เหตุไฉนการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งอธิการบดี ถึงกลายเป็นความผิดวินัยในบางมหา’ลัยได้?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยจะรับรองสิทธิ์การรวมตัวของประชาชนชาวไทยในการแสดงออกทางเสรีภาพ แต่เรื่องที่น่าเหลือเชื่อของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็คือ การออกข้อบังคับที่น่าสงสัยว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ข้อ 4 ระบุว่า

“ในการเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีทุกขั้นตอนให้ใช้วิธีปรึกษาหารือ และมิให้ดำเนินการโดยวิธีเลือกตั้งหรือหยั่งเสียง หากปรากฏหลักฐานว่าผู้สมัครหรือผู้ถูกเสนอชื่อรายใดสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือยอมรับวิธีการเลือกตั้งหรือหยั่งเสียง ให้คณะกรรมการตัดชื่อออกจากกระบวนการสรรหา และถ้ามีผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยร่วมดำเนินการหรือสนับสนุนก็ให้ถือว่ามีความผิดทางวินัย”[1]

มีคนไม่น้อยเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลนี้จนนำไปสู่การทำหนังสือยื่นไปยังประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอให้ยกเลิกข้อบังคับเรื่องการสรรหา และให้มีกระบวนการหยั่งเสียงเลือกอธิการบดีคนใหม่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 และให้เหตุผลว่าข้อบังคับดังกล่าว

“มีเนื้อหาขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้การกำหนดบทลงโทษต่อผู้ที่ฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวก็ปราศจากความชอบธรรม ไม่มีหลักการใด ๆ รองรับ และอาจพิจารณาได้ว่าเป็นการออกข้อบังคับที่มุ่งแต่จะรักษาอำนาจของบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น”[2]

แบบนี้หมายความว่า มันคือการออกระเบียบที่ขัดหลักการกับกฎหมายสูงสุดหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม เรื่องทำนองนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียว มหาวิทยาลัยที่ “ออกนอกระบบ” จากระบบราชการไปสู่สถานะ “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” จำนวนหนึ่งได้เขียนพระราชบัญญัติขึ้นมาเพื่อปรับสถานะของตนให้มีลักษณะใกล้เคียงกับเอกชน แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาพยายามรักษาข้อได้เปรียบของผู้บริหารในระบบราชการอยู่ เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ มาตราที่ว่าด้วยการปฏิเสธการผูกพันตัวเองว่าไม่นับอยู่ใน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ดังที่เห็นได้จาก พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551 มาตรา 14 ที่เขียนไว้ว่า

“กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ในฐานะข้าราชการบํานาญแล้วให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะประกันตนด้วยความสมัครใจ” [3]

ความหมายของกรณีนี้คืออะไร กฎหมายดังกล่าวคุ้มครองแรงงานในภาคเอกชน และเอื้อให้แรงงานในสถานประกอบการสามารถรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ในกฎหมายแรงงานได้ยกเว้นใช้กับหน่วยงานราชการ เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปมีสถานะคล้ายเอกชน ก็ต้องเขียนกฎหมายปิดช่องทางตรงนี้ไว้ด้วย

หลายคนไม่ทราบว่า ปัจจุบันอาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการอีกต่อแล้ว ข้าราชการที่หลงเหลืออยู่คือ คนในระบบเก่าที่หลงเหลือตกค้างมาเท่านั้น พวกเขาคือ แรงงานที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม สัญญาจ้างก็ต่างกันไปตามแหล่งจ้าง บางแห่งจ้างถึง 60 ปี บางแห่งจ้างด้วยสัญญาระยะสั้น ถึงจะจ้างระยะยาวแต่ตอนหมดสัญญาก็ไม่ได้มีการันตีบำเหน็จบำนาญอย่างข้าราชการ

โดยสรุป สภาพการจ้างงานของพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น มีสถานภาพแทบไม่ต่างจากพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยุติธรรมอย่างยิ่งหากมหาวิทยาลัยพยายามใช้กรงขังแบบระบบราชการ  นั่นคือ การเน้นการสั่งการแบบบนลงล่าง มองตัวเองคือ หน่วยงานราชการระดับกรม ประชาคมในมหาวิทยาลัยคือ ลูกน้องผู้บังคับบัญชา แต่กลายเป็นแรงงานที่มีสัญญาจ้างที่ไม่มั่นคง นั่นยิ่งทำให้การคาดโทษและการลงทัณฑ์มีผลต่อการใช้ชีวิตของแรงงานมหาลัยเช่นกัน

การที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐได้รับเงินภาษีมหาศาลเพื่อใช้ในการบริหารมหาวิทยาลัย กลับอยู่ในสถานภาพที่การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจแทบจะเป็นอัมพาต เช่นเดียวกับหน่วยงานราชการทั่วไป ดังที่เราเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆว่า สภามหาวิทยาลัยที่เป็นองค์กรบริหารที่สำคัญที่สุดในมหาวิทยาลัย เทียบได้กับรัฐสภาของประเทศ มีลักษณะเป็น “สภาเกาหลัง” ก็เนื่องจาก ระบบการสรรหาคณบดี และนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นระบบปิดที่เอื้อต่อการเลือกกันเอง เช่น การเลือกอธิการบดี แม้ว่าจะมีการยอมให้ประชาคมลงคะแนนเสียง แต่ผลไม่ได้จบลงที่นั่น จะเอาผู้ได้รับคะแนนที่มีสัดส่วนตามเกณฑ์เข้าไปให้สภามหาวิทยาลัยเลือกอีกที และภายในสภามหาวิทยาลัยก็ประกอบด้วยกรรมการที่พบว่ามีสัดส่วนมาจากการเลือกตั้งจากประชาคมน้อยกว่ามาก กรณีที่มีสัดส่วนมากที่สุดที่มหาวิทยาลัยมหิดล (ดูจากตารางที่ 1) ก็ยังมีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง กรรมการที่เหลือคือ กรรมการที่ถูกเลือกสรรมาจากอธิการบดี และนายกสภามหาวิทยาลัย ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะคานอำนาจ หรือเปลี่ยนดุลอำนาจเป็นไปได้ยากยิ่ง

 

ตารางที่1 แสดงจำนวนและตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัย

(ในวงเล็บคือจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด)

จำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัย แยกตามประเภท

(ไม่รวมนายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี)

จำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

(ในวงเล็บคือสัดส่วนจากทั้งหมด)

ผู้ทรงคุณวุฒิ แต่งตั้งจากบุคคล

ภายนอก

ประธานสภาคณาจารย์หรือประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยหรือเทียบเท่า

จากผู้บริหารและหัวหน้างานและตำแหน่งพิเศษอื่นๆ

จากคณาจารย์ประจำ

จากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่อาจารย์

ม.มหิดล (30)[4]

15

1

1

10

1

12 (40%)

จุฬาลงกรณ์ฯ (30)[5]

15

1

1

10

1

11 (36.67%)

ม.รามคำแหง (25)[6]

7

1

8

6

1

7 (28%)

ม.ราชเทคโนโลยีราชมงคล (29)[7]

14

1

6

6

-

7 (24.14%)

ม.เทคโนโลยีสุรนารี (20-23)[8]

9-12

-

4

5

-

5 (21.74-25%)

ม.ราชภัฏ (23)[9]

11

1

5

4

-

5 (21.74%)

ม.สงขลานครินทร์ (33)[10]

15

2

9

4

1

5 (15.15%)

ม.เชียงใหม่ (27) [11]

15

1

5

3

1

4 (14.81%)

ม.ขอนแก่น (29)[12]

15

1

7

3

1

4 (13.79%)

ม.แม่ฟ้าหลวง (23)[13]

13

-

5

3

-

3 (13.04%)

ม.นเรศวร (17)[14]

7

1

5

2

-

2 (11.76%)

ม.ธรรมศาสตร์ (27)[15]

15

2

5

2

1

3 (11.11%)

ม.บูรพา (21)[16]

13

1

3

1

1

2 (9.52%)

หมายเหตุ: ที่ขีดเส้นใต้หมายถึงเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาคมมหาวิทยาลัย

กลับมาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มีการออกระเบียบห้ามบุคลากรในมหาวิทยาลัยทำการเรียกร้องการเลือกตั้งอธิการบดีโดยตรง และการสรรหาอธิการบดี ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้วปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้วิธีการใดเลือกอธิการบดี คำตอบก็คือ พวกเขาจะใช้วิธีการอันพิสดารในการพิจารณาเลือกจากภายในสภามหาวิทยาลัย โดยไม่มีการลงคะแนนแบบเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่เป็นวิธีการที่เรียกว่า “ปรึกษาหารือ” โดยการเสนอชื่อที่ไม่นับความถี่ของการเสนอชื่อ (หรือการนับคะแนน) โดยอ้างว่าจะเปิดโอกาสอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้เสนอชื่อและผู้มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการกลั่นกรองต่างๆ ให้ความสำคัญจากการปรึกษาหารือด้วยเหตุผลอย่างจริงจัง[17] 

ยิ่งไปกว่านั้นเพียงแค่การเรียกร้องดังกล่าว กลายเป็นว่า สามารถนำไปสู่การลงโทษวินัยได้ ทั้งที่เป็นแค่การเรียกร้อง มีคำชี้แจงออกมาจากมหาวิทยาลัยว่า สาเหตุที่ต้องออกมาเช่นนี้ก็เพราะว่า หากยอมให้มีการเลือกตั้งก็จะทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองต่างๆ ดังนี้[18]  

 

“มหาวิทยาลัยเคยมีประสบการณ์กับวิธีการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีที่ให้น้ำหนักความถี่ของการเสนอชื่อ (การหยั่งเสียง) ซึ่งคณะกรรมการสรรหาจะใช้น้ำหนักความถี่ของการเสนอชื่อเป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณากลั่นกรองรายชื่อ เพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าการสรรหาโดยให้ความสำคัญกับน้ำหนักความถี่ของการเสนอชื่อหรือการหยั่งเสียงนั้น ทำให้เกิดปัญหาขึ้นภายในองค์กรอย่างมากมาย ทั้งเรื่องการหาเสียง การแข่งขัน การเผชิญหน้า การจัดทำใบปลิวกล่าวโจมตีกัน จนทำให้เกิดความแตกแยกในวงวิชาการและเกิดปัญหาในการบริหารจัดการองค์กรที่ขาดประสิทธิภาพ

 

เหตุผลดังกล่าวฟังแล้วคุ้นๆ ใช่ไหมว่า คล้ายกับเหตุผลของการเกลียดกลัวนักการเมืองและระบบเลือกตั้งในระดับประเทศของเรานั่นเอง กลายเป็นว่าในระบบมหาวิทยาลัยที่โครงสร้างไม่ได้เอื้อกับระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว กลับยอมรับเอาวิธีคิดที่เกลียดกลัวการเลือกตั้งและการเมืองมาเป็นกรอบคิด โดยเชื่อไปเสียก่อนว่า หากปล่อยให้มีการเลือกตั้งและการสรรหานอกจากวิธีปรึกษาหารือแล้ว จะทำให้มหาวิทยาลัยเกิดความเปรอะเปื้อนจากวิถีทางการเมือง

ในที่นี้มิได้เพียงจะพูดถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เท่านั้น การตรวจสอบ การสร้างระบบตัวแทนที่เข้าไปดุลอำนาจในสภามหาวิทยาลัยไทยนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่เป็นของผู้บริหารเพียงกลุ่มเดียว แต่มันเป็นของประชาคม และก็เพราะว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่สร้างจากเงินภาษีประชาชน และได้รับการเติมเงินด้วยภาษีจำนวนมากทุกๆ ปี การถูกตรวจสอบและถ่วงดุลด้วยกลไกที่ควรจะเป็น ไม่ใช่สิ่งที่น่าหวาดกลัวอะไร สิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศควรจะตระหนักว่าผู้มีอำนาจกำหนดความเป็นไปไม่ใช่สตง. แต่คือ ประชาคมมหาวิทยาลัยและเจ้าของภาษีมากกว่า!

ไม่มีเวลาไหนอีกแล้วที่จะเหมาะเจาะต่อการเรียกร้องเช่นนี้ไปทั่วประเทศ โดยใช้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นจุดเริ่มต้น!!!

  

 

อ้างอิง

[1] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 และแม้จะการปรับปรุงใน ฉบับที่ 3 พ.ศ.2564 แต่ก็ยังมีข้อความนี้คงอยู่ดูใน ข้อ 5 ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564

[2] ประชาไท. “255 นศ.-อาจารย์ มช. ขอ กก.สรรหา หันกลับมาหยั่งเสียงเลือกอธิการบดีคนใหม่ แทนการสรรหา”. สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2564 จาก https://prachatai.com/journal/2021/12/96298 (8 ธันวาคม 2564)

[3] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 125 ตอนที่ 44 ก, 6 มีนาคม 2551, หน้า 31

[4] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2550”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 124 ตอนที่ 68 ก, 16 ตุลาคม 2550, หน้า 10-11

[5] “พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 125 ตอนที่ 29 ก, 6 กุมภาพันธ์ 2551, หน้า 62-63

[6] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 115 ตอนที่ 24 ก, 12 พฤษภาคม 2541, หน้า 4-5 ประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

[7] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.2548”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 122 ตอนที่ 6 ก, 14 มิถุนายน 2547, หน้า 22

[8] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุรนารี พ.ศ.2533”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 107 ตอนที่ 131, 29 กรกฎาคม 2533, ฉบับพิเศษ หน้า 99-100

[9] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 121 ตอนพิเศษ 123 ก, 14 มิถุนายน 2547, หน้า 5-6

[10] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ.2559”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 133 ตอนที่ 53 ก, 21 มิถุนายน 2559, หน้า 6-7

[11] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 125 ตอนที่ 44 ก, 6 มีนาคม 2551, หน้า 34-35

[12] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ.2558”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนที่ 66 ก, 17 กรกฎาคม 2558, หน้า 29-30

[13] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ.ศ.2541”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 115 ตอนที่ 65 ก, 25 กันยายน 2541, หน้า 5

[14] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ.2533”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 107 ตอนที่ 131, 29 กรกฎาคม 2533, ฉบับพิเศษ หน้า 5-6

[15] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2558”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนที่ 66 ก, 17 กรกฎาคม 2558, หน้า 54-55 ตำแหน่งประธานสภาอาจารย์และประธานสภาพนักงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้เกิดจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่จะมีการส่งตัวแทนไปเลือกกันเอง

[16] “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ.2550”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 125 ตอนที่ 5 ก, 9 มกราคม 2551, หน้า 13-14

[17] เอกสารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2564

[18] เอกสารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท