Skip to main content
sharethis

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จี้ 'ประยุทธ์-ส.ส.รัฐบาล' เข้าประชุม แก้ปัญหาสภาล่ม ผิดหวัง ส.ส.รัฐบาลย้อนแย้ง ทำร่างกฎหมายปลดอาวุธ คสช.ถูกตีตกวาระแรก


ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย | แฟ้มภาพพรรคเพื่อไทย

19 ธ.ค. 2564 Voice online รายงานว่าที่พรรคเพื่อไทย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวประจำสัปดาห์ ใน 2 ประเด็นหลักที่สำคัญคือ (1) ปัญหา 'สภาล่ม' กับ (2) ปัญหาการประเมินตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. 

กรณี 'สภาล่ม' ยุทธพงศ์ ระบุว่าได้รวบรวมสติตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ สืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้งปี 2562 ถึงปัจจุบันพบว่าสภาล่มมาแล้ว 14 ครั้ง สมัยการประชุมล่าสุดคือ สมัยที่ 2/2564 ตั้งแต่ วันที่ 21 พ.ย. 2564 ถึง 28 ก.พ. 2565 นั้น 'สภาล่ม' ไปแล้ว 4 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 3 พ.ย., วันที่ 17 พ.ย., วันที่ 15 และวันที่ 17 ธ.ค. 2564

โดยเห็นว่า สาเหตุเกิดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ให้ความสำคัญในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ยอมมาตอบกระทู้ เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือไม่ได้มาจาก ส.ส.อย่างเดียวแต่มี ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ให้ความสำคัญกลับงานสภาฯ และมักให้รัฐมนตรีมาตอบกระทู้แทน

"เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งรัฐมนตรีเองซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ด้วย ก็แทบไม่มาตอบกระทู้ที่ ส.ส.ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี หรือไม่ให้ความสำคัญกับสภาฯ ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมทั้ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเอง และปัญหาจากความขัดแย้งภายในพรรคแกนนำรัฐบาล จึงทำให้ 'สภาล่ม' หลายครั้งด้วย ดังนั้น ทางแก้ไขคือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องให้ความสำคัญกับการประชุมสภาและ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลต้องให้ความร่วมมือ" ยุทธพงศ์กล่าว

ยุทธพงศ์ ระบุด้วยว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมให้ความร่วมมือการประชุมสภาฯ อย่างเต็มที่ โดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต้องร่วมมือด้วย แต่ที่ผ่านมาและล่าสุดวันที่ 15 ธ.ค. 2564 มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐไม่เข้าประชุม 19 คน มีวาระการอภิปรายร่างกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.และหัวหน้า คสช. ที่ขัดสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนรวบรวมรายชื่อเสนอเข้าสภาฯ

"ขณะที่อภิปรายในสภาฯ ทุกคนเห็นด้วยว่าควรยกเลิก หรือล้วนแต่รับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อลงมติกลับ 'ตีตก' ไม่รับหลักการ หรือคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่วาระแรก" ยุทธพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ ยุทธพงศ์ยังกล่าวถึง นพร สมศรี เลขาธิการ สกสค.ที่ถูกแต่งตั้งและทำสัญญาจ้างในสมัยที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติ เนื่องจากไม่ได้ทำงานในกระทรวงศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี และไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ

"เนื่องจากเรียนจบคณะเกษตรศาสตร์มา อีกทั้งชนะคู่แข่งซึ่งจบปริญญาโท เคยทำงานในหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษามาก่อน ถือว่าไม่มีคุณสมบัติ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาแล้ว และตนได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไว้ (ป.ป.ช.) ไว้ตั้งแต่ต้นปีนี้ 2564" ยุทธพงศ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net