Skip to main content
sharethis

นักฟุตบอลในลีกจีนกำลังเผชิญปัญหาทีมสโมสรค้างจ่ายค่าจ้าง หลายฝ่ายเชียร์ถึงเวลาแล้วที่ต้องมี 'สหภาพแรงงานนักฟุตบอล'


ที่มาภาพ: China Labour Bulletin (CLB)

20 ธ.ค. 2564 สื่อ China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีนเปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมา นักฟุตบอลที่ทำการแข่งขันฟุตบอลภายในลีกของประเทศจีน กำลังเผชิญกับปัญหาทีมสโมสรค้างจ่ายค่าจ้างให้แก่พวกเขา

เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2564 นักฟุตบอล 27 คน จากสโมสรกุ้ยโจว เฮงเฟง (Guizhou Hengfeng) ใน Professional League One ซึ่งเป็นลีกการแข่งขันระดับล่างถัดจาก Chinese Super League ได้โพสต์แถลงการณ์ 'ค่าจ้าง 2 ปีที่ค้างชำระ สโมสรให้คำมั่นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทุกครั้งก็ผิดสัญญา' บนโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ CLB ระบุว่าการค้างค่าจ้างส่งผลกระทบต่อฟุตบอลอาชีพในประเทศจีนมานาน

ในแถลงการณ์กลุ่มนักฟุตบอลอธิบายว่าสโมสรค้างค่าจ้างพวกเขามานับตั้งแต่ปี 2562 โดยสื่อในประเทศจีนได้รายงานตัวเลขค้างจ่ายย้อนหลังของสโมสรกุ้ยโจว เฮงเฟง ที่ค้างจ่ายทั้งนักฟุตบอล โค้ช และเจ้าหน้าที่รวมเกือบ 100 ล้านหยวน (ประมาณ 526 ล้านบาท)


แถลงการณ์ที่ลงชื่อนักฟุตบอล 27 คน ของทีมกุ้ยโจว เฮงเฟง ที่โพสต์ใน Weibo | ที่มาภาพ: China Labour Bulletin (CLB)

CLB ยังระบุว่าการค้างค่าจ้างให้แก่นักฟุตบอลไม่ได้มีแค่สโมสรกุ้ยโจว เฮงเฟง และลีกฟุตบอลอาชีพในระดับล่างเท่านั้น เพราะแม้แต่ Chinese Super League ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาที่นักกีฬาที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ ทีมแชมป์ 8 สมัยอย่างกวางโจว เอฟซี (Guangzhou FC) และแชมป์ในปี 2563 อย่างเจียงซู ซูหนิง (Jiangsu Suning) ก็เคยค้างค่าจ้างให้กับผู้เล่นของตนมาแล้ว จากการประมาณการของสื่อกีฬาในจีน ประเมินว่ามีทีมใน Chinese Super League ประมาณ 5-8 ทีมกำลังเผชิญปัญหาการค้างจ่ายค่าจ้างให้แก่นักฟุตบอล

สำหรับฟุตบอลอาชีพในประเทศจีน การค้างจ่ายค่าจ้างให้แก่นักฟุตบอลเริ่มแพร่หลายมากขึ้น จนแฟนฟุตบอลตั้งคำถามว่าจะมีการแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่ ทั้งนี้มีเสียงเรียกร้องให้มีการตั้งสหภาพแรงงานนักฟุตบอล รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายแรงงานให้ครอบคลุมแก่อาชีพนักฟุตบอลด้วย 

เพราะการแก้ไขปัญหานี้ดูเหมือนจะมีแต่ความล่าช้าสำหรับนักฟุตบอลจีน ตัวอย่างเช่นในเดือน ก.ค. 2564 หรง ห่าว นักฟุตบอลชื่อดังจากทีมเทียนจิน จินเหมิน ไทเกอร์ส (Tianjin Jinmen Tigers) ตั้งข้อสังเกตว่า FIFA เข้าแทรกแซงอย่างรวดเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาการค้างค่างจ้างให้แก่อูลี่ สไตลค์ เฮดโค้ชของเทียนจิน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ แต่ผู้เล่นของเทียนจินซึ่งยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการและสมาคมฟุตบอลจีนให้แก้ไขปัญหาแก่พวกเขา กระบวนการต่าง ๆ กลับล่าช้ากว่ามาก


หรง ห่าว เคยโพสต์สถานการณ์ภายในทีมเทียนจิน จินเหมิน ไทเกอร์ส ไว้ใน Weibo แต่ปัจจุบันโพสต์นี้ถูกลบไปแล้ว | ที่มาภาพ: China Labour Bulletin (CLB)

ซุน จิไห่ อดีตนักฟุตบอลชื่อดังของจีน ผู้ซึ่งเคยเผชิญกับปัญหาการค้างจ่ายค่าจ้างมาก่อน ชี้ให้เห็นว่าสหภาพแรงงานและการบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างเข้มงวดสามารถปกป้องนักกีฬาได้ เพราะซุนเคยมีประสบการณ์ถูกสโมสรค้างจ่ายค่าจ้างในขณะที่ค้าแข้งในประเทศอังกฤษ แต่ด้วยการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานของอังกฤษ และสมาคมนักฟุตบอลอาชีพ (สหภาพแรงงานนักฟุตบอลของอังกฤษ) ที่ทรงอิทธิพลในวงการฟุตบอล ท้ายสุดเขาก็ได้รับค่าจ้างก้อนนั้น 

ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อในประเทศของจีน ซุนอธิบายว่าแม้ปัญหาการค้างจ่ายค่าจ้างให้นักฟุตบอลในจีนยัง "ไม่ได้รับการแก้ไข" แต่ในอังกฤษทีมต่าง ๆ ต่างปฏิบัติตาม "แนวทางทางกฎหมาย" เพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องค่าจ้าง

CLB ชี้ว่าปัจจุบัน นักกีฬา แฟนกีฬา และสื่อของจีนต่างก็สนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และการบังคับใช้กฎหมายแรงงานให้มากขึ้น แม้แต่สำนักข่าวของรัฐบาลอย่างซินหัว ก็สนับสนุนสหภาพกีฬาอาชีพในประเทศจีน โดยระบุว่า "ควรจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อสนับสนุนสิทธิและผลประโยชน์ของนักกีฬา" CLB ทิ้งท้ายว่าฟุตบอลโลกปี 2022 ที่กาตาร์กำลังจะมาถึง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานสำหรับนักกีฬา และบังคับใช้กฎหมายแรงงานเพื่อปกป้องนักกีฬาของจีน 


ที่มาเรียบเรียงจาก
China’s top footballers go public over wage arrears (China Labour Bulletin, 18 November 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net