ยังพรากชีวิตของคนในชนบทให้ออกจากชนบทเพื่อไม่ให้มีที่อยู่แล้วเอาทรัพย์สินไปให้ผู้มีฐานะร่ำรวย รวยแล้วรวยอีก” ทวีย้ำถึงความจะเป็นที่จะต้องลงมติรับร่างกฎหมายที่นำเสนอครั้งนี้

ส.ส.ฝ่ายค้านที่ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก ประกาศคำสั่ง คสช.ฯ บางคนได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ตนเคยถูก คสช.ควบคุมตัว เช่น นิยม เวชกามา ส.ส.เขตพรรคเพื่อไทยสกลนคร เขต 2 ที่เคยถูก คสช.เรียกรายงานตัว

“พอออกคำสั่ง พวกผมกลายเป็นอดีต ส.ส.ทันที แล้วต้องไปรายงานตัวต่อกองทหารในจังหวัดนั้นๆ คนที่มาควบคุมตัว อย่าพูดว่าเชิญเลยมันดีเกินไปของผมเป็นสิบตรีสิบโทให้ไปรายงานตัวที่กรมทหารกับ ผบ.จังหวัด”นิยมเล่าถึงตอนตัวเองถูกเรียกรายงานตัวและยังพูดถึงเพื่อน ส.ส.ที่เคยต้องไปถูกคุมตัวในค่ายทหารถึง 7 วันอีกด้วย

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจังหวัดเชียงใหม่ เขต 1 ยังเล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกควบคุมตัวไปค่ายทหารจากการส่งจดหมายรณรงค์ชี้ปัญหาร่างรัฐธรรมนูญที่มีการทำประชามติเมื่อ 2559 ซึ่งเป็นผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากการรัฐประหารของ คสช.

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์

“ดิฉันเพียงแค่แสดงความคิดเห็นในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง แต่ฉันถูกประกาศ คสช.ที่ทำกับดิฉันที่เป็นผู้หญิงคนเดียวนี่แหละค่ะ ถูกเอาไปเข้าค่ายทหาร 7 วัน สอบสวนอยู่ 7 วัน ปิดหูปิดตามัดมือดิฉัน เหมือนเป็นการข่มขู่ให้เกิดความกลัวอันนี้เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง” ทัศนีย์กล่าว

สงวน พงษ์มณี ส.ส.เขต พรรคเพื่อไทย ลำพูน ขึ้นอภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ แต่เขาก็มองว่าร่างกฎหมายนี้จะไม่สามารถยกเลิกได้ในอายุสภาสมัยนี้เพราะเขาเห็นว่าที่ผ่านมาอย่างเช่นการผ่านกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่เพิ่งผ่านสภาไปก็ไม่ได้มีการยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษา หรือแม้กระทั่งคำสั่งให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดมียศเป็นพันเอกพิเศษหมด ซึ่งประกาศคำสั่งเหล่านี้ที่ออกมาได้ละเมิดสาระสำคัญแห่งสิทธิแต่ปัจจุบันก็ยังคงอยู่

สงวนเห็นว่าแม้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับอาจจะไม่ผ่านสภในครั้งนี้แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปประชาชนก็จะเลือกพรรคการเมืองที่หาเสียงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญและยกเลิกประกาศคำสั่งของ คสช.

ภายหลังจากส.ส.ที่แสดงความจำนงได้อภิปรายจนครบแล้ว เวลา 20.04 น. สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1ทำหน้าที่ประธานสภาได้ถามที่ประชุมว่าจะให้ลงมติวันนี้เลยหรือไม่หรือให้ลงมติในการปะชุมคราวถัดไปเนื่องจากตัวแทนวิปรัฐบาลขอให้เลื่อนออกไป แต่ตัวแทนวิปฝ่ายขอให้ลงมติในวันนี้(8 ธ.ค.) เขาจึงแจ้งว่าจะให้ลงมติวันนี้หากองค์ประชุมครบ

ประธานสภาจึงกดสัญญาณเรียกส.ส.เข้าห้องประชุมเพื่อแสดงตน อย่างไรก็ตามผลปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ "ไม่รอแสดงตนแล้วครับ ปิดการแสดงตนครับ ประธานไม่ได้ชิงปิดประชุมห้ามกล่าวหานะครับ วันนี้ขอปิดประชุม และลงมติในคราวถัดไป"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท